คณะกรรมการการคัดเลือกหนังสือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2556 ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือรวมกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน ประจำปี 2556 จำนวน 101 เล่ม แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือรวมกวีนิพนธ์ 7 เล่ม ประกอบด้วย 1.ของฝากจากแดนไกล ของโชคชัย บัณฑิต 2.ต่างต้องการความเหงา ของศิวกานท์ ปทุมสูติ 3.บ้านในหมอก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม 4.ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า ของจเด็จ กำจรเดช 5.เมฆาจาริก ของธมกร 6.โลกใบเล็ก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ และ 7.หัวใจห้องที่ห้า ของอังคาร จันทราทิพย์
โดยคณะกรรมการในการคัดเลือกในรอบนี้ประกอบด้วย ดร.พิเชฐ แสงทอง (ประธานกรรมการคัดเลือก), นายยุทธ โตอดิเทพย์, นายพินิจ นิลรัตน์, ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ, ผศ.พ.ท.วิโรจน์ ผดุงสุนทรารักษ์, ดร.ธนิกาญจน์ จินาพันธ์ และนางสาวสุมิตรา จันทร์เงา
ดร.พิเชฐ แสงทอง ประธานกรรมการคัดเลือก เผยว่า หากเทียบถึงความแตกต่างของผลงานที่ส่งเข้าประกวดเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2553 นั้น ปีนี้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของ “กลอนเปล่า” มีการส่งผลงานเข้ามาประกวดค่อนข้างมาก อาจจะเป็นผลมาจาก ซะการีย์ยา อมตยา ที่เขียน “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” เป็นกลอนเปล่า แล้วคว้ารางวัลกวีนิพนธ์ซีไรต์ไปครองในปี 2553 จุดนั้นจึงถือเป็นจุดพีคให้คนเริ่มสนใจการเขียนกลอนเปล่ากันมากขึ้น เพราะบางคนอาจจะอิ่มเอมกับการเขียนกลอน 8 การเขียนโคลงฉันท์ลักษณ์ จึงพยายามหาแนวทางใหม่ที่เป็นของตนเองมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้คนรุ่นใหม่กับกวีนิพนธ์กันมากขึ้น นอกจากนี้เกณฑ์การตัดสิน ทางคณะกรรมการทุกท่านก็คำนึงในเรื่องของการใช้ภาษา การสร้างโวหารกวีว่ามีความลึกซึ้งดื่มด่ำความหมายขนาดไหน รวมถึงความสร้างสรรค์เกี่ยวกับมุมมองที่แปลกใหม่
เมื่อพูดถึงในส่วนของเนื้อหาทั้ง 7 เล่มที่ผ่านเข้ามาโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ต้องเข้าโดยพื้นฐานเลยคือความสัมพันธ์ของงานเขียนกับสังคม โดนเฉพาะงานเขียนที่เข้ามานี้ล้วนแล้วพยายามมองถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเขียนและจิตวิญญาณของคนในสังคมรวมถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลง โดนเฉพาะเรื่องของความเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดมาก เนื่องจากผู้เขียนกระหนักถึงสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งการพูดถึงเรื่องของการเมือง การพูดถึงชุมชน หมู่บ้านที่เปลี่ยนไป มีการนำโซเชียลมาใช้มากขึ้นในเรื่องของ เฟสบุ๊ค หรือจะเป็นเรื่องเทรนด์ของการมีสามีเป็นฝรั่ง เป็นต้น
บทกวีชุด “ของฝากจากแดนไกล” รวบรวมบทกวีจำนวน 19 เรื่อง มีเนื้อหาบรรยายถึงความประทับใจของกวีต่อภาพชีวิตผู้คน สถานที่ สิ่งของ วัตถุต่างๆ ที่ปรากฏแก่ในสายตา โดยฉันทลักษณ์ประเภทกลอน 8 ที่มีลีลาการบอกเล่าและจังหวะกลานเฉพาะตัว ผลงานชุดนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการประพันธ์ของกวรซีไรต์ที่พยายามประสานศิลปะของการเล่าเรื่องเข้ากับศิลปะของภาษาสร้างอารมณ์และความรู้สึกแบบการเขียนบทกวี ภาพสื่อสารที่ได้จึงมีทั้งภาพชีวิตที่เคลื่อนไหวของตัวละครในบทกวี และกระแสความคิดที่กวีได้พยายามผสานใส่เข้าไปเพื่อให้ข้อสรุป ข้อคิดเห็น และแนวคิดซึ่งปรากฏเป็นความคิดหลักของบทกวีแต่ละเรื่อง อันครอบคลุมทั้งเรื่องราวของมิตรภาพ ความหวัง ความรัก ความแตกต่างหลากหลาย และความเชื่อมโยงกลมเกลียว
ลีลากลอนในบทกวีเล่มนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามของโชคชัย บัณฑิต ที่จะสร้างสรรค์บทกวีที่มีลักษณะเฉพาะ บทกวีจำนวนหนึ่งตั้งใจเขียนวรคละ 7 คำ ซึ่งก่อให้เกิดท่วงทำนองการอ่านที่แปลกต่าง เมื่อผสานกับการใช้ภาษาที่มุ่งสร้างจินตภาพเชิงกวีแบบใหม่ ทำให้หลากหลายเรื่องราวที่แม้จะดูเป็นเรื่งสามัญธรรมดาที่อาจจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่บทกวีก็ทหน้าที่สะกิดให้ผู้อ่านได้หยุดคิดและครุ่นมองสิ่งสามัญนั้นด้วยหัวจิตหัวใจ บทกวีเรียกร้องให้ผู้อ่านเชื่อมโยงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่แสนไกลในหัวใจของผู้อ่านทุกคน
ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ ของ ศิวกานต์ ปทุมสูติ กวีซึ่งศรัทธาในความหมายของกวีและบมกวีอย่างยิ่ง กวีท่านนี้ให้คุณค่าต่อผู้ที่เป็นกวีว่า ต้องมีความพร้อมในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นผู้ชี้ถูกผิดให้สังคมได้รับทราบ ไม่ใช่ร่ายบทกวีไปตามกระแสนิยมหรือมีอคติ ดังความหมายที่ว่า “ดูกรสหายข้า อย่าขี่แพะเพราะได้ที ขี่เสือต้องอารี เขียนบทกวีต้องใจขาม” และ “และที่สุดบทกวีก็บอกว่า ราคาของบทกวีที่สูงส่ง คือ เลือดเนื้อจิตวิญญาณที่จารผจง และดำรงอยู่ในหัวใจกวี” วาทะเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก
ข้อปฏิบัติหรือแง่คิดบางประการที่คนทั่วไปมองข้าม แต่ศิวกานท์ เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อันได้แก่ ความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง แม้จะเป็นพุทธมามกะก็ยังอาจหาญวิพากษ์วิจารณ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เห็นแก่อามิสบูชา ในส่วนของการแสดงความรักต่อครอบครัว กวีได้ให้ความสำคัญในการเคารพรักบิดาด้วยความกตัญญู ในขณะเดียวกันยังให้ความเอื้ออาทรต่อบุตรด้วยความห่วงใย ทั้งยังแสดงทัศนะที่มีต่อครูบางคนที่ไม่เคยสำรวจตนด้วยถ้อยคำที่ประชดประชนหยันเย้ยในทีว่า “เสียงจ้อแจ้กแตกแถวขึ้นอาคาร หุ่นยนต์น้อยได้วิญญาณคืนสู่ร่าง ขณะหุ่นไล่กาแขนขากาง เดินตามมาห่างห่าง...หักคะแนน” และที่สำคัญยิ่งทัศนะคติต่อการดื่มสุรา ศิวกานท์จะไม่สมยอมให้ผู้ที่อ้างตนเป็นกวีจำเป็นต้องดื่มสุราเพราะเห็นว่าเป็นการเสพยาพิษ
ด้วยแง่งานทางด้านวรรณศิลป์ ผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับลีลาคำประพันธ์ที่ชัดเจน ถูกต้องและมีความหลากหลายในรูปแบบฉันทลักษณ์ ทั้งกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กลอนสุภาพ กลอนหก เพลงพื้นบ้าน โคลงสี่สุภาพและโคลงดั้น อีกทั้งยังเคลิบเคลิ้มไปกับถ้อยคำภาษาที่กวีเลือกเฟ้นคำที่เหมาะมาใช้ในที่เหมาะๆ กลั่นกรองถ้อยคำที่กินใจ สะเทือนอารมณ์ อีกทั้งยังได้เห็นการเล่นสัมผัสอันไพเราะ เช่น “เพลี้ยแมลงแมงร้ายจากเมืองร้อน ทุกรอยบ่อนรอยเบียนกี่เกวียนบั้น...” หรือ “ร้อนคือเย็นเย็นคือร้อนซ่อนตอซัง ในนาปีนาปรังทั้งนาคร” และยังมีความเปรียบเชิงอุปมาให้เห็นอยู่มากมาย ต่างต้องกาความหมายในพื้นที่ จึงควรค่าแก่การอ่าน
กวีนิพนธ์ชุด บ้านในหมอก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นผลงานที่จงใจจัดวางเนื้อหาไว้เป็นเอกภาพ เดินเรื่องไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ภาค ภาคแรก ว่าด้วย บ้านในหมอก ที่หมายถึงภาพทั้งประเทศหรือสังคมโดยรวม ภาค 2 เหมือนส่งกล้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบ “หมอกในบ้าน” อันหมายถึงบ้านจริงๆ หรือสถาบันครอบครัว ทั้งนี้เพื่อต้องการสะท้อนปัญหานานัปการ
ด้านศิลปะการประพันธ์ นอกจากใช้กลอน 8 เป็นพาหนะในการขับเคลื่อนกองเกวียนบรรทุกตัวอักษรส่งต่อเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนยังมีความโดดเด่นในเชิงกวีโวหารช่ำชองในการใช้ภาษา มีทักษะในเชิงวรรณศิลป์ มีลูกล่อลูกชน เล่นคำเล่นความหมายอย่างลงตัว และแทรกอารมณ์ขันเป็นระยะ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนใช้โวหารเชิงเปรียบเทียบได้ดี ทั้งในแง่เนื้อหาที่เป็นรูปธรรมและใช้ “หมอก” เป็นตัวบ่งบอกอย่างมีนัยยะ จึงทำให้ “บ้านในหมอก” มีเสน่ห์และกระตุ้นให้ตระหนักคิด
เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ กรือบทร้อยกรองอิสระ ของ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้เล่าเรื่องได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยความแปลกใหม่ของเนื้อหาและเรื่องราวที่พาผ็อ่านก้าวข้ามมิติของห้วงเวลาและยุคสมัย ทะลุพื้นที่และพรมแดนความเป็นจริงไปสู่โลกในจินตนาการอันเพริดแพร้ว ด้วยความสามารถและชั้นเชิงการประพันธ์ในการจัดวางจังหวะคำได้อย่างทรงพลัง ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่ชวนคิด ลุ่มลึก เต็มไปด้วยแง่คิดเชิงปรัญญา มีปริศนาให้ตีความ และสะท้อนอารมณ์หลากหลายของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้กระทำและถูกกระทำ
เสนห์ในบทร้อยกรองอิสสระเล่มนี้ คือ การตีแผ่จิตวิญญาณอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าหลากหลายบริบท ที่เปิดให้ตีความอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ทั้งเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว แสนจะธรรมดาสามัญไปจนถึงพลังเหนือธรรมชาติ และปรากฏการณ์โพ้นจักรวาล แต่ทั้งหมดนั้นยังโยงอยู่กับความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ของมนุษย์
ผลงานของ ธมกร กระตุ้นให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงแง่มุมของการเดินทางทั้งภายในและภายนอก ด้วยมุมมองของมิติที่กว้างไกลและลึกซึ้ง เป็นการเดินทาง แสวงบุญ ด้วยความหมายที่เปิดกว้าง ให้มนุษย์บรรลุถึงความดี ความงาม ความจริง จนค้นพบบทสรุปที่ว่า ทุกร่องรอยที่ปรากฏจากการเดินทางอันแสนสงบสง่าและงดงามมายาวนาน ทุกร่องรอยแห่งการเรียนรู้ จากความมั่นคงแห่งอาร์และความรู้สึก จนบรรยายไปยังจุดเปลี่ยนผ่าน การเดินทางไปพร้อมๆ กับหมู่เมฆ มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เมฆเห็น ตระหนักรู้ทุกอย่างที่เมฆตระหนัก แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นจากการเดินทางล้วนเป็น อนิจจัง คือความ ไม่แน่นอน
ความโดดเด่นของกวีเล่มนนี้ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ การจินตภาพอันงดงาม ภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่าย ให้ปรากฏอยู่ภายในจิตวิญญาณของผู้เขียนส่งผ่านมายังผู้อ่าน ทุกขณะที่ชำแรกสายตาลงสู่รายละเอียดของเนื้อหา ให้รู้สึกว่ามีความสุข เบิกบาน คล้อยตามวรรณศิลป์ที่งดงาม สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสียง จังหวะ ลีลา และตัวอักษรที่เบาสบายแต่ลึกซึ้งในทุกอณูวลี
พลัง เพียงพิรุฬห์ ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งหมู่บ้านในกาลสมัยของคสามเปลี่ยนแปลง ด้วยลีลาภาษาที่เป็นวรรณศิลป์ ทั้งการส่งสัมผัสเสียง การสร้างจังหวะคำ และการใช้คำเพื่อสร้างภาพและสื่อความหมาย พลังทางภาษาใน โลกใบเล็ก เป็นไปอย่างอ่อนโยน หากทว่าทรงพลัง ผู้เขียนใช้ลีลาการประพันธ์ที่มีทั้งบทตอนอ่อนหวานผสานไปกับการแสดงความเข้มข้นกล้าแกร่งในวิถีแห่งการเผชิญโลก เกิดเป็นสุนทรียศิลป์ที่กระทบอารมณ์ และสัมผัส รวมบทกวีโลกใบเล็ก แบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ รัก เศร้า เหงา สู้ โดยแต่ละภาคคล้ายเป็นบทตอนที่แสดงถึงสุข ทุกข์ ร้อน หนาว เฉกเช่นฤดูกาลนานยาวแห่งชีวิต ท่ามกลางการดิ้นรนและแสวงหาคุณค่าแห่งยุคสมัยของผู้คน
รวมบทกวีร่วมสมัยของ อังคาร จันทาทิพย์ (ฉบับปรับปรุง) เป็นกวีนิพนธ์แนวฉันทลักษณ์ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลักในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีโคลงสี่สุภาพ กาพย์ฉบัง 16 เป็นฉันทลักษณ์ที่เขียนได้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์เป็นระเบียบ แบ่งเนื้อหาสาระเป็นภาคแรกหัวใจห้องที่ห้า ภาคหลัง นิทานเดินทาง และภาคผนวก ภาคแรกผู้ประพันธ์นำเสนอมุมมองของสังคมในมิติต่างๆ ของอดีต เชื่อมโยงสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ทั้งจากการสั่งสมประสบการณ์และความความรู้สึกนึกคิด ในท่ามกลางวิกฤติการณ์หลายด้สน แต่ผู้ประพันธ์มีหัวใจใฝ่หาความสุขสงบ เสมือนหัวใจห้องที่ห้า “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข ท่ามกลางทุกข์กระพือไฟไม่สุดสิ้น ชีวิตหยัดอยู่และรู้ยิน รัก และหวังดั่งฝนรินลงดับร้อน”
องค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นของผู้ประพันธ์คือ ความสามารถในการใช้กลวิธีนำเสนอแนวคิด ปัญหาสังคมชนบท สังคมเมืองในเชิงวิภากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดเอง โดยเล่าเรื่องในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในยุคปัจจุบันได้ย่างมีสัมพันธภาพ เนื้อหาสาระและรูปแบบสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน มองเห็นอัตลักษณ์ของตัวผู้ประพันธ์ แม้ว่าจะมีภาษาถิ่นปรากฏอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ดิอธิบายเป็นเชิงอรรถไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระของกวี
ขอบคุณข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2556
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9560000091148