โนรา มรดกจากบรรพชนแห่งชุมชนที่ UNESCO ยกย่อง : UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โนรา มรดกจากบรรพชนแห่งชุมชนที่ UNESCO ยกย่อง

โดย นันทพร ไวศยะสุวรรณ์

 

       วันที่ 15 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีมติเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List) ตามที่ประเทศไทยเสนอ

 

       มติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ครั้งที่ 16 (Sixteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intagible Cultural Heritage) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ จากสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนโนรา เนื่องจากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนประเภท Representative List

 

 

         ด้านกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้จัดงานฉลองโนรา มรดกภูมิปัญญาของแผ่นดินหลังจากที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนโนราให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยคุณอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานจัดงาน

 

       ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงวัฒนธรรม หนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงงานเฉลิมฉลองโนราว่าเกิดจากแรงผลักดันของหน่วยงาน และคณะบุคคลหลากหลายฝ่าย กระทั่งสามารถเข้าเสนอชื่อโนราเข้าเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และได้รับเลือกเป็นที่สำเร็จดังกล่าว

 

       “การเสนอข้อมูลเข้ามาเพื่อคัดเลือกให้ประเพณีใดๆ เป็นมรดกภูมิปัญญาของบ้านเมืองของแต่ละจังหวัด เรามีกรรมการที่จะดูตรวจตรา ซึ่งทุกจังหวัดก็ส่งมา เราก็ตรวจดูว่าเข้าเกณฑ์ของยูเนสโกหรือเปล่า ยูเนสโกมีเกณฑ์ให้เราตอบคำถาม ส่วนมากข้อมูลทางกระทรวงวัฒนธรรมหรือทางชุมชนส่งเข้ามาจะเป็นเรื่องตำนาน หรืออะไรต่างๆ บางครั้งคำถามของคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาของยูเนสโกไม่ได้ถามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะมีการส่งกลับไป-ส่งคืนมา และแก้ไขอยู่จำนวนหนึ่ง

 

 

        แต่ในประเทศไทยก็มีมรดกภูมิปัญญา ซึ่งเราใช้คำว่า “จับต้องไม่ได้” หมายความว่ามันไม่ใช่สิ่งของหรือวัตถุ แต่เป็น wisdom เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นมรดกภูมิปัญญา เมื่อเราจะส่งไปยูเนสโก ไม่ว่าโขน นวดไทย หรือโนรา ก็ต้องผ่านคณะกรรมการ ต้องกรอกข้อมูลต่างๆ เพราะฉะนั้นดิฉันก็จะมีส่วนช่วยทำข้อมูล โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้นักวิจัยท้องถิ่นส่งข้อมูลเข้ามา บางครั้งนักวิจัยท้องถิ่นท่านมีความเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญจะใช้มุมมองสากล ก็ช่วยกันดูทั้งสองฝ่าย และได้ข้อมูลที่ตอบความต้องการของมรดกภูมิปัญญาของยูเนสโก” 

 

       ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง กล่าวถึงความพิเศษของโนราตามหลักมุมมองสากลดังนี้

       “ความสำคัญที่เด่นที่สุดคือโนราเป็นภูมิปัญญาที่ยังปฏิบัติอยู่ และสำคัญกับเรื่องที่คนไทยทุกคนผูกพันคือเรื่องบรรพชน เราปฏิบัติต่อบรรพบุรุษของเราอย่างมีขนบ ซึ่งไม่ใช่วิธีสมัยใหม่ เป็นวิธีที่ส่งต่อผ่านวัฒนธรรม ผ่านครอบครัว ในอีสานก็มีพิธีดูแลผีบรรพชน คำว่าผีไม่ใช่ผีดุร้าย แต่เป็นผู้ดูแลตระกูล ดูแลชุมชน ดูแลเมือง เป็นผีแห่งความดีที่เป็นบรรพชนของเรา เพราะฉะนั้นโนรามีความเข้มแข็ง เพราะว่าชุมชนภาคใต้จะมีคนที่เป็นเชื้อสายโนรา ทำโนราโรงครูทุกปี และทำอยู่เป็นประจำ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยมา

 

        การที่โนราได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เพราะเป็นประเพณีที่อยู่นิ่ง โนราก็มีความเปลี่ยนแปลง การทำพิธีต่างๆ ไม่ได้มีแต่เพลงโบราณ อาจจะมีกีตาร์ มีกลองเข้าไป และมีการปฏิบัติของผู้คนเป็นประจำตามที่ชุมชนนั้นสัญญาไว้กับบรรพบุรุษของเขา ซึ่งภาคใต้เขาแข็งแรงมาก โดยเฉพาะรอบๆ ทะเลสาบสงขลา คนที่สืบเชื้อสายโนรายังทำพิธีกรรมเหล่านี้อยู่

 

 

        ภาคอื่นก็มีเช่นกัน อีสานมีไหว้ผีปู่ตา ชาวเหนือล้านนาก็มี มันเป็นพิธีปฏิบัติต่อบรรพชนของเราผู้ล่วงลับ และมีขนบประเพณี แล้วแต่ชาติพันธุ์ที่เขามา ที่พูดทั้งหมดเพื่อจะบอกว่ามันไม่ใช่การบูชาผี ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่อำนาจมืด แต่เป็นเรื่องของการที่เราผูกพัน ดูแล และเรามีความเชื่อว่าบรรพชนของเราจะกลับมาดูแลเรา ที่สำคัญมากก็คือยูเนสโกรับรู้สิ่งนี้ และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ภูมิภาค southeast asia มีแบบนี้ จีนมีแบบนี้ เกาหลี ญี่ปุ่น และชาติต่างๆ มีวิธีปฏิบัติต่อบรรพชน เม็กซิโกมีวันฮาโลวีน มันเป็นสิ่งที่เขายอมรับ และทุกชาติมี”

 

          นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง กล่าวถึงเหตุผลที่ยูเนสโกให้การยกย่องโนราไว้ด้วย

         “เพราะโนรามีทุกอย่างครบถ้วน เป็นสิ่งที่ชุมชนยังปฏิบัติต่อเนื่อง ยูเนสโกไม่ได้สนใจเรื่องการรักษาแบบฉบับเท่านั้น ยูเนสโกอนุมัติให้มีความเปลี่ยนแปลง มีความคลี่คลาย มีคนรับรู้และปฏิบัติในหลากรูปแบบ เพราะฉะนั้นโนรานอกจากเป็นของชาวบ้านแล้ว ยังมีโนราที่อยู่ในระบบการศึกษา มีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี และมีโนรารุ่นใหม่ที่ไม่ใช่เชื้อสายโนราโรงครูเท่านั้น และยังทำเป็นอาชีพได้ เป็นศิลปะที่มีบรรทัดฐาน มี standard ที่มีความงามแบบ refine เช่นงานของอาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ งานของอาจารย์สุพัฒน์ นาคเสน ซึ่งก็อยู่ในสถาบันการศึกษา และมีบรรทัดฐานที่งาม และมี refine แบบคลาสสิค แต่ของชาวบ้านก็จะมีเสน่ห์ของเขา ซึ่งแต่ละชุมชนโนราหรือแต่ละเมืองรอบๆ ทะเลสาบสงขลาและขยับออกมา เช่น ตรัง ระนอง หรือสุราษฎร์ธานี ก็มีสไตล์ของตัวเอง เป็นสไตล์ที่ชาวบ้านบอกว่าอันนี้งาม ตำนานที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับโนราก็มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นความหลากหลายนี้เป็นข้อแข็ง หรือเป็น strenght ของโนรา ก็แสดงว่ามีการกระจายตัว มีคน practice และคนที่ practice ก็ดูแลและจัดการมาต่อเนื่อง ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นการแสดงประกอบ หรือเป็น entertainment ก็ไม่มีใครว่าเขา และในเวลานี้เด็กๆ เยาวชนก็ฝึกฝนโนรา เป็นสิ่งที่เด็กๆ ทำได้ และสร้างโนราตัวอ่อน ซึ่งเด็กๆ ในโรงเรียนปลื้มอันนี้มาก เพราะเหมือนกับได้ทำยิมนาสติก มีความรู้สึกใหม่-เก่าผสมผสานกัน มีการเคลื่อนไหวของตัวภูมิปัญญา ภูมิปัญญาไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะตายไป ภูมิปัญญามีพลวัตตลอดเวลา”

 

         อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครูสอนวิชาโนรา สาขาศิลปการแสดง มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูสาโรช นาคะวิโรจน์ ครูโนราชื่อดังท่านหนึ่ง กล่าวถึงโนราที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันไว้ได้อย่างน่าสนใจ

 

        “ในอดีตโนราไม่แสดงงานศพ ถือว่าจะเกิดภัยพิบัติ เกิดอัปมงคลกับตนเอง งานแสดงจะไม่เจริญก้าวหน้า แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โนราสามารถจัดแสดงได้ทุกงาน โดยเฉพาะงานศพเดี๋ยวนี้ เจ้าภาพจะรับการแสดงโนราเพื่อให้ผู้เสียชีวิตได้ดู เป็นความเชื่อ และรำเป็นคณะด้วย เมื่อก่อนเขาไม่กล้ารำงานศพ

 

        รำงานศพจะมีการประพรมน้ำมนต์ ทำการบริกรรมคาถาแก้เคล็ดต่างๆ เดี๋ยวนี้พองานศพต้องรับโนราไปแสดง หนึ่ง-เพื่อให้ผู้ล่วงลับเกิดความสุขที่ลูกหลานได้เอาโนราไปจัดแสดง สอง-เพื่อให้ศิลปินโนราและผู้ชมได้อยู่ร่วมกับเจ้างานก่อนจะถึงวันกำหนด สาม-เพื่อให้คนที่มาร่วมงานไม่เกิดความทุกข์ ให้เกิดความสนุกสนานแทน คลายความเศร้า 

 

        เดี๋ยวนี้มีคนสืบทอดโนรากันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากสื่อเดี๋ยวนี้สามารถนำศิลปะโนราเข้าไปบรรจุและถ่ายทอดได้รวดเร็ว คนเข้าถึงเยอะ ก็มีกลุ่มเยาวชนเกิดขึ้นเยอะ เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วและความง่ายในการจัดการ ขณะเดียวกันความลึกซึ้งในศิลปะอาจจะมีน้อยลงถ้าหากว่าคนเหล่านั้นยังไม่ตระหนักในคุณค่า เพราะเขาเรียนรู้จากยูทูบ จากเฟซบุ๊ก เขาเรียนรู้ได้ง่าย แต่ถ้าต้องการให้ลึกซึ้งจริงๆต้องมาหาครูที่เขาปรากฏอยู่ในสื่อนั้น นั่นคือสิ่งที่คนจะตระหนักเรื่องนี้ ถ้าครูพักลักจำ ศิลปะโนราก็จะไม่เข้าถึงศาสตร์ที่แท้จริงได้”

 

        ความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณค่าที่สังคมยกย่อง แต่ความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ผู้สืบทอดคุณค่า แม้ประเพณีนั้นสูงค่าเพียงใด หากสังคมไม่สืบทอด ประเพณีนั้นย่อมไร้ความหมายและสูญหายไปในที่สุด ซึ่งเป็นที่ยินดีที่โนรายังคงมีผู้สืบทอดต่อเนื่อง ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีที่มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักยึดถือ หากยังเป็นสิ่งที่เยาวชนคนรุ่นหลังให้ความสนใจและดำเนินตามและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย

 

       ดังเช่น ศักดิ์สิทธิ์ วิเชียรศรชัย โนราจากจังหวัดพัทลุง และรุ่งทิพย์ เพียรทอง โนราจากจังหวัดนครศรีธรรมราช หนุ่มสาวเชื้อสายโนรา ตัวแทนคณะโนราที่ร่วมงานเฉลิมฉลองโนราที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้สาธิตการแสดงโนราและให้สัมภาษณ์ทีมงานถึงความภาคภูมิใจต่อโนรา ในวาระที่ UNESCO ยกย่องให้โนราเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

 

       “ตอนที่รู้ว่าโนราได้รับการประกาศจากยูเนสโก ก็รู้สึกว่าคนชนบทรากหญ้าอย่างพวกเราไม่ได้อยู่แค่ในภาคใต้แล้ว ไม่ได้อยู่แค่ด้ามขวานแล้ว เราได้ไปมากกว่าระดับประเทศ เราได้ไปมากกว่าระดับโลก เราได้ไปอยู่ในทุกพื้นที่ของโลกแล้ว ผมมีความภาคภูมิใจมาก วันนี้เราเป็นแค่ด้ามขวานเล็กๆ แต่ด้ามขวานเล็กๆ นี้จะค่อยๆ ขยายความรู้ ศาสตร์และศิลป์ของโนราต่อไปได้ถึงระดับโลก ต้องบอกว่าเรารอคอยมาไม่รู้กี่ทศวรรษ กี่รุ่นกี่ชั่วยามปี แต่ในวันนี้ ผมในฐานะที่เป็นโนราคนหนึ่ง ภูมิใจและปลาบปลื้มใจที่สุด ขอบคุณยูเนสโก กระทรวงวัฒนธรรม ขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ผลักดันมโนราห์มาให้ถึงจุดนี้ได้”

 

 

        “หนูชอบทุกอย่างของโนรา เรียกว่ารักการเป็นโนราไปแล้ว หนูอยากบอกว่าโนราไม่ใช่แค่การรำแสดงสวยๆ จากที่หนูสัมผัสมโนราห์มาตั้งแต่จำความได้ มโนราห์เป็นทั้งครูเป็นทั้งหมอ เป็นทุกๆ อย่าง คำว่าเป็นครู คือเป็นโนราห์ไทยที่สามารถทำพิธีตัดจุกผูกผ้า ทางภาษาใต้เรียกว่าตัดจุกผูกผ้าโนราไทยก่อนเรียน เป็นราชครู การที่คุณครูสอนรำ ไม่ได้สอนแค่การรำการร้อง จะสอนการใช้ชีวิตทั้งหมด คำว่าเป็นหมอ คือการที่เราไม่สบาย แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ แต่รับโนราโรงครู หรือรับโนรามาแก้บน ความไข้ความป่วยก็หายเป็นปลิดทิ้ง มันเป็นศาสตร์ที่เรามองไม่เห็น แต่สามารถพิสูจน์ได้ มีตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยคนหนึ่งไปทั่วประเทศแล้ว รักษาไม่หาย นอนติดเตียง ขาก็ลีบไปเรื่อยๆ เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง รักษายังไงก็ไม่หาย แต่เขาบอกว่าให้รับมโนราห์มาแก้บนสิ พอโนราใหญ่ โนราชาย หนูซึ่งเป็นโนราหญิง ไปรำถวายทำพิธี กลับมากินข้าวได้ นั่งได้ เห็นกับตามาแล้ว โนราคือชีวิตประจำวันของทุกคน เป็นวัฒนธรรมไปแล้ว”

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ