หนึ่งประวัติศาสตร์ : ชั่วชีวิตหนึ่งพึงเลือกกระทำ : บทวิจารณ์ โดย ขวัญชัย มะโนศรี: โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

หนึ่งประวัติศาสตร์ : ชั่วชีวิตหนึ่งพึงเลือกกระทำ

            เมื่อกล่าวถึงคำว่า "ประวัติศาสตร์" ย่อมให้ภาพต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาในอดีต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เกิดขึ้นกับใครหรือสังคมใดก็ตาม ล้วนมีทั้งเรื่องราวที่ดีและไม่ดี ควรค่าแก่การจดจำและไม่น่าจดจำ หรือที่เรียกว่า "ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" ซึ่งแน่นอนว่าเราทั้งหลายล้วนต้องการให้มีแต่เรื่องราวที่ดีงาม ประดับไว้ในหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แทบทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ยากเหลือเกินในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นปัจจุบัน ที่นำมาซึ่งภาพจำที่ไม่น่าจดจำอยู่ร่ำไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทั้งหลายในวันนี้ ล้วนเป็นผู้ที่กำลังเขียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันที่เป็นอยู่ ก็ย่อมสามารถเลือกกระทำได้ ดังบทประพันธ์เรื่อง "หนึ่งประวัติศาสตร์" ที่ให้ผู้อ่านได้ร่วมขบคิดในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในหนึ่งช่วงของประวัติศาสตร์ โดยสามารถพิจารณาจากแนวคิดและการใช้ภาษาของผู้เขียนดังต่อไปนี้

            "หนึ่งประวัติศาสตร์" บทประพันธ์ที่เรียบเรียงขึ้นเป็นกลอนสุภาพความยาวขนาด 5 บทนี้ เมื่อพิจารณาตัวบทโดยถี่ถ้วนแล้วกลับพบว่าผู้เขียนมุ่งให้แนวคิดที่ก่อให้เกิดปัญญาแก่ผู้อ่าน กล่าวคือ ให้พิจารณาถึงการกระทำของตนในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์คนหนึ่ง โดยเริ่มจากการชี้ให้เห็นปัญหาอันเป็นภาพรวมของสังคม ดังตัวบท

                        "เมื่อโลกพลิกตะแคงข้างลงกลางดิน

                        หัวใจเราก็แหว่งวิ่นเป็นส่วนส่วน

                        ที่เคยหวังฝันไว้ในที่ควร

                        ก็เรรวนระส่ำระสายไม่รู้ทิศ"

            ตัวบทมุ่งให้ภาพของความไม่เป็นเอกภาพของสังคม ที่แทนด้วยคาว่า "โลก" ให้ภาพที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ความเอนเอียง พลิกผัน ไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ เป็นการดับภาพฝันอันงดงามของใครหลาย ๆ คน ด้วยความไม่สงบของสังคม เกิดการแบ่งแยกคนละทิศละทาง ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ผู้เขียนจึงตั้งคาถามต่อในบทถัดไป

                        "ทำอย่างไรให้โลกตะแคงกลับ

                        ฟาดฟันให้ย่อยยับจนเบี้ยวบิด

                        หรือออกแรงตะแบงโยกทีละนิด

                        มาระดมหัวคิดกันเถิดมา"

            ผู้เขียนเสนอแนะ 2 แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา คือ การต่อสู้ด้วยกำลังหรืออาวุธให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ อันเป็นภาพที่เลวร้ายและรุนแรง ที่อาจทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของสังคม หรืออีกแนวทางคือ สันติวิธี ที่ค่อย ๆ ประนีประนอมหาทางออกทีละปมทีละอย่าง โดยแนวทางทั้งสองล้วนต้องการให้ผู้คนในสังคมเป็นผู้ตัดสินใจที่จะเลือกกระทำ ทั้งนี้จึงต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งได้ขยายวิธีการไว้ในบทถัดไป

                        "ต้องเปิดหูฟังกันบ้างคนทางโน้น

                        เขาตะโกนหรือกระซิบสื่อภาษา

                        เพราะเหตุใด เพราะอะไร ถ้อยวาจา

                        จึงถูกเมินราวว่าไม่เป็นคำ"

            ผู้เขียนมุ่งให้ผู้เห็นต่างรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายที่สื่อสารออกไปในรูปแบบต่าง ๆ และตั้งคำถามต่อว่าทำไมถึงเมินเฉยต่อคำแนะนำ คำเสนอแนะที่สื่อสารออกไป ซึ่งบทรองสุดท้ายก็สรุปว่าต้องหาทางออกด้วยการหันหน้าเข้าหากันเพื่อระดมความคิด พร้อมทั้งให้ข้อคิด ดังตัวบท

                        "มาระดมหัวคิดกันเถิดมา

                        เราไม่มีแม้เวลาให้ครวญคร่ำ

                        ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนจงใจจำ

                        คุณกำลังสร้างทาประวัติการณ์"

            ผู้เขียนมุ่งแสดงให้เห็นว่าเราทั้งหลายควรมาร่วมคิดร่วมทำ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ โดยไม่มีเวลาให้รำพึงรำพัน เพราะอาจนำมาซึ่งการเสียเวลาต่อการพัฒนาของบ้านเมืองเพียงเพราะติดหล่มของความขัดแย้ง และสรุปเป็นข้อที่พึงครุ่นคิดพิจารณาต่อว่า ไม่ว่าจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรืออยู่ฝ่ายใดก็ตาม ล้วนกำลังเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ในช่วงหนึ่งนี้ทั้งสิ้น ดังบทสรุป

                        "อันจะกลายเป็นหนึ่งประวัติศาสตร์

                        หากองอาจก็งามให้กล่าวขาน

                        หากอัปลักษณ์อัปภาคย์เหลือประมาณ

                        ย่อมจารึกเป็นวันวาน...ตำนานอัปยศ"

            ผู้เขียนมุ่งให้ข้อคิดแก่ผู้อ่านว่าสิ่งที่เราทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนได้กระทำหรือต่อสู้อยู่ในปัจจุบัน หากเป็นสิ่งที่กล้าหาญดีงาม หรือ "สันติวิธี" แล้ว ก็ย่อมจะเป็นที่กล่าวขานเชิดชูต่อไปในภายหน้า แต่หากเป็นสิ่งที่ไม่พึงควรหรือที่ต่อสู้ด้วย "ความรุนแรง" ก็ย่อมจะถูกกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์อันอัปยศได้เช่นกัน ซึ่งผู้อ่านก็ย่อมสามารถตัดสินใจได้ว่าจะต่อสู้อย่างไร เพื่อให้วิธีการและอุดมการณ์ของตนถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้านที่ดีงาม

            เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดของผู้เขียนโดยตลอดทั้งเรื่องแล้ว นับว่าผู้เขียนสามารถเรียบเรียงและนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างเหมาะสมลงตัว ผ่านการใช้ถ้อยคาและภาษาที่สละสลวยด้วยจินตภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่อง ดังจะวิเคราะห์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

            บทประพันธ์ "หนึ่งประวัติศาสตร์" นี้ ผู้เขียนมีกลวิธีการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพได้อย่างดี กล่าวคือ ใช้โวหารภาพพจน์ด้านอุปลักษณ์เพื่อเปรียบ "โลก" เหมือนกับ "สังคม" ที่เราอาศัยอยู่ โดยให้ภาพว่า "เมื่อโลกพลิกตะแคงข้าง" ก็เปรียบดังสังคมที่ไม่มั่นคง ระส่ำระสายวุ่นวาย หรือขัดแย้งไปทั่ว ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์หวาดกลัว ไม่มั่นคง และอาจสิ้นหวังต่อการดำเนินชีวิต จึงเกิดคำถามต่อว่า "ทำอย่างไรให้โลกตะแคงกลับ" คือทำอย่างไรให้โลกหรือสังคมกลับมามั่นคง ผู้คนสมัครสมานสามัคคีกัน โดยให้วิธีไว้สองอย่าง คือ วิธีที่หนึ่ง "ฟาดฟันให้ย่อยยับจนเบี้ยวบิด" ซึ่งให้ภาพการใช้ความรุนแรงกระทำต่อโลกให้กลับมามั่นคง แต่อาจทำให้โลกเบี้ยวบิดไม่สมบูรณ์ ซึ่งเปรียบกับผู้คนที่เลือกต่อสู้ด้วยความรุนแรงเพื่อให้สังคมดีงามในแบบที่ตนปรารถนา แต่กลับเกิดผลเสียมากกว่าผลดี หรืออีกวิธีหนึ่งคือ "หรือออกแรงตะแบงโยกทีละนิด" ที่ให้ภาพว่าค่อย ๆ ขยับ ค่อย ๆ ดึงให้โลกตั้งขึ้นอย่างมั่นคง เปรียบกับการกระทำเพื่อให้สังคมดีงามด้วยสันติวิธี โดยให้อารมณ์ที่ดีงามและมีความหวังแก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น ดังถ้อยความที่ว่า "ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนจงใจจำ คุณกำลังสร้างทำประวัติการณ์" ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่จะถูกจารึกไว้ตราบนานเท่านานทั้งสองวิธีการต่อสู้ อันเป็นบทสรุปของการกระทำ คือ "หากองอาจก็งามให้กล่าวขาน" คือการให้ภาพแห่งเกียรติประวัติที่น่าเชิดชูบูชาในความองอาจกล้าหาญที่ได้มาด้วยสันติวิธี หรือ "หากอัปลักษณ์อัปภาคย์เหลือประมาณ ย่อมจารึกเป็นวันวาน...ตำนานอัปยศ" ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า "อัปลักษณ์" ที่สื่อว่า "ชั่วร้าย" และย้ำต่อด้วยคำว่า "อัปภาคย์" ที่สื่อว่า "ไม่มีดี" อันเป็นความรุนแรงสิ้นดี "อย่างไม่มีประมาณ" พร้อมจะถูกจารึกว่าเป็น "ตำนานอัปยศ" ต่อไป ย่อมทำให้ผู้อ่านเกิดภาพแห่งความเลวร้าย สะเทือนใจ ซึ่งไม่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งท้ายที่สุดไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ผู้เขียนก็มุ่งหมายให้ "มาระดมหัวคิดกันเถิดมา" คือ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันและหาทางออกร่วมกัน เป็นการให้ความหมายแฝงว่า "ต้องสามัคคีกัน" นั่นเอง

            โวหารภาพพจน์ที่ผู้เขียนเลือกใช้จึงนับเป็นการเปรียบเทียบที่เหมาะสม ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจตัวบทประพันธ์และความหมายได้อย่างที่ต้องการสื่อ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้อ่านก็อาจตีความตามประสบการณ์ ทัศนคติ หรือภูมิหลังของตนได้เช่นกัน โดยไม่ผิดแผกไปจากนี้มากนัก และพร้อมจะปฏิบัติตามในแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมดีงามได้อย่างไม่กังขา

            อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า "หนึ่งประวัติศาสตร์" เรื่องนี้ เป็นบทประพันธ์อีกเรื่องที่ชี้นำผู้อ่านให้เกิดปัญญา เกิดการขบคิดต่อการกระทำต่าง ๆ ของตนในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่จะถูกจารึกต่อไปในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ก็สุดแท้แต่ผู้อ่านจะเห็นควร แต่อย่างไรก็ตาม "โลก" หรือ "สังคม" หรือ "เราทั้งหลาย" นี้ ย่อมต้องการความสงบร่มเย็น สันติสุขโดยถ้วนหน้า อันเป็นผลจากการกระทำของเราเอง ผู้ซึ่งมาสร้างประวัติศาสตร์ไว้ในช่วงหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่กาลังเขียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันที่เป็นอยู่ ในชั่วชีวิตหนึ่งที่ยังมีลมหายใจ ก็พึงเลือกกระทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ที่ให้ภาพแห่งความงดงาม ควรค่าแก่การจดจำเอาไว้ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์อันดีงามของชีวิตที่แสนสั้นนี้ ประดับไว้แก่โลกที่ยังอยู่อีกยาวนานสืบไป

 


บทวิจารณ์กวีนิพนธ์ "หนึ่งประวัติศาสตร์"
โดย ขวัญชัย มะโนศรี
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ