สายย่อต้องอ่าน : หลักการย่อความและสรุปความ

สายย่อต้องอ่าน

หลักการย่อความและสรุปความ
บทความนี้สายย่อต้องอ่านนะแก การย่อความและการสรุปความก็ต้องมีหลักในการเขียนนะ ไม่ใช่เขียนย่อๆ มาอย่างเดียว เดี๋ยวจะกลายเป็นไม่รู้เรื่องกัน มีขั้นตอนสำคัญๆ ดังนี้นะ หยิบปากกาขึ้นมาจดกันนาจาๆ

1. พิจารณาเรื่องที่จะย่อและเรื่องที่จะสรุปความ ว่าเป็นงานเขียนประเภทใด เช่น บทความ ความเรียง และเรื่องเล่า ฯลฯ ถ้าเรื่องที่จะย่อหรือสรุปความไม่มีชื่อเรื่อง ต้องตั้งชื่อเรื่องขึ้นเองใหม่ ถ้าเรื่องที่จะย่อหรือสรุปความเป็นบทร้อยกรองต้องเปลี่ยนเป็นบทร้อยแก้ว

2. อ่านวนไปค่ะ อ่านเรื่องที่จะย่อหรือสรุปให้ละเอียด 2 รอบ เพื่อพิจารณาใจความแต่ละตอน แล้วจับใจความรวมของเรื่องนั้นให้ได้ว่าเรื่องนั้นเน้นความคิดสำคัญ คือ ประเด็นหลักของเรื่อง บันทึกไว้

3. ทบทวนทุกสิ่ง ทบทวนทุกอย่าง ปาล์มมี่ก็มา อ่านทบทวนอีกครั้ง อ่านแล้วตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า เรื่องอะไร ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร บันทึกไว้ สำหรับการสรุปความนั้น จะนำคำตอบจากคำถามมาเรียบเรียงใหม่ให้สละสลวย กะทัดรัด ชัดเจน ได้ใจความสำคัญครบถ้วน

4. แยกข้อความออกเป็นเรื่องย่อยๆ พยายามทำความเข้าใจใหม่ เมื่ออ่านจนเข้าใจดีแล้ว จึงจับใจความของเรื่องย่อยๆ ให้ได้ว่า เรื่องแต่ละตอนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร และมีความสัมพันธ์กับประเด็นหลักของเรื่องอย่างไร การอ่านอย่างละเอียดเช่นนี้ จะช่วยให้จับใจความของเรื่องแต่ละเรื่องได้ถูกต้องชัดเจน

5. นำใจความจากประเด็นหลักข้อ 2 และใจความคำตอบข้อ 3 – 4 มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อการย่อความ โดยยึดหลักดังนี้

5.1 ลำดับเรื่อง อาจสับเปลี่ยนการวางหัวข้อสำคัญในขั้นตอนการลำดับเรื่องก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงตามแบบเดิมเสมอไป การลำดับเรื่องใหม่นั้นย่อมแล้วแต่ผู้ย่อจะเห็นเหมาะสมว่า การลำดับเรื่องใดก่อนหลัง สำคัญหรือไม่สำคัญ ควรจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงต้องถูกต้องตรงความหมายเดิมทุกประการ

5.2 ใช้สำนวนการเขียนของผู้ย่อเอง คือ นำใจความสำคัญที่ได้มาเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวนของผู้ย่อ ไม่ควรดึงข้อความแต่ละประเด็นมาเรียงติดต่อกัน แต่ควรจะเขียนใหม่ให้มีการลำดับความและเชื่อมความอย่างสละสลวย

5.3 ข้อความที่ได้จากการย่อ จะเป็นข้อความที่เขียนอธิบาย หรือเรื่องเล่า ห้ามมีข้อความอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ ไม่ใช้สรรพบุรุษที่ ๑ และที่ ๒ ปะปนอยู่ในข้อความที่ย่อแล้ว ให้ใช้ได้เฉพาะสรรพนามบุรุษที่ ๓ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงตัวผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นให้ใช้ชื่อโดยตรง

5.4 การใช้ราชาศัพท์ ถ้าข้อความเดิมใช้ราชาศัพท์ เมื่อย่อแล้วยังคงต้องใช้ราชาศัพท์นั้นไว้ดังเดิม จะเปลี่ยนเป็นภาษาร้อยแก้วธรรมดาไม่ได้

5.5 การใช้อักษรย่อ ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อนะแก ยกเว้นอักษรย่อที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เช่น พ.ศ. ค.ศ. กทม. ส.ค.ส. เป็นต้น ในกรณีที่ชื่อเต็มยาวมาก ก็ให้ช้ำเต็มไว้ในการเขียนครั้งแรก พร้อมระบุตัวอักษรย่อไว้ด้วย เมื่อใช้ครั้งต่อไปก็ใช้เพียงอักษรย่อเท่านั้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

5.6 ข้อความที่เป็นพลความ รายละเอียดต่างๆ ตัวอย่างที่อ้างอิงถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อ ให้ตัดทิ้งไป ไปซะไปให้ไกลๆ

5.7 การใช้ประโยคและคำเชื่อม การใช้ประโยคที่ดี ควรใช้ประโยคสั้น ความหมายตรง เต็มความ ชัดเจน กะทัดรัด ใจความเด่นชัด ส่วนคำเชื่อมควรใช้บุพบท หรือสันธาน เพื่อให้ความชัดเจน สละสลวย ตรงตามจุดมุ่งหมายของเรื่องที่ต้องการย่อ

5.8 ใจความที่ย่อแล้วควรเขียนติดต่อเป็นย่อหน้าเดียวกัน ไม่ต้องย่อหน้าตามข้อความเดิม นอกจากความเดิมที่จะย่อเป็นเรื่องต่างๆ กันไป ไม่เกี่ยวข้องกัน และแยกจากกันเป็นตอนๆ ไว้แล้ว

6. ความยาวของเรื่องที่ย่อนั้น ไม่จำกัดความยาวหรือขนาด เพื่อดูว่าเรื่องที่ย่อมีเนื้อหาสาระของเรื่องที่จะนำมาย่อ

7. เมื่อเรียบเรียงเรื่องย่อเสร็จแล้ว โปรดทบทวนอีกครั้ง เพื่อดูว่าเรื่องที่ย่อมีเนื้อความต่อเนื่องกันดีหรือไม่ มีข้อความสำคัญตอนใดที่ตกหล่น หรือมีข้อความตอนใดที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องเดิม จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

 

อ้างอิงจาก : https://www.gotoknow.org

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ