ความเป็นมา
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยความคิด ริเริ่มจากบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารโรงแรมโอเรียนเต็ลในขณะนั้น โดยได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร เชื้อพระวงศ์ผู้ทรงความรอบรู้สามารถ และเป็นที่เคารพในแวดวงอักษรศาสตร์ และจากอีกหลายองค์กร เป็นต้นว่า กลุ่มอิตัลไทย บริษัท การบินไทย จำกัด ใน พ.ศ. 2527 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมให้การสนับสนุน
“รางวัลซีไรต์” มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเชิดชู นักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน จาก 5 ประเทศแรกเริ่ม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาอีก 5 ประเทศได้ทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา “รางวัลซีไรต์” จึงได้มอบรางวัลให้แก่ทุกประเทศสมาชิกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ภายในประเทศพม่าได้งดส่งผู้เข้ารับรางวัลมานับแต่ พ.ศ. 2544
“รางวัลซีไรต์” จัดเป็นรางวัลเดียวในโลกที่มอบรางวัลทางวรรณกรรมให้แก่นักเขียนจากหลากหลายประเทศ ภายในภูมิภาคเป็นรางวัลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยกย่องในแวดวงวรรณกรรมทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นรางวัลที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิที่สง่างามให้แก่ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ด้วย
ประธานคณะกรรมการดำเนินงานคัดเลือกและตัดสินรางวัลซีไรต์ในภาคประเทศไทยพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร ทรงได้รับความร่วมมือด้วยดียิ่งจาก “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” และ “สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย” เป็นผลให้มาตรฐานการคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัลทุกปีนับแต่แรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน อยู่ในระดับดีเยี่ยม ดังเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมวรรณกรรมไทยมาโดยตลอด
พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชทานรางวัลเมื่อ พ.ศ. 2522 ปีแรกแห่งการก่อตั้ง และต่อมา ได้ทรงโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือสมเด็จพระเทพรัตน์ ราชสุดาฯ เสด็จพระราชทานรางวัลทุกปีนั้น ได้ส่งเสริมให้ “รางวัลซีไรต์” เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและสูงค่า และงานพระราชทานรางวัลเป็นงานราตรีสโมสรทางวรรณกรรมประจำปีที่โดดเด่นที่สุดในประเทศไทยด้วย
ด้วยเกียรติภูมิที่ “รางวัลซีไรต์” ได้สั่งสมและสืบทอดอย่างงดงามมานานกว่า 30 ปี “รางวัลซีไรต์” ในปัจจุบัน จึงเป็นรางวัลทางวรรณกรรมประจำปีที่ประชาคมวรรณกรรมไทยและภูมิภาคอาเซียนเฝ้าคอยอย่างจดจ่อ สื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง นักอ่านชื่นชม อีกทั้งยังนำพาให้เกิดนักเขียนคุณภาพรุ่นใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ธนาคารกรุงเทพร่วมสนับสนุนรางวัลซีไรต์
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สนับสนุนการจัดประกวด รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่ง อาเซียน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จวบจนปัจจุบัน ธนาคารได้รับเกียรติและให้การยกย่องในฐานะผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่งของ “รางวัลซีไรต์” ตลอดมา และในปี 2553 เป็นต้นมา ธนาคารได้ยกระดับการให้การสนับสนุนการดำเนินงาน “รางวัลซีไรต์” จากปีละ 200,000 บาท ขึ้นเป็นปีละ 1,000,000 บาท ด้วยเห็นว่า “รางวัลซีไรต์” เป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่โดดเด่นที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน และในส่วนของประเทศไทย รางวัลนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมคุณภาพอย่างได้ผล ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่มีการจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้น
หลักเกณฑ์การเลือกสรรงานวรรณกรรม มีดังนี้ คือ
- เป็นงานเขียนภาษาไทย
- เป็นงานริเริ่มของผู้เขียนเอง มิใช่งานแปลหรือแปลงจากของผู้อื่น
- ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ขณะส่งงานเข้าประกวด
- เป็นงานตีพิมพ์เผยแพร่ (มี ISBN) เป็นเล่มครั้งแรกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี ภายในวันสิ้นกำหนดส่งงาน
- งานวรรณกรรมที่เคยได้รับรางวัลอื่นใดในประเทศไทยมาแล้วจะส่งเข้าพิจารณาอีกก็ได้
ขอบคุณที่มา ธนาคารกรุงเทพ : http://www.bangkokbank.com/BangkokBankThai