แก้วเก้า – ว.วินิจฉัยกุล : สร้างคุณภาพใหม่ ไม่ซ้ำรอยตัวเอง

แก้วเก้า – ว.วินิจฉัยกุล

นี่เป็นคำกล่าวของ ‘รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๓๗ เจ้าของนามปากกาที่นักอ่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับ‘แก้วเก้า’ และ ‘ว.วินิจฉัยกุล'นักเขียนคุณภาพผู้สร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ แก่วงการวรรณกรรมไทย ผลงานแต่ละเรื่องเต็มไปด้วยจินตนาการ และความรู้ทางวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา, วรรณคดี, ประวัติศาสตร์ และยังสอดแทรกสัจธรรมทางพระพุทธศาสนา ผ่านตัวละครหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นมิติใหม่ ๆ ของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ว.วินิจฉัยกุล

All : นามปากกา ‘แก้วเก้า และ ว.วินิจฉัยกุล’ เป็นที่รู้จักของนักอ่านและได้รับความนิยมมาโดยตลอด กว่าจะยืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ ยากไหม แล้วอะไรคือสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพ
วินิตา ดิถียนต์ : ยากมากค่ะ เพราะไม่มีหลักสูตรว่าจะต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะสำเร็จ ไม่เหมือนกับเรียนวิชาต่าง ๆ ที่มีกำหนดเวลาให้รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ การเป็นนักเขียนต้องใช้เวลาทั้งชีวิตและไม่มีอะไรแน่นอน ผลงานอาจไม่เป็นที่รู้จักในตอนแรก แล้วดังขึ้นในระยะหลัง หรือว่าเป็นที่นิยมก่อนแล้วเสื่อมลงไปจนต้องหยุดเขียนก็ได้ หรือขึ้นต้นก็ไปได้ดี แล้วรักษาระดับไว้ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดไปก็ได้ ไม่ตายตัว ทุกคนมีเส้นทางไม่เหมือนกัน ความไม่แน่นอนนี้เองทำให้เป็นเรื่องยาก ที่จะทำงานต่อไป เพราะเราก็ไม่รู้ว่าผลงานชิ้นต่อไปจะเป็นที่ยอมรับเท่าเรื่องก่อน ๆ หรือไม่ ในเมื่อเป็นเรื่องยาก ดิฉันจึงหาคำตอบให้ตัวเองด้วยการบอกว่า งานทุกชิ้นจะต้องทำด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ดีพอ ก็จะไม่ส่งให้บรรณาธิการ ต้องผัดเขาไปก่อน ต่อให้เป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์มากกว่า ๔๐ ปี ก็ไม่ได้หมายความว่าเขียนอะไรง่าย ๆ ได้ งานบางชิ้นวางโครงไว้แล้ว ทบทวนดู คิดว่าเขียนออกมาคงไม่สมบูรณ์เพราะขาดชีวิตชีวา ก็หยุดไว้ก่อน เช่นเรื่อง ‘วาดสีและลงเส้น’ เป็นชีวิตของนิสิตที่เรียนศิลปะ ตามที่ลูกคนเล็กเล่าให้ฟังสมัยเธอเรียนจุฬา พอจะลงมือเขียนเธอไปเรียนต่อเมืองนอก เลยจังหวะขาดหายไป เขียนไม่ได้จนบัดนี้ เรื่อง ‘ชายแพศยา’ ที่เริ่มลงในพลอยแกมเพชร ดิฉันเคยเขียนส่งบรรณาธิการแล้วขอบทที่ ๑ กลับคืนเพราะยังไม่สนุกสมใจที่จะต่อบทที่ ๒ ผัดพี่ชาลีมา ๒ หรือ ๓ ปี คิดอยู่นานจนกระทั่งเปลี่ยนมุมมองตัวเอกจากตัวละครลูกสาว เปลี่ยนเป็นแม่ ถึงไปได้ตลอดรอดฝั่ง ก็รื้อโครงเดิมทิ้งเริ่มลงมือเขียนใหม่ จึงส่งให้บรรณาธิการได้

All : เขียนนวนิยายหลากหลายแนว เช่น จินตนิยาย, ประวัติศาสตร์, โรแมนติก, สะท้อนชีวิตและสังคม ฯลฯ ซึ่งแต่ละแนวก็มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป อยากทราบว่า มีหลักการเขียนในแต่ละแนวอย่างไรบ้าง
วินิตา ดิถียนต์ : แนวทั้งหมดนี้ไม่ได้เริ่มเขียนพร้อมกัน แต่ค่อย ๆ เขยิบขึ้นไปทีละแนว เริ่มจากนวนิยายสะท้อนชีวิตและสังคมก่อน เขียนไปได้ ๒ – ๓ เรื่อง ต่อมาก็ลองเขียนจินตนิยายดู เรื่องแรกคือ ‘แก้วราหู’ ใช้นามปากกา‘แก้วเก้า’ เป็นครั้งแรก เป็นเรื่องข้ามชาติข้ามภพระหว่างยุคสุโขทัยกับปัจจุบัน ในเมื่อต้องอาศัยความรู้ทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจากหาอ่านเอง แล้วก็ไปขอเข้าฟังในชั้นเรียนของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นดิฉันเรียนจบ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์แล้ว แต่ถือว่าความรู้มีให้เรียนไม่มีที่สิ้นสุด ฟังเลกเชอร์เสร็จ ไม่เข้าใจตรงไหนก็มาถามอาจารย์พิเศษต่อ อาจารย์ก็กรุณาอธิบายให้ฟัง จึงนำข้อมูลมาผูกเป็นเรื่องได้จนจบ หลักในการเขียนเรื่องแต่ละแนว คือทำความเข้าใจว่าแนวนั้น ๆ ต้องอาศัยอะไรอีกบ้าง นอกจากการวางพล็อต สร้างตัวละคร สร้างฉาก บทสนทนา ฯลฯ อย่างเรื่องทั่วไป นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยากตรงข้อมูล จะต้องมีหลักฐานที่มาที่ไปของเรื่องทุกขั้นตอน จะฟังแต่คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ หรืออ่านหนังสือเล่มสองเล่มไม่พอ เพราะจะพลาดรายละเอียดได้ง่ายมาก ถ้าเขียนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากอ่านเหตุการณ์ในพงศาวดารว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละรัชกาลแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องสภาพสังคมสมัยนั้นด้วย จึงจะมองเห็นภาพการดำเนินชีวิตของผู้คนได้ชัด ทั้งหมดนี้อาศัยการศึกษาค้นคว้าทั้งนั้น ยุคนี้ยังดีที่มีกูเกิ้ลให้ค้นข้อมูลได้ เมื่อก่อนต้องอ่านหนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว บางทีต้องอ่านเป็นพัน ๆ หน้า เพื่อจะหาข้อมูลเพียงไม่กี่คำ

All : มีวิธีหาพล็อตและวางพล็อตเรื่องอย่างไร ที่ทำให้งานเขียนไม่ซ้ำกันเลย
วินิตา ดิถียนต์ : รอบตัวเรามีพล็อตมากมายเต็มไปหมด ชีวิตของญาติ เพื่อนฝูง คนรู้จัก ฯลฯ ในอินเทอร์เน็ตมีเรื่องราวชีวิตของคนให้อ่านอยู่มากมาย ชีวิตมนุษย์คือแหล่งที่ดีของพล็อต แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนมีชีวิตที่นำมาเป็นพล็อตได้ ชีวิตที่โลดโผน มีสีสันย่อมนำมาเป็นพล็อตได้ ยิ่งแปลกไม่น่าเชื่อเท่าใดยิ่งนำมาเขียนได้น่าสนใจมากเท่านั้น ตรงข้ามคือชีวิต จืด ๆ ดีเสมอต้นเสมอปลายไม่มีขึ้น ไม่มีลง หรือชีวิตที่สุดโต่ง ลำบากลำเค็ญไม่มีอะไรดีเลย พวกนี้เอามาเป็นพล็อตไม่ได้ หนังสืองานศพก็เป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่เหมาะจะหาพล็อตนวนิยายย้อนยุค เพราะในหนังสืองานศพจะมองเห็นชีวิตของผู้ล่วงลับ ในทุกวัยตั้งแต่วัยต้นจนวัยปลาย เดินมาจนถึงตอนจบของชีวิต มองเห็นทัศนะและค่านิยมต่าง ๆ ในอดีตเป็นของแถมด้วย อย่างเรื่อง ‘ราตรีประดับดาว’ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสืองานศพของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ

 All : มีวิธีสร้างตัวละครอย่างไร ให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครนั้น ๆ ได้
วินิตา ดิถียนต์ :
๑. เมื่อสร้างตัวละครใส่รายละเอียดลงไปให้มาก ไม่ใช่แค่รู้ว่าชื่ออะไรหน้าตาแบบไหน อาชีพอะไร แต่จะต้องปูพื้นหลังหรือแบคกราวน์ของเขา หรือเธอให้มากที่สุด เพื่อคนอ่านจะได้รู้ว่าตัวละครมีที่มาอย่างไรแบบไหน เขามาจากครอบครัวแบบไหน อะไรคือสิ่งที่ก่อให้เกิดนิสัยแบบนี้ เขาเผชิญปัญหาในชีวิตด้วยวิธีแก้ไขอย่างไร เขาหาทางออกได้ไหม ทุกอย่างต้องมีคำตอบรองรับ ไม่ใช่ว่าตัวละครอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่มีเหตุไม่มีผล
๒. นักเขียนต้องทำความรู้จักกับตัวละครให้ดีก่อนจะลงมือเขียน ทำความเข้าใจจนมองออกทะลุปรุโปร่งว่า คนนี้เป็นคนอย่างไร เหมือนคนจริง ๆ ที่เรารู้จักดี รู้ลึกเข้าไปถึงความรู้สึกนึกคิดของเขา ถ้านักเขียนไม่รู้จักตัวละครอย่างดีก็สร้างออกมาให้มีชีวิตสมจริงไม่ได้
๓. หลีกเลี่ยงคำบรรยายซ้ำ ๆ (cliché) จนตัวละครออกมาเป็นก๊อปปี้เดียวกันหมด นางเอกหน้ารูปไข่ จมูกโด่ง ตาโตดำขลับ ปากรูปคันศร พระเอกก็ตาคมคิ้วเข้ม พยายามหาลักษณะเฉพาะตัวให้พระเอกนางเอก ที่จะไม่ซ้ำกับคนอื่น ๆ มีไหมที่ผู้ชายน่าประทับใจโดยไม่ต้องหล่อ หรือนางเอกที่น่าสนใจ มีจุดเด่นในตัวทั้ง ๆ ที่หน้าตาพื้น ๆ

 

ว.วินิจฉัยกุล

 

All : จากการอ่านนวนิยายทั้ง ๒ นามปากกา มีการนำเสนอ ‘สิ่งใหม่’ ให้วงการนวนิยายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายที่มี ๒ ตอนจบจาก ‘ลมพัดผ่านดาว’ , ‘เพลงสายลม – หน้าต่างสายลม’ หรือ ‘เรือนมยุรา’, ‘นิมิตมาร’, ‘เจ้าบ้านเจ้าเรือน’ จะถือว่าเป็น ‘นวนิยายแนวทดลอง’ ได้ไหม ล้วนเป็นเรื่องแปลกใหม่ และไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้งานเขียนได้รับการตอบรับที่ดีจากนักอ่านอยู่เสมอ
วินิตา ดิถียนต์ : คำว่า ‘นวนิยายแนวทดลอง’ หมายถึงรูปแบบการแต่งที่มี ‘นวัตกรรม’ (innovation) เป็นหลักใหญ่ ส่วนใหญ่จะเน้นเทคนิคการแต่งมากกว่าเนื้อหา ดิฉันก็เลยไม่ทราบว่านวนิยายที่เขียนมาเรียกว่าแนวทดลองได้หรือไม่ ถ้าพอจะใกล้เคียงก็น่าจะเป็น ‘ลมพัดผ่านดาว’ ที่มีตอนจบ ๒ แบบ ให้คนอ่านเลือกเอา ส่วนเรื่องอื่น ๆ ในนาม ‘แก้วเก้า’ เป็น จินตนิยาย

All : นวนิยายเรื่อง ‘เพชรกลางไฟ’ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๖ ช่วยเล่าถึงแนวคิด และที่มา ของการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร
วินิตา ดิถียนต์
: จุดมุ่งหมายคืออยากให้คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์ไทยค่ะ นวนิยายเป็นเพียงแรงกระตุ้น ถ้าอ่านแล้วสนใจเขาจะได้ไปติดตามหาอ่านรายละเอียดเอาเอง สมัยนี้หาได้ง่ายจากกูเกิ้ล ไม่จำเป็นต้องรอไปถึงห้องสมุดใหญ่ ๆ ถ้าอ่านจากเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วยังอยากรู้เพิ่มเติมอีกก็ตรงไปที่ห้องสมุดได้ เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์กบฏร.ศ. ๑๓๐ ที่ไม่มีใครค่อยรู้กันนัก เป็นความพยายามกบฏของนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งในต้นรัชกาลที่ ๖ แต่ว่าถูกจับได้เสียก่อนจะลงมือ โทษกบฏในสมัยนั้นคือประหารชีวิต แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงลดโทษให้หมด ไม่มีใครถูกประหารเลย เหลือแต่โทษจำคุก ในที่สุดในตอนปลายรัชกาลก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่แผนการณ์ของพวกเขาร้ายแรงมากถึงขั้นวางแผนปลงพระชนม์เพื่อเปลี่ยนตัวผู้ปกครองประเทศ เรื่องนี้ทำให้ดิฉันประทับใจมากว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดตามกฎหมายที่จะประหารชีวิตผู้กระทำผิดได้ ก็มิได้ทรงใช้อำนาจนั้น เพราะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม มิใช่โดยอำนาจเด็ดขาด นักโทษเหล่านั้นเมื่อพ้นโทษออกมาแล้วก็สำนึกในเรื่องนี้ เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วพวกเขาก็มารวมกันเพื่อทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลให้พระองค์ท่านทุกปี

All : นวนิยาย ‘กลับไปสู่วันฝัน’ ผลงานล่าสุดของ ‘แก้วเก้า’ ได้ข้อมูลมาจากไหน จึงเขียนนวนิยายเล่มนี้ขึ้นมา
วินิตา ดิถียนต์
: เกิดจากความคิดว่า คนเรามักจะมีความฝันด้วยกันทั้งนั้นค่ะ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครสมหวัง อาจจะเป็นฝันทางไหนก็ได้ ไม่ว่าเรื่องความรัก เรื่องอาชีพ เรื่องโอกาสในชีวิตที่หลุดมือไป หรืออื่น ๆ สารพัด มีคนอยู่มากที่คร่ำครวญกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้ ก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อเสนอความคิดว่าบางครั้งความฝัน แม้เป็นจริงขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าจะนำความสุขมาให้เสมอไปค่ะ สิ่งที่ดีที่สุดคืออยู่กับความจริง และทำความจริงนั้นให้ดีที่สุด

All : ทราบมาว่า กำลังจะเขียนนวนิยายเรื่องใหม่อีก ๒ เรื่อง คือ ‘หญิงสองวิญญาณ’ กับ ‘ชายแพศยา’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
วินิตา ดิถียนต์
: ที่มาของ ‘หญิงสองวิญญาณ’เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้น (ถ้าเป็นยุคนี้ก็คือประถมปลาย เพราะสมัยโน้นมีแค่ประถม ๔ พอจบก็ขึ้นมัธยม ๑ ) มีงานอดิเรกที่สนุกสนานกันอยู่อย่างหนึ่ง คือแต่งเรื่องให้เพื่อนเวียนกันอ่าน ใครมีฝีมือในการแต่งก็แต่ง ใครวาดภาพประกอบได้สวยก็วาดใครลายมือสวยก็คัดเรื่องลงในสมุดนักเรียนว่าง ๆ เล่มหนึ่ง แล้วส่งต่อกันอ่านทั่วห้อง ‘แก้วเก้า’ เป็นหนึ่งในนักแต่งเรื่องของห้อง มีเพื่อนรอคิวอ่านกันยาว เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีการถ่ายเอกสาร แม้แต่กระดาษคาร์บอนสำหรับก๊อปปี้ก็หายากเย็น พิมพ์ดีดยิ่งไม่มีใครมีตามบ้าน จึงมีชุดเดียวต้องเข้าคิวกันอ่านจนกว่าจะครบทั้งห้อง งานอดิเรกประเภทนี้เป็นของต้องห้าม เพราะสมัยนั้น ในกระเป๋าหนังสือจะมีอะไรไม่ได้นอกจากหนังสือเรียน เมื่อครูจับได้ สมุดต้องห้ามนี้ก็ถูกริบไปโดยไม่คืน หลายสิบกว่าปีต่อมา เมื่อเพื่อนเก่าในครั้งกระโน้นโคจรมาเจอกันอีกครั้งในเฟซบุ๊กเล่าทบทวนความหลังครั้งเยาว์อีกครั้งกันอย่างสนุกสนาน ‘แก้วเก้า’ ก็นึกได้ว่าหนึ่งในจำนวนเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องลึกลับภูตผีปีศาจ ชื่อตรง ๆ กับเนื้อหาว่า ‘หญิงสองวิญญาณ’ ตามประสาเด็ก ๑๐ ขวบซึ่งไม่อาจจะตั้งชื่ออะไรได้ซับซ้อนกว่านี้ แต่เรื่องนี้ เขียนไม่จบเพราะถูกครูริบไปเสียก่อน ก็เลยค้างอยู่ในไม่กี่หน้า ยังไม่รู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไร เพื่อนเก่าครั้งโน้น อยากอ่านเรื่องนี้ให้จบ แฟนคลับก็สนับสนุนให้เขียน เพราะผู้เขียนยังจำเนื้อเรื่องได้อยู่ ‘แก้วเก้า’ จึงต้องหยิบเรื่องเดิมมาปัดฝุ่นอีกครั้ง คงโครงเรื่องเดิมไว้ แต่แต่งเติมรายละเอียดเข้าไปใหม่ ตามวัยและประสบการณ์ที่เพิ่มพูน ส่วนชื่อเรื่อง คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์ บก.สกุลไทยเห็นว่าควรจะคงชื่อไว้ตามเดิม เรื่องใหม่จากอดีตของ ‘แก้วเก้า’ จึงเป็นชื่อตามที่เด็กหญิงวินิตา วินิจฉัยกุล เคยตั้งชื่อเอาไว้ ส่วน ‘ชายแพศยา’ เป็นเรื่องชีวิตของคนยุคปัจจุบันค่ะ เรามักได้ยินคำว่า ‘หญิงแพศยา’ หมายถึงหญิงหลายใจ พฤติกรรมสำส่อน ที่จริงพฤติกรรมด้านนี้ มีได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทำไมจะต้องประณามผู้หญิงฝ่ายเดียว ดิฉันก็เลยเขียนเรื่องนี้ให้เห็นว่าไม่มีเพศไหนดีหรือเลวไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวของบุคคล พฤติกรรมที่ซ้ำซากก่อให้เกิดนิสัย แล้วนิสัยก็จะไปกำหนดเส้นทางชีวิตของคนนั้นอีกที

All : ผลงานทั้งหมดที่ผ่านมา มีนวนิยายเรื่องไหนที่เขียนยากที่สุด และนวนิยายเรื่องไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ
วินิตา ดิถียนต์
: มีหลายเรื่องที่เขียนยากค่ะ เช่น รัตนโกสินทร์ รออยู่ถึง ๑๐ ปีกว่าจะรวบรวมข้อมูลลงมือเขียนได้สำเร็จ บางเรื่องยากตรงบรรยากาศ เช่น เงาพราย จะทำอย่างไรให้คนอ่านกลัวกับเรื่องสยองขวัญที่ไม่ซ้ำแบบคนอื่น และไม่ซ้ำในแต่ละบท เรื่องตลกก็เขียนได้ยาก เพราะถ้าคนอ่านไม่ขำ ก็จบกันแค่นั้น ก็มีหลายเรื่องที่ชอบมาก แต่ไม่มีเรื่องไหนชอบมากที่สุด

All : มีอะไรอยากจะฝากถึงนักอ่าน และคนที่จะก้าวมาเป็นนักเขียนรุ่นใหม่บ้างไหม
วินิตา ดิถียนต์
: มีคำเดียวค่ะ อยากเป็นนักเขียนก็ต้อง ‘เขียน’ เท่านั้นเอง อย่ามัวแต่ถามโน่นถามนี่ให้เสียเวลาเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาก็เขียนลงไปเลย สำนักพิมพ์จะบอกเองว่าเรื่องของเราใช้ได้หรือไม่ เอาคำของสตีเฟน คิงไปใช้บ้างก็ได้ค่ะ “If you want to be writer you MUST do two things ABOVE all others : READ a lot & WRITE a lot”

รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ได้ร่วมมือกับเพื่อนอาจารย์ก่อตั้ง เว็บไซต์เรือนไทย โดยมีจุดกำเนิด จากห้องหนึ่งใน www.vcharkarn.com เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายด้านเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก และตอบคำถามเพื่อเป็นวิทยาทานเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ประสงค์ออกนาม การสมัครสมาชิกก็จะมีชื่อตัวละครรามเกียรติ์กำกับชื่อผู้สมัคร เมื่อสมาชิกโพสต์คำถาม และสมาชิกคนอื่นเข้ามาตอบ ก็จะเลื่อนขั้นจากตัวละครที่มีบทบาทน้อยมาเป็นตัวละครที่มีบทบาทมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้คนตอบ ส่วนคนที่เริ่มเข้ามาตอบคำถามจะได้ระดับ ‘อสุรผัด’ จนถึงระดับสูงสุดคือ ‘หนุมาน’ หากผู้อ่านท่านใดต้องการค้นคว้าหนังสือหายากของไทย เพียงเปิดเข้าไปใน www.reurnthai.com ก็จะพบหนังสือมากมายอยู่ในตู้หนังสือ ให้เลือกอ่านฟรี

 

 

 

 

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ