เพ็ญ ภัคตะ : นักประวัติศาสตร์ศิลป์สายโรแมนติก

เพ็ญ ภัคตะ

วันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนครูสอนภาษาไทยชั้น ป.6 โรงเรียนระแวกซอยกิ่งเพชร(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนสาธิตมัธยมสถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์) ยกตัวอย่างบทกวีซึ่งเป็นกลอนแปดง่าย ๆ ของสุนทรภู่ ชื่อนิราศอิเหนา บทกวีชิ้นนี้คือ หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน จะกางกรกอดน้องตระกองขวัญ เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์ ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อย เพียง 4 บรรทัดนี้ทำให้เด็กสาวอายุ 11 ปี ที่เอาแต่เก็บตัว ไม่ยุ่งกับสังคม วันๆหนึ่งดูแต่พระอาทิตย์ตก พระอาทิตย์ขึ้น ดูแต่พระจันทร์ ดูก้อนเมฆ บอกกับตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ฉันค้นหา เพิ่งจะเข้าใจว่าตนเองต้องการอะไร เธอต้องการเขียนบทกวีแบบนี้ เธอจะเป็นกวีนั่นคือจุดเริ่มต้นของกวิณี หรือกวีสตรีที่ชื่อ เพ็ญ ภัคตะ

อาศัยว่าคุณพ่อเคยเป็นนักกลอนสมัยอยู่นครศรีธรรมราช เป็นรุ่นน้องของอังคาร กัลยาณพงศ์ 3 ปี คุณพ่อเป็นเพื่อนกับนักกลอนชื่อดัง คือ ภิญโญ ศรีจำลอง เมื่อท่านรู้เรื่องนี้เข้าก็ให้การสนับสนุน กลับมาบ้านตอนเย็น ๆ จะเอาเสภาขุนช้างขุนแผน หนังสือเก่า ๆ ที่เก็บไว้ แล้วก็บทกวีที่เขียนเองมาให้อ่านบนตัก จึงทำให้เกิดกำลังใจ ต่อมาเธอกลายเป็นตัวแทนโรงเรียนสตรีวิทยาไปประกวดกลอนในวันสุนทรภู่ตามที่ต่างๆ แล้วก็ได้รางวัลมาโดยตลอด จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ม.ศ. 4 ที่เตรียมอุดมศึกษา ช่วงนี้เส้นทางการเขียนยิ่งผลิบานอย่างมาก เพราะเลือกเรียนสายศิลป์ฝรั่งเศส สัปดาห์หนึ่งก็มีเรียนสามัคคีเภทคำฉันท์ การเขียน การอ่านภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส

แต่พอถึงจุดที่จะต้องเอ็นทรานซ์กลับหักมุม ตัดสินใจไม่เลือกอักษรศาสตร์จุฬาฯ ตัดสินใจเลือกโบราณคดีคณะเดียว แล้วก็สอบได้ด้วย เพราะตอนนั้นเริ่มมีความชอบด้านประวัติศาสตร์เข้ามาแทรก แล้วก็บอกกับตัวเองว่า คงไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนอะไรในทางอักษรศาสตร์ก็ได้ เพราะเธอเขียนได้หมดแล้ว เขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน รู้ทางหนีทีไล่มาหมดแล้ว

นามปากกาตากระต่าย
ผลงานในวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่งดงาม เพราะว่ายังไม่มีประสบการณ์ชีวิต มีแต่ความอยาก อยากที่จะเขียน เพราะฉะนั้นในวัยเด็กจึงเป็นการสั่งสมวิทยายุทธในด้านคลังศัพท์ คือวัน ๆ หนึ่งเปิดพจนานุกรม แล้วก็นั่งจดว่า อะไรบ้างที่แปลว่า ภูเขา บรรพต บรรผกา ศิขร ศิขรี ศิขริน ภูผา เนินโคก อะไรบ้างที่แปลว่า ดอกไม้ ผกา ลัดดา ผุสปะ บุปผา มาลี จึงกลายเป็นคนที่รุ่มรวยศัพท์ ไม่จนถ้อยคำ

วัยเด็กเขียนเยอะมาก เขียนทั้งความรัก ทั้งธรรมชาติ เขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่แวดล้อม ข้างบ้านเขาทะเลาะกัน ก็เอามาเขียน หญิงตบผัว หัวฟาดเขียงก็เขียน เขี ยนไปเรื่อย แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจถึงหัวใจของบทกวี เขียนแบบพรรณณาไปเรื่อย วันนี้ฉันตื่นแต่เช้าตอน 9 โมงก็เขียน เหมือนกับสั่งสมประสบการณ์ แต่ทำให้เราได้รู้ชั้นเชิงเรื่องเสียง เรื่องจังหวะ เรื่องลีลา เรื่องสัมผัส ในวัยเด็กมีนามปากกา “ตากระต่าย” เอามาจากพฤติกรรมเวลานั่งเรียนก็จะนั่งหันหลังให้ครู ดูผีเสื้อ ครูก็จะเรียก“เพ็ญสุภา”อย่ามาทำเป็นตากระต่ายใส่ฉันนะ จึงคิดว่าใช่เลย“ตากระต่าย” คือทำเป็นตื่น ไม่ตั้งใจเรียนเลย ใช้นามปากกา“ตากระต่าย”นี้มาตั้งแต่ ป.6 จนกระทั่งเรียนอยู่ปีหนึ่งมหาวิทยาลัย

ในมหาวิทยาลัย
เมื่อเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย บรรยากาศขณะนั้นอาจารย์สุวรรณี สุคนธา ยังเป็นบรรณาธิการลลนา คุณคำปัน สีเหนือยังเรียนคณะจิตรกรรม เริ่มมีพวกศิลปินเข้ามา วสันต์ สิทธิเขตตอนนั้นจบช่างศิลป์ เขาก็ยังแวะเวียนมาที่ศิลปากร ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ รุ่นพ่อก็ยังแวะเวียนมาหารุ่นลูกรุ่นหลาน ตามบรรยากาศหน้าพระลาน

พวกเราก็เริ่มหลงใหลแนวเซอราลิส แนวสุวรรณี แนวอังคารในยุคนั้น คือเริ่มชอบลีลาของจิตรกรที่มาเขียนตัวอักษร เริ่มอ่านงานของสุจิตต์ วงศ์เทศ รุ่นพี่โบราณคดีทั้งหลาย พวกศิเรมอร อุณหธูป ,พี่ช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน ,วาณิช จรุงกิตอนันต์ ก็เริ่มใช้นามปากกาใหม่เป็น “เพ็ญ ภัคตะ”คือ มาจากชื่อกับนามสกุล “เพ็ญสุภา สุขคะตะ” เพ็ญ แปลว่า เต็ม สุ แปลว่า ดี งาม ง่าย ภา แปลว่า รัศมี นามสกุล “สุขคะตะ” สุข แปลว่า มีความสุข คะตะ แปลว่า คติ หนทาง ก็ตัด “สุ” กับ “สุข” ทิ้ง ก็เหลือ เพ็ญ ภา คะ ตะ แต่เพ็ญเป็นเสียงสามัญ ภาก็เสียงสามัญ เลยจับสระอาให้เป็นไม้หันอากาศ “เพ็ญ ภัคตะ”แปลว่า หนทางที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง เริ่มใช้นามปากกานี้เขียนลงลลนา ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี เริ่มเรียนมหาวิทยาลัยอายุ 16-17 ปี เขียนลงแพรว

จุดหักเหครั้งที่สอง
ตอนนั้นปี 2525 สุรชัย จันทิมาธร หรือน้าหงา เขามีอัลบั้มคอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ ตอนที่พวกพี่หงาออกจากป่า แล้วก็ร้องเพลงพวกคืนแรม กลางสายฝน หลังจากที่ได้ยินเพลงยิ้มกลางสายฝนเสร็จ เกิดอาการคลั่นเนื้อคลั่นตัวครั้งที่สอง เหมือนกับนิราศอิเหนา ใช่แล้วสิ่งที่ฉันตามหา ต้องหวานในระนาบนี้ ต้องไวโอลิน ต้องได้คำเป็นกวีแบบนี้ ต้องมีกลิ่นอายอินเดียแบบนี้ ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง โอ้ใช่เลย ใช่แล้วต้องมีความเป็นเขมรนิด ๆ แบบพี่หงา ต้องมีความเป็นกลิ่นอายป่าแบบนี้ แล้วเนื้อหาต้องโรแมนติก แต่อุดมการณ์

จุดเปลี่ยนแปลงอันนี้ใหญ่หลวงมาก เพราะทำให้หันหลังกับพวกกฤษณา อโศกสิน ,ทมยันตี แล้วก็หันหน้ามาหา ศรีบูรพา ,จิตร ภูมิศักดิ์ เหมือนกับพี่หงากับเอาความหวานของคืนรัง กับยิ้มกลางสายฝนเป็นตัวล่อเพราะจะเป็นคนที่ไม่ได้ชอบ พวก “คนกับควาย” ถ้ามาร้องแบบอเมริกันอันตรายก็จะไม่ชอบ เป็นคนที่ชอบความหวาน แต่ความหวานนั้น ต้องถูกหลอกล่อไปสู่อุดมคติ หรือสิ่งที่งดงาม อาจจะสื่อผ่านความรักหนุ่มสาว หรือการต่อสู้ ชีวิตก็เปลี่ยน ก็เริ่มเสพอะไรที่หนัก ๆ เริ่มจะใส่ม่อฮ่อม สะพายย่าม ใส่รองเท้าแตะ มีความสุขกับการไปนั่งลานโพธิ์ที่ธรรมศาสตร์ ไปนั่งฟังพี่พจนา, ขลุ่ยไม้ไผ่ คุยปรัชญา เริ่มที่จะไม่แต่งตัวนักศึกษา เริ่มที่จะหันหลังให้กับแนวผู้หญิง แนวที่เขียนลงแพรวไม่เอาแล้ว

เริ่มเข้าไปหาคุณลุงอาจินต์ หัดเขียนเรื่องสั้นหนัก ๆ โหด ๆ ซึ่งมันไม่ได้มาจากประสบการณ์ เพราะว่าชีวิตที่บ้านมันเรียบ ๆ ไม่ได้ต่อสู้ มันเหมือนกับโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ได้มีปัญหาสังคม ครอบครัว ชีวิตก็เรียบร้อย แต่มันแสวงหาเสรีภาพ แสวงหาความเป็นกบฎ ช่วงที่เริ่มใช้นามปากกา“เพ็ญ ภัคตะ” คือ เหมือนกับเริ่มเก็บเบื้ยใบ้รายทางไปเรื่อย ๆ เขียนให้คนพอรู้จัก แต่ยังไม่มีวรรคทอง ยังไม่มีจุดเด่น เพราะว่ามันเป็นงานที่แห้ง และแค่น ๆ เสแสร้ง มันไม่ได้มาจากข้างในของเรา เพราะมันไม่มีอะไร งานเขียนชิ้นที่จะยิ่งใหญ่ได้ มันต้องมาจากประสบการณ์ที่เจ็บที่โหดสุดๆ

งานชิ้นที่ดี เช่น ต้องรักระหว่างรบ หรือว่ากายอยู่ทางนี้ แต่ใจต้องไปทางนี้ หรือเจ็บสุด ๆ โหดสุด ๆ หรือรักสุด ๆ เธอไม่ได้เจออย่างนั้น งานก็เลยไปเรื่อย ๆ แต่ก็เริ่มเข้ามาคลุกคลีในวงการ มาสุงสิงกับกลุ่มประพันธ์สาสน์ ตอนนั้นยังอยู่ปาจารยสาสน์ ก็คือ กลุ่มพี่อาทร เตชะธาดา ,คุณไพวรินทร์ ขาวงาม ,คุณตุ้ม เริ่มเข้ามาคลุกคลี ช่วยดูปาจารยสาสน์ เขียนบทกวีให้เขา มาช่วยนั่งตอบจดหมายที่มีคนเขียนถึง บก. ให้พี่อาทร

อกหักจึงได้เป็นกวีจริงๆ
ขณะนั้นเริ่มทำงานในวัง เรียนจบแล้ว กำลังเรียนต่อปริญญาโท อยากจะเป็นกวีเต็มแก่ มีแต่ภาษาสวยๆ แล้วก็เต็มไปด้วยความฝันโรแมนติก จนกระทั่งชีวิตมันมาหักเห ได้เป็นกวีเต็มตัวจริง ๆ ก็ย่างเบญจเพศอายุ 24 ปีย่าง 25 ปี ก็คือ อกหักจากความรักครั้งแรก เพราะให้หมดใจ รักแบบรุนแรงมาก ซึ่งก่อนหน้านั้นมีผู้ชายมาจีบเยอะมาก ทั้งในวัง ทั้งหม่อมราชวงศ์รวย ๆ ทั้งโปรเพสเซอร์ ทั้งศิลปิน แต่ก็ไม่เคยรักใคร พออกหักกับผู้ชายคนนี้ เขาเป็นนักเขียนดังคนหนึ่ง ก็เป็นที่รู้จัก คือ เขามีภรรยาแล้ว ก็กลายเป็นรักสามเส้า เราทำใจไม่ได้ เพราะไม่เคยรักใคร

เลยเกิดอาการ เปิดเปลือย เปิดประจานตัวตน ทวงหาความรักแท้ ก็เลยเป็นการออกหนังสือเล่มแรก คือ “ปุษปัญชลี” ปุษป แปลว่า ดอกไม้ อัญชลี แปลว่า การคาระวะ เอาชื่อนี้เลียนแบบ คีตาอัญชลี การคารวะด้วยเสียงเพลง อันนี้คือ การคารวะด้วยดอกไม้ บทกวีชิ้นนี้ ฮือฮามาก ถูกกล่าวขาน ถูกโจมตี ถูกวิจารณ์ทั้งบวกทั้งลบ นับตั้งแต่เอาภาพตัวเองขึ้นปก สมัยนั้นยังไม่มีการเอาภาพตัวเองขึ้นปก อันนี้คือ เหตุการณ์เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

ทุกคนมองว่า กวีจะต้องเก็บตัว ห้ามหวือหวา ฉูดฉาด ห้ามเปิดเผยตัวตน ให้พูดสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เป็นนามธรรม ห้ามระบุชื่อบุคคล เหตุการณ์ จะต้องอยู่อย่างผู้ถ่มตน อยู่แบบวณิพก ห้ามอหังกามาก ปรากฎว่า สีสันของบทกวีเล่มนี้ ทุกคนก็เพ่งมาว่า ยายคนนี้สุวรรณีสองหรือเปล่า ถูกเรียกว่า สุวรรณีสองบ้าง ถูกเรียกว่า จอร์ส ซองบ้าง แล้วก็ถูกมองว่า เป็นอังคารฝ่ายหญิงบ้าง หากมองในแง่สร้างสรรค์ก็คือ เป็นมือโคลง เป็นเจ้าแม่แห่งการเขียนโคลงสี่สุภาพ ซึ่งไม่เคยมีผู้ชายหรือผู้หญิงคนไหนเขียนได้ดีเท่านี้ อันนี้ตัดจากหนังสือพิมพ์ทั้งหมด วงการวรรณกรรมได้ตื่นตระลึงกับวิธีการเขียนโคลงของผู้หญิงคนนี้ ทั้งที่ใน “ปุษปัญชลี”มีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ได้รับฉายาว่า เป็น“หยินแห่งโคลง” ในขณะที่“หยาง” คือ ไพวรินทร์ ขาวงาม หมดจากอังคารก็คือ ไพวรินทร์ ขาวงาม แต่ฝ่ายหญิงมีน้อยอยู่แล้วด้วย ไม่ว่าจะ อุเชณีย์ , จิระนันท์ ซึ่งเขาไม่ได้เขียนโคลง นักเขียนหญิงไม่มีใครเขียนโคลงได้เลย จู่ ๆ ยายคนนี้เล่นโคลงเป็นบ้าเป็นหลัง เป็นสรณะ เขียนโคลงได้อลังการ

จากจุดวิพากษ์วิจารณ์ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ เขียนโคลงยาวถึง 300 บท ประกวดรางวัล“ระวี โดมพระจันทร์”ยุคโน้นระวี โดมพระจันทร์ เสียชีวิต แล้วคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ของสำนักพิมพ์ผู้จัดการตั้งรางวัล“ระวีโดมพระจันทร์”คล้าย ๆ ตั้งขึ้นมาแข่งกับรางวัลซีไรท์ ซึ่งตอนนั้นให้รางวัลเงินสดประมาณ 25,000 บาท แต่รางวัล“ระวี โดมพระจันทร์”ให้ 100,000 บาท แต่มีโจทย์ที่ต่างกัน คือ ถ้าซีไรท์อาจจะเขียนต่างกรรมต่างวาระมารวมเล่ม แต่รางวัลระวี โดมพระจันทร์ ต้องถูกพ๊อตมีไดอาล๊อกมีฉาก แต่ต้องเป็นกวี และต่อเนื่อง ก็เลยเขียนบทกวีเล่มที่สอง ชื่อ“ด้วยรักใครจักเปลี่ยนแปลงโลก” คือ เป็นคำที่ล้อมาจากนักเขียนคนนั้น ที่ทำให้อกหัก เขาบอก“ด้วยรักข้าจักเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยความโศกข้าจักข้ามอุปสรรค ด้วยแรงปีกข้าจะไม่หยุดพัก…” อันนี้ก็เลยล้อย้อนกลับ ก็ได้รับรางวัลระวี โดมพระจันทร์ ครั้งที่ 1 จากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

ในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงวัยสาว อายุ 25-26 ปีก็ดังมาก สัมภาษณ์หนังสือ 60-70 ฉบับภายใน 2 ปี หนังสือคู่แข่ง วัฎจักร ลงทุกฉบับ เพราะว่าจะเป็นคนพูดตรง แรง แล้วพยายามยกระดับวงการกวี ต่อสู้มาตลอดว่า ไม่ให้เป็นไม้ประดับของหน้าหนังสือพิมพ์ บทกวีจะต้องมีที่อยู่ที่ยืนที่ชัดเจน ช่วงนั้นก็ประกาศตัว เรียกตัวเองว่า “กวิณี” คือ กวีฝ่ายหญิง มีปณิธานแรงกล้า ไม่เคยเขียนเรื่องสั้น ไม่เคยเขียนนวนิยาย จะเขียนแต่กวี ภาพจึงออกมา จะไม่มีใครเรียกนักเขียนหญิง จะเรียก“กวิณี”จะไม่เหมือนกับนักเขียนคนอื่น ๆ บางทีก็เขียนกวีบ้าง อย่างอื่นบ้าง

หายไปทำด๊อกเตอร์ที่สวิสเซอร์แลนด์
ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวจบปริญญาโททำปริญญาเอก ก็ยังอยู่ในวงการนี้มาตลอด เป็นทั้งสีสัน เป็นทั้งความแสบสันของวงการ เป็นทั้งความฝัน เป็นความจริง ทั้งความลวงของวงการ ชีวิตก็หายไปช่วงไปทำด๊อกเตอร์ 5 ปีเต็ม ๆ จากปี 2535 ถึงปี 2540 ไปอยู่ที่เมืองโรซาน สอบชิงทุนรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ได้ อยู่ที่นั่นก็เริ่มมีความเป็นตะวันตก ตะวันออกเข้ามาเกี่ยวข้อง กับจิตวิญญาณแบบตะวันออก

เริ่มไปคลุกคลีกับสังคมมุมหนึ่ง อารยชนอีกมุมหนึ่ง คือคนแล้งน้ำใจ ตัวใครตัวมัน ไปคลุกอยู่กับกลุ่มโสเภณีไทยที่ถูกไปขายตัวอยู่ที่นั่น แทนที่จะทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวก็ดันไปหาทางปลดปล่อยผู้หญิงทีละคนออกจากซ่อง ไปช่วยคนนี้ให้เป็นนักร้องคาราโอเกะ ไปช่วยคนนี้ให้เปิดร้านอาหาร ไปช่วยคนนี้ให้เป็นช่างเย็บผ้า ก็เลยได้นวนิยายมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “ดวงตะวันในควันหมอก”พิมพ์กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ในยุคตอนนั้น คุณรักษ์ มนันยา ,คุณตี๋ จิตติเป็นกลุ่มบรรณาธิการ “ดวงตะวันในควันหมอก”เป็นนวนิยายเล่มเดียวที่เขียนไว้ คือ จะเป็นคนที่กระโดดข้ามขั้น อยู่ ๆ จะไม่ได้เขียนเรื่องสั้น จู่ ๆ ก็เขียนนวนิยายขนาดยาวเลย ขนาด 25 บท 500 กว่าหน้า คือ พล๊อตไม่มีอะไรมาก อยากจะเน้นรายละเอียดบรรยากาศของผู้หญิงไทยที่ต้องไปเผชิญกับการกดขี่ทางวัฒนธรรมของคนตะวันตก

ต้องเลือกข้างที่จะยืนทั้ง ๆ ที่สามารถจะอยู่กับกลุ่มตะวันตกได้ เขายกย่อง แต่กลับมาปกป้องกลุ่มโสเภณีไทย ดวงตะวันก็คือ ตะวันออก ควันหมอก คือ ยุโรปเมืองหนาว พวกเราก็คือ คนซัดเซเพจรไปทนทุกข์อยู่ที่นั่น หลังจากที่ไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ ก็คร่ำครวญถึงตัวเองน้อยลง มันเริ่มก้าวเข้าไปสู่การรับผิดชอบสังคม จากวัยเบญจเพศที่โหยไห้ถึงความรักแบบหนุ่มสาวไปถึงจุดตรงนั้น ระหว่างอายุ 28-32 ปีที่ไปทำด๊อกเตอร์เริ่มเห็นโลกที่กว้าง เริ่มเห็นความอนิจจังของความรัก มีแฟนเป็นร้อย ๆ คน ไทย จีน แขก ฝรั่งอะไรก็มาจีบ ก็ไม่ได้อีนังขังขอบ เธอเริ่มโตขึ้น เริ่มกร้าว เริ่มกร้าน เริ่มแกร่ง ความหวั่นไหวโรแมนติกในเชิงความรักมันก็น้อยลง แต่มีพุทธิปัญญาในแง่ของสังคม เริ่มมองสังคม แล้วใช้คลังศัพท์ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก 10 กว่าขวบ เอามาสนองตอบ

กลับมาเป็นนักวิชาการเมืองไทย
ในขณะนั้นก็เริ่มมีการเดินเส้นทางสองเส้น ถูกคาดหวังจากสังคมในฐานะนักวิชาการ เพราะดีกรีเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วดันไปเรียนในสาขาที่คนไทยเรียนน้อย นั่นคือ ประวัติศาสตร์สถาปัตยตะวันตก กลับมาก็ถูกทาบทามโดยบก.ไฮคลาส ให้เปิดคอลัมน์“อารนาสถาปัตย์” ว่า ช่วยเขียนเรื่องสถาปัตย์ให้ชาวบ้านอ่าน โดยใช้พื้นฐานของวิชาการระดับลึก รู้สึกว่า ท้าทายดี การเขียนเรื่องที่เรารู้ลึก คือ คาน แป หน้ากาน ความเป็นไปของบันได ดาดฟ้า ลูกกรง สไตล์ต่าง ๆ ป้อมพระสุเมรุ ภูเขาทอง เอามาเขียนอย่าให้เป็นวิชาการ แต่คนอ่านรู้ว่า เราแน่จริง เรารู้จริง เรามีกึ๋น แต่ใช้สำนวนวรรณกรรม ก็เริ่มเปิดคอลัมน์“อารนาสถาปัตย์” เขียนได้ประมาณ 3-4 ตอน สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน ก็เริ่มมาติดต่อขอรวมเล่ม โดยให้ธีรภาพ โลหิตกุลมาทาบทาม ก็เลยบอกใจเย็นๆ เพราะมันมีทั้งหมด 14 ตอน

สายวรรณกรรมก็เริ่มมองว่า เพ็ญ ภัคตะ ห่างเหินไปแล้ว พอเป็นด๊อกเตอร์ ก็เริ่มมาทำเรื่องวิชาการ แต่จริง ๆ แล้วไฟในใจคุกรุ่นที่จะทำงานวรรณกรรม แต่โดยสถานภาพทางสังคม ถูกเรียกร้องให้ทำงานวิชาการบ้าง ไม่อย่างนั้นเหมือนกับเสียข้าวสุก ไปแล้วยังกลับมาเพ้อฝัน จึงคิดว่าจะเข้าไปช่วยวงวิชาการไม่ให้แข็งกระด้าง เพราะขณะที่เขียน เขียนด้วยอิสระเสรี ไม่ได้คิดที่จะทำวิชาการ เพื่อให้ได้เป็นนักวิชาการระดับ 7 ระดับ 8 ระดับ 9 ผู้เชี่ยวชาญ(ชช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.) รองศาสตราจารย์(รศ.) ไม่มีสิ่งที่จะสูญเสียตรงนั้น เพราะฉะนั้นจึงเขียนวิชาการแบบภาษาวรรณกรรม ก็ได้รับการต่อต้านพวกจากครูบาอาจารย์ที่คณะโบราณคดีว่า นิสัยไม่ดี เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เอาข้อมูลประวัติศาสตร์ศิลป์ไปปู้ยี่ปู้ย้ำให้เละเทะ

จึงบอกว่า พวกอาจารย์เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะหรือนักวิชาการสายคลาสติก แต่เธอเป็นสายโรแมนติก อย่ามายุ่ง เธอจะเขียนให้ชาวบ้านอ่าน ไม่ได้เขียนให้อาจารย์อ่าน อหังกาถึงขนาดนี้ ความรู้ของเธอเยอะมาก อ่านเยอะ วิเคราะห์เยอะ จะไม่ทำเป็นฟุตโน้ตเชิงอรรถ บรรณานุกรมกลัวผิดกลัวถูก เขียนแบบเกร็ง จะเอาความรู้ลึก ๆ มาให้ชาวบ้านอ่าน เพราะฉะนั้นก็เป็นการเปลี่ยนอิมเมจออกมาช่วงหนึ่ง

หลังจากที่เขียนดวงตะวันในควันหมอกไป ก็เริ่มมีภาพมากลายเป็นนักวิชาการด้านสถาปัตย์ แต่สำนวนหวือหวา สุดประมาณ ทำให้นักวิชาการโมโหมาก แต่ก็ไม่แคร์ เพราะถือว่า เนื้อหาไม่มั่ว แต่สำนวนต้องเข้าถึงชาวบ้าน ต้องถึงลูกถึงคน จะไม่มาทำอะไรตามแบบฟอร์มที่ถูกกำหนดแบบนักวิชาการ เมื่อเริ่มเขียนอารนาสถาปัตย์ได้ 2-3 ปีก็รวมเล่มแล้วเล่มเล่า ทั้งเยี่ยมเรือนเยือนอดีต ,ทั้งลอดลายกำแพง ขายดิบขายดี จึงได้ทราบว่า จริง ๆ แล้วคนทั่วไปเขาอยากรู้สิ่งที่เป็นสารคดีเชิงลึก แต่ช่วยกรุณาถ่ายออกมา เป็นภาษาให้เขาอ่านแบบสามัญได้หรือไม่ ชาวบ้านไม่ได้อยากอ่านวรรณกรรมในแนวสร้างสรรค์เท่าไหร่นัก

ชาวบ้านมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มยาจก แม่ค้า ชนชั้นล่าง ซึ่งเจ็บปวด เขาโหยหาวรรณกรรมแบบดอกไม้สด เจ้าชายสูงศักดิ์รักกับหญิงยากไร้ ที่เราเรียกว่า “นิยายประโลมโลก” ส่วนชาวบ้านที่เป็นปัญญาชนระดับกลาง เขาโหยหาความเป็นจริงที่มีอยู่แล้ว แต่เอามาเขียนด้วยภาษาที่สนุกสนาน ในขณะที่วงการวรรณกรรม เขียนกันเองอ่านกันเอง จนมีคำหยอกล้อว่า “วรรณกรรมสองพัน” หมายถึงพิมพ์ไม่เกิน 2,000 เล่ม
 

โดย...นายอยู่ดี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ