เอรี่เล่าเรื่อง...ถนนสีดำในบาห์เรน : จากคอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน

เอรี่เล่าเรื่อง...ถนนสีดำในบาห์เรน

จากคอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน โดย สาโรจน์ มณีรัตน์ (มติชนรายวัน 29 ก.ย.2556)

ธนัดดา สว่างเดือน เอรี่เล่าเรื่อง...ถนนสีดำในบาห์เรน

เมื่อคราวที่หนังสือ "ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน" ที่มี "ธนัดดา สว่างเดือน" เป็นผู้เขียน ชนะเลิศการประกวดงานเขียนสารคดีชีวิต รางวัลชมนาดในปี 2553 จากสำนักพิมพ์วูแมน พับลิชเชอร์ ในเครือประพันธ์สาส์น ตอนนั้นชื่อเสียงของ"ธนัดดา" ถูกกล่าวถึงอย่างมาก เพราะเธอเปิดเผยชีวิตตัวตนของเธออย่างหมดเปลือก ต่อการเป็นหญิงงามเมือง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ากามรสในประเทศต่างๆ ยิ่งเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น จำได้ว่าตอนนั้น "ธนัดดา" เดินสายประชาสัมพันธ์หนังสือในฐานะนักเขียนใหม่ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ต่างๆ มากมาย

จนทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมเธอถึงกล้าเปิดเผยตัวตนเช่นนี้ เพราะอย่างที่ทุกคนทราบ อาชีพหญิงงามเมืองไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย และหลายประเทศในโลก แต่เธอกลับเล่าในมุมละเอียด เล่าอย่างเห็นสัณชาตญาณดิบของผู้เสพกามรสในมิติต่างๆ จนทำให้รู้สึกว่ารสชาติแห่งกามราคะที่มนุษย์ผู้ชายทุกคนปรารถนาต่อหญิงงามเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ ช่างเจือปนไปด้วยบาดแผล และความเจ็บปวดของผู้ที่ตอบสนองตัณหาอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าเธอยินยอมพร้อมใจเพราะอยากได้เงินตราจากลูกค้าเราอาจไม่รู้สึกใดๆ แต่สำหรับ "ธนัดดา" ชีวิตของเธอกลับถูกพลัดหลงเข้าไปในวงเวียนของแก๊งยากูซ่า จะไม่ยอมก็ไม่ได้ เธอจึงยอมเป็นภรรยาจำเป็น เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเท่านั้น

ตอนนั้นผมอ่านเรื่องนี้อย่างละเอียด และคิดว่า "ธนัดดา" คงทำได้ดีที่สุดบนถนนสายนักเขียน คงแค่เพียงเล่มนี้เท่านั้น แต่สิ่งที่ผมปรามาสเธอผิดคาดอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเธอมีโอกาสไปรู้จักคุรุแห่งวงการวรรณกรรมนาม "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ผู้ซึ่งตอกย้ำให้เธอเกิดความเชื่อมั่นในพลังของสวนอักษร จนสามารถมีหนังสือเล่มที่สองตามมาอีกคือ "ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ท่องคุก" ถึงตอนนี้คงไม่เฉพาะแต่ "อาจินต์" เท่านั้น หากเธอยังมีโอกาสรู้จักกับ "คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน" ผู้ชุบชีวิตให้เธอเห็นคุณค่าของผู้หญิง เห็นคุณค่าของการศึกษา และเห็นคุณค่าของความเป็นนักเขียนสารคดี

ที่มี "อรสม สุทธิสาคร" นักเขียนสารคดีรุ่นครูคอยตอกย้ำความเชื่อเช่นนี้อีกที ที่สำคัญ หนังสือเรื่อง "ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ท่องคุก" ยังเปิดโอกาสให้เธอมีโอกาสรับใช้เบื้องยุคลบาทต่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาด้วย เพราะพระองค์ภาต้องการสร้างกำลังใจผู้ต้องขังหญิงที่ติดคุกในแดนต่างๆ "ธนัดดา" เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้เล่าเรื่อง โดยนำเรื่องราวของตนเล่าผ่านให้ผู้ต้องขังฟัง นัยว่าเพื่อเป็นกำลังใจให้เพื่อนผู้ต้องขังหญิงมองเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์เหมือนกับเธอ เธอทำได้จริงๆ เสียด้วย

เพราะจากโครงการส่วนพระองค์ของพระองค์ภา ไม่นานต่อมา ก็มีนักเขียนหญิงที่เป็นผู้ต้องขังหญิงเกิดขึ้นหลายคน ผมไม่รู้ว่ามีใครทราบเรื่องนี้บ้างหรือไม่? แต่วันหนึ่งเมื่อผมมีโอกาสเจอเธอในค่ำคืนหนึ่ง เธอบอกผมว่า...ชีวิตของเธอสุกสกาวเพราะพลังของสวนอักษรจริงๆ เสียด้วย ผมยิ้มรับในความสุขของเธอ

แต่กระนั้น ก็อดเป็นห่วงไม้ได้ว่าวัตถุดิบที่เธอมีอยู่ในตัวหมดแล้วหรือยัง? และพลังในตัวของเธอจะสามารถสร้างงานเขียนออกมาได้อีกล่ะหรือ? เพราะเท่าที่อ่านงานทั้งสองเล่ม วัตถุดิบน่าจะหมดแล้ว ปรากฏว่าไม่นานผ่านมา เธอออกหนังสือเล่มที่สามตามมาอีกคือ "ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ใหม่...ไกลเกินฝัน" เล่มนี้เธอต้องการสื่อถึงเส้นทางชีวิตพลิกผันของเธอ ที่มีโอกาสเจอะเจอบุคคลต่างๆ ที่ผมเล่าไปในเบื้องต้น แต่กระนั้นยังทำให้ผู้อ่านลุ้นระทึกว่าแค่คำพูด, คำปลอบประโลมเพียงไม่กี่คำ, น้ำใจ และความเมตตาปรานีจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน เปลี่ยนชีวิตเธอได้จริงๆ หรือ

ปรากฏว่าได้จริงๆ ได้เสียจนทำให้คิดว่า แล้วถ้าเธอจะเขียนงานชิ้นใหม่ออกมาล่ะ สไตล์งานเขียนจะออกมาอย่างไร เพราะงานเขียนของสารคดีชีวิตอาจติดกับดักตัวเอง จนทำให้หาทางออกไม่เจอ แต่เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มที่สี่ของเธอที่มีชื่อว่า "เอรี่เล่าเรื่อง...ถนนสีดำในบาห์เรน" กลับทำให้ผมรู้สึกอึ้ง เพราะเธอหลุดกรอบต่อการเขียนสารคดีแบบเก่าๆ ออกไปอย่างไม่น่าเชื่อ จนกลายเป็นนวนิยายเสมือนจริง ที่มีตัวละครชื่อ "นุ๊ค" เข้าไปผจญภัยในขุมนรกแห่งมหานครบาห์เรน จนทำให้คิดว่ามหานครที่เต็มไปด้วยกิน กาม เกียรติ ของเหล่าบรรดาอัครมหาเศรษฐีเมืองน้ำมันแห่งนี้ ทำไมถึงไม่ต่างอะไรกับเมืองที่ไร้กฎ กติกา เธอเปรียบเทียบว่าไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนในโลก มนุษย์ทุกคนต่างมีดี ชั่วปะปนกันไป เธอไม่เคยโทษเมือง หรือประเทศอันศิวิไลซ์ แต่เธอขอโทษชะตาชีวิตตัวเองมากกว่าที่ทำให้พลัดหลงเข้าไปในวงเวียนของราคะชีวิต

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ