ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : โศกนาฏกรรมในครอบครัวสะเทือนถึงความเป็นอยู่ของสังคม

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

 

           ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายเรื่องแรกของ วีระพร นิติประภา นับได้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นแรกใน ฐานะนักเขียนในวงการงานเขียนไทย แต่ฝีมือกลับประจักษ์เห็นชัดว่าเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพท่านหนึ่ง เรื่องราว เนื้อหาของนวนิยายเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยคุณภาพทั้งความงามของภาษา รูปแบบการพรรณนาความที่เป็น เอกลักษณ์ ตัวละครที่โลดแล่นนั้นก็มีชีวิตชีวากระตุ้นผู้อ่านได้ไม่รู้จบ แม้กระทั่งการสื่อสารต่อผู้อ่านแฝงให้ได้ขบคิดพิจารณา จึงถือได้ว่าเป็นนวนิยายสะท้อนสังคมอย่างดีชิ้นหนึ่งของสังคมไทย นอกจากนี้ยังเป็นม้ามืดในการคัดเลือกผลงานและได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘         

 

            ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตบอกเล่าเรื่องราวชีวิตคนที่หลงวังวนในบางสิ่งจนหาทางออกเพื่อหลุดพ้นไม่ได้ โดยเรื่องราวเล่าผ่านตัวละครหลักอันได้แก่ “ชาลิกาและชารียา” สองสาวพี่น้องถือกำเนิดในครอบครัวที่พ่อหาความรักครั้งใหม่กับครูสอนรำ ส่วนแม่ก็ถูกครอบงำจากพิษรักเสียจนเป็นบ้า สองพี่น้องได้เติบโตขึ้นมาใน ครอบครัวที่แตกร้าวมีน้าชายผู้หลงใหลในผ้าและความลึกลับที่ซ่อนไว้เลี้ยงดู เมื่อเติบใหญ่โชคชะตาพลิกผันให้ มาพบกับ “ปราณ” ชายหนุ่มผู้ไม่เคยสัมผัสแม้แต่เศษเสี้ยวความรักจากครอบครัวตัวเอง ทั้งสามออกเดินทาง พยายามหาบางส่วนโหยหาบางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเพื่อเติมให้เต็มเฉกเช่นผู้อื่น แต่บางครั้งมันก็สร้าง บาดแผลรอยแยกขึ้นในใจ บางคราวก็เจ็บปวดเสียจนเจียนตาย แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงเลือกปิดหูปิดตาเดินเข้าหาวังวนนั้นอยู่ซ้ำๆเพื่อล่อเลี้ยงใจที่ยังคงเต้นต่อไป        

 

        ประเด่นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้นำเสนอตั้งแต่ต้นของการดำเนินเรื่อง ปัญหาความขัดแย้งระดับพื้นฐานที่มักจะเกิดขึ้นภายในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป “ปัญหาภายในครอบครัวและมีเหยื่อรับผลกระทบคือลูก” ดังจะเห็นได้จากสามตัวละครหลักดั่งในความอธิบายถึงครอบครัวของชาลิกาและชารียาที่พ่อก็ไม่สามรถทำหน้าที่ดังเช่นพ่อควรกระทำหรือแค่การพูดจาก็ไม่อาจเยียวยาจิตใจของบุตรได้ ส่วนแม่นั้นก็ละทิ้งหน้าที่เพียงเพราะความผิดหวังและสร้างรอยร้าวขึ้นในตัวลูกคอยย้ำอยู่เสมอว่าลูกคือผู้พรากความรักของตนไป

 

“....สำหรับเด็กๆการมีอยู่ของพ่อคือปรากฏการณ์อันยากอธิบาย ชายผู้ซึ่งมองดูเลือนรางโปร่งใสจนเกือบมองทะลุออกไปข้างหลังได้ คอยปรากฏตามมุมต่างๆของบ้านอย่างเงียบงัน ...และแทบไม่มีอะไรจะสื่อสารกับลูกๆนอกจากนั่งจ้องหน้าพวกเธอ...บางครั้ง ครั้งละนานๆสลับกลับไปกลับมาทีละคน จนพวกเธอเริ่มกระสับกระส่าย ว่าเขาจะพูดอะไร เขาก็กลับไม่ว่าอะไร” 

(วีระพร นิติประภา,2558,หน้า 19) 

 

“...ส่วนแม่ก็เป็นแค่คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย ผู้เอาแต่เดินวกวนอ่อนล้าท่ามกลางเขาวงกตของเครื่องเรือน และดู เหมือนจะมีความสุขกับใครขึ้นมาบ้างก็ในยามได้นั่งกอดอก ลูบต้นแขนตัวเองไปมาเบาๆ” 

(วีระพร นิติประภา,2558,หน้า 19) 

 

และเรื่องราวครอบครัวของปราณ ชายหนุ่มเติบโตมาไม่สามารถวาดภาพของผู้เป็นแม่ได้ก็ถูกพ่อเย็นชาใส่ไร้ ปฏิสัมพันธ์ใดใดต่อกัน บ้านที่อยู่อาศัยทั้งรูปธรรมหรือนามธรรมก็ไม่อาจให้กับบุตรได้ ดังข้อความต่อไปนี้

“...ด้วยเกรงจะเป็นภาระของบ้านหนึ่งบ้านใดมากเกินไป ปราณจึงถูกฝากไว้กับบ้านโน้นทีบ้านนี้ที่ไปทั่วๆ ตก ตอนเย็นก็จะเห็นเขานั่งอยู่ตรงหน้าโรงเรียน มีที่นอนกับหมอนซึ่งตัวปลอกเย็บติดกันเป็นชิ้นเดียวม้วนอยู่ข้างๆ พร้อมกับซองใส่เงินเล็กน้อยเป็นค่าอาหารอยู่ในกระเป๋าเสื้อ รอ...ให้ใครสักคนซึ่งบางครั้งเขาก็ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน มารับเขาไปยังบ้านที่เขาไม่เคยไป” 

(วีระพร นิติประภา, 2558, หน้า 29)

 

“ถ้าต้องการให้ปราณกินข้าว พ่อของเขาจะปรายตามองไปที่จานอาหาร หากต้องการให้ปราณไปอาบน้ำก็จะ หยิบผ้าเช็ดตัว...และทิ้งให้เขาหลับไปเองในความมืด เมื่อถึงเวลานอน” 

(วีระพร นิติประภา,2558,หน้า 31)

 

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่าทั้งสามคนแม้จะมีร่างกายที่ครบทั้งสามสิบประการหรือมีครอบครัว แต่ กลับพิกลพิการในการดำเนินชีวิตภายในสังคม นั่นเป็นเพราะขาดภูมิคุ้มกันที่ดีจากพ่อแม่พี่น้องหรือครอบครัว ที่เป็นจุดกำเนิดปัญหาชีวิตทั้งปวงแทนที่จะเป็นหลักพึ่งพิงทางใจ 

 

        ในทางสังคมวิทยา โทมัส เจ ซัลลิแวน (Thomas J. Sullivan) อธิบายว่า “…ครอบครัวเป็นสถาบันเก่าแก่ที่สุด และยังเป็นพื้นฐานของสถาบันทางสังคมทั้งมวล กล่าวคือ ครอบครัวเป็นจุดศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจและการทางศาสนา ประการสำคัญครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่สร้างมนุษย์และทำนุดูแลอบรมขัดเกลามนุษย์แต่วัยเยาว์เรื่อยมาให้สามารถกระทำ หน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติต่อไป” ซึ่งจะเห็นได้ว่าขัดกับครอบครัวของทั้งสามตัวละครหลัก ส่งผลกระทบต่อชีวิตวัยเด็กและลามมากัดกินขโมยความสุขสมบูรณ์ของชีวิต และยิ่งไปกว่านั้นจะพบว่าการเติบโตที่ขาดผู้ชี้แนะจากครอบครัวที่ดีที่แม้จะเห็นบทเรียนชีวิตจากพ่อแม่หรือคนรอบข้าง แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้แม้แต่น้อย เมื่อเติบใหญ่ก็ก้าวเข้าสู่วังวนปัญหานั้นเฉกเช่นเดียวกับพ่อแม่ อาจถือว่าเป็นการเลี้ยงดูล้มเหลวเสียเปล่า แม้คนเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาได้ทางกายแต่ทางจิตใจที่ไร้การขัดเกลาจะนำพาชีวิตไปในทางแย่เสียจนเจ้าตัวก็ไม่อาจรับรู้ได้ เมื่อมองย้อนถึงตัวละครทั้งสามที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวออกมานั้นก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาให้ผู้อ่านอย่างเราได้ตระหนักขึ้น

 

        การอ่านนวนิยายเรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุไฉน เรื่องราวภายในไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตจึงทุกข์โศก ไร้การเยียวยาและไม่หลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง

 

        เมื่อพลิกอ่านด้านหลังเล่มจะพบข้อความที่เขียนไว้ว่า “…โครงเรื่องถูกวางไว้เป็นนิยายรักน้ำเน่ามาตรฐาน เจอกัน จากกัน พบกันใหม่ ผิดใจ รักกัน สามเส้า ความจำเสื่อม แต่เล่าอีกแบบเพื่อบอกว่ามายาคติเป็นอย่าง ความจริงอาจเป็นอีกหลายอย่างที่ใช้เรื่องความรักเล่าเรื่องความขัดแย้ง เพื่อบอกว่ามันเหมือนกัน....ธรรมดา น้ำเน่า โรแมนติก ไม่ใช่เรื่องใหญ่”  เมื่ออ่านข้อความข้างต้นและพิจารณาหลังจากอ่านนวนิยายเล่มนี้จนจบ จะเห็นว่าไม่มีสิ่งใดกล่าวเกินจริง ผู้เขียนใช้เรื่องความรักเฉกเช่นนิยายทั่วไปนำเสนอสภาพสังคมที่แม้พื้นหลังของเรื่องจะอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานานแล้ว แต่คำถามภายในใจที่ถามขึ้นอย่างเรียบง่ายว่าทำไมเหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านั้น จึงเกิดขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพผู้คนและสังคมที่ล้มเหลวในวังวนปัญหาเดิมซ้ำๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกชนจนถึงระดับประเทศบ้านเมือง ผู้เขียนเล่าเรื่องพรรณนาถึงภาพ ความเจ็บปวดผลกระทบตามมาหลังความขัดแย้งช่วยตอกย้ำว่าสังคมกำลังมีปัญหาต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนให้ผู้อ่านคนทั่วไปได้ตริตรองทบทวนก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินแก้ไขไป

 

        สุดท้ายนั้น การอ่านไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตไม่ใช่ได้แค่ความเพลิดเพลิน หนังสือเล่มนี้ยังได้ทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนบางอย่างต่อสังคมที่ชี้ให้เห็นชัดถึงความขัดแย้งในทุกหย่อมหญ้า ยิ่งเมื่อปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำๆและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไป ทุกคนจึงต้องตระหนักและหันกลับมารับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันใน ฐานะ “พลโลก”  ฉะนั้นการแก้ไขที่ดีที่สุดคือแก้ที่ต้นของปัญหา ซึ่งในหลายๆครั้งก็มาจาก “คน” ที่เป็นบ่อเกิด ของความขัดแย้งเอง เราที่อาศัยในสังคมนั้นๆควรตระหนักให้มากยิ่งขึ้น ปัญหาเล็กๆของคนอาจสะสมเป็นเชื้อ ร้ายทำลายสังคม จงพึงตระหนักอยู่เสมอว่า “โลกใบนี้เราเป็นเพียงผู้อาศัย หากสร้างแต่ปัญหาทิ้งเอาไว้ ใครจะมาแก้ได้ ...นอกจากพวกเราเอง” 

 

 

อ้างอิง  

 

จำนง  อดิวัฒนสิทธิ์ และคณะ.(2552).สังคมวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 14.

กรุงเทพ :  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ลักษณ์ เอมประดิษฐ์และคณะ.(2546).ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเพศศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 3.

กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วีระพร นิติประภา .(2558).ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ : มติชน.            

 

 บทวิจารณ์โดย โสภาวรรณ อธิราชเทวินทร์ 

Writer

The Reader by Praphansarn