เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว มีหนังสืออ่านเล่นชุด "สามเกลอ" พล,นิกร,กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต มีตัวละครตัวหนึ่งชื่อ "ลุงเชย" ญาติผู้ใหญ่ของสามเกลอ เป็นเศรษฐีบ้านนอก ( ปากน้ำโพ ) หิ้วชะลอมทะเล่อทะล่ามาเยี่ยมหลานๆที่กรุงเทพ เลยกลาย เป็นคำเรียกคนบ้านนอก ที่ทำอะไรหรือแต่งตัวไม่เหมือนคนกรุงเทพ ว่า "ลุงเชย" ต่อมากร่อนเหลือคำว่า "เชย" สั้นๆ ( อยู่ในตอน ตื่นกรุง (เล่ม 1)
ลุงของพล พี่ชายแท้ๆของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ พ่อค้าฟืนจากปากน้ำโพซึ่งสมัยนั้นถือว่าไกลปืนเที่ยงเต็มทน ได้ลงมาเยี่ยมน้องนุ่งลูกหลานที่พระนคร ความฮาป่วนของคุณลุงไก่นา ที่มาของคำว่า “เชย” สร้างความหมายใหม่ที่แปลว่า “เปิ่นเทิ่งล้าสมัย” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากสามเกลอตอนนี้เอง )
เรื่องชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน คืองานวรรณกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย และยังถูกตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่าเจ็ดสิบปี และแม้ผู้เขียนจะวายชนม์ไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงสร้าง “แฟน” หนังสือรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ หนังสือของท่านยังเป็นหนังสือขายได้ และหาอ่านได้อยู่อย่างไม่รู้จัก “เชย” ( ขอแถมอีก ตอบล่วงหน้า นายช่างหนูเล็กจะได้ใช้สมองคิดหาคำถามอื่น คำว่า "แห้ว" ก็มาจากหนังสืออ่านเล่นชุดสามเกลือนี้ มีตัวละครตัวหนึ่งชื่อนาย "แห้ว โหระพากุล" เป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านเศรษฐี (สามเกลอ) มีนิสัยทะลึ่งตึงตัง "ทำอะไรไม่เคยสำเร็จ เสียหายอยู่เสมอ" อาจจะเป็นที่มาของคำว่า "แห้ว" ในความหมายปัจจุบันก็ได้ แต่ช่วงนั้นก็ยังมิได้นำมาใช้พูดเล่นกัน จนต่อมาในยุคหลัง เกิดรายการ “เพชฌฆาตความเครียด” ซึ่งมีบำเพ็ญ ชำนิบรรณการ หรือซูโม่แห้ว เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวน ลักษณะตัวละครจะเป็นบทตลก ซื่อ ๆ และต่อมาน่าจะมีการนำคำว่าแห้วนี้มาใช้ใน ลักษณะตลก ๆ อีก เลยมีคำว่า “แห้วเลย” แทนความรู้สึกผิดพลาดผิดหวัง และคำว่าแห้วจึงมีความหมายดังนี้มาโดยตลอด )
.