โชติ แพร่พันธุ์ หรือ “ยาขอบ” แม่แบบนักเขียนทรหดบนเส้นเกียรติยศนักเขียนไทย
เขาเป็นนักเขียนแปลกนัก มีความรักเป็นเครื่องจรรโลงใจ ยามจะจรดปากกาลงบนแผ่นกระดาษเพื่อบำเรอผู้อ่าน กระดาษทุกแผ่นต้องเป็นสีมพู อันเป็นสีสุดรักของเขา เขาผู้นั้นมีนามในการประพันธ์ว่า “ยาขอบ” หรือที่นักวรรณกรรมตั้งสมญาว่า วีรบุรุษแห่งสวนอักษร ผู้สร้างสรรค์นวนิยายปลอมพงศาวดารเลื่องชื่อลือทั่วเรื่อง”ผู้ชนะสิบทิศ” สร้างสรรค์เรื่องสั้น “มุมมืด” ปลูกฝังจริยธรรมจนกระทั่งได้รับการบรรจุให้เป็นเรื่องอ่านประกอบการเรียน สร้างสรรค์เรื่องสั้นอยู่เพื่อรัก หยดหวานจับใจนักอ่านสตรี และสร้างสรรค์สารคดี “สินในหมึก” สะท้านใจนักเขียนทั่วบรรณพิภพ
“ยาขอบ” มีชื่อนามสกุลจริงว่า โชติ แพร่พันธุ์ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ที่กรุงเทพฯ บิดาคือ เจ้าอินทร์แปลง เชื้อสายเจ้าเมืองแพร่สกุลเทพวงศ์ ซึ่งเคยไปอาศัยอยู่ในวังดำรงสถิต ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อมาศึกษาต่อที่พระนคร มารดาชื่อ จ้อย เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อย พระมารดาของม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล โดยลักลอบได้เสียกันจนตั้งครรภ์ จ้อยเกรงอาญาวังจึงหนีออกไปอาศัยอยู่กับคุณนายจันทร์ ผู้ดูแลโรงเลี้ยงเด็ก ส่วนเจ้าอินทร์แปลงจบการศึกษากลับไปเมืองแพร่และแต่งงานกับเจ้าหญิงเทพเกษร จ้อยตั้งชื่อลูกว่าโชติ แทนชื่ออินทรเดช ที่เจ้าอินทร์แปลงเคยสั่งไว้ และได้รับ-ประทานนามสกุลจากสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า แพร่พันธุ์ ภายหลังเจ้าอินทร์แปลงพยายามตามหาลูก แต่จ้อยไม่ยอมให้พบ และแม้เมื่อเจ้าอินทร์แปลงสิ้นชีวิตและจัดพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯ จ้อยก็ให้ลูกสาบาน ไม่ยอมให้ไปเผาศพบิดา
โชติ แพร่พันธุ์ มีชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ และระหกระเหิน เมื่อเล็กเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่เรียนถึงชั้นมัธยม ๔ ทะเลาะกับครูประจำชั้นจึงเลิกเรียน หนีออกจากบ้านพระยาบริหารนครินทร์ที่อาศัยอยู่ และเริ่มทำงานประกอบอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่รับจ้างจูงวัว เป็นเจ้าสำนักทรงเจ้าเข้าผี เป็นเด็กรับจ้างคอกม้า เป็นเด็กรับใช้ ทำงานห้างขายยา และท้ายสุดเข้าทำงานหนังสือพิมพ์
ในปี ๒๔๗๒ เข้าทำงานหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ กับกุหลาบ สายประดิษฐ์ คราวหนึ่งฮิวเมอริสต์ ไม่ส่งต้นฉบับตลกประจำเล่ม กุหลาบ สายประดิษฐ์ เห็นโชติมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ จึงเคี่ยวเข็นให้เขียนแทนพร้อมตั้งนามปากกาให้ว่า “ยาขอบ” โดยเลียนแบบมาจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษชื่อ เจ.ดับบลิว.ยาค็อบ ผลงานประพันธ์เรื่องแรกที่ใช้ชื่อ “ยาขอบ”คือ “จดหมายเจ้าแก้ว” ต่อจากนั้นเริ่มเขียนอมตนิยายปลอมพงศาวดารเรื่อง “ยอดขุนพล” โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากพงศาวดารเพียง ๘ บรรทัด ภายหลังมาลัย ชูพินิจ เปลี่ยนชื่อให้เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งเริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ จบภาคหนึ่งเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ และลงพิมพ์ต่อเนื่องได้อีก ๔ ปี ก็หยุดอีก จนกระทั่งโชติ แพร่พันธุ์ถึงแก่กรรม นวนิยายเรืองนี้ก็ยังเขียนไม่จบ แต่ก็เป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้ประพันธ์สูงสุด
แม้จะดื่มสุราอย่างหนัก และสูบบุหรี่จัด แต่โชติ แพร่พันธ์ พิถีพิถันในการเขียนหนังสืออย่างยิ่ง เขาเขียนหนังสือโดยใช้หมึกสีน้ำเงินบนกระดาษสีชมพู และบนมุมกระดาษทุกแผ่นต้องมีชื่อ “ยาขอบ” อยู่ด้วย โชติ เคยได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการวางหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำรงชีวิตด้วยความสำเริงสำราญ ยึดปรัชญาชีวิตการให้คือความสุข ไม่เป็นคนสะสมทรัพย์สมบัติ มีเงินทองเท่าไรก็เลี้ยงดูและแบ่งปันแก่มิตรสหายจนหมด ไม่มีบ้าน มีแต่ที่ทำงานเป็นที่อยู่อาศัย แต่มีมิตรสหายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้อุปการะ อาทิ นายวรกิจบรรหารและนางชลอ รังควร เจ้าของโรงพิมพ์ คอยอุปการะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต
โชติเป็นผู้มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน มีเสน่ห์เป็นที่ประทับใจสุภาพสตรี มีภรรยาหลายคน ทุกคนล้วนเป็นสตรีสวยงามและดีพร้อม ภรรยาที่เฝ้าดูแลรักษาพยาบาลจนสิ้นลมหายใจคือ คุณประกายศรี ศรุตานนท์ ภรรยาคนสุดท้าย โชติมีบุตรชายกับภรรยาคนแรกคือคุณจรัส เพียงคนเดียว ชื่อมานะ แพร่พันธุ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมือง
นับแต่ปี ๒๔๙๒ โชติสุขภาพทรุดโทรมด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง วัณโรคและเบาหวาน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ รวมอายุได้ ๔๘ ปี ๑๐ เดือน ๒ วัน
โชติ แพร่พันธ์ เกิดในสายตระกูลดี แต่มีชีวิตระหกระเหินลำบากยากไร้ แต่กระนั้น เขาก็ใช้ตัวอักษรทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่าและความหมาย โดยการสร้างงานเขียนอันเป็นอมตะไว้ให้เป็นมรดกของชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี โชติ แพร่พันธ์ เจ้าของนามปากกา “ยาขอบ” สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอน้อมรำลึกถึงคุณูปการของเขาที่มีต่อแวดวงวรรณศิลป์ และขอให้คนรุ่นหลังร่วมกันเผยแพร่เกียรติคุณของ “ยาขอบ” ให้ขจรไกลยั่งยืนนาน
ขอบคุณที่มา : http://www.thaiwriterassociation.org