จะหน้าฝนหรือไม่ก็ตาม ใครที่ทำน้ำหกใส่หนังสือก็ดี หนังสือตกลงในแอ่งน้ำก็ดี ถ้าเป็นหนังสือสุดโปรด ราคาแพงหรือหาซื้อยากก็สบายใจได้เพราะเรามีวิธีซ่อมหนังสือที่ใครๆก็ทำได้มาฝาก
การคัดแยกหนังสือ
เริ่มต้นก็ควรคัดแยกหนังสือที่เปียกน้ำเป็นกลุ่มๆ เริ่มจากกลุ่มที่ยังไม่เปียกน้ำ เปียกน้ำน้อย เปียกน้ำเพียงบางส่วนของเล่ม เปียกน้ำพอควร เปียกน้ำมาก และหนังสือที่เปียกมากๆ จนเห็นความเสียหายได้ชัดเจน การคัดแยกนี้ควรทำเวลาเพราะยิ่งนานหนังสือก็จะยิ่งเสียหายได้ง่าย
หนังสือที่เปียกมากจนเห็นความเสียหายได้ชัดเจนว่าซ่อมแซมไม่ได้ก็คงต้องทำใจ และต้องเร่งแยกกลุ่มออกไปเพื่อทำลาย หรือทำทะเบียนหนังสือเสียหายเพื่อตัดรายการออกจากระบบ หรือเพื่อหามาทดแทนภายหลังก็ได้ครับ
หนังสือที่เปียกเพียงบางส่วนก็ควรหาพลาสติกมาคั่นระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้ง เพื่อป้องกันน้ำและความชื้นกระทบกับส่วนที่ยังแห้ง
หนังสือที่คัดแยกแล้วจะต้องทยอยขนย้ายออกจากพื้นที่น้ำ พื้นที่เปียก มาไว้ในพื้นที่แห้ง สะอาด กว้างขวางรวมทั้งมีความชื้นและอุณหภูมิที่ต่ำ (ความชื้นน้อยกว่า 50% และอุณหภูมิน้อยกว่า 70°F) และควรเร่งดำเนินการภายใน 48 ชั่วโมงเพื่อป้องกันผลกระทบจากเชื้อรา สามารถเปิดพัดลมระบายอากาศได้แต่อย่าวางพัดลมให้พัดตรงมาที่กองหนังสือที่คัดแยกไว้แล้ว
หมายเหตุ เครื่องมือช่วยตรวจสอบความชื้นอาจจะใช้ Apps ของ iPad/iPhone หรือ Androids ก็ได้ครับ มีให้เลือกดาวน์โหลดฟรีหลายตัว เช่น WeatherStation ของ iPad
เมื่อคัดแยกหนังสือตามกลุ่มการเปียกน้ำแล้ว ควรคัดแยกหนังสือตามประเภท เช่นหนังสือหายาก หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษธรรมดา หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเคลือบมัน หนังสือที่มีลักษณะปกเฉพาะ เช่น ปกหนัง
ทั้งนี้ในการเคลื่อนย้ายหนังสือทั้งก่อนและหลังคัดแยก ควรใช้ความระมัดระวัง ประคองหนังสือแต่ละเล่มด้วยฝ่ามือทั้งสองมือ แทนการจับสันหรือหิ้วหนังสือ ทั้งนี้อาจจะหาแผ่นกระดาษแข็ง หรือกระดานไม้ช่วยเคลื่อนย้ายปริมาณมากๆ ได้
การทำความสะอาดหนังสือและกำจัดน้ำ
เมื่อคัดแยกหนังสือเป็นกลุ่มๆ แล้วก็เริ่มนำหนังสือที่เปียกมากๆ แต่ยังพอซ่อมแซมได้มาดำเนินการก่อน (หากมีกำลังคนไม่พอ) โดยหนังสือที่มีโคลน หรือคราบสกปรกให้เช็ดเบาด้วยผ้าอ่อนนุ่ม หรือฟองน้ำ ทั้งนี้ต้องไม่ต้องพยายามแกะ หรือแซะเอาโคลนออกด้วยแปรง หรือของแข็ง และก็ไม่ควรใช้สบู่ ยาขจัดคราบสกปรก ผงซักฟอก ครีมน้ำยาต่างๆ เด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายและเพิ่มความเสียหายแก่หนังสือมากขึ้น กรณีที่มีโคลนมาก และหนังสือเปียกน้ำทั้งเล่ม สามารถเปิดน้ำล้างได้ โดยจะต้องเป็นน้ำสะอาด เปิดเบาๆ ให้น้ำผ่าน และจะต้องไม่เปิดตัวเล่มหนังสือ
เมื่อทำความสะอาดหนังสือแล้ว จึงซับน้ำด้วยผ้าอ่อนนุ่ม หรือฟองน้ำ ทั้งนี้การเช็ดน้ำจากหนังสือควรทำทีละแผ่น โดยต้องค่อยๆ คลี่ออกจากกัน
การจัดรูปเล่มหนังสือ
เอามือลูบกระดาษให้เรียบ โดยลูบเพียงเบาๆ แล้ววางแยกเล่ม อย่าซ้อนกันนะครับ
การกำจัดความชื้น
หนังสือที่กำจัดน้ำและจัดรูปแล่มแล้วก็จะมาผ่านการกำจัดความชื้นออก โดยมีหลากหลายวิธี ดังนี้
วิธีที่ 1
นำกระดาษควรเป็นกระดาษที่ปราศจากหมึกและไม่มีสารที่ละลายน้ำได้ โดยกระดาษที่สามารถใช้ได้ เช่น กระดาษเช็ดมือแบบหน้ากว้าง กระดาษซับมัน กระดาษขาวปกติ หรือกระดาษเทียนไข (Wax paper) สำหรับหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเคลือบมัน มาสอดไว้ระหว่างหน้าที่เปียก โดยจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเปิดและแทรกกระดาษระหว่างหน้าแต่ละหน้า
เมื่อนำกระดาษแทรกระหว่างหนังสือแล้ว ให้นำของหนักวางทับบนปก จะช่วยดูด และรีดน้ำออกได้เร็ว
หนังสือที่ “เปียกมาก” ควรเปลี่ยนกระดาษที่สอดทุกๆ 30 นาที จนกว่าจะชื้น เวลาปล่อยผึ่ง อย่าวางปกซ้อนกัน เพราะเมื่อแห้งแล้วจะติดเกิดความเสียหายได้
วิธีที่ 2
นำหนังสือที่แทรกกระดาษแต่ละหน้ามาวางผึ่งบนพื้นที่ที่กว้าง แห้ง สะอาด แล้วเปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ ห้ามจ่อพัดลมกับหนังสือ
วิธีที่ 3
นำหนังสือมาแทรกกระดาษเหมือนกับวิธีที่ 1 และนำกระดาษเทียนไข หรือ freezer paper มาห่อหุ้มหนังสือที่กำจัดน้ำและจัดรูปเล่มแล้วไปวางแช่ในช่องแช่แข็งตู้เย็นประมาณ 1 วัน (ทั้งนี้จะต้องทำความสะอาดช่องแช่แข็งของตู้เย็นก่อนนะครับ) โดยวางให้ส่วนที่เปียกอยู่ด้านบน ก่อนจะหาอะไรมาทับ ถ้ามีหลายเล่ม ห้ามวางซ้อนกันเด็ดขาด ไม่งั้นพอแห้งแล้วปกจะติดกัน จะเป็นปัญหายิ่งกว่าหนังสือเปียกซะอีก
ทั้งนี้การหนังสือที่แช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น จะแห้งช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับระดับความเปียกและความหนาของหนังสือ เมื่อดูว่าหนังสือปรับรูปทรงแล้วก็นำออก จะได้หนังสือที่มีแผ่นกระดาษเรียบๆ เหมือนเดิม
วิธีที่ 4
นำแป้งเด็กมาโรยลงบนกระดาษทุกหน้าที่เปียก โดยเกลี่ยให้เสมอกัน ก่อนที่จะนำไปไว้ที่แห้งๆ แล้วนำของที่มีน้ำหนักมากๆ ทับลงไปให้เรียบไปกับพื้นผิวที่วาง ทิ้งไว้ประมาณ 2- 7 วัน จะช้าเร็วก็ขึ้นกับว่าเปียกมากน้อย และปริมาณความชื้นในอากาศ
การเตรียมพร้อมหนังสือก่อนจัดเก็บ
หนังสือที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาด และความชื้นข้างต้น จะต้องนำออกมาวางผึ่งลมอีกครั้ง โดยหากของหนักๆ มาทับเพื่อจัดรูปทรงหนังสือ ตลอดทั้งไล่ความชื้นอีกรอบด้วยอุณหภูมิห้อง การวางหนังสือห้ามวางซ้อนทับกัน จากนั้นจึงนำหนังสือไปผ่านกระบวนการซ่อมแซมตามปกติ เช่น การซ่อมแชมปก หรือการเย็บเล่มเพื่อความแข็งแรงก่อนนำไปเก็บเข้าชั้นเพื่อให้บริการต่อไป
อ้างอิงจาก http://www.thailibrary.in.th/2011/11/23/repair-flooded-book/