พิธีกร : สวัสดีครับแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายที่ได้มานั่งฟังการพูดคุยกันในหัวข้อ"เคล็ดลับงานประพันธ์จากนักเขียนรางวัลชมนาด กับ ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง" เจ้าของผลงานนวนิยายที่ได้รับรางวัลชมนาดบุ๊กไพร้ซ์ 2550 ชื่อรอยวสันต์ เจอตัวเลยดีกว่าหลายท่านอยากเห็นหน้าแล้วนะครับ นักเขียนที่จะขึ้นมาพบกับท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ต้องย้ำว่านักเขียนนะครับ เพราะถ้าใครเห็นหน้าก็จะแปลกใจว่านี่หรือนักเขียน ท่านอาจจะนึกว่านางเอกละคร ท่านอาจจะนึกว่านางสาวไทย ท่านอาจจะนึกว่านางแบบ ท่านอาจจะนึกว่า เอ๊ะ นักเขียนสวยๆ แบบนี้ก็มีด้วยหรือ มีครับ ขอเชิญท่านพบกับ คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรืองครับ สวัสดีครับคุณยุวดีครับ ผมขอให้ท่านได้ชื่นชมว่านี่คือนักเขียนจริงๆไม่ใช่นางเอกละคร ไม่ใช่นางแบบ หรือจะใช่เราก็ไม่ทราบ แต่จริงๆ แล้วเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลพระราชทานชมนาด ซึ่งเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่ ประกวดไปแล้ว 1 ครั้ง แล้วนี่คือผู้ชนะเลิศ ก็ได้รับรางวัลที่ว่าจากงานเขียนชื่อ รอยวสันต์ รอยวสันต์เป็นยังไงเดี๋ยวค่อยคุยกัน แต่อยากจะพูดถึงประวัติของคุณยุวดีอย่างคร่าวๆ ก่อนนะครับ ซึ่งคุณยุวดีนั้นจบมัธยมและเขียนหนังสือมาตั้งแต่ชั้นมัธยมแต่จะเป็นโรงเรียนอะไรคงไม่ต้องไปสนใจ และจบอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรมหลายครั้ง เช่น รางวัลสุภาว์ เทวกุล 3 ปีซ้อน ใครจะทำได้เยี่ยงนี้ รางวัลชมเชยเยาวชนแว่นแก้ว และมีผลงานที่รู้จักฉบับขายดีคือรวมเรื่องสั้นชุดกรุ่น กลิ่น รัก สารคดีชุด "ใครๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ ร้านดอกไม้ " และ "ก็ใครๆ ก็อยากส่งลูกโกอินเตอร์ " และหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างสูงก็คือหนังสือ 1 ใน 3 เล่มที่เข้ารอบนายอินทร์ อวอร์ดหนังสือเล่มนั้นชื่อ "จากอาสำถึงหยำฉ่า สืบตำนานกวางตุ้งกรุงสยาม" คือหนังสือเล่มนี้ครับ พิมพ์ไปแล้ว 3ครั้ง ครั้งที่ 4 ก็พิมพ์แล้ว สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นผู้จัดพิมพ์ และปัจจุบันนี้คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรืองเขียนนวนิยายอยู่ที่ สกุลไทย ใช้นามปากกาอะไรเปิดเผยได้ไหมครับ
คุณยุวดี : ได้ค่ะ ใช้นามว่า เข็มพลอย ตอนนี้เรื่องที่ตีพิมพ์อยู่คือเรื่อง ร้านหัวมุม
พิธีกร : ร้านหัวมุม ทำไมไม่เป็นร้านกลางซอย ทำไมต้องเป็นร้านหัวมุมด้วย
คุณยุวดี : พอดีร้านอยู่หัวมุมพอดีค่ะ
พิธีกร : ร้านอยู่หัวมุมพอดี ก่อนที่จะคุยเราก็มาตกลงกันก่อนนะครับ เมื่อเราคุยกันจบแล้ว คุณยุวดีอย่ามาทำร้ายร่างกายพิธีกรนะครับ สัญญานะครับ ผมก็สัญญาว่าจะไม่ถามอะไรให้โมโหโทโส
คุณยุวดี : ถามได้ค่ะ
พิธีกร : งั้นเริ่มเลยนะครับ หนังสือรอยวสันต์นี่คงไม่ใช่ผลงานเล่มแรกใช่ไหมครับ
คุณยุวดี : ไม่ใช่ค่ะ
พิธีกร : เป็นงานเล่มที่เท่าไหร่แล้วครับ
คุณยุวดี : นับไม่ถ้วนแล้วค่ะ จำไม่ได้ ว่ากี่เล่มแล้ว
พิธีกร : นับไม่ถ้วน จำไม่ได้นะครับ ที่ว่าเขียนตั้งแต่มัธยม ตอนอยู่มัธยมเขียนเรื่องอะไรครับ
คุณยุวดี : น่าจะเป็นเรื่องสั้นที่เราก็สนุกๆนะคะ จำชื่อไม่ได้แล้วเหมือนกัน เขียนปุ๊บอาจารย์เค้าจัดการเอาไปตีพิมพ์ลงหนังสือค่ะ วันหนึ่งครูก็มาบอกว่าได้เงินมา 200 บาท เพราะไปลงหนังสือชัยพฤกษ์ อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นค่ะ ทำให้เรารู้สึกว่าเราก็เขียนหนังสือได้นะ พอบรรณาธิการเค้าอ่านก็ได้ตีพิมพ์เลย นี่ก็อาจจะถือได้ว่า เป็นนิมิตหมายอันดี คือนับแต่นั้นมาเขียนอะไรไปก็แทบไม่เคยจะโดนทิ้งลงตะกร้าเลย ก็ถือว่าเป็นบุญ บรรณาธิการก็มักจะพิมพ์ให้
พิธีกร : ไม่น่าจะเป็นบุญ น่าจะเป็นฝีมือ ไม่คิดว่าตัวเองมีฝีมือบ้างเหรอครับ
คุณยุวดี : ก็อาจจะทำงานน้อยด้วยมั้งคะ ก็เลยค่อยๆ ทำ งานก็เลยออกมาอาจจะเข้มข้นนิดนึงนะคะ
พิธีกร : ทำไมถึงคิดที่จะเป็นนักเขียนมีอาชีพอื่นมาก่อนหรือเปล่าครับ
คุณยุวดี : เคยทำงานบริษัทค่ะ เพราะจบอักษรศาสตร์จุฬาฯ มา ทำงานแบงก์ แล้วก็มาเปิดร้านเบเกอรี่อยู่ประมาณ 20 กว่าปี แล้วทำไมถึงเป็นนักเขียนน่ะหรือคะ จริงๆ แล้วมาจากความชอบ คือคงไม่มีใครนึกอยาก เอาล่ะว่าฉันอยากทำอาชีพนักเขียน คือเราคงบังคับตัวเองไม่ได้ว่าฉันจะเลือกอาชีพนักเขียน การเป็นนักเขียนนี่เกิดจากความชอบ เขียนแล้วก็ติดลมเหมือนคนอ่าน อ่านแล้วก็ติดลม คงทำนองเดียวกัน
พิธีกร : ตกลงลาออกจากแบงก์แล้ว เบเกอรี่ก็ไม่ทำแล้ว เพราะนี่คือนักเขียนเต็มตัวใช่ไหมครับ
คุณยุวดี : ค่ะ ไม่ทำแล้วค่ะ จะว่าอย่างนั้นก็ได้
พิธีกร : การเป็นนักเขียนนี่ ที่อยากเขียนคืออยากให้อะไรกับคนอ่านครับ
คุณยุวดี : มันก็แล้วแต่นะคะ นวนิยายก็เขียนเพื่อความสนุกเพลิดเพลินใช่ไหมคะ พอผู้อ่านอ่านแล้วบอกว่าสนุกเราก็รู้สึกว่าดีใจมาก ว่าเค้าอ่านแล้วเค้าสนุกนะ แต่เรื่องนี้รอยวสันต์นี่นะคะที่ได้รางวัล ชมนาดบุ๊กไพรซ์ในปีแรก เหตุที่เขียนก็เพราะว่าโดยส่วนตัวเป็นคนกวางตุ้ง และญาติทางคุณแม่ก็ลงเรือมาจากเมืองจีน และเราก็ซึมซับกับความรู้สึกที่เค้าคุยกันเรื่องการอพยพ เรื่องเมืองจีน และประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อทุกอย่างของคนจีนกวางตุ้งมาตั้งเด็กๆ พอเราโตขึ้นมาเราก็รู้สึกว่าคนไทยในเมืองไทยมักจะเข้าใจคนจีนผิด คือคิดว่าคนจีนทั้งประเทศเป็นจีนแต้จิ๋ว ใช่ไหมคะ เจี๊ยะปึ่ง พูดจาก็ ลื้อๆ อั๊วๆ เรียกอาหมวย อาตี๋ อาเฮีย แต่เนื่องจากเราเป็นคนจีนกลุ่มน้อยคือเป็นคนกวางตุ้ง คือรู้สึกว่าไม่มีใครรู้จักเรา ความคิดนี้มันก็ติดมาตลอด จนมีโอกาสเราก็เลยอยากเขียนเรื่องนี้ให้คนอื่นเข้าใจ ทีนี้อย่างงานเขียนแบบนี้โดยส่วนตัวคิดว่ามันยากที่จะผ่านด่านของสำนักพิมพ์นะคะ กลัวจะขายไม่ได้ว่างั้นเถอะ ทีนี้พอดีเล่มแรกที่เขียนเกี่ยวกับคนกวางตุ้งก็คือเล่ม จากอาสำถึงหยำฉ่า เล่มนี้ล่ะค่ะเป็นเรื่องราวของคนกวางตุ้ง เป็นสารคดีเล่มแรกของคนกวางตุ้ง พอเขียนไปก็หาเวทีที่เราจะได้นำข้อมูลอันนี้ออกไปสู่ผู้อ่าน ก็คืองานประกวด จะบอกเลยว่างานประกวดมีคุณูปการใหญ่หลวงกับวงการวรรณกรรม เพราะว่าหนังสืออะไรที่มันไม่ทำเงินนี่มันขายยาก พอเข้าสู่การประกวดก็จะมีคนเห็นคุณค่านะคะ อย่างเรื่องนั้นก็คือ 1 ใน 3 ของรางวัลนายอินทร์อวอร์ด พอผ่านด่านนั้นไปคือเราได้รางวัลนั้นแล้ว หนังสือเราก็ขายได้ขายดีมาก แต่ในขณะที่เราหาข้อมูลทำสารคดีคนกวางตุ้งนี่ ก็มีข้อมูลส่วนหนึ่งที่พอนึกภาพออกที่เวลาเขียนหนังสือจะมีข้อมูลเยอะมาก จะมีทั้งส่วนที่เขียนสารคดีได้ ที่เป็นเรื่องซีเรียส มีเหตุมีผลมีข้อมูลเป็นตัวเลขบันทึกเอาไว้ แต่ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งคือคุยกันเล่น ๆ คือ ตาคนนั้นมันเป็นอย่างนั้นกับตาคนนี้อะไรอย่างนี้ มันก็พิสูจน์ไม่ได้ในเชิงสารคดี แต่เป็นเรื่องสนุกเช่นเรื่องทำกับข้าวอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เก็บข้อมูลนี้ไว้นานมาก จนเขียนออกมาเป็นนวนิยาย ก็คิดว่าเกือบ 10 ปีนะคะ กว่าจะเขียนเป็นนิยายขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่านึกไม่ออกว่าจะเขียนออกมายังไง แต่ปัญหาคือว่า เราคิดว่านวนิยายรอยวสันต์ของเราเล่มนี้ มีข้อมูลพร้อม พลอตเรื่องก็พร้อม ตัวพระเอกนางเอก ตัวละครทุกอย่างพร้อมหมด คือกลัวบรรณาธิการไม่รับ
พิธีกร : ก็เลยบ่มเพราะอยู่อีก 8 ปี
คุณยุวดี : ค่ะ ก็เลยบ่มเพาะอยู่ 8 ปี
พิธีกร : พอมีการประกวดรางวัลชมนาดก็เลยส่งไป
คุณยุวดี : ใช่ค่ะ ก็เลยส่งไปเพราะเป็นเรื่องของคนแก่ 4 คนน่ะ ก็คิดดูว่าใครจะอ่าน เป็นยายแก่ 4 คน
พิธีกร : แล้วทำไมกรรมการเค้าถึงได้ตัดสินให้เรื่องนี้ได้ เท่าที่ทราบมีเรื่องส่งเข้าไปประกวดทั้งหมด 25 เรื่อง แล้วนี่คือรางวัลชนะเลิศจากหนังสือ 25 เล่ม ขณะที่ผู้เขียนปรารภว่าเป็นเรื่องคนแก่ 4 คนใครจะอ่าน อย่างน้อยๆ กรรมการก็อ่าน แล้วที่ชัดเจนกรรมการก็บอกว่านี่แหละ ดีที่สุดใน 25 เล่ม ความคิดที่ว่าเรื่องคนแก่ไม่มีคนอ่านน่าจะไม่ใช่
คุณยุวดี : ค่ะ อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราเขียนแล้วส่งไปตามนิตยสาร ใจก็กลัวๆ อยู่ว่าบรรณาธิการอาจจะไม่รับเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ ไม่มีพระเอกไม่มีนางเอก มีแต่อาซิ้ม 4 คน คิดดูมีใครจะอ่านใช่ไหม
พิธีกร : อาซิ้ม 4 คน เขียนโดยอาซิ้มอีก 1 คน รวมเป็น 5 คน คุณยุวดี : ใช่ค่ะ อาสำนี่ก็คืออาซิ้ม ภาษากวางตุ้งคืออาสำ ภาษาแต้จิ๋วคืออาซิ้ม
พิธีกร : ยังไงก็ตาม รอยวสันต์ก็ก้าวไปสู่ถนนหนังสือที่ได้รางวัลและนี่ได้พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้วด้วย
คุณยุวดี : ใช่ค่ะ เพราะว่าแรงตอบรับดีและก็กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษ และอาจจะมีผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลต่อเป็นภาษาอื่นๆ
พิธีกร : ทำไมแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อน
คุณยุวดี : อันนี้เป็นกติกาหรือเงื่อนไขหนึ่งของรางวัลชมนาดบุ๊กไพร้ซ์นะคะ ก็อยากจะขอประชาสัมพันธ์ไปเลยว่า รางวัลชมนาดบุ๊กไพร้ซ์เนี่ยเป็นรางวัลนวนิยายนะคะไม่ใช่สารคดี และนักเขียนต้องเป็นผู้หญิง และอีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือว่า เมื่อคุณได้รางวัลแล้ว คือรางวัลที่ 1 นี้นะคะ ทางสำนักพิมพ์ก็จะแปลนวนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ นี่เป็นเงื่อนไขอันหนึ่ง
พิธีกร : เพราะฉะนั้นจึงต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษใช่ไหมครับ
คุณยุวดี : ใช่ค่ะ ก็จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ
พิธีกร : บางคนสนใจมากแปลเป็นภาษาไทย ภาษาจีน หรือภาษาอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เรามาพูดถึงรอยวสันต์ซึ่งเป็นเล่มที่ได้รับรางวัลจาก 25 เล่ม คุณยุวดีได้ฝากเอาไว้ว่า มีความกังวลไม่อยากส่งหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ไม่มีพระเอก นางเอก และเป็นเรื่องของอาซิ้ม 4 คน และเมื่อได้รางวัลแล้วแสดงว่าหนังสือเล่มนี้ต้องเป็นหนังสือดีอย่างแน่นอนนะครับ คุณยุวดีบอกแล้วว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรดีๆ คุณยุวดีต้องการจะบอกผู้ที่กำลังมองหาหนังสืออยู่อย่างไรครับ เพราะสมมุติว่าเค้าจะซื้อหนังสือเล่มนี้ไปเค้าจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้างครับ
คุณยุวดี : ก็ อย่างที่บอกไว้แล้วนะคะว่า เป็นเรื่องของผู้หญิงแก่ 4 คน ซึ่งอพยพมาเมื่อตอนเด็กๆ
พิธีกร : ใช้คำว่าผู้หญิงสูงอายุได้ไหมครับ
คุณยุวดี : คงแก่แน่ๆ ค่ะ อายุ70 - 80 เรื่องของเรื่องคือหนังสือเกี่ยวกับอพยพของคนจีนจากเมืองจีนมาเมืองไทย ก็ได้ไปสำรวจดูในท้องตลาดและที่ตัวเองอ่านพบ คือ 1. มักจะเป็นเรื่องของผู้ชาย 2 เป็นเรื่องของคนรวยคือจนแล้วรวยมาเป็นเจ้าสัวจากเสื่อผืนหมอนใบ อันนี้มันคือการสร้างภาพลักษณ์ว่าคนจีนมาแล้วรวยกันหมดเลย ทำให้คนไทยหรือคนทั่วๆไปคิดว่าอ้ายพวกเสื่อผืนหมอนใบนี่มันมาแล้วรวยกันหมด แต่ในความเป็นจริงที่ดิฉันค้นพบและเจอกับตัวเองมาตลอดชีวิตนี่นะคะ ยังมีคนจีนอีกมาก ซึ่งมีเสื่อผืนหมอนใบเหมือนกันและทุกวันนี้ตายก็ยังมีเสื่อผืนหมอนใบ และก็ตายอย่างอเนจอนาถ ไปตายตามศาลเจ้า ไม่มีคนเอาไปฝังเอาไปเผาเป็นศพไม่มีญาติไร้ญาติขาดมิตร สุดท้ายลูกหลานไม่มีต้องไปอาศัยข้าวต้มโรงเจกินจนวันตาย มีเยอะมากค่ะ ดิฉันจึงเอาเรื่องพวกนี้มาเขียน เขียนให้เห็นเลยว่าคนอพยพจากเมืองจีน 4 คน และเลือกผู้หญิงด้วยเพราะผู้ชายที่มาจะมีความต่างจากผู้หญิง เพราะผู้ชายมาทำงานหาเงินหาทองได้ร่ำรวยเป็นเจ้าสัว แต่ผู้หญิงนี่ยากมาก จะทำอะไรล่ะคะโลกเมื่อ 50 ปี 70 ปีก่อน ผู้หญิงไม่มีโอกาสไปตั้งตัวเป็นเศรษฐีนีอย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เสนอแง่มุมนี้ในขณะเดียวกันในความยากจนของเขาในความที่ไม่มีโอกาสก็มีแง่งามของชีวิต มีมุมมองมีอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นมุมมองของคนที่ยึดติดกับอดีต เมืองจีนคิดอย่างไรอาสำพวกนั้นแกก็คิดอย่างเมืองจีน แกก็ไม่ได้คิดอย่างเมืองไทย ทีนี้มันก็มาขัดแย้งกับสังคมโลกปัจจุบัน เราก็แสดงแง่มุมตรงนี้ แต่สิ่งที่เด่นที่สุดในเรื่องนี้คือวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมการกิน และวัฒนธรรมความเชื่อของคนจีนในอดีต
พิธีกร : ฟังดูมันไม่เป็นสารคดีเหรอเป็นนิยายตรงไหน
คุณยุวดี : ไม่ใช่สารคดีค่ะเป็นนิยายแน่นอน เป็นนิยายเพราะว่า อาสำแต่ละคนที่มานี่มีชีวิตจะต่างกันไปต่างๆ นานา คนนี้ก็ไปอย่างหนึ่ง มาทำงานเป็นแม่บ้านบ้านเศรษฐี บ้านนายแบงก์ คนนี้ก็ไปอยู่บ้านญี่ปุ่น คนนี้ก็ไปอยู่นู่นอยู่นี่ อันนี้นี่คือความจริงทั้งหมดในสังคม ซึ่งความเป็นจริงในอดีตแต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว
พิธีกร : เป็นชีวิตต่อสู้ เรื่องนี้สามารถสร้างเป็นละครได้ไหม
คุณยุวดี : สบายเลยค่ะ ถ้ามีคนอยากดูเรื่องอาซิ้ม 4 คนนะคะ เรื่องนี้จะสนุกมาก สนุกจริงๆ เพราะว่าเป็นชีวิตที่เธอเป็นผู้หญิงเก่ง บู๊ล้างผลาญ มาจากเมืองจีนลงเรือมา
พิธีกร : มีบู๊ด้วยเหรอครับ
คุณยุวดี : มีค่ะ มีทั้งบู๊ โศกเศร้า อะไรอย่างนี้
พิธีกร : บู๊แบบจีจ้า แอ็กชั่นแบบนั้นมีไหม
คุณยุวดี : คงไม่ถึงแบบนั้น แต่เป็นเรื่องสู้ชีวิต และก็อีกมุมหนึ่งซึ่งอยากให้คนไทยได้เห็นว่า คนจีนอพยพมานี่ไม่ใช่รวยหมด แต่เพียงแต่คิดถึงแต่ผู้ชาย คิดถึงแต่เจ้าสัวนะคะ อยากให้คิดถึงพวกอาสำบ้าง และอาสำเป็นภาษาจีน ซึ่งจะพูดกันตรงๆ ก็คือคนใช้ตามบ้าน
พิธีกร : นี่ก็เป็นหนังสือรอยวสันต์ ที่คุณยุวดีได้บอกว่ามีความน่าสนใจ คุณยุวดีสามารถทำเรื่องอาซิ้มทั้ง 4 คนให้น่าสนใจได้ และก็น่าสนใจจริงๆเพราะว่ากรรมการได้ตัดสินแล้ว คนส่งมาตั้ง 25 เล่ม แล้วกรรมการบอกว่าเล่มนี้แหละสมควรจะได้รางวัล เพราะฉะนั้นท่านไปหาอ่านนะครับ คุณยุวดีได้พูดถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับรางวัลนายอินทร์อวอร์ดพิมพ์ไปแล้ว 3 ครั้ง แล้วนี่พิมพ์ครั้งที่ 4 ปกสวยมาก
คุณยุวดี : ปกเนี่ยนะคะ มาจากงานวาดภาพสีน้ำของอาจารย์สมโภชน์ สิงห์ทอง คิดว่าสำหรับงานสัปดาห์หนังสือในปีนี้ คงไม่มีหนังสือเล่มไหนปกแพงแล้วสวยเท่านี้อีกแล้ว สวยสุดยอด เพราะว่าเป็นศิลปินเขียนนะคะ
พิธีกร : สำหรับเนื้อในก็น่าสนใจเพราะว่าเคยได้รางวัลและพิมพ์มาแล้ว 3 ครั้ง ปกก็สวยด้วย ทีนี้กลับมาคุยเรื่องความเป็นนักเขียนของคุณยุวดี การเป็นนักเขียนนี่เกี่ยวกับอักษรศาสตร์ไหมครับ จำเป็นที่จะต้องมีปัจจัยอะไรไหมที่จะเป็นนักเขียน เผื่อว่าหลายๆท่านที่อยู่ในที่นี้อยากจะเป็นนักเขียนบ้าง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ทุกท่านไม่ควรพลาดนะครับ
คุณยุวดี : ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอักษรศาสตร์นะคะ คนก็มักจะคาดหวังว่าเรียนอักษรก็ไปเป็นครูเขียนหนังสือมันก็ไม่จริง แล้วก็ในความเป็นจริงในสังคมทุกวันนี้ เรียนครูยังอยู่ในหมู่อักษรศาสตร์นะคะ คณะอื่นเค้าเขียนเยอะแยะมากกว่าเราอีก เดี๋ยวนี้หมอเขียนเยอะมากนะคะ พระคุณเจ้าเดี๋ยวนี้ก็เขียนกันเยอะสนุกสนาน ก็คือไม่จำเป็นแต่ว่ามันจะต้องมีปัจจัยและจะต้องศึกษารู้จริงในสิ่งที่คุณจะเขียน แล้วก็ต้องมีใจรัก เพราะงานเขียนเป็นงานที่ไม่ต้องมีเงินทองอะไรมากมายอย่างพ่อค้านะคะ ไส้แห้งก็มี ลองสังเกตดูว่าผอมๆกันทั้งนั้นนักประพันธ์น่ะคะ ถ้าอยากรวยก็ต้องไปขายของ เป็นนักเขียนบอกตรงๆว่าใจรักอย่างเดียว แต่ทีนี้ก็ทุกวันนี้ในส่วนตัวก็คิดว่าดีมากขึ้น เพราะว่ามางานหนังสือนี่เห็นคนเยอะ แล้วก็การประกวดวรรณกรรม อย่างที่เรียนไปเมื่อกี้ว่ามีคุณูปการใหญ่หลวงมากต่อวงการวรรณกรรมเพราะว่าจะได้หนังสือนอกกรอบจากที่ว่ามีพระเอกนางเอก มีฉันมีเธอ มีความรัก มีตบจูบอะไรอย่างนี้ คือว่ามันจะมีหนังสือ
พิธีกร : ในนี้ไม่มีเลยเหรอครับ
คุณยุวดี : อ๋อ ไม่มีค่ะ อาซิ้ม 4 คนนี่ไม่ตบกันแล้วค่ะ ไม่ไหว