TK park ร่วมกับสนง.สถิติฯ เผยผลสำรวจการอ่าน 2558 : คนไทยอ่านเพิ่มขึ้น 66 นาทีต่อวัน !!! เด็กและเยาวชนอ่านมากสุด ผู้ใหญ่นิยมอ่านข่าว/สารคดี

TK park  ร่วมกับสนง.สถิติฯ เผยผลสำรวจการอ่าน 2558

TK park ร่วมกับสนง.สถิติฯ เผยผลสำรวจการอ่าน 2558

คนไทยอ่านเพิ่มขึ้น 66 นาทีต่อวัน !!! เด็กและเยาวชนอ่านมากสุด ผู้ใหญ่นิยมอ่านข่าว/สารคดี

ยืนยันมุ่งภารกิจสำคัญ ส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน

 

เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) จับมือสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจการอ่านปี 2558 ที่น่ายินดี พบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 66 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านสูงสุดในทุกวัย อย่างไรก็ตามในกลุ่มอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราแนวโน้มในการอ่านโดยรวมลดลงเล็กน้อย TK park จึงยืนยันภารกิจพร้อมเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้คนไทยทุกเพศทุกวัย ด้วยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทั่วทุกภูมิภาค เพื่อร่วมสร้างการเรียนรู้ที่เข้มแข็งให้เกิดในสังคม

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความรู้เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในทุกภูมิภาค จึงได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนางปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม จัดงานแถลงข่าวผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2558 และเสวนาในหัวข้อ “ผลสำรวจการอ่านกับแนวโน้มพฤติกรรมการอ่านของคนไทย”

โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส., นายณัฐวุฒิ พงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด และนายวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและรับรู้ข้อมูลที่จะนำไปใช้ประกอบแนวทางการทำงานส่งเสริมการอ่านต่อไป

สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2 ปี ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของประชากรช่วงนอกเวลาเรียน เวลาทำงาน เป็นการหนังสือหรือบทความทุกประเภท ทั้งที่เป็นรูปเล่ม เอกสาร หรือสื่อิเล็กทรอนิกส์ โดยปี พ.ศ. 2558 เป็นปีแรกที่ได้ขยายคำนิยามการอ่านในการสำรวจ ให้รวมการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ (เช่น Facebook Line Instagram Twitter ฯลฯ) SMS และ E-mailด้วย ยกเว้นการอ่านข้อความเพื่อการสนทนาหรือติดต่อสื่อสาร และทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558 ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้ คือ

ในการอ่านของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เด็กเล็กที่อ่าน (ทั้งอ่านด้วยตัวเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง) มีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.2 โดยเด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่านสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย คือร้อยละ 60.9 และร้อยละ 59.5 โดยเด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านสูงสุด คือร้อยละ 73.8 ขณะที่ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ เด็กเล็กมีอัตราการอ่านต่ำสุด คือร้อยละ 55.9 นอกจากนี้เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่าเด็กเล็กใช้เวลาอ่านนานขึ้น 7 นาทีต่อวัน คือจาก 27 นาทีเพิ่มเป็น 34 นาที แต่มีความถี่ในการอ่านลดลง และมีผู้ใหญ่ซื้อหนังสือที่เป็นรูปเล่มให้ลดลงจากปี2556 คือจากร้อยละ 82.6 เหลือ ร้อยละ 78.5 ในปี 2558 และสำหรับเหตุผลของการไม่อ่าน ส่วนใหย่เป็นเพราะทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็กคิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป

ในส่วนการอ่านของประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการอ่านลดลงจากร้อยละ 81.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 77.7 ในปี 2558 (ลดลงร้อยละ 4.1) โดยมีอัตราการอ่านลดลงในทุกกลุ่มวัย โดยกลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) และ กลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) มีอัตราการอ่านสูงใกล้เคียงกันคือร้อยละ 90.7 และ 89.6 รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน (25-29 ปี) คือร้อยละ 79.1 และต่ำสุดคือกลุ่มวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) คือร้อยละ 52.8

ด้านประเภทของหนังสือที่อ่าน หนังสือพิมพ์เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุด คือ ร้อยละ 67.3 รองลงมาคือ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ /SMS /E-mail คือ ร้อยละ 51.6 โดยประเภทสื่อที่ประชากรกลุ่มนี้เกือบทุกคนนิยมอ่านคือ รูปเล่มหนังสือหรือเอกสาร ร้อยละ 96.1 รองลงมาคือสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 45.5 และเว็บไซต์ ร้อยละ 17.5 ซึ่งเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว สารคดี และความรู้ทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 48.5 เท่ากัน

โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน หรือ 66 นาทีต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อยู่ที่ 37 นาทีต่อวัน) โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 34 นาทีต่อวัน หรือ 94 นาที กลุ่มวัยเด็กและวัยทำงานใช้เวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ชั่วโมงเล็กน้อย ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดเฉลี่ย 44 นาทีต่อวัน ซึ่งการที่ทุกวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากปี 2558 ได้เพิ่มการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ /SMS /E-mail ด้วย โดยกลุ่มวัยเยาวชนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 44 นาที ต่อวัน

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่ามีผู้ไม่อ่านถึงร้อยละ 22.3 หรือ 13.9 ล้านคน โดยสาเหตุของการไม่อ่านคือ ชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 41.9ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 24.6 ไม่ชอบอ่าน ร้อยละ 24.8 และ อ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 20.6 และท้ายสุดข้อมูลสถิติยังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการอ่านว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือ ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่ และครอบครัว, ให้สถานศึกษามีการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน, รูปเล่มและเนื้อหาน่าสนใจ หรือใช้ภาษาง่าย ๆ ส่งเสริมให้มีห้องสมุด ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมอ่านหนังสือในชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ และทำให้หนังสือสามารถหาซื้อหรือเข้าถึงได้ง่าย

ข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นเครื่องมือหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการอ่าน ความรู้ และความเข้าใจของประชากร เพื่อสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างยุทธศาสตร์ เป้าหมายการดำเนินงานของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเป็นจริง

โดยนายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เปิดเผยว่าสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของประชาชน ได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังจะให้ข้อมูลแก่ทุกภาคส่วนเกิดความรับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์การอ่านของประเทศ และมีการปรับเปลี่ยนข้อคำถามในเครื่องมือแบบสำรวจให้สอดคล้องกับองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้เชื่อว่านิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของทรัพยากรบุคคลของประเทศ ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสังคมไทยให้สามารถเทียบเคียงได้กับนานาประเทศต่อไปในอนาคต “หากกล่าวโดยรวมถึงข้อมูลการสำรวจล่าสุด จะเห็นได้ว่าการอ่านของประชากรมีจำนวนค่อนข้างสูง (77.7%) ตัวเลขอาจลดลงจากสถิติเมื่อสองปีก่อนบ้างเล็กน้อย (81.8%) แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านก็มากขึ้นเกือบเท่าตัว (จาก 37 นาทีต่อวัน เป็น 66 นาทีต่อวัน) ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีส่วนทำให้ระยะเวลาการอ่านเพิ่มสูงขึ้น เป็นสังคมก้มหน้าดังเช่นที่มีผู้วิจารณ์กัน เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่อ่าน ระบุว่าอ่านผ่านสื่อออนไลน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่หนังสือกระดาษยังคงเป็นรูปแบบสื่อที่ครองความนิยมของนักอ่านอยู่ถึงกว่า 96.1%

อย่างไรก็ตาม ปริมาณคนอ่านจะมากหรือน้อย ใช้เวลาอ่านนานมากหรือน้อย อ่านจากสื่อประเภทใด เป็นประเด็นที่พึงให้ความสนใจอยู่ระดับหนึ่ง แต่ยังมีประเด็นด้านกลับที่ชวนให้เราต้องขุดค้นและใคร่ครวญถึงให้มากยิ่งกว่าข้อมูลด้านบวก อาทิเช่น ประชากรที่ไม่อ่านคือใครหรือคนกลุ่มใด เหตุผลหรือข้อจำกัดใดที่ทำให้ไม่อ่าน วิธีการส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในคนกลุ่มที่ไม่อ่านควรเป็นอย่างไร เราจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ ข้อมูลสารสนเทศ และการอ่านได้อย่างไร เป็นต้น

ผมเชื่อว่าการมีข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน ด้วยการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านทุกแง่ทุกมุม จะทำให้หน่วยงานด้านส่งเสริมการอ่าน สามารถค้นหาและค้นพบแนวทางเพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ที่สอดคล้องตรงกับสภาพความเป็นจริงได้มากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรายงานผลสำรวจการอ่านของประชากร การเสวนาแนวโน้มพฤติกรรมการอ่าน และนิทรรศการสถิติการอ่านในวันนี้ จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับประชากรในทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม” นายราเมศกล่าว

โดยนอกจากการแถลงข่าวและเสวนาแล้วนั้น ภายในห้องประชุมยังมีการจัดแสดงนิทรรศการชุด “สถิติการอ่านของคนไทย พ.ศ. 2558” ซึ่งหลังจากการแถลงข่าววันนี้แล้วเสร็จ นิทรรศการชุดนี้จะถูกนำไปจัดแสดง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 โซน Eden ระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน พ.ศ. 2559 เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนผู้สนใจได้ชมกันอย่างกว้างขวางอีกด้วย

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ