โจแอนน์ "โจ" โรว์ลิง ( Joanne "Jo" Rowling, OBE FRSL ) หรือนามปากกา เจ. เค. โรว์ลิง และโรเบิร์ต กัลเบรธ เป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประพันธ์วรรณกรรมแฟนตาซีชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งได้รับความความสนใจจากทั่วโลก ได้รับรางวัลมากมาย และมียอดขายกว่า 500 ล้านเล่ม และยังเป็นหนังสือชุดที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้านภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือก็เป็นภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ โรว์ลิงอนุมัติบทภาพยนตร์ทุกภาค และตลอดจนควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการสร้าง เธอเป็นนักอ่านตัวยงเช่นกัน ลองไปดูหนังสือ 10 เล่มที่เธอเคยแนะนำจากหลายๆ เล่มกันค่ะ
Emma โดย Jane Austen
Emma เป็นนิยายของ Jane Austen เจน ออสเต็น (Jane Austen) เป็นนักเขียนวรรณกรรม ชาวอังกฤษ ซึ่งเขียนนวนิยายในแนวโรแมนติก ของสังคมชั้นสูง ในประเทศอังกฤษ สมัยนั้น เรื่องในเรื่องเกี่ยวกับคุณหนูจอมวางแผนที่ชอบจับคู่ให้ชาวบ้านจนเกิดเรื่องวุ่นวายไปหมด
Chéri โดย Colette
Cheri ดูจะสะท้อนภาพ “เพศวิถี” หรือ “วิถีทางเพศ” ของสังคมชั้นสูงในยุโรปได้เป็นอย่างดี Cheri เป็นเรื่องราวของลีอา สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งปารีสและอดีตหญิงบริการชั้นสูง ที่กำลังจะถอยห่างจากวงสังคม หากแต่เธอก็ได้พบกับชาร์ลอร์ต เปอลูซ์ อดีตหญิงบริการชั้นสูงเช่นเดียวกับเธอ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของเรื่องราวทางเพศและความคิดเรื่องเพศในอดีต ที่ปัจจุบันแม้จะยังดำรงอยู่ หากแต่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องที่แสนจะไร้ศีลธรรมตามมาตรฐานของชนชั้นกลาง
The Little White Horse โดย Elizabeth Goudge
"ม้าน้อยสีขาว" เป็นเรื่องของเด็กหญิงกำพร้า ที่ต้องจากบ้านเกิดไปอาศัยอยู่กับอา ในหุบเขามูนเอเค่อร์ ซึ่งงดงามแต่ไม่เป็นสุข เพราะต้องตกอยู่ ภายใต้กรรมแห่งบาป ที่บรรพบุรุษต้นตระกูลได้ก่อเอาไว้
เธอมีความมุ่งมั่น ที่จะทำให้หุบเขาแห่งนี้ กลับคืนสู่ความสุขสงบอีกครั้ง เธอจึงต้องผจญภัยกับความชั่วร้ายต่างๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากม้าน้อยสีขาว เละเพื่อนเด็กเลี้ยงแกะ ซึ่งในที่สุดเธอก็สามารถล้างบาปให้กับบรรพบุรุษ และนำความสุขสงบกลับคืนสู่หุบเขาแสนงามแห่งนั้นได้อีกครั้ง
The Story of the Treasure Seekers โดย Edith Nesbitt
"ต้นกล้ากับมหาสมบัติ" เป็นผลงานเล่มแรกในหนังสือวรรณกรรมชุด "Bastable Children Series" หนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กที่ดีที่สุดในโลก ช่วยปลูกฝังคุณธรรมสำหรับเด็กที่อยู่ในวัยของ "ต้นกล้า" ที่จะเติบโตเจริญวัยต่อไปในวันข้างหน้า โดยให้พี่เป็นผู้สั่งสอนคุณธรรม แก่น้อง ยกตัวอย่างเช่น ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่พูดปด การรู้จักผิดชอบชั่วดี ความมีเมตตาต่อผู้ยากไร้ การเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน ความยุติธรรม และความไม่เห็นแก่ตัว
Little Women โดย Louisa May Alcott
“สาวน้อย” เป็นบทประพันธ์ของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (ค.ศ. 1832-1888) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1868 โดยอัลคอตต์ใช้ประสบการณ์ในวัยเยาว์ของตนและน้องสาวเป็นแรงบันดาลใจ “สี่ดรุณี” เป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เป็นเรื่องราวของสาวน้อยทั้งสี่ในครอบครัวเล็ก ๆ แสนอบอุ่น พ่อเป็นอนุศาสนาจารย์ที่ต้องเดินทางไปกับกองทัพ แม่ต้องออกไปทำงาน ทุกคนต้องเผชิญกับความลำบากแต่ก็มีชีวิตแสนสุข เพราะมีศีลธรรมประจำใจอย่างที่พ่อแม่เพียรสอนสั่งอยู่เสมอ ผู้อ่านจะได้ร่วมทุกข์ สุข เศร้า และจนถึงวัยที่สาว ๆ มีความรัก ไม่ว่าเวลาจะล่วงผ่านไปนานเท่าไร “สาวน้อย” ก็ยังคงประทับใจผู้อ่านตราบนานเท่านาน
Team of Rivals : The Political Genius of Abraham Lincoln โดย Doris Kearns Goodwin
ในหนังสือเล่มนี้ เบท (Bates) คู่แข่งของลินคอล์นในการสมัครที่จะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งผลปรากฏว่า เบท พ่ายแพ้ และลินคอล์น ชนะ ได้รับคะแนนเสียง ส่วนใหญ่ของผู้แทนสาขาพรรครีพับลิกันทั่วประเทศให้ลงสมัคร แต่เบทก็แสดงน้ำใจเป็นนักกีฬา กล่าวชมลินคอล์น ว่า “earned a high reputation for truth, courage, candor, morals and ability, so that as a man, he is most trustworthy” ซึ่งแปลว่า “ได้มีชื่อเสียงในเรื่องรักษาสัจจะ ความกล้าหาญ เปิดเผย มีศีลธรรม และความสามารถ ฉะนั้น (ลินคอล์น) จึงเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด”
อันที่จริง หลังจากที่ลินคอล์นได้เข้าสู่ตำแหน่ง และบริหารงานในฐานะผู้นำของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ต้องเผชิญกับวิกฤติความแตกแยกทางการเมือง ซึ่งมลรัฐภาคใต้ไม่ยอมจะอยู่ร่วมกับมลรัฐภาคเหนือ จึงขอแยกตัวหรือประกาศอิสรภาพ นำไปสู่สงครามกลางเมือง ปี ค.ศ. 1861 วิกฤติครั้งสำคัญครั้งนี้ เป็นวิกฤติครั้งที่ 2 หลังจากวิกฤติครั้งแรก คือ สงครามกู้อิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1773 – 1776 ลินคอล์น ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อปราบมลรัฐภาคใต้ ตลอดจนดำเนินนโยบายเลิกทาส จนเกิดผลสำเร็จ สหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามกลางเมืองจึงเปรียบเสมือนสหรัฐอเมริกาใหม่ที่แปลงสาระของ “The land of the free” ให้กลายเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างแท้จริง ตามความใฝ่ฝันของลินคอล์น ทั้งนี้ ด้วยความมานะอดทน ความเสียสละ ความสามารถเฉพาะตัวของท่านประธานาธิบดี ซึ่งสามารถประสานรอยร้าว และความแตกแยกภายในกลุ่มผู้นำในมลรัฐภาคเหนือ โดยเฉพาะความสามารถของท่านที่นำคู่แข่งทางการเมืองของท่าน 3 คน มาไว้ในคณะรัฐมนตรีเดียวกัน และท่านสามารถหลอมรวมแนวคิดที่แตกต่างให้เป็นหนึ่งได้ คู่แข่งทั้งสามท่านนี้ ได้แก่ วิลเลียม เอช. ซีวาร์ด (W. H. Seward) สมาชิกจาก New York, ซัลมอน พี เชส (S.P. Chase) ผู้ว่าการรัฐ โอไฮโอ, และเอ็ดวอร์ด เบทส์ (E. Bates) รัฐบุรุษอาวุโสจากมิสซูรี ชาวอเมริกันและชาวโลก จึงได้ยกย่องประธานาธิบดีลินคอล์นว่าเป็นมหาบุรุษคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก
Hamlet โดย William Shakespeare
เรื่องในประเทศเดนมาร์กเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามที่จะล้างแค้นลุง หรือกษัตริย์คลอดิอัสของเจ้าชายแฮมเลต เนื่องจากลุงของแฮมเลตเป็นผู้แอบลอบสังหารบิดาของแฮมเลต หรืออดีตกษัตริย์แฮมเลต เพื่อที่จะชิงราชบังลังก์และมารดาของแฮมเลต หรือราชินีเกอทรูดบทละครมุ่งสำรวจเกี่ยวกับความวิกลจริตโดยแท้จริง และการแสร้งวิกลจริตโดยเกิดจากความโศกเศร้าทวีไปถึงความโกรธเกรี้ยว โครงเรื่องนั้นมีทั้งการทรยศ การล้างแค้น อศีลธรรมและการแต่งงานภายในครอบครัว ปีที่เช็คสเปียร์ประพันธ์บทละครแฮมเลตที่แน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บทละครที่รอดมาได้มีอยู่ด้วยกัน 3 ฉบับที่รู้จักกันในชื่อ First Quarto (Q1), Second Quarto (Q2) และ First Folio(F1) แต่ละฉบับนั้นต่างมีบรรทัดหรือฉากที่ขาดเกินกันไป เชคสเปียร์นั้นอาจจะได้เค้าโครงเรื่องมาจากตำนานของกษัตริย์แฮมเลท ที่เรื่องที่ถูกเล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 จนมาถึงศตวรรษที่ 16 และส่วนหนึ่งอาจจะมาจากบทละครที่สาบสูญไปของยุคอลิซบีเธน ชื่ออูร์แฮมเลต (Ur-Hamlet)
เนื่องจากบทละครนี้มีการสร้างตัวละครไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง แฮมเลตจึงเป็นบทละครที่สามารถวิเคราะห์ตีความได้จากหลายมุมมอง ยกตัวอย่างเช่นมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากว่าศตวรรษเกี่ยวกับความลังเลที่จะฆ่าลุงหรือกษัตริย์คลอดิอัสของแฮมเลต
เช่นเดียวกับที่บางกลุ่มสามารถตีความในมุมมองของสตรีนิยมในเรื่องของราชินีเกอทรูดและโอฟีเลีย ได้บทละครแฮมเลตเป็นบทละครที่มีความยาวที่สุดในบรรดาบทละครโศกนาฏกรรมของวรรณคดีอังกฤษ ระหว่างช่วงชีวิตของเชคสเปียร์บทละครนี้เป็นหนึ่งในงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเขาและยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งผลงานที่ได้รับการนำไปเล่นละครเวทีมากที่สุด นอกจากนี้บทละครแฮมเลตยังมีส่วนสร้างแรงดลใจให้แก่นักประพันธ์หลายคนเช่นเกอเธ่ ดิคเกนส์ และเจมส์ จอยซ์ เป็นต้น
A Tale of Two Cities โดย Charles Dickens
นิยายแห่งสองนคร หนังสือของชาร์ลส์ ดิคเกนส์มักเล่าเรื่องคนชั้นล่างในท้องถนนของกรุงลอนดอน ตัดกันกับภาพของชนชั้นสูง เป็นวรรณกรรมที่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความยากจน ขัดสน ข้นแค้น และชีวิตที่แท้ในโลกแห่งความเป็นจริง ภาษาสมัยนี้คือโลกไม่สวย และไม่เคยสวย
สำหรับเด็กที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากเด็กโตระดับต้นไปสู่เด็กโตระดับกลางหรือบน หนังสือของดิคเกนส์เป็นตัวเลือกที่ดี ช่วยให้เห็นความทุกข์ของคน ของคนอื่น ของคนอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นคนเหมือนกัน เห็นความโสมมในบางแง่มุมของคนรวย คนชั้นสูง และเห็นคนมั่งมีที่มีใจเมตตากรุณา เป็นหนังสือที่สร้าง empathy แก่เด็กๆได้ดี ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เต็มตัว
นิยายแห่งสองนครเป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ซึ่งดิคเกนส์มักจะไม่เขียน เล่าเรื่องในปารีสและลอนดอนช่วงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ คนไม่ชอบจะถากถางว่าดิคเกนส์เขียนได้ดีแค่นครเดียว คือลอนดอน
David Copperfield โดย Charles Dickens
นิยายเล่มสำคัญของ ชาลส์ ดิกเคนส์ ว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของเด็กชายตัวน้อยที่เป็นกำพร้า และต้องระหกระเหินไปกับชีวิตวัยเด็ก ถือเป็นนิยายยักษ์ใหญ่เล่มสำคัญของโลกวรรณกรรมอังกฤษ หลายบทตอนมาจากชีวิตจริงของผู้เขียนเอง นิยายเล่มนี้สะท้อนทั้งเรื่องการใช้แรงงานเด็กและทำร้ายเด็กด้วย
Animal Farm โดย George Orwell
เรื่องราวความคิดนอกกรอบของบรรดาสรรพสัตว์ในแอนนิมอลฟาร์ม ที่รวมพลก่อการปฏิวัติเพื่อโค่นและขับไล่มนุษย์ผู้เป็นนายออกไป แล้วดำเนินการปกครองกันเองภายในฟาร์ม งานทุกอย่างต่างดำเนินไปด้วยดี ประสบผลสำเร็จ โดยผู้ตั้งตนเป็นเจ้าของคือหมู ผู้ซึ่งบรรดาสัตว์ทั้งปวงถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม ฉลาดกว่าสัตว์อื่นๆ ทว่าในบั้นปลายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย...อย่างไม่มีทางจะหลีกพ้น
ซึ่ง 3 เรื่อง สุดท้ายนี้เคยตีพิมพ์เป็น ภาษาไทย ในชื่อเรื่อง นิยายแห่งสองนคร แปลโดยสายธาร จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
เรียบเรียงโดย : ศิริรัตน์ สุ่นสกุล
อ้างอิงจาก : books-recommended-by-jk-rowling