เมื่อเกิดความรู้สึกท้อแท้ในชีวิต คุณจะคิดหาวิธีสร้างแรงบันดาลใจได้จากที่ไหน เพราะหันไปมองรอบตัว ก็มีแต่คนหดหู่เศร้าซึม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เชื่อหรือไม่ว่า เพียงแค่ข้อความดีๆ ในหนังสือบางเล่ม ก็สามารถทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปได้ ‘ธุรกิจหนังสือ’ ฉบับนี้ ขอชวนคุณไปทำความรู้จักสำนักพิมพ์ Springbooksที่มุ่งมั่นผลิตหนังสือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจและโดดเด่นบนแผงหนังสือในปัจจุบัน
‘อนุรักษ์ ซาเสียง’ บรรณาธิการหนุ่มวัยเพียงสามสิบต้น ๆ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า “Springbooks เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์ เกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่คน Gen Y (Generation Y) ซึ่งเกิดหลังปี 2523 เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น และเด็กรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่าคน Gen Z (Generation Z) ซึ่งเกิดหลังปี 2540 ก็เริ่มเข้ามาทำงาน สำนักพิมพ์Springbooks จึงอยากทำหนังสือคุณภาพป้อนให้กับคนรุ่นใหม่ได้อ่าน”
เมื่อเป็นสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ แต่มีเป้าหมายผลิตหนังสือให้คนรุ่นใหม่ สิ่งที่ Springbooks ยังคงยึดถือไว้อย่างมั่นคงคือปรัชญาองค์กรที่ว่า‘การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ’ โดยทุกกระบวนการผลิต ยังคงมีความเป็นมาตรฐานของอมรินทร์พับลิชชิ่ง แตกต่างเพียงในหนังสือของ Springbooks บางเล่ม อาจต้องใช้คำแรง ๆ เพื่อสื่อสารให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากเป็นมาตรฐานของอมรินทร์ คำเหล่านี้จะถูกตัดออกหมด ด้วยเหตุนี้ ทีมงานของSpringbooks ไม่ว่าจะเป็นซับเอดิเตอร์ พิสูจน์อักษร หรือฝ่ายศิลปกรรม จึงเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมด
“เราทำหนังสือสำหรับคนหนุ่มสาว เราอยากเห็นภาพความสนุกสนาน ไอเดียสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และทำให้อยากออกไปใช้ชีวิต คำว่า ‘หนังสือที่จะทำให้คุณกระโดดได้สูงขึ้น’ จึงถือเป็นโจทย์หลักสำหรับเรา ซึ่งในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา ก็มีทั้งตอบโจทย์และไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากบางครั้งเราก็ได้ต้นฉบับแบบไม่ได้คาดคิด บางครั้งต้นฉบับที่เราคิดว่าใช่ ก็กลับไม่ใช่ ผมถือว่า ช่วงนี้เป็นช่วงลองผิดลองถูก” อนุรักษ์ กล่าว
สำนักพิมพ์ Springbooks เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ด้วยหนังสือชุด 5 เล่มของนักเขียนขวัญใจวัยรุ่น ได้แก่ นิ้วกลม / ชิงชิง / ทรงศีล ทิวสมบุญ / ต๋งคิวท์ / โตมร ศุขปรีชา ด้วยสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ที่เป็นรูปสปริง สื่อความหมายถึงฤดูใบไม้ผลิที่มีความสดใส ความมีชีวิตชีวา และอีกนัยหนึ่งที่แปลว่า ตัวสปริงที่ถูกกดแล้วพร้อมที่จะเด้ง ไล่ล่าความฝัน ฝ่าพันความยากลำบาก รอคอยช่วงเวลาผ่านความกดดันของสังคม เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็พร้อมที่จะเด้งตัวออกไป
สำหรับวิธีการคัดเลือกต้นฉบับของ Springbooks นั้น อนุรักษ์เล่าให้ฟังว่า “ต้นฉบับต้องเข้ากับแนวทางของสำนักพิมพ์ เช่นเป็นเรื่องของไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ความรักของคนหนุ่มสาว เราไม่ได้มองว่าเป็นนักเขียนเก่าหรือใหม่ ถ้าเราคิดว่าเขาใช่ เราก็จะเริ่มลงมือทดลอง ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ ‘กอดแน่นแค่ไหน... ถึงเวลาก็ต้องปล่อย’ ของ ‘หกสิงหา’ เจ้าของเพจคำคมในเฟซบุ๊ก เราเลือกหยิบคำคมที่มีอยู่พันกว่าข้อความมาคัดให้เหลือ 175 ข้อความ โดยเลือกข้อความที่สามารถช่วยเหลือและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่านวัยรุ่นได้ หรือหนังสือ ‘My Life As a Shit’ ของคุณสุหฤท สยามวาลา นี่ก็ตรงกับความเป็น Springbooks ที่สุด คือเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีความกล้าในการแหกกรอบและต่อต้านระบบ มีความพยายามในการเสนอไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา”
ความแรงของโซเชียลเน็ตเวิร์คในเมืองไทย ทำให้หลาย ๆ สำนักพิมพ์พากันไปค้นหาต้นฉบับจากหน้าเพจดัง ๆ ในเฟซบุ๊ก เรื่องนี้อนุรักษ์มองว่า การหาต้นฉบับจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากหน้าเพจเหล่านี้มีแฟนคลับติดตามอยู่แล้ว ก็จะช่วยการันตียอดขายได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องระวังในการคัดเลือกเรื่องที่จะนำมาจัดพิมพ์ เนื่องจากคนทำเพจส่วนใหญ่ อยากให้หน้าเพจของตนดังภายในข้ามคืน ซึ่งแตกต่างจากธรรมชาติของหนังสือที่ต้องการการอ่านอย่างต่อเนื่อง Springbooks จึงเน้นการคัดเลือกต้นฉบับที่อ่านได้นาน ๆ สามารถนำกลับมาพิมพ์ซ้ำ หรือออกเป็นเล่มอย่างต่อเนื่องได้มาตีพิมพ์มากกว่ากระแสเพียงอย่างเดียว
นอกเหนือจากหนังสือของนักเขียนไทยแล้ว Springbooks ยังมีหนังสือแปล 2 เล่มจากประเทศเกาหลีที่ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมากคือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ และ ‘พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่’ ของ ‘คิมรันโด’ ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และตัดสินใจในเรื่องของชีวิตตนเองในแง่มุมต่าง ๆ ในขณะนี้ หนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทาง Springbooks ได้ย้ำกระแสความแรงของหนังสือเล่มนี้ด้วยการจัดกิจกรรม ‘คลีนิกบำบัดเจ็บ’ ออนทัวร์ไปตามมหาวิทยาลัย พร้อมจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ มากมายอีกด้วย
ปัจจุบัน Springbooks จัดพิมพ์หนังสือมาทั้งสิ้น 38 ปก จาก 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Graphic Fiction และบทความข้อคิดต่าง ๆ อนุรักษ์บอกกับเราว่า “การพิมพ์หนังสือหนึ่งเล่ม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเขียนเพียงอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับ 3 สิ่ง คือ คนเขียน สำนักพิมพ์ และคนอ่าน เราจะทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ขานี้สมดุลและไปด้วยกันได้ ขณะนี้ Springbooks ก็มีแฟนประจำอยู่กลุ่มหนึ่งที่รอติดตามอยู่ตลอด คงเป็นเพราะเรามีหนังสือหลากหลาย จนเขาดักทางไม่ถูก (หัวเราะ) เราจะพยายามหาหนังสือที่สื่อสารกับวัยรุ่นไทยต่อไป เพราะคิดว่า ในเมืองไทยมีคำแนะนำให้คนหนุ่มสาวน้อยมาก ส่วนมากมีแต่คำสั่งให้ทำโน่นทำนี่ เราจึงอยากผลิตหนังสือสำหรับพวกเขาที่มีทั้งไอเดีย ความสนุก เสริมสร้างความฉลาดและความคิดให้กับวัยรุ่น แม้ว่ายอดขายหนังสือบางเล่มอาจจะไม่เข้าเป้านัก แต่เราก็ยังยืนยันว่าจะทำต่อไปครับ” ในเมื่อคนทำหนังสือยังยืนยันหนักแน่นขนาดนี้ แล้วคุณล่ะ... พร้อมที่จะกระโดดไปกับ Springbooks แล้วหรือยัง?
all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ : ธุรกิจหนังสือ
เรื่องและภาพ : ปรายปริญ