George Eliot
ยอร์ช เอเลียต เป็นนักประพันธ์หญิงในประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงที่สุด และในฝรั่งเศสก็มีนักประพันธ์หญิงที่มีชื่อเสียงเช่นกัน คือ ยอร์ช ซังด์ ซึ่งนักประพันธ์หญิงของฝรั่งมักชอบใช้นามปากกาเป็นชื่อชาย
ในวงวรรณคดีของอังกฤษ ยอร์ช เอเลียต ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง เธอมีชื่อเรียกสองอย่างคือ มารี อานน์ หรือ มาเรียน อีแวนส์ เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. 2362 ตายเมื่อ พ.ศ. 2423 มีอายุได้ 61 ปี
เธอเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2362 เป็นลูกของชาวนา คำว่าชาวนาของฝรั่งไม่ได้หมายความว่ายากจน ฝรั่งที่มีฐานะเป็น Farmer และมี Farm ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะที่นา แต่เป็นที่เพาะปลูกอย่างอื่น และการเลี้ยงสัตว์ด้วย มีฐานะมั่งคั่งทีเดียว ยอร์ช เอเลียต ได้ศึกษาในโรงเรียนที่ดีพอควร แต่จะหนักไปในทางศาสนามากกว่า
มารดาของเธอถึงแก่กรรมขณะที่เธอมีอายุเพียง 15 ปี อีก 1 ปีต่อมาพี่สาวก็แต่งงานออกไป เธอต้องรับภาระแม่บ้านตั้งแต่นั้นมา ต้องออกจากโรงเรียนและจ้างครูมาสอนที่บ้าน เธอเรียนภาษาเยอรมัน อิตาเลียน และดนตรี เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก และสนใจวิชาที่เกี่ยวกับการทายลักษณะจากการดูสมองของคน
เธอเริ่มแปลประวัติพระเยซูคริสต์จากภาษาเยอรมัน เมื่อมีอายุได้ 25 ปี ใช้เวลา 2 ปีก็แปลเสร็จ และได้พิมพ์หนังสือออกจำหน่าย แล้วเธอก็ใช้เวลาเกือบปีไปกับการเดินทางท่องเที่ยวไปในภาคพื้นยุโรป ไปเมืองเจนีวา ประเทศสวิส ถ้อยคำสำนวนที่แปลหนังสือออกไปมีคนนิยมอ่านมากเพราะเธอรู้ภาษาต่างประเทศดีทั้งถ้อยคำสำนวน เธอได้ท่องเที่ยวรู้จักโลกภายนอกพอสมควร เคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เวสต์มินสเตอร์รีวิวหลายครั้ง เมื่ออายุ 32 ปี จึงได้ทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
เธอได้เข้าสมาคมกับนักเขียนคนสำคัญๆ อย่าง เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์, ยอร์ช เฮนรี เลวิส และได้แปลหนังสือจากภาษาเยอรมันอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ “หัวใจศาสนาคริสต์” ยอร์ช เอเลียต เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมากจากการแปลหนังสือเรื่องนี้
เธอได้อยู่กินกันอย่างสามีภรรยากับยอร์ช เฮนรี เลวิส ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ตอนที่มีอายุได้ 35 ปี โดยไม่ได้แต่งงานกันตามกฎหมาย และอยู่กันมาถึง 24 ปี ยอร์ช เฮนรี เลวิส ก็ถึงแก่กรรมลง
เธอได้เริ่มแต่งหนังสือเป็นงานชิ้นแรกของตนเองเมื่ออายุ 37 ปี เมื่อมีเล่มแรก ก็ตามมาด้วยเล่มที่ 2 ที่ 3 จึงทำให้เธอมีชื่อเสียงขึ้น หนังสือเรื่องสำคัญที่ยอร์ช เอเลียต แต่งไว้มีดังนี้
1. The Sad fortune of Rev, Amos barton แต่งในปี พ.ศ. 2400
2. Mr. Gilfil’s Love Story แต่งในปี พ.ศ. 2400
3. Jane’s Repentance แต่งในปี พ.ศ. 2400
4. Adam Bede แต่งในปี พ.ศ. 2402
5. The Mill on the Floss แต่งในปี พ.ศ. 2403
6. Silas Marner แต่งในปี พ.ศ. 2404 เคยแปลเป็นภาษาไทย โดยสายธาร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในปี 2518
7. Romola แต่งในปี พ.ศ. 2406
8. Felix Holt แต่งในปี พ.ศ. 2409
9. The Spanish Gypsy แต่งในปี พ.ศ. 2411
10. Agatha แต่งในปี พ.ศ. 2411
11. The Legend of Jubal แต่งในปี พ.ศ. 2411
12. Armgart แต่งในปี พ.ศ. 2411
13. Middlemarch แต่งในปี พ.ศ. 2414
14. Daniel Deronda แต่งในปี พ.ศ. 2419
15. Impressions of Theophrastus Such, แต่งในปี พ.ศ. 2422
หนังสือที่เป็นนิยายชีวิตจริงคือ 3 เรื่องแรก นอกนั้นเป็นนวนิยาย เรื่องที่ทำชื่อเสียงและขายดีมากที่สุดคือเรื่องที่ 4 กับเรื่องที่ 13
หลังจากที่สามีเสียชีวิตลง ในปี พ.ศ. 2421 ยอร์ช เอเลียต มีอายุ 59 ปี เธอได้พบกับชายอีกคนหนึ่งชื่อ จอห์น ครอส ตอนเธออายุ 60 ปี จึงได้แต่งงานกัน เธอถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2423 หลังจากที่อยู่กินกันมาได้ไม่ถึงปี สามีใหม่ของเธอมีอายุอ่อนกว่าถึง 20 ปี และถึงแก่กรรมลงเมื่อปี พ.ศ. 2467
ยอร์ช เอเลียตเป็นคนที่ยิ้มยากเต็มที ใบหน้าและแววตาของเธอเต็มไปด้วยความเศร้าโดยไม่ต้องมีเหตุผลว่ามีเรื่องราวอะไรที่ทำให้เศร้า แต่ผู้ที่เคยเห็นยอร์ช เอเลียต จะบอกว่า เมื่อเธอยิ้ม เธอจะงามเหมือนเทพอัปสร บางทีนักประพันธ์อาจมีลักษณะเช่นนี้ก็ได้ ความเศร้าอาจทำให้เป็นคนช่างคิด และความช่างคิดก็อาจทำให้เป็นนักพันธ์ขึ้นได้
ยอร์ช เอเลียต เป็นคนสวยแต่ไม่สนใจการแต่งกาย การสวมแว่นตาในที่ชุมชน ที่สมัยนั้นหญิงทั่วไปไม่ทำกันเธอก็ทำ ขณะนั้นวิชาการดูลักษณะคนด้วยการวิเคราห์รูปศีรษะกำลังได้รับความนิยม เพราะเชื่อกันว่า รูปของศีรษะจะบอกได้ว่าส่วนไหนจะมีมันสมองมาก มีนิสัย สติปัญญาเป็นอย่างไร เพื่อทำการค้นคว้าในทางนี้ ได้มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งกันเป็นสโมสรขึ้น และเพื่อให้สโมสรนี้ตรวจดูตามที่กำลังค้นคว้า ยอร์ช เอเลียต ยอมโกนผมจนหมดศีรษะในขณะที่เธอยังเป็นสาวอยู่
สามีของยอร์ช เอเลียต ที่ชื่อ ยอร์ช เฮนรี เลวิสนั้น มีรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียด มีผู้เขียนได้พรรณนาถึงหน้าตาของชายคนนี้ว่า ลิงขนาดใหญ่ในสวนสัตว์เมื่อมองเห็น ก็คงคิดว่ายอร์ช เฮนรี เลวิสมาแย่งความน่าเกลียดของมันไป แต่เพราะความเลื่อมใสในมันสมองของบุคคลนี้ ยอร์ช เอเลียตจึงยอมสละตนให้ และเห็นถึงความแตกต่างของร่างกายและมันสมองที่ธรรมชาติสร้างมาให้กับเขา ก่อนจะมาพบยอร์ช เอเลียต ผู้ชายคนนี้เคยแต่งงานมาแล้ว และมีลูกหลายคน เลวิสมาอยู่กับยอร์ช เอเลียต โดยที่ไม่ได้หย่ากับภรรยาเก่า ยอร์ช เอเลียตเองก็ต้องหาเงินส่งให้ภรรยาเก่า และลูกๆ ของเลวิส ส่งเสียให้ลูกเขาได้เรียนอย่างดีมีค่าเล่าเรียนที่แพงมาก ยอร์ช เอเลียตต้องถูกตัดขาดจากพ่อแม่พี่น้องไม่ให้ใช้นามสกุลเดิม จะใช้ของสามีก็ไม่ได้ จึงตั้งขึ้นเอง แต่นามนี้ก็กลายมาเป็นความนิยมของคน เพราะบทประพันธ์ ความสามารถทางการประพันธ์จึงช่วยทำให้มีเกียรติและช่วยล้างความประพฤติที่ไม่ดีไปได้
ตั้งแต่เขียนบทประพันธ์เรื่องใหญ่เล่มแรกเธอก็ใช้นามว่า ยอร์ช เอเลียต พอมาถึงเรื่องที่ 4 คือ Adam Bede ได้รับความนิยมมากขึ้น ทุกคนต่างถามว่ายอร์ช เอเลียตคือใคร ทุกคนเข้าใจว่าเป็นผู้ชาย มีผู้พิพากษาหัวเมืองคนหนึ่งไปสืบมาว่า ยอร์ช เอเลียต เป็นชายที่ชื่อ ลิกกิ้นส์ อยู่ที่นิวตัน เป็นคนยากจน การแต่งหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ทำประโยชน์ให้ รายได้และความร่ำรวยไปตกอยู่กับสำนักพิมพ์หมด
เมื่อผู้พิพากษาพูดออกไปคนก็เชื่อ มีคนพากันไปที่นิวตันเพื่อดูตัวนักประพันธ์ที่น่าสงสาร ตัวลิกกิ้นส์เองก็รู้ข่าวเช่นกันแต่ก็ปล่อยให้เขามาดู ผู้คนมาพบลิกกิ้นส์ในฐานะยากจน ไม่มีคนใช้ ต้องซักเสื้อผ้าและทำอะไรด้วยตัวเอง และได้พากันเรี่ยไรเงินมาให้ลิกกิ้นส์ ลิกกิ้นส์ก็รับไว้ ในอังกฤษนั้นมติมหาชนจะมีความรุนแรงมาก หนังสือเรื่อง Adam Bede ขายดีมาก แต่ข่าวลือก็แพร่ออกไปว่า สำนักพิมพ์ร่ำรวยด้วยบทประพันธ์ของลิกกิ้นส์ แต่ยังปล่อยให้เขาอยู่อย่างยากจน จึงมีการเรี่ยไรกันเป็นการใหญ่ และประชาชนก็ได้ป่าวประกาศความหน้าเลือดของสำนักพิมพ์และเรี่ยไรเงินให้ลิกกิ้นส์อีก
สำนักพิมพ์จึงคิดว่า ถ้าปล่อยไว้ประชาชนก็คงเข้าใจผิดไปเรื่อย สำนักพิมพ์อาจเสียหายได้ถ้าไม่รีบระงับ สำนักพิมพ์จึงบังคับให้ยอร์ช เอเลียต แสดงตัวออกมา
และเมื่อประชาชนรู้ว่าเจ้าของเรื่อง Adam Bede คือผู้หญิงที่อยู่กับเลวิส โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกพ่อแม่พี่น้องตัดขาดหมด แต่การกระทำเช่นนี้สังคมอังกฤษถือว่าเลวร้ายมาก จึงวิพากวิจารณ์กันว่า ผู้ที่มีความสามารถในการพันธ์เช่นนี้ แต่มีความประพฤติเช่นนี้ ควรจะได้รับการให้เกียรติหรือไม่ แต่สุดท้ายผู้คนก็ไปเกลียดชังยอร์ช เฮนรี เลวิสแทน เพราะคิดว่ายอร์ช เอเลียตนั้นถูกล่อให้หลงทางจึงต้องทำเช่นนั้น
แต่ทั้งสองคนก็อยู่กันมาได้โดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพของชีวิตแต่อย่างใด บทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต ได้ออกมาเรื่อยๆ และได้รับความนิยม มีรายได้ดีมาก จนสามารถซื้อบ้านหรูหราที่รีเยนต์ ปาร์ก ในกรุงลอนดอนได้ ซึ่งบ้านเช่นนี้ต้องเป็นผู้มั่งคั่งจริงๆ ถึงจะซื้อได้ และเรื่อง Middlermarch ก็ได้ออกมา เมื่อตอนเธออาย 52 ปี ได้รับความนิยมมากกว่าเรื่อง Adam Bede เสียอีก คราวนี้เธอได้รับเชิญไปงานสังคมทุกแห่ง แม้แต่งานในราชสำนัก พวกคนใหญ่คนโตก็ให้เกียรติยกย่อง แม้แต่อีเมอร์สันของอเมริกา และริชาร์ด วากเนอร์ของเยอรมัน ยังมาเยี่ยมเธอที่บ้าน ความผิดของเธอถูกอิทธิพลของการประพันธ์ลบล้างได้ไม่ใช่น้อย
ยอร์ช เอเลียต เก่งที่จะเป็นนักเขียน แต่การพูดสนทนาและการรับแขกเธอทำไม่เป็นเลย เวลามีแขกมาเยี่ยมที่บ้านก็ต้องอาศัยสามีที่พูดเก่ง รับแขกเก่ง ร้องเพลงเก่ง เล่านิทานตลกได้เก่งอีกด้วยมาช่วย ต่อมาภายหลังเธอได้ย้ายไปอยู่นอกลอนดอน และซื้อคฤหาสน์ที่โตกว่าและแพงกว่าบ้านหลังเดิมอีกหลายเท่า
บรรดานักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ให้คะแนนแก่ยอร์ช เอเลียตว่า เป็นนักประพันธ์ที่มีแฟนๆ มากที่สุดในอังกฤษ และชื่อเสียงของเธอก็ดังไปทั่วยุโรปและอเมริกาด้วย มีชาวสวิสคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงเธอว่า เขาพยายามเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้รู้ภาษาอังกฤษอย่างดีไว้สำหรับอ่านบทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต
เลวิสได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อยอร์ช เอเลียตมีอายุได้ 59 ปี และเธอได้แต่งงานใหม่เมื่อตอนอายุ 60 ปี
เป็นเรื่องที่น่าเกลียดที่ผู้หญิงอายุ 60 ปีแล้วแต่งงานใหม่กับชายที่อ่อนกว่าถึง 20 ปี แต่ด้วยจอห์น ครอส เป็นผู้ที่นิยมชมชอบในบทประพันธ์ เห็นว่าเธอเป็นเทพธิดามาช้านานแล้ว เขาเป็นถึงนายธนาคาร มีฐานะมั่งคั่งมากกว่ายอร์ช เอเลียต จึงไม่มีทีท่าว่าจะมาแต่งเพื่อเอาสมบัติ
จอห์น ครอส ได้ให้เหตุผลว่า บทประพันธ์ของยอร์ช เอเลียต ได้สร้างความงาม ความเป็นหนุ่มสาว สร้างชีวิตให้เป็นฤดูใบไม้ผลิอยู่เสมอ เขาเห็นว่าเธอเป็นสาวอยู่ตลอดกาล และเชื่อว่าชีวิตของเขาจะยืนยาวไปอีกนานถ้าได้อยู่กับนักประพันธ์เช่นยอร์ช เอเลียต อัจฉริยภาพในการประพันธ์ทำให้หญิงอายุ 60 ปี มีสภาพอย่างสาวสวยและทำให้คนหลงได้ และเขาก็มีชีวิตยืนยาวไปจนถึงอายุ 85 ปีจริงๆ แต่หลังจากแต่งงานได้ 6 เดือน ยอร์ช เอเลียต ก็จบชีวิตลง สาเหตุจากไปฟังคอนเสิร์ตในลอนดอน แล้วถูกลมจนเป็นไข้ และไม่สามารถรักษาให้หายได้
ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ