สุมิตรา จันทร์เงา : ความฝันไม่มีต้นทุน

สุมิตรา  จันทร์เงา

ใครๆก็ว่านักอักษรศาสตร์มักจะเป็นคนเพ้อฝัน อ่อนไหว ละเม้อเพ้อพกอยู่กับรสร้อยถ้อยคำ อิ่มเอมฝันหวานอยู่กับจินตนาการที่จับต้องไม่ได้ จนบางทีคล้ายจะไร้สาระ อันที่จริงคำกล่าวหานี้ก็มีส่วนถูก แต่ถ้าหากปราศจากแรงผลักดันของความฝันเสียแล้ว เราจะเลือกทางเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร และถ้าหากปราศจากความฝัน แรงบันดาลใจก็คงถูกกลบฝังอยู่ในกรงขังที่มืดมนตลอดกาล ที่สำคัญ ความฝันนั้นไม่เคยมีต้นทุนใดๆ ฉันจึงเป็นนักฝันตั้งแต่เพิ่งอ่านออกเขียนได้ ฝันที่จะไปเห็นโลกกว้าง ฝันที่จะรู้ให้มากกว่าสิ่งที่อ่าน ฝันที่จะเขียนให้ได้ดีกว่าที่มีคนอื่นเขียน ฝันที่จะมีคนอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน

เป็นความฝันที่มีแรงผลักดันจากความขาดแคลนในวัยเด็กของครอบครัวที่ไม่มีเงินพอจะซื้อหนังสืออ่าน เพราะสำหรับบ้านเรา “หนังสือ” คือความบันเทิงที่เป็นส่วนเกินของปัจจัยในการยังชีพ บ้านเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินซื้อสิ่งอื่นมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อบริโภคหนังสือ ไม่เช่นนั้นแล้วลูกทั้ง 5 คนของพ่อแม่คงไม่ได้เข้าโรงเรียนครบถ้วน คงไม่มีเครื่องแบบและตำราเรียนพร้อมพรั่ง ไม่มีอาหารการกินพอเพียงตามที่ควรจะเป็น เวลาหิวโหยการอ่าน ฉันจึงต้องไปนั่งรอขอยืมหนังสือพิมพ์และหนังสือเริงรมย์รายสัปดาห์จากเพื่อนบ้านในชุมชนจนถูกแม่ดุเป็นประจำ บางทีก็ไปยืมนิยายจากห้องสมุดมาอ่านซ้ำๆ อ่านทุกตัวอักษรที่มีโอกาสเห็นบนหน้ากระดาษไม่ว่าจะเป็นถุงใส่กล้วยแขกหรือเศษกระดาษหนังสือพิมพ์

ชอบข้อความไหนเป็นพิเศษก็จะเก็บมาไว้เป็น “วรรคทอง” ในสมุดบันทึกของตัวเอง ข้อความเหล่านั้นในความรู้สึกของฉันเหมือนมีมนต์วิเศษที่สามารถเสกสิ่งอัศจรรย์ที่อยากรู้อยากเห็นมากมายให้ปรากฏขึ้นเบื้องหน้า ทำให้ความฝันบรรเจิดเพริศแพร้วมากขึ้นทุกวันตามปริมาณตัวอักษรเป็นสายธารที่ไหลผ่านม่านตา แทบทุกวันหยุดในมุมสงบของบ้าน หรือบางทีบนเสื่อกกใต้ร่มไม้ใหญ่ริมแม่น้ำโขง ฉันแอบไปนอนอ่านหนังสือเพียงลำพัง หัวเราะ ร้องไห้ ซาบซึ้งตรึงใจ ตื่นเต้น หวั่นไหว ใจสั่นระรัวไปกับตัวละครที่โลดแล่นบนหน้ากระดาษราวกับมีชีวิต

เมื่อมองย้อนกลับไปสู่วัยเยาว์ ฉันต้องขอบคุณบรรดานิตยสารทั้งหลายที่เป็น“ครู”ทางภาษาคนแรกๆ ตั้งแต่ สกุลไทย บางกอก จักรวาล ทานตะวัน วิทยาสาร ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ฯลฯ รวมทั้งหัสนิยายชุดสามเกลอของ ป.อินทรปาลิต ซึ่งเป็นงานเขียนในดวงใจที่ให้ความเบิกบานแก่ฉันควบคู่มากับ “เพชรพระอุมา” ของ พนมเทียน ตั้งแต่เขียนลงเป็นตอนๆในนิตยสารจักรวาล ขอบคุณนักเขียนระดับบรมครูทุกท่านที่สร้างสรรค์ผลงานอมตะไว้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น หลวงวิจิตรวาทการ ไม้เมืองเดิม สด กูรมะโรหิต เสนีย์ เสาวพงศ์ ประมูล อูหธูป รพีพร กฤษณา อโศกสิน ฯลฯ

ทุกวินาทีที่ได้หัวเราะและร้องไห้ไปกับตัวหนังสือเหล่านั้นฉันตั้งปณิธานไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องเขียนหนังสือให้ได้ ไม่ว่าอาชีพนี้จะให้ผลตอบแทนอย่างไรฉันก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย แผนที่ชีวิต ตั้งแต่เยาว์วัยที่วาดไว้ไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าครอบครัวข้าราชการส่วนใหญ่มักปรารถนาที่จะให้ลูกหลานยึดอาชีพรับราชการต่อเนื่อง เพื่อจะได้สุขสบายเป็นเจ้าคนนายคน ดังนั้น ระหว่างที่แม่กับพ่ออยากให้ลูกสาวเป็นครูหรือพยาบาล ฉันก็ยังมุ่งมั่นที่จะเอาดีในเรื่องภาษาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมีการประกวดเขียนเรียงความ ปาฐกถา กลอนแปด สักวา หรือคำผญาที่ต้องใช้ทักษะทางภาษาเข้าสู้ฉันไม่เคยกลัวที่จะเข้าแข่งขันเพื่อไปยืนแถวหน้า

รางวัลที่ได้รับมากกว่าความล้มเหลว คือกำลังใจอันยิ่งใหญ่และนำพาความฝันของฉันเดินทางไกลจากโรงเรียนบ้านนอกที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เข้าสู่มหานครกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ของนักฝันทุกคน ขณะเดียวกันในสวรรค์นี้ก็มีนรกเปิดประตูรอคอยอยู่อย่างเย้ายวน ระบบการเรียนการสอนที่ผิดแผกแตกต่างในชั้นมัธยมปลายกับสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ส่งผลให้การเรียนระดับที่หนึ่งของบ้านนอกกลายมาเป็นลำดับหลังๆในเมืองหลวง การผจญภัยเพื่อพิสูจน์ความเติบใหญ่ของฉันเริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เป็นสองปีในชีวิตนักเรียนอันขมขื่นกับความเป็นจริงที่ว่าฉันไม่อาจช่วงชิงความเป็นที่ 1 ของห้องเรียนกลับคืนมาได้อีกเลย ทุกเช้าฉันจึงไปซุกตัวอยู่แต่ในห้องสมุด สมัครเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์คอยเก็บหนังสือขึ้นชั้นทุกวัน แลกกับสิทธิพิเศษที่ไม่ต้องเข้าแถวและมีเวลามากกว่าทุกคนในการค้นหาหนังสือจากห้องสมุดมาอ่าน

ความสุขหนึ่งเดียวยามนั้นคือเวลาหลังเคารพธงชาติ เมื่อครูใหญ่หรือครูฝ่ายปกครองกล่าวให้โอวาทเสร็จ บทกวีสดุดีวันสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วันสุนทรภู่ วันครู วันแม่ วันพ่อ หรือแม้แต่หัวข้ออื่นๆที่มีการแข่งขันจนได้รับรางวัลระดับโรงเรียนหรือระหว่างโรงเรียน จะถูกนำมาอ่านให้นักเรียนทั้งโรงเรียนฟัง ชื่อของฉันถูกขานหน้าเสาธง ในฐานะเจ้าของรางวัลเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดทั้งสองปี แทบทุกโอกาส ฉันยืนตัวแข็ง ขนลุกซู่อยู่ในห้องสมุด คอยฟังเสียงไพเราะของเพื่อนอ่านบทกวีของตัวเอง

เสียงนั้นดังก้องอยู่ในหัวใจ กลบฝังความรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นใจของเด็กบ้านนอกลงจนหมดสิ้น และเสียงนี้เช่นกันที่ทำให้ฉันกล้าหาญที่จะเลือกสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์เป็นทางเลือกเดียว โดยไม่สนใจคณะอื่นใดเลย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดประตูอันอบอบอุ่นต้อนรับฉัน แม้ว่าจะเป็นคณะสุดท้ายที่เลือก ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ฉันให้ความสนใจน้อยที่สุด มีคะแนนในกลุ่มอักษรศาสตร์ต่ำสุดในขณะนั้น

แต่ทันทีที่เหยียบย่างเข้าสู่ “ทับแก้ว” เพียงก้าวแรก ฉันก็รู้ว่าที่นี่ต่างหากคือมหาวิทยาลัยในฝันของฉัน ที่นี่แหละคือบ้านแห่งวิทยาการหลังใหม่ที่สามารถเติมเต็มความฝันให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ความสุขของการได้เลือกในสิ่งที่ถูกต้องนำพาความฝันของฉันเดินทางจากจุดเริ่มต้นของมันไปอีกแสนไกล จนเริ่มมองเห็นเป้าหมายปลายทาง ฉันเริ่มรู้จักสำรวจตัวเอง มองเห็นความพร่องอันเป็นปกติของชีวิต ฉันได้เรียนรู้ที่จะยอมรับว่าไม่มีใครทำทุกอย่างได้ดีที่สุด และความเป็นที่หนึ่งในทุกด้านไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จเสมอไป ฉันจึงเลือกที่จะรับรู้ทุกรสในชีวิตนักศึกษาที่มีกิจกรรมให้เลือกหลากหลาย มีอิสระที่จะทดลองเรียนรู้ในกรอบอันพอเหมาะพอดีของความรับผิดชอบ

ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายตลอด 4 ปี ฉันจึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้รอบด้านด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม และเลือกเดินดุ่มไปบนถนนที่ขีดไว้อย่างชัดเจน ฉันจะไม่มัวเสียเวลาหลงทางไปที่อื่น หรือมัวแต่เดินอ้อมไปตามทางสนุกอื่นๆที่มีสีสันกว่า ตอนอยู่ปี 3 เมื่อต้องเลือกวิชาถนัดเฉพาะด้านเป็นวิชาเอก ฉันเลือกเรียนภาษาอังกฤษเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ในอนาคตในฐานะภาษากลางของโลก แต่ไม่เคยคิดที่จะนำมันไปใช้เป็นเครื่องมือในการเป็นครูสอนภาษา เลขานุการของนายฝรั่ง แอร์โฮสเตส พนักงานโรงแรม หรือแม้แต่เป็นพนักงานบริษัทข้ามชาติที่เปิดโอกาสให้ใช้ภาษาอังกฤษได้เต็มที่

ฉันยังมุ่งมั่นไม่แปรเปลี่ยนที่จะเขียนหนังสือ จะทำงานหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ฉันคงต้องเป็นหนี้บุญคุณการอ่านไปตลอดชีวิต เพราะมันทำให้ฉันได้รู้จักหนังสือพิมพ์ดีๆในเวลานั้นอีกหลายเล่มนอกเหนือจากหนังสือพิมพ์ยอดนิยมของชาวบ้านซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักที่ครอบตลาดมายาวนาน ปีที่ฉันสอบเข้าเรียนคณะอักษรฯได้นั้น หนังสือพิมพ์มติชน เพิ่งเปิดตัวเป็นปีแรกด้วยหน้าตาที่กระดำกระด่างบางเบากว่าทุกฉบับ แต่ทีมข่าวคุณภาพคับแก้วทุกหน้า มีเรื่องราวที่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นมากมายในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

ทันทีที่อ่านฉันก็หลงรัก เป็นรักแรกพบที่ไม่อาจหักห้ามใจ พอหลงรักดอกฝันของฉันก็บานสะพรั่ง ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะช่วยเปิดทางให้ได้เขียนหนังสือได้ดีไปกว่าการทำงานหนังสือพิมพ์! ทันทีที่ต่อจิ๊กซอว์ความฝันชิ้นสุดท้ายได้สำเร็จฉันก็รู้คำตอบ ช่วงปิดเทอมซัมเมอร์หลังสอบปลายภาคของปี 3 ฉันจึงเดินเดี่ยวเข้าไปที่สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน ถนนราชบพิตรในขณะนั้น เพื่อขอฝึกงานโดยไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์แม้แต่น้อย และไม่มีเอกสารรับรองใดๆจากทางมหาวิทยาลัย นอกจากความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนตนเองเท่านั้น

บรรณาธิการเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ มองฉันอย่างสำรวจตรวจตราตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า แต่ไม่ใช่การสำรวจรูปร่างหรือความงาม เขามองอย่างประเมินความสามารถ ด้วยความไม่แน่ใจว่าเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้มีดีอะไรถึงได้กล้าเดินเข้ามาขอฝึกงานกับหนังสือพิมพ์เล็กๆอย่างมติชน

“คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง”

“ทำได้ทุกอย่างค่ะ” เวลานั้นฉันอยากทำอะไรก็ได้ในชายคาหนังสือพิมพ์เล่มนี้ เพียงเพื่อจะได้เรียนรู้ว่าเขาทำหนังสือกันอย่างไร และจะพอมีช่องทางให้ตัวเองได้เริ่มต้นเขียนหนังสือได้หรือไม่ ฉันบอกไปตามตรงว่าไม่รู้เรื่องการทำข่าวหรือทำหนังสือพิมพ์มาก่อน แต่เรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก อ่าน เขียน แปลอังกฤษเป็นไทยได้

“หนูขอฝึกแปลข่าวก็ได้ค่ะ” ฉันเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด

แม้บรรณาธิการจะตอบรับให้เข้าฝึกงานตามความต้องการของเราได้ แต่หนทางก็ไม่ได้ง่ายดายราบรื่นเหมือนที่คิดไว้แม้แต่น้อย วันแรกๆ ฉันถูกมอบหมายจากโต๊ะข่าวต่างประเทศให้อ่านข่าวภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเดอะเนชั่นนับสิบข่าว อ่านให้เข้าใจแล้วมาเล่าสรุปให้พี่ๆประจำโต๊ะฟังถูกบ้าง ผิดบ้าง ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะดีขึ้น

วันต่อๆ มาต้องหัดอ่านข่าวและเลือกข่าวจากเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ของสำนักข่าวต่างประเทศที่บอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งในเวลานั้นการส่งข่าวทางไกลยังเป็นระบบโบราณไม่ใช่รับผ่านคอมพิวเตอร์แบบทุกวันนี้ เครื่องรับเทเล็กซ์จะพิมพ์ตัวอักษรไหลออกมาเป็นม้วนยาวเหยียดก้อนใหญ่ในแต่ละวัน หัวหน้าข่าวก็จะเอามาเลือกอ่าน คัดเฉพาะข่าวที่ต้องการหรือที่สอดคล้องกับแนวหนังสือพิมพ์ จากนั้นจึงค่อยมอบหมายให้นักข่าวแปลโดบกำหนดความสั้นยาวไว้พร้อมว่าจะให้แปลแบบเก็บความสั้นๆหรือแปลเต็มความสมบูรณ์ เมื่อแปลเสร็จแล้วก็จะเวียนให้ทุกคนช่วยกันอ่านเพื่อตรวจสอบต้นฉบับภาษาอังกฤษกับคำแปลว่าถูกต้องชัดเจนหรือไม่ และข่าวก็จะส่งต่อไปวางให้หัวหน้าข่าวรับรองเป็นคนสุดท้าย ก่อนจะนำไปเรียงพิมพ์เข้าสู่ขบวนการจัดหน้า ประกอบรูป ทำเพลทต่อไป

โต๊ะข่าวต่างประเทศและโต๊ะข่าวอื่นของหนังสือพิมพ์มติชนในเวลานั้นมีขั้นตอนการทำงานที่ละเอียดรอบคอบแบบนี้ กองบรรณาธิการจึงกล้าประกาศตัวอย่างอหังการ์ว่าเป็น “หนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อคุณภาพของประเทศ” ยังจำได้ว่านักศึกษาฝึกงานมือใหม่อย่างฉัน ต้องแปลข่าวหลายสิบชิ้นกว่าจะผ่านมาตรฐานของโต๊ะข่าว และต้องรอจนเกือบหมดเวลาฝึกงานกว่าข่าวบรรยายภาพชิ้นแรกจะถูกตีพิมพ์ ฉันอ่านหนังสือพิมพ์เล่มนั้นแต่เช้า และรีบเปิดเข้าไปดูข่าวใต้ภาพชิ้นนั้น ไม่น่าเชื่อว่าตัวอักษรสามบรรทัดที่เรียงอยู่ใต้ภาพข่าวเหล่านั้นเป็นถ้อยคำที่ฉันเขียน และบัดนี้มันกำลังอยู่ในสายตาของคนนับหมื่นที่อ่านมติชน

นที่สุดฉันก็ค้นพบว่าจะเริ่มต้นเขียนหนังสือได้ที่ไหน และต้องทำอย่างไร ฉันกลับไปเรียนหนังสือปีสุดท้ายด้วยความรู้สึกเร่งเร้าให้แต่ละวันเคลื่อนผ่านไปเร็วที่สุด แม้แต่ช่วงปิดเทอมกลางปีซึ่งมีเวลาไม่มากนักฉันก็ยังหาโอกาสไปฝึกงานที่มติชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคราวนี้ได้รับมอบหมายให้ทำข่าวอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการแปลข่าว ฉันได้ทำข่าวการเมือง ทำข่าวโจรสลัดจี้เครื่องบินสายการบินการูด้าของอินโดนีเซีย ทำข่าวกีฬามหาวิทยาลัยโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกๆที่เชียงใหม่ และได้เขียนข่าวอย่างอิ่มเอม โดยมีพี่ๆ นักข่าวคอยเป็นพี่เลี้ยง สอนให้รู้วิธีเขียนข่าวที่มีโครงสร้างอย่างได้มาตรฐานตามวิชาชีพ เท่ากับว่าฉันได้เรียนรู้วิชาวารสารศาสตร์ทางลัด โดยมีพื้นฐานทางอักษรศาสตร์เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

25 ปีผ่านไป ฉันค้นพบว่าการเติบโตในองค์กรหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นโลกของผู้ชายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเพศหญิงมีข้อจำกัดมากกว่าในเรื่องของความอดทนและเพศสภาพที่ไม่อาจเข้าสู่สมรภูมิข่าวได้ทุกสภาวะเหมือนเพศชาย แต่ข้อจำกัดนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้น “โอกาส” แต่อย่างใด ในองค์กรที่มีแนวความคิดก้าวหน้าอย่างมติชน “โอกาส” ไม่ใช่โชค แต่เป็นทางเลือกอันท้าทายที่จะพิสูจน์ความสามารถ ความขยัน ความอดทนอดกลั้น ความเสียสละส่วนตนและทุ่มเทให้องค์กรเพื่อแลกกับรางวัลความสำเร็จที่แต่ละคนมีเป้าหมายไว้ในใจ จากวันแรกของการเป็นนักศึกษาฝึกงานจนกระทั่งวันนี้โอกาสมากมายผ่านมาให้ฉันคว้าจับ คว้าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแล้วแต่สอนให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เราเลือกว่าจะอยู่อย่างมีความสุข ความพอใจ หรือจะอยู่อย่างกดดันเพื่อแสวงหารางวัลชีวิตไม่รู้จบ

นอกจากเป็นหนี้บุญคุณการอ่านไปตลอดชีวิตแล้ว ฉันยังเป็นหนี้บุญคุณคณะอักษรศาสตร์ที่หล่อหลอมให้รู้กว้างและหลากหลาย สอนให้รู้จักการปรับตัวที่จะเรียนรู้ศาสตร์อื่นได้ง่ายและเร็ว สอนให้อ่อนโยน อ่อนไหว ไวต่อความสุข ทุกข์ ร้อนหนาวของสิ่งมีชีวิตอื่นรอบด้านที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปันและสันติสุข เมื่อเขียนหนังสือมากขึ้นทุกวัน ฉันค้นพบว่า ความฝันแม้จะเป็นความฝันอันเดียวไม่แปรเปลี่ยน แต่ขนาด สีสัน และรูปร่างของมันก็ผันแปรไปตามวัยวารและประสบการณ์ส่วนตน ทุกวันนี้ฉันได้เขียนอะไรมากมายในสิ่งที่อยากเขียน แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องการเขียนอีกไม่รู้จบรอคอยให้ลงมือไม่รู้เบื่อ นี่คืออาชีพมหัศจรรย์ที่จะอยู่กับเราไปจนลมหายใจสุดท้าย... ฉันยังจำความรู้สึกนั้นได้...ความรู้สึกตอนที่ได้อ่านงานของคนอื่นแล้วหัวเราะ ร้องไห้กับมัน ความรู้สึกที่นำพาความฝันของฉันออกเดินทาง

บัดนี้ความฝันนั้นเดินทางมาไกลเกินครึ่งชีวิตแล้ว
พาฉันไปเห็นโลกกว้าง
พาไปเรียนรู้มากกว่าสิ่งที่เคยได้อ่าน
พาไปสู่การเขียนในสิ่งที่ใฝ่ฝัน
และงานเขียนนั้นมีคนอ่าน

......
ขอบคุณทุกสายตาค่ะ

 

สุมิตรา จันทร์เงา
นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน คอลัมนิสต์
ผู้บริหารสื่อออนไลน์เครือมติชน www.matichon.co.th
กรรมการบริหารและผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล บมจ.มติชน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ