เบ๊น ธนชาติ : คุยกับนักเดินทางขี้เล่น

เบ๊น ธนชาติ

เมื่อปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์สะเทือนวงการหนังสือ จากการที่นักเขียนหน้าใหม่คนหนึ่งทำคลิปวิดีโอโปรโมตหนังสือของตัวเอง แล้วเกิดกระแสดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยอิทธิพลและความดังของคลิป ทำให้ภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ มีนักอ่านอดทนต่อคิวรอซื้อหนังสือ‘New York 1ST Time’หรือ‘นิวยอร์กตอนแรก ๆ’ที่เป็นหนังสือเล่มแรกของเขากันอย่างล้นหลาม เมื่อสร้างกระแสจนโด่งดังภายในข้ามคืนได้ขนาดนี้ มาทำความรู้จักกับ ‘เบ๊น - ธนชาติ ศิริภัทราชัย’กันเถอะ

 

เบ๊น ธนชาติ

 

all : ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนให้ฟังหน่อย
ธนชาติ
: ตอนนั้นนิตยสาร a day ประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานในโครงการ a team junior 4 ก็สมัคร และได้เข้ามาฝึกในตำแหน่งกองบรรณาธิการ เลยได้ออกไปสัมภาษณ์บ่อย ได้รู้ว่าการเขียนเขียนอย่างไร จริง ๆ เราเรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ แต่หนังสือมันเป็นคนละแบบ การเขียนทำให้เราได้นั่งเงียบ ๆ คนเดียว ได้ใช้ตัวอักษรในการเรียบเรียง แก้ประโยค การสรรหาคำ เราว่ามันสนุก ก็ชอบเขียนมาเรื่อย ๆ

พอเรียนจบก็ไปทำหนังกับพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ตอนที่ทำหนัง มันเหนื่อย มันเครียด ก็เลยหาอะไรกวน ๆ ทำ ด้วยการทำบล็อกชื่อ วันก่อนครับ ร่วมกับเพื่อน (พีรพิชญ์ ฉั่วสมบูรณ์ กับ ณัฐชนน มหาอิทธิดล) ก็มานั่งอัพทีละตอน จนจบ ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็รวบรวมมาได้ 100 ตอน ทำเป็นเล่มบาง ๆ ออกมาขายในเทศกาลหนังสือทำมือ พิมพ์มา 200 เล่ม พอเอาไปขายก็หมดเกลี้ยงเลย พี่บิ๊ก (ภูมิชาย บุญสินสุข บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ a book) ก็คิดว่าต่อยอดได้ เลยชวนมาออกหนังสือด้วยกัน

all : มาถึงงานเขียนของตัวเอง ใช้เวลาในการเขียนแต่ละเล่มนานแค่ไหน
ธนชาติ
: เราใช้เวลาลงพื้นที่นานกว่าการลงมือเขียน อย่างเล่ม ‘นิวยอร์กตอนแรก ๆ’ (New York 1st Time) เราอยู่ที่นั่น 2 ปี ถึงจะเขียนออกมาได้ ส่วนเล่มสอง ‘อลาสก้าล้านเปอร์เซ็นต์’ (The Real Alaska) เราก็ไปค่อนข้างนาน ประมาณ 15 วัน เราเป็นคนเขียนดราฟต์แรกเร็ว เจออะไร คิดอะไรได้ก็เขียนออกมาก่อน แล้วค่อยมาแก้ แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์จะใช้เวลานานมาก เราเป็นคนจุกจิก จะแก้ตรงนี้ โยกตรงนั้น ย้ายประโยค เลือกคำอยู่ค่อนข้างนาน

การเขียนหนังสือให้อ่านง่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องตัดทอน ปรับคำให้ย่อยง่าย ๆ แม้ว่างานเราจะไม่มีคำยาก ๆ หรือรูปประโยคที่ซับซ้อน แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะงานหนังสืออนุญาตให้เราใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งเราเขียนหน้าคอมฯ ก็แก้ได้เรื่อย ๆ เกิดความจับจดมากกว่า ทำให้เราอยู่กับงานได้มากขึ้น

all : ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือบันทึกการเดินทาง จุดเด่นของหนังสือประเภทนี้คืออะไร
ธนชาติ
: คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าหนังสือแนวบันทึกการเดินทาง คือการที่นักเขียนเล่าว่าเขาไปเจออะไรบ้าง แต่เราเชื่อว่ามันคือการบอกให้คนอ่านรู้ว่า เราคิดอะไรมากกว่า การบันทึกการเดินทาง นักเขียนต้องนำคนอ่านมาเดินทางในความคิดของเราเหมือนกัน ไม่ใช่แค่การเจอสิ่งภายนอกอย่างเดียว นักเขียนต้องทำให้คนอ่านรู้ว่า คุณเจออย่างนี้ แล้วคุณคิดอย่างไร จะนำไปต่อยอดอย่างไร แล้วขยี้ให้สุด

all : เรื่องที่อยู่ในหนังสือเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือเปล่า
ธนชาติ
: เป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่อาจจะมีการเรียงลำดับใหม่บ้าง เพราะเจอเรื่องนี้แล้วสนุกกว่า เช่น อาจจะสลับเอาเรื่องที่เจอวันที่สาม มาเขียนเป็นวันสุดท้ายแทน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเขียนหนังสืออยู่แล้ว ที่ต้องมีการปรับไทม์ไลน์บ้าง เพราะชีวิตเราไม่ใช่กราฟที่จะขึ้นได้ตลอด ส่วนเรื่องความซวย หรือความบังเอิญที่เจอส่วนมากมันก็เกิดขึ้นเอง เราแค่ตั้งโจทย์ง่าย ๆ ว่า จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำเสมอ ไม่ว่ามันจะแย่อย่างไรเราก็เอามาเขียนหนังสือได้

all : มองโลกต่างจากคนอื่นยังไง ถึงเขียนหนังสือออกมาได้ตลกขนาดนี้
ธนชาติ
: เรามักจะบอกเสมอว่า เราไม่ใช่คนตลก แต่เราเป็นคนกวน ๆ เราชอบความกวนตรงที่มันมีอารมณ์กลม ๆ ความกวนมันต้องใช้ความตั้งใจ ต้องใช้ทักษะ ความกวน มันคือความเทา ๆ เพราะอารมณ์มันตีกันเหลือกัน และการเป็นคนกวน ๆ บ่อย ๆ มันจะทำให้เรามองโลกในแง่กวนไปเอง อย่างเช่น เราถือแก้วอยู่หนึ่งใบ เราจะไม่มองว่า น้ำเหลือตั้งครึ่งแก้ว หรือมองว่าน้ำเหลือแค่ครึ่งแก้ว แต่เราจะเทน้ำไปที่พื้นแล้วไปหลบไกล ๆ แล้วคอยดูว่าจะมีใครลื่นล้มบ้าง (ยิ้ม)

all : อ่านหนังสือของคุณแล้ว รู้สึกว่าโดนอำ ทำไมถึงชอบอำคนอ่าน
ธนชาติ
: เราเป็นคนชอบโกหก (หัวเราะ) เราชอบอำคน เพราะว่ามันสนุก ตอนเล่มนิวยอร์กฯ เราเหมือนเริ่มทำความรู้จักกับคนอ่าน ก็เลยจะ nice กับเขา เหมือนเปิดเทอมเจอเพื่อนใหม่ ๆ เราก็ไม่กล้ากวนมาก แต่พอเล่มอลาสก้าฯ เราเริ่มคุ้นกับนักอ่าน ก็เริ่มมีการแขวะ การแซว หรืออำ มากขึ้น จริง ๆ การอำมันก็เป็นลายเซ็นของเราเหมือนกันนะ เราชอบบิลด์อารมณ์คนอ่าน พอมาบิลด์มาอย่างดีแล้วก็หักมันซะ อย่างในเล่มนิวยอร์กฯ มีบทนึงชื่อ ‘มีเซ็กซ์กับฝรั่งครั้งแรก’ แต่เปิดเข้าไปอ่านแล้วไม่มีเนื้อหาเรื่องนี้อยู่เลย (หัวเราะ) ซึ่งคนอ่านเขาก็ชอบแบบนี้ และมักจะมาบอกว่า อ่านแล้วไม่รู้ว่าที่เขียนในหนังสือเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ผมว่า นี่คืออารมณ์ที่คุณควรจะรู้สึกเวลาอยู่ในประเทศนี้ ด้วยการตรวจสอบว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง

all : เรียกว่า ความกวนเป็นสีสันอย่างหนึ่งในหนังสือของคุณ
ธนชาติ
: เราอยากทดลองมากชึ้น เลยเริ่มอำมากขึ้น ใช้ภาษาที่แรงขึ้น มีความกวนมากขึ้นในอลาสก้าฯ แต่อย่างที่บอกพออ่านจนจบ จะรู้สึกเลยว่า เพราะประเทศมันสวยงามเกินไป ก็เลยต้องหาอะไรมาขัดแย้งกัน ให้มันบาลานซ์ ถ้าหากภาพสวย ๆ มาอยู่กับเนื้อหาดี ๆ ก็ยิ่งเลี่ยน เลยต้องหาอะไรมาตัดอารมณ์ อย่างในอลาสก้า ถ้าตื่นเช้าแล้วรู้สึกว่าชีวิตดีเกินไปแล้ว เจอวิวสวย ๆ เราก็ต้องหาอะไรมาคั่นไว้ ด้วยความกวนนี่แหละ คุยกับนักเดินทางขี้เล่น เบ๊น ธนชาติ

all : ยังมีโปรเจ็คต์ที่อยากทำอยู่อีกหรือเปล่า
ธนชาติ
: เราอยากทำหนังสือบทสัมภาษณ์ ลุงชัยเป็นคนชิค ๆ เพราะเราค่อนข้างจะหมั่นเขี้ยวกับวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ (วัฒนธรรมที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มักจะชอบไปนั่งตามร้านกาแฟ ถ่ายรูปสีซีด ๆ ลงในโซเชียลมีเดีย ดูหนังนอกกระแส หรืออ่านนิตยสารหัวนอก เช่น kinfolk, cereal เป็นต้น) พอสมควร แล้วก็อยากจะไปสวีเดนสัก 2 เดือน เพื่อไปเขียนหนังสือ เพราะสนใจรัฐสวัสดิการของเขา ว่าทำไมคนสแกนดิเนเวียน คนสวีเดนถึงมีชีวิตดี ทำไมถึงมีความเป็นอยู่ดี ๆ เขาสร้างประเทศอย่างไร นิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร แล้วทำไมประเทศที่มีความเป็นอยู่ดี ๆ แบบนี้ถึงเป็นต้นกำเนิดของดนตรี death metal (แนวเพลงที่ใช้เสียงร้องอันแข็งกร้าว รุนแรง และคำราม เนื้อหาพูดถึงความตาย สิ่งชั่วร้ายของมนุษย์) ได้

all : คิดว่าการใช้ social media ช่วยให้คนรู้จักผลงานของเราได้มากขนาดไหน
ธนชาติ
: ช่วยได้มากทีเดียว เรารู้สึกว่า ยูทูบน่าสนใจ ถ้าหากเราสื่อสารด้วยภาพ ทำให้หนังสือชัดมากขึ้น คนอ่านจะได้รู้ว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจะได้เจออารมณ์ประมาณไหน มันแค่เป็นสื่อที่ยังไม่ถูกใช้เท่านั้นเอง เราคิดว่า ทำไมมีตัวอย่างหนัง แล้วจะมีตัวอย่างหนังสือไม่ได้ ที่นิวยอร์กจะเห็นป้ายโฆษณาหนังสือบนรถไฟฟ้า มีโฆษณาหนังสือในทีวี ในอินเตอร์เน็ต ก็แปลกใจที่เมืองไทยไม่มีแบบนี้

all : รู้สึกอย่างไรที่ปล่อยคลิปโปรโมตหนังสือ New York 1st Time ออกไปแล้วคนฮือฮากันทั้งประเทศขนาดนี้
ธนชาติ
: มันเซอร์ไพรซ์เหมือนกันนะ ด้วยความสัตย์จริง เราไม่ได้ต้องการให้มันเป็นไวรัลอะไรเลย แค่คิดว่ามันน่าจะสนุกดี เลยทำออกมา แล้วก็บังเอิญไปตรงกับความชอบของคนส่วนใหญ่ เรียกว่าต่อกันติด เพราะเรื่องที่เราตลก กับเรื่องที่เขาตลกมันเป็นเรื่องเดียวกัน เราดีใจที่หนังสือของเรา อาจจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนหันมาสนใจมาอ่านหนังสือมากขึ้น เราดีใจที่เขาอ่านหนังสือของเรา แล้วไปหาหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เราเขียนเอาไว้ในหนังสือมาอ่านต่อ เราดีใจมาก ซึ่งเราคิดว่าคุณูปการมันคือตรงนั้น

all : ถ้าคนที่อ่านหนังสือของคุณ อยากจะเขียนหนังสือบ้างล่ะ มีคำแนะนำไหม
ธนชาติ
: มีคนหลายคนมาถามเราว่า อยากเป็นนักเขียน มีคำแนะนำไหม เราก็บอกไปว่า แค่เริ่มเขียนเท่านั้นแหละ พอได้เริ่มแล้ว จะมีเรื่องต่อจากนั้นอีกเพียบเลย คุณต้องเริ่มเขียน ต้องเริ่มเปิดไฟล์เวิร์ด แล้วเริ่มเขียนย่อหน้าแรก หลายคนอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ อยากเป็นนักเขียนเพราะอยากไปแจกลายเซ็นในงานหนังสือ มีคนมาขอลายเซ็นเยอะ ๆ อยากเห็นหนังสือของตัวเองอยู่ชั้นหนังสือ เป็นหนังสือ best seller ซึ่งตรงนั้นมันเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น การเป็นนักอะไรสักอย่างอยู่ที่กระบวนการมากกว่า ว่าคุณสนุกกับการทำงานนั้นแค่ไหน ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียน คุณต้องตื่นมาแล้วมีความสุขกับการเขียน ในขณะที่บางวันคุณต้องเจอกับอาการตัน ๆ ที่เขียนอะไรไม่ออก เจอไฟล์เวิร์ดเปล่า ๆ แล้วคุณยังจะอยากเขียนอยู่ มันต้องแบบนี้ คุณต้องอยากทำ ไม่ใช่อยากเป็น คนที่อยากเป็นคือคนเสพติดกับภาพของ Final product เท่านั้นเอง คนส่วนใหญ่อยากเป็นมากกว่าอยากทำ นั่นแหละที่ทำให้ชีวิตเราไม่ก้าวไปข้างหน้า

all : คิดว่าในปัจจุบัน นักเขียนหน้าใหม่มีโอกาสแจ้งเกิดได้มากน้อยแค่ไหน
ธนชาติ
: เราว่ามีโอกาสมากเลยนะ เพราะว่าสื่อมันมีเยอะ ง่ายสุดคุณลองเปิดเพจแล้วเขียนอะไรสักอย่างดู เพราะเราสามารถเช็คได้ ว่ามีคนชอบหรือเปล่า อย่าอยากเป็นนักเขียน แต่ต้องอยากเขียน คนเรามักจะกำแพงกั้นบางอย่างระหว่างตัวเองกับโลกภายนอก การลงมือทำคือการก้าวข้ามกำแพงนั้น คุณต้องนับหนึ่ง แล้วที่เหลือมันจะตามมาเอง ถ้าหากต้องการแรงบันดาลใจ เดี๋ยวนี้หาได้ไม่ยาก อย่างเราบางวันตื่นมาขี้เกียจเราเปิด TED Talks (www.ted.com เว็บไซต์รวบรวมคลิปสร้างแรงบันดาลใจจากบุคคลแถวหน้าระดับโลก) ดูว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว เปิด kickstarter (www.kickstarter.com เว็บไซต์ที่ระดมเงินทุนให้กลุ่มคน องค์กร ได้ทำโปรเจ็คต์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ) ดูคนอื่นเขากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าหากคุณเสพอะไรพวกนี้ คุณจะรู้ว่าระหว่างที่คุณขี้เกียจ คนอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว คุณต้องชนะใจตัวเองจากความขี้เกียจจากการเช็คเฟซบุ๊ก หรือดูยูทูบ คุณแค่กดปิด แล้วลงมือทำ

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ