กระดานดำเปลี่ยนสี : งานเปิดตัวหนังสือ....."กระดานดำเปลี่ยนสี"

กระดานดำเปลี่ยนสี

จำเนียร : สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกๆ ท่านที่มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือ "กระดานดำเปลี่ยนสี" ซึ่งเป็นผลงานเล่มแรกในชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในวิชาชีพครูมายาวนานถึงสามสิบสองปี และได้กลั่นกรองเรื่องราวซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่ได้ประสบพบเจอมาถ่ายทอดเป็นหนังสือที่เรากำลังจะพูดคุยกันในวันนี้ แต่ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตแนะนำท่านวิทยากรที่มาร่วมพูดคุยและแสดงทัศนะในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราวในวงการการศึกษา และเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ "กระดานดำเปลี่ยนสี" เล่มนี้ครับ ท่านแรกที่จะขอแนะนำคือ ดร.ทัสนี วงศ์ยืน ท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในอดีตเคยเป็นผู้ร่วมงานกับ อ.ชัชรีวรรณ เป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนานเหมือนกันจนเกษียณอายุราชการ อีกท่านที่อยากจะแนะนำคือ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ปัจจุบันอยู่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแวดวงการศึกษาอาจารย์เป็นที่รู้จักกันดี เวลามีเรื่องราวหรือมีประเด็นทางการศึกษาเราก็จะเห็นบทความของอาจารย์อยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นบทความที่ได้รับการยอมรับในสังคม แม้ว่าบท ความบางส่วนจะกระทบกันไปบ้าง แต่ท่านก็ยังยืนยันที่จะเขียน จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้อาจารย์ก็ได้เขียนเกริ่นไว้แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับที่ผ่านมา แต่พื้นที่อาจจะจำกัดไปสักนิด วันนี้เราก็จะได้ฟังทัศนะกันเต็มๆ ท่านสุดท้าย ท่านเป็นคนพิเศษสำหรับงานในวันนี้ อ.ชัชรีวรรณ ไชยวัฒน์ อาจารย์เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาเรื่องการสอนภาษาฝรั่งเศสอยู่หลายปี ในการทำงานของอาจารย์เองก็ได้รับการยอมรับให้เป็นครูแกนนำ ครูต้นแบบ ครูดีเด่น แต่ทว่าเกิดอะไรขึ้นกับครูคนนี้ที่เลือกการเออร์ลี่รีไทร์ วันนี้เราจะได้รับฟังกัน สำหรับผม ขอแนะนำตัวเองนะครับ ผมเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นครับ สำหรับหนังสือเล่มนี้ ถ้าใครได้อ่านจะเห็นว่าด้านหลังหนังสือเขียนไว้ว่า 'ปัจจุบันสังคมได้ตั้งคำถามไว้มากมาย บอกว่านักเรียนยุคนี้ทำไมยิ่งเรียนยิ่งมีไอคิวต่ำลง ทำไมนักเรียนจำนวนมากมีผลประเมินความรู้ระดับชาติต่ำมาก ทำไมผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่ำลงทุกปี ครูทำอะไร ครูสอนยังไง มีนักเรียนทำให้วงการครูสั่นสะเทือนมาแล้วด้วยคำว่า "ควายเซ็นเตอร์" ทำไมครูเป็นกลุ่มข้าราชการที่ขอ "เออร์ลี่รีไทร์" มากที่สุด เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตครู'อันนี้เป็นบางส่วนของคำนำ ผมคิดว่าทุกๆ คนก็เคยเป็นนักเรียนมาก่อน ก็อยากจะขอเชิญ ดร.ทัสนี ซึ่งเคยร่วมงานกับ อ.ชัชรีวรรณ พูดถึงบรรยากาศก่อนที่กระดานดำจะเปลี่ยนไป หรือกระดานดำจะเปลี่ยนสีว่าเป็นยังไง


ดร.ทัสนี : สวัสดีค่ะ ก็คงจะพูดจากประสบการณ์การเรียนการสอนหรือบรรยากาศในโรงเรียนเมื่อก่อน คนผู้ใหญ่หรือว่าคนรุ่นอายุสัก 40-50 จะพบว่าเป็นเรื่องของความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเรื่องของคนของนักเรียนที่อยู่ในแนว บางคนก็ถูกตีเป็นแนว ก้นเป็นแนว แขนขาเป็นแนว เราถูกอบรมมาอย่างนั้น ถูกสั่งสอนมาอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อกระดานดำเปลี่ยนสี จะเห็นว่าเปลี่ยนสีมาหลายอย่างแล้ว ตั้งแต่เป็น blackboard สีดำ เป็น Greenboard สีเขียว เป็น writeboard สีขาว เดี๋ยวนี้เป็น webboard ซึ่ง นักเรียนเขาจะเรียนรู้ได้จากที่หลายๆ แห่ง เพราะฉะนั้นบรรยากาศนักเรียนก็จะเปลี่ยนไป นักเรียนเขาก็จะมีแนวของเขาเอง เป็นแนวที่เขาคิดว่าถูกต้อง เป็นแนวที่เขาคิดว่าอย่างนี้ใช้ได้ ซึ่งก็ไม่มีใครบอกเขาได้ว่ามันผิดหรือถูก เขาก็ผจญด้วยตัวเองจากสื่อต่างๆ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป ครูก็ค่อนข้างสับสน เพราะฉะนั้นครูก็ต้องเปลี่ยนจากครูเก่าโบราณ ที่เข้าไปในห้องแล้วยืนพูด นักเรียนจะต้องตั้งใจฟัง แต่เดี๋ยวนี้นักเรียนเขามีแนวของเขาเอง เขามีความศรัทธาในครูเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขา เพราะฉะนั้นโอกาสที่คุณครูจะคุมชั้นเรียนหรือว่าคุมการเรียนให้เป็นไปอย่างที่ตัวคิด ยากมากๆ เลยนะคะ เป็นความทุกข์ยากของคุณครูที่จะต้องเปลี่ยนไป

บก.จำเนียร : ต่างจากตอนที่ตัวอาจารย์เป็นนักเรียนหรือเปล่าครับ

ดร.ทัสนี : ต่างมากๆ เลย สมัยเรียนเราจะเป็นคนซึ่งขยันเรียน เป็นคนที่อ่านหนังสือมาก ชีวิตอยู่แต่การเรียน เมื่อก่อนทีวีก็ไม่มีดู ที่บ้านก็จะมีพี่น้องเยอะแยะมาก มาจากภูเก็ต มาจากปัตตานี อยู่กันเป็นห้องๆ เต็มไปหมด เราก็ต้องหาวิธีเลี่ยง ตอนหัวค่ำเขาคุยกันเรานอน พอตอนเที่ยงคืนเขานอนเราตื่นเพื่อจะมาอ่านหนังสือ ชีวิตก็จะเป็นอย่างนั้น แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้วละค่ะ

บก.จำเนียร : อาจารย์เป็นนักเรียนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเปล่าครับ

ดร.ทัสนี : เรียนอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ที่สวนสุนันทา อยู่สาธิตฯ เมื่อก่อนเรียกว่าฝ่ายมัธยม ก็ชื่นชมคุณครู เชื่อฟังคุณครู ถึงเวลาก็มาโรงเรียน ถึงเวลาก็กลับบ้าน คุณแม่จะคิดไว้เลยว่าจากสวนสุนันทาไปบ้านใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ คุณแม่จะบวกไว้ครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นห้าโมงเย็นต้องถึงบ้าน ถ้าหกโมงเย็นไม่ถึงบ้านก้นเป็นแนว ถูกตีครั้งสุดท้ายตอนอยู่เตรียมอุดมศึกษา ม.8 นั่นคือการถูกตีครั้งสุดท้าย ซึ่งเราก็จำมาถึงจนทุกวันนี้ว่าสิ่งนั้นที่ทำให้เราเป็นคนขึ้นมาได้

จำเนียร : บรรยากาศของอ.สมพงษ์เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ ต้องเรียนถามก่อนว่าอาจารย์เรียนในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด

ดร.สมพงษ์ : ผมเรียนต่างจังหวัด ผมคิดว่าผมกับ อ.ชัชรีวรรณ เกิดยุคเดียวกัน ผมคิดว่าเราเรียนไล่เลี่ยกัน ก่อนผมจะเล่าเรื่องอะไร ปกติวันเสาร์อาทิตย์ผมไม่เคยรับงานใคร แต่พอวันครูที่ผ่านมาผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ผมเปิดอ่าน ใช้ความรู้สึกในการอ่านมาก ก็ตอบกับตัวเองว่าเล่มนี้ใช่แน่ มันเป็นคำตอบและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การศึกษาที่คนสำคัญๆ ในวงการการศึกษาต้องอ่าน ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกคุณคิดกันที่ส่วนกลาง ที่จะสรรหานโยบายยัดเยียดอะไรๆ ลงไปให้กับครูกับนักเรียน มันเกิดอะไรขึ้น มันดีหรือไม่ดี มันเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ประมาณครึ่งวัน กลางคืนก็ไปงานนักเขียนของมติชน คืนนั้นก็ตัดสินใจเขียนบทความลงมติชน ก็พยายามเขียนให้ดีที่สุด แต่ก็ได้ลงไม่ครบ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเรียนก็คือว่า ภารกิจ 32 ปีของอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นครูในโรงเรียน แล้วก็ทำอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ กับเวลาที่ผมยอมสละมาในวันนี้มันเทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าของอาจารย์ที่ได้ทุ่มเทกับงานในวิชาชีพนี้ ผมถึงมาอย่างเต็มใจและก็รู้สึกเป็นเกียรติ และรู้สึกชื่นชมจริงๆ ครับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่หาไม่ได้อีกแล้ว หาไม่ได้จริงๆ ผมอ่านหนังสือมาเยอะนะ แต่ไม่เคยเจอะอะไรที่มันเป็นคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง ผมคงจะเข้าเรื่องชีวิตวัยเด็กในอดีต ครูคือคำตอบ เป็นที่พึ่งพิง เป็นที่เยียวยา เป็นบุคคลสำคัญในชีวิต ชีวิตในวัยเด็กของผมเป็นเด็กบ้านนอก ยากจนแต่เรียนหนังสือเก่ง แต่ได้ดิบได้ดีแบบท่านอาจารย์ ท่านจะคอยช่วยผม เอาเข้าโรงเรียน หาทุนการศึกษาให้ ครูคือคนที่จะบอกเราว่าเราจะไปทางไหน เราถูกตีเราก็ไม่รู้สึกหรอกว่าครูตีเราเพราะอะไร แต่เรามีความรู้สึกว่าเราสำนึก แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นตัวตนได้เพราะครูทั้งนั้น ผมยังจำครูเก่าๆ ในโรงเรียนผมได้ทุก ลมหายใจ มีครูตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงปริญญาเอกที่ผมไปเรียนกลับมา ชีวิตแต่ละท่าน แต่ละจังหวะ แต่ละวันเวลาที่ผ่านไป มันทำให้ผมคิดแตกต่างจากเพื่อนผมที่อยู่ในวัยและเป็นเด็กผู้ชาย ผมเป็นคนเดียวที่ตั้งใจเรียนครู ซึ่งหายากมาก ไม่ค่อยมีใคร อยากจะเรียน

บก.จำเนียร : แต่ในสมัยก่อน ถ้าให้เด็กเขียนเรียงความหรืออะไรก็ตาม ครูเป็นอาชีพหนึ่งที่เด็กอยากจะเป็นไม่ใช่หรือครับ

ดร.สมพงษ์: ในอดีตใช่ครับ เพราะเขาจะมีความประทับใจในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ แต่ปัจจุบันครูเป็นอาชีพสุดท้ายที่เด็กจะเลือก ซึ่งอันนี้เป็นข้อคิดที่อาจารย์เขียนไว้ว่าชีวิตครูที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องที่แทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ขณะนี้ผมคิดว่าเด็กหรือนิสิต นักศึกษาที่จะเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ หาคนที่มีจิตและมีประวัติ มีความตั้งใจอย่างท่านอาจารย์นับคนได้ ที่คณะครุศาสตร์มี 20 % ที่จบแล้วเป็นครู นอกนั้นไม่เป็น ผมกับท่านอาจารย์มีประวัติคล้ายกัน อยากจะเป็นครู แล้วก็เข้ามาเป็น แล้วก็ได้เป็น แต่ผมไม่ทราบว่าอาจารย์ทนมาได้ยังไงตั้งสามสิบสองปี แสดงว่าอาจารย์ต้องเข้มแข็งมาก ต้องอึด ต้องอดทน ผมมีอารมณ์ร่วมอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ กับอาจารย์ก็คือ ผมอยากเออร์ลี่รีไทร์ ปีที่แล้วผมไปเอาใบเออร์ลี่รีไทร์มาเขียนแล้วนะครับ ผมมีความรู้สึกว่าเราต้องออกแล้วละ คงไม่ไหว แต่ในระบบมหาวิทยาลัยมันไม่มีให้ออก ผมก็เลยต้องอยู่ แต่ไม่ได้ทนอยู่นะครับ ผมรู้สึกว่ามันมีหลายเรื่องหลายภารกิจที่ผมคิดว่ามันต้องทำต่อไป ผมคงขอสรุปเรื่องแรกอย่างนี้นะครับว่า ชีวิตครูของท่าน อ.ชัชรีวรรณ ไชยวัฒน์ ได้เออร์ลี่รีไทร์ทั้งในระบบราชการและระบบโรงเรียนแล้ว แต่ชีวิตของอาจารย์กำลังเริ่มต้นกับการให้บทเรียนกับสังคม โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา แล้วเป็นบทเรียนที่ผมคิดว่า คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการศึกษาทั้งหมดต้องอ่านอย่างดี แล้วท่านจะรู้ว่าท่านกำลังทำอะไรกับการศึกษาอยู่

บก.จำเนียร : อาจารย์ท่านก็ได้เล่าประสบการณ์การเรียนการสอนของตัวเองในยุคแรก ที่มีความตั้งใจความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นครู ได้เรียนให้อาจารย์ทราบแล้วนะครับว่าวันนี้เราก็ไม่ได้บอก อ.ชัชรีวรรณ ว่าจะเชิญอาจารย์มาด้วย อาจารย์ท่านเพิ่มมาเห็นในกำหนดการของผมว่าเชิญ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ มาด้วย อาจารย์ก็ตื่นเต้นใหญ่เหมือนกัน คราวนี้ก็จะมาฟังเรื่องราวในวัยเยาว์ของ อ.ชัชรีวรรณบ้างเหมือนกัน ที่จริงอาจารย์ได้พูดไว้บ้างแล้วพอสมควรในหนังสือเล่มนี้ คนที่ทำให้อาจารย์อยากเป็นครู หรืออยู่ในแวดวงการศึกษาก็มีอยู่หลายท่านเหมือนกัน เชิญอาจารย์ครับ

อ.ชัชรีวรรณ : ความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ทั้งหลายตอนเด็กๆ จะเห็นว่าในหนังสือจะใช้ชื่อจริงหมดทุกคน เพราะเป็นความ รู้สึกว่าเป็นความเคารพที่อยากจะให้อาจารย์ได้รับรู้ว่านี่คือเรื่องจริง จะเห็นว่าขณะที่พูดถึงยุคปัจจุบันจะใช้ชื่อสมมุติ เพราะมี ความรู้สึกว่า บางอย่างไม่อยากทำให้เขามีความรู้สึกว่าไม่ดี แต่อาจารย์ที่เคารพใส่ชื่อจริงทั้งหมด จริงๆ แล้วยังมีมากกว่านี้ที่จะเขียนแต่กลัวว่าจะทำให้หนังสือยาวเกินไป หนาเกินไป แต่สิ่งที่อยากจะบอกว่าความประทับใจของครูในวัยเด็กมีส่วนผลักดันให้เราอยากเป็นครูมาก และอยากฝากกับอาจารย์ปัจจุบันว่าถ้าเขาทำให้เด็กรักครู เขาจะได้นักเรียนที่จะเป็นครูในอนาคต และเป็นครูด้วยหัวใจ ถ้าคนที่เป็นครูเป็นด้วยหัวใจ สภาพชั้นเรียนในโรงเรียนจะมีความสุขมากกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจมากที่อยากเห็นคนเป็นครูด้วยหัวใจ และเป็นครูอยู่ในชั้นเรียน นักเรียนจะได้เรียนกับครูที่รักอาชีพ นั่นคือสิ่งที่อยากจะบอกค่ะ

จำเนียร : เป็นความตั้งใจของอาจารย์หรือเปล่าครับที่ตั้งใจจะเรียนสายนี้อย่างแน่นอน อิทธิพลส่วนอื่นนอกจากครู นอกจากครอบครัวแล้วยังมีมาจากไหนอีกบ้างครับ

อ.ชัชรีวรรณ : คนที่เป็นครูในชีวิตคนแรกคือแม่ค่ะ และแม่ก็มาในวันนี้ด้วย ในหนังสือจะบอกว่าแม่สอนคณิตศาสตร์ด้วยไม้ขีดไฟในกล่อง บางครั้งเกือบหมดกล่องเลย แม่จะเป็นคนที่ดูการบ้านให้ลูกตลอด พ่อจะเป็นคุณครูที่ให้คัดลายมือ พ่อแม่และครูทั้งหมดที่สร้างให้เรามาเป็นครูในวันนี้ค่ะ

บก.จำเนียร : ผมคิดว่าส่วนใหญ่ทั้งเด็ก ทั้งนักเรียน คนที่อยู่ใกล้ชิดกับเขานอกจากพ่อแม่ก็คงจะเป็นครู ถ้าเด็กนักเรียนเจอครู ที่เอาใจใส่ เขาก็คงใฝ่ฝันอยากจะเป็นครูบ้าง อยากจะขอเรียนถามอาจารย์ครับว่า เมื่ออาจารย์ได้ก้าวมาเป็นผู้บริหาร มีปัญหาหรือมีสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการที่เป็นครูเล็กๆ บ้างหรือไม่ครับ แล้ววิธีการเรียนการสอนมันเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ หรือเปลี่ยนไปอย่างไรครับในความเห็นของอาจารย์

ดร.ทัสนี : ยังไม่ตอบคำถามดีกว่าค่ะ เพราะจริงๆ แล้วตัวเองก็เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นครู คุณพ่อก็สอนการบ้านมา คุณพ่อเป็นครูมาแต่เดิมแล้วมาเปลี่ยนอาชีพตอนหลัง ตอนที่เดินเข้าคณะครุศาสตร์ ปีแรกอาจจะเป็นเรื่องของความบังเอิญ ไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็พยายาม จริงๆ แล้วมันอยู่ในนิสัย คุณพ่อบอกมาแล้วว่าลูกต้องเป็นครู แต่เรายังหาตัวเองไม่เจอ เราอยากจะไปเรียนหมอ เพราะคะแนนเราดี แต่เราพลาดโอกาสตรงนั้น แต่เมื่อเราได้เข้าไปอยู่ในวงการครูจริงๆ ได้เห็นอาจารย์ ได้เห็นอะไรที่ดี ความรู้สึกก็ดีขึ้น และยิ่งดีมากขึ้นตอนที่เราออกไปฝึกสอนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และมีครูไปดูแลตลอดให้เราสามารถผ่านการฝึกสอนไปได้ด้วยเกรดเอ มันเป็นเรื่องที่ประทับใจ พอจบออกมาก็ไม่ได้ไปทำอย่างอื่นเลย ขอเป็นครู และไปเริ่มเป็นครูที่ต่างจังหวัด นักเรียนที่ต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นพิษณุโลก อุดรธานี ฉะเชิงเทรา ตราด เป็นนักเรียนที่ทำให้ความเป็นครูของเรามีค่ามากเหลือเกิน เมื่ออยู่ใกล้นักเรียนมากๆ ความรู้สึกในความเป็นครูก็จะมีมาก ช่วงที่เข้ามาอยู่ในกรมสามัญศึกษา ก็ได้มาพบเห็นคุณครูที่มาติดต่อราชการ พบเห็นปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน และในท้ายที่สุดก็เลยตัดสินใจว่าเราน่าจะเป็นผู้บริหารโรงเรียน เพื่อจะทำให้ปัญหาบางอย่างแก้ไขได้ คลี่คลายไปในทางที่ดีได้ ถ้าเรารักที่จะอยู่ในอาชีพนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นพอเริ่มเป็นผู้บริหารปุ๊บก็มีความรู้สึกว่า นักเรียนเป็นสมบัติส่วนหนึ่งของเรา เป็นสิ่งที่จะทำให้เราประคองชีวิตอยู่ในวงการนี้ได้ เพราะในแต่ละวัน นักเรียนจะมีอะไรที่แตกต่างออกไป เป็นความน่ารัก เป็นความเศร้าโศก เป็นอะไรก็ตาม พอเราได้ช่วยเขา เราก็มีความรู้สึกว่าเรามีความสุขมากๆ เลย กับเพื่อนครูเองก็รับรู้ปัญหาค่อนข้างมาก เพราะอยู่ใกล้เพื่อนครูเหลือเกิน ถ้าจะคุยกับเพื่อนครูคนใด เราจะใช้คำว่าเพื่อนครูเสมอ ไม่ใช่คำว่าลูกน้อง เพราะฉะนั้นเพื่อนครูสามารถที่จะมาหาได้ตลอดเวลา หรือว่าเราเองก็จะเดินไปหาเพื่อนครูเสมอ ไม่เคยเชิญเพื่อนครูมาที่ห้องเราเลย เพราะฉะนั้นความรู้สึกรับรู้ในทุกข์สุขของเพื่อนครูก็จะมีอยู่สูงมาก และความรู้สึกที่อยากจะช่วยให้คุณครูผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ก็มีมาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองไปข้างหน้าว่าครูจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เราก็พยายามจะลงไปบอกคุณครู ลงไปเทรนครู ช่วยกันหาทาง เพราะฉะนั้นบรรยากาศในตอนนี้จะเป็นบรรยากาศ ซึ่งสนิทสนมกัน เห็นอกเห็นใจกัน ยามที่เราทุกข์สุขร่วมกัน คุณครูอยู่ดึกเราอยู่ดึกด้วย หรือทำอะไรเราอยู่ด้วย เราทำอะไรไม่ได้ จริงๆ เมื่อถึงบรรยากาศที่ครูจะต้องทำ เราก็เป็นฝ่ายบริการ หาอาหาร หาขนม สารพัดที่จะทำ เพื่อให้คุณครูสามารถที่จะผ่านช่วงชีวิตที่สับสนได้


บก.จำเนียร : ฟังดูก็น่าจะมีความสุขนะครับอาจารย์ ผมว่าส่วนใหญ่เด็กๆ ที่เขาใฝ่ฝันอยากเป็นครู ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบรรยากาศในโรงเรียนที่มีความสุข ครูเองก็มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นครู อยากจะสอน แต่วันนี้วันเวลาที่ อ.สมพงษ์พูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้น ครูจะเอาอะไรกันแน่ ครูมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ต้องไปทำนั่นทำนี่ ครูบางคนต้องไปทำอาชีพเสริม เพราะจากระบบหรือเปล่า

ดร.สมพงษ์ : อาชีพครูในอดีตค่อนข้างจะทำด้วยความรู้สึก และเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องของจิต เรื่องของความรักในวิชาชีพ แต่มาในระยะหลังมันมีการเล่น การศึกษามันก็คล้ายเป็นวัตถุแบบอาหารฟาสฟูดส์ เพราะฉะนั้นเมื่อการศึกษาเราต้องการให้มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความละเอียดอ่อน ความปราณีต มันก็จะหายไปจากระบบการศึกษา เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ต้องถูกทำให้แข่งขันกันมากขึ้น เมื่อมีเรื่องของการแข่งขันมันก็จะทำให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะ พอมีเรื่องการแข่งขันเข้ามา มีเรื่องการยกย่องครู มันก็ต้องมีการปล่อยครูอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เราเริ่มเห็นมากๆ ขึ้น ก็หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่เรากำลังนำเข้ามาสู่อาชีพครู มันกลายเป็นเปลือก และกลายเป็นส่วนที่ผมคิดว่าด้านหนึ่งก็สร้าง อีกด้านหนึ่งก็เหมือนบ่อนทำลายเหมือนกัน หลายๆ ตัว หลายๆ องค์ประกอบเหล่านี้นี่เอง ทำให้ครูกับโรงเรียนมันเป็นถ่าน ผมมองมันคล้ายๆ กับฟิวเตอร์ในสังคม เอ็งจะสั่งอะไรมา เอ็งจะให้คำสั่งใหม่ๆ เอ็งจะให้ทฤษฎีหลักการอะไรมา ครูจัดการได้หมดนะ จัดการอยู่ในวิธีการคิดและระบบของครูได้ แต่สิ่งที่ครูจัดการนั้นน่ะ ขอให้มันผ่านไป ข้างบนก็ได้รับความพึงพอใจจากหลักฐานที่ครูช่วยกันทำ จริงเท็จปะปนกัน ผมถึงได้บอกว่าสิ่งที่อาจารย์สะท้อนมันได้ให้เรื่องแง่มุมการผลิตครู การอบรมครู การส่งเสริมครู และการทำให้ระบบครูมันไม่มีความสุขอย่างเมื่อก่อน แต่มันเป็นเรื่องของความทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เกิดจากตัวเด็ก หรือการทำหน้าที่ของครู แต่เป็นทุกข์มหันต์จากระบบ ระบบมันไม่ได้ตอบสนองจิตวิญญาณของครูที่มีอยู่เต็มเปี่ยม แต่มันเป็นระบบที่ครูเริ่มทิ้งจิตวิญญาณครู กลายเป็นวัตถุนิยมการเป็นครูมากขึ้น ตรงนี้ต้องระมัดระวังมาก เพราะฉะนั้นเราก็จะเริ่มเห็นครูที่แตกต่างไป ผมเคยเจอครูที่สอนหนังสือเสร็จปั๊บ เด็กยื่นเงินให้ 500 บาททันที ซึ่งในสมัยก่อนเราสอนพิเศษเสร็จปั๊บ ผมเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ลูกผมเรียนพิเศษ เราจะต้องเอาเงินใส่ซอง แต่สมัยนี้ครูบางคนซื้อได้ด้วยเงิน พอสอนพิเศษเสร็จปุ๊บเด็กให้เงิน 500 บาท หรือบางครั้งครูบางท่านบางคนสอนหนังสืออยู่โรงเรียนนี้ ข้ามถนนไปอีกฝั่ง ก็ไปกั๊กสอนวิชากันก็มี เราก็เริ่มเห็นมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นในวิถีชีวิตที่ครูต้องแข่งขันกันในระบบเพื่อไต่เต้า เรื่องของครูแกนนำ เรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ ครูมีหนี้สินมาก ซึ่งเกิดจากสภาวะของการไม่พอ ไม่มีเรื่องเงาความคิดเศรษฐกิจพอเพียง ครูก็จำเป็นต้องหาเงิน สร้างหนี้ กู้สหกรณ์ ระบบต่างๆ ที่มันเป็นองค์ประกอบของครูในขณะนี้ ผมว่าด้านลบมีมากกว่าด้านบวก แล้วเราก็พูดกันมาตลอดเลยว่ามันเกิดอะไรผิดปกติขึ้นในระบบ ในโรงเรียน คนหนึ่งก็พูดประเด็นหนึ่ง ผมก็วิจารณ์ประเด็นหนึ่ง แต่หนังสือเล่มนี้คือคำตอบของทุกมุม และก็ทุกด้านทุกประเด็นที่ผมคิดว่าคนที่ทำเรื่องการศึกษาต้องอ่าน ว่าที่เราบอกเรากำหนดเรื่องที่เราคิด จริงๆ แล้วมันไม่ดีไปซะหมด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมยังยืนยันว่า อะไรมันจะเกิดขึ้น อะไรมันจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ครูมีอำนาจจะจัดการกับมันได้ สิ่งที่ครูจัดการกับพวกนี้ ที่ดีไม่ดีทั้งหลาย ถ้าครูยังกลับไปทำหน้าที่หลักในเรื่องการเรียนการสอน เราก็จะมีสังคมที่ไม่น่าเป็นห่วง ถ้าครูไม่สามารถที่จะจัดการกับระบบมันได้ เราก็ปล่อยไปตามระบบ อันนี้น่าห่วงสังคมไทย ผมยืนยันว่าน่าห่วงสังคมไทย ครูจะปล่อยเด็ก จะทิ้งเด็ก กั๊กวิชา หากินกับเด็ก หรือทำบางสิ่งไม่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าจะกลับมาหาครูดีๆ ได้สักเท่าไหร่ ครูของแผ่นดิน ผมบอกอาจารย์ได้ว่า ท่านอาจารย์ชัชรีวรรณเป็นครูของแผ่นดิน ขอบคุณครับ

บก.จำเนียร : ก็ได้ฟังทัศนะของ ดร.สมพงษ์ ที่มองว่าครูเปลี่ยนไป สมัยก่อนครูก็คือครูที่สอนจริงๆ ครูมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ปัจจุบันครูมีหน้าที่ที่หนัก ซับซ้อน มีอะไรมากมายจนครูเองก็ปวดหัว เมื่อสักครู่ได้คุยกับอาจารย์ว่าสมัยก่อนที่สื่อสะท้อนบรรยากาศของครูของนักเรียน อันนั้นมักจะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทั่วๆ ไป แต่ขณะในเรื่องกระดานดำเปลี่ยนสีเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของครูคนหนึ่งที่สะท้อนชีวิตที่ปะทะกับเรื่องระบบที่เข้ามา ต้องถามผู้เขียนว่าตอนนั้นรู้สึกอะไร ยังไง ทำไมอาจารย์อยู่มาได้ถึงสามสิบสองปี ต้องถามอาจารย์แล้วละครับ

อ.ชัชรีวรรณ : ขอตอบสั้นๆ นะคะว่าที่ทนอยู่ได้ถึงสามสิบสองปี เพราะรักนักเรียน รักโรงเรียน รักเพื่อนครู คือมีความรู้สึกว่า บางครั้งเราเหนื่อยเรามีความรู้สึกทันทีว่า จะเหนื่อยยังไงก็ตาม เมื่อก้าวเข้าห้องเจอนักเรียนตั้งใจเรียน เราก็มีความสุข แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ภาระหน้าที่ที่นอกเหนือจากการให้ความรู้กับนักเรียนมันมากขึ้น เราเริ่มไม่ไหว ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถ้าเรายังอยู่ต่อไป ร่างกายเราอาจจะเกิดการพิการ ก็เลยขอก้าวเท้าออกมา แต่พอก้าวเท้าออกมาแล้วก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเราไม่เขียนหรือพูดอะไรสักอย่าง เราห่วง เราอยากเห็น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ผู้ใหญ่มากๆ ผู้ใหญ่ระดับสูงๆ ได้คิดว่าทำอะไรกับครู ถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไป ทั้งผู้ใหญ่และผู้ปกครองควรจะรู้เลยว่า ถ้าเขายังปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้ คนที่จะลำบากต่อไปในอนาคตก็คือลูกหลานของเขา ซึ่งก็คืออนาคตของชาติ

บก.จำเนียร : รู้สึกว่าตัวละครของอาจารย์จะเยอะมาก อาจารย์ใช้วิธีการยังไงในการมองบุคลิกครูคนนั้นคนนี้ เด็กนักเรียนคนนั้นคนนี้ และนำมาเขียน เพราะผมอ่านแล้วก็ขำในบุคลิก ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นบุคลิกที่เป็นคนจริงๆ

อ.ชัชรีวรรณ : ก่อนที่จะเขียนเราก็จะเขียนชื่อบทไว้ก่อน สิ่งอะไรที่เราต้องการนำเสนอ อย่าง 'หลากหลากสไตล์…child center' ก็คิดทันทีว่าประสบการณ์จากการที่ต้องทำงานเป็นฝ่ายวิชาการ จากเพื่อนครู และจากการที่ต้องออกไปนิเทศโรงเรียนต่างๆ ร่วมกับศึกษานิเทศ คือเป็นคนที่ชอบสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จริงๆ แล้วก็น่าสงสารนะ อาจารย์ทั้งหลายก็น่าสงสาร แต่ถ้าเราเล่าให้เป็นเรื่องรันทด เรื่องนี้ก็ไม่สามารถจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องเล่าในมุมตลก ก็มีน้องชายคือ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ จะมาไกด์ให้ว่าเวลาเล่าอะไรอย่าไปบอกตรงๆ ให้ใช้วิธีให้ผู้อ่านคิดเอาเองว่าตกลงตรงนี้เป็น 'หลากหลายสไตล์…child center' จริงหรือเปล่า แต่จะเห็นได้ว่าตัวละครทั้งหมดนั้นมีจริง เพียงแต่อาจจะเอาเกร็ดของคนโน้นมารวมกับคนนี้ ให้เห็นความเข้มข้น อย่างคุณครูในโรงเรียนเรื่องของหน้าที่ที่มากมาย บางครั้งเวลาที่เหนื่อยมากๆ มองไปรอบตัวเห็นคุณครูในโรงเรียนที่วิ่ง วุ่นวาย และทำอะไรที่ไม่ใช่การสอนเราก็นั่งมอง มันก็เป็นภาพที่เราเก็บเอาไว้ พอคิดแล้วสามารถออกมาได้เลย คือดิฉันรู้สึกว่าเมื่อหลุดออกมาจากการเออร์ลี่รีไทร์ ดิฉันคิดถึงโรงเรียนของตัวเอง ภาพทุกอย่างจะผ่านเข้ามาเหมือนกับฉายหนัง แล้วมองเห็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ

บก.จำเนียร : นอกจากพวกครูแล้วอาจารย์ก็ยังพูดถึงนักเรียน จะมีอีกบทหนึ่ง 'นักเรียนพันธุ์ใหม่' ขออนุญาตพูดสักนิดหนึ่ง จะมีนักเรียนพันธุ์ใหม่ ประเภทเมืองขึ้นญี่ปุ่น ประเภทนกหงหยก ประเภทวิญญาณพเนจร นักเรียนประเภทซอมบี้ อะไรพวกนี้ อาจารย์จัดประเภทให้พวกเขายังไง

อ.ชัชรีวรรณ : คือน้องชายอีกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วบอกว่า สิ่งที่จัดประเภทไปนี้ไม่ได้แรง มันยังมีความรู้สึกของความเอ็นดูเขา นั่นคือความคิดของน้องชายที่บอกว่ายังวัยใสๆ ทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นมุมของความเอ็นดู ลึกๆ ไปก็อยากให้มองเห็นว่า ขณะนี้ใจของเด็กที่จะเรียนมันมีน้อยลงไปมากแล้ว และยิ่งทำให้ครูที่มีภาระหนักอึ้งเกิดความรู้สึกว่า เข้าไปยืนหน้าชั้นเรียนแล้วรู้สึกว่ามันหมดกำลังใจที่จะก้าวต่อไป ทุกอย่างมันประดังลงมาหมด ถามว่าทำไมถึงจัดประเภทแบบนี้ ก็พยายามนั่งคิดถึงเด็กแต่ละคนแล้วก็สรุปออกมา จะพรีเซ็นต์ออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้ข่าวว่าลูกศิษย์ทั้งหลายพออ่านหนังสือเสร็จ ทุกคนก็จะบอกกับเพื่อนตัวเองว่า ฉันนี่ซอมบี้ ฉันนกหงหยก รู้สึกว่านักเรียนคงไม่โกรธ แต่มีคนท้วงมาว่า จริงๆ แล้วสังคมปัจจุบันมีเด็กที่มีอาจารย์ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านี้ ถ้าเราอ่านข่าวจากในปัจจุบันจะมีอะไรที่แรงกว่านี้ ในนี้พูดเบาไป แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่า จริงๆ แล้วในช่วงของการเขียนถึงโรงเรียนพาณิชย์ ซึ่งเห็นว่าตรงนั้นแรงแล้ว ในกรณีที่เด็กเกิดการท้องก่อนถึงวัยอันสมควร ท้องในวัยเรียน หรือเด็กถูกยิงตาย จริงๆ แล้วตรงนั้นก็มีอยู่ เพียงแต่ไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้รุนแรงเกินไป ก้าวร้าวเกินไป กลัวว่าจะไม่ได้สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ แล้วก็อยากให้ท่านผู้ฟังส่วนใหญ่และนักเรียนได้บอกคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ต้องการสื่อสารเฉพาะครูเท่านั้น แต่อยากให้ทั้งนักเรียน ทั้งครู ทั้งผู้ปกครอง ได้รับรู้ว่าเราน่าจะเข้าใจซึ่งกันและกัน และช่วยกันเพื่ออนาคตที่ดีในโรงเรียนและในวงการศึกษา

บก.จำเนียร : จริงๆ แล้วอาจารย์เขียนค่อนข้างมากมาย โดยหยิบเอาประเด็นปัญหาประเด็นนั้นประเด็นนี้มาทำให้เรื่องมันเบาลง ตรงส่วนนั้นเหมือนกับเป็นส่วนเกริ่นนำเรื่อง จริงๆแล้วพอมาพูดถึงปัญหาระบบที่อาจารย์ต้องเผชิญจากพวกครูเอง อันนี้อาจารย์คงเป็นตัวแทนของครูอาจารย์ได้เยอะนะครับ เพราะว่าครูเป็นกรรมการเยอะเหลือเกิน ช่วยพูดแทนใจอาจารย์หลายๆ ท่านหน่อยครับว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

อ.ชัชรีวรรณ : เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ เรามีเพื่อนครูที่สามารถยืนยันได้ เพื่อนครูที่มานี่มาจากต่างโรงเรียนนะคะ ไม่ใช่โรงเรียนเดียวกัน จากโรงเรียนเตรียมอุดม จากโรงเรียนสวนกุหลาบ ทุกคนสามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ฉากนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเบญจม-ราชาลัย แต่เกิดขึ้นกับทุกๆ โรงเรียน กล้ายืนยันว่าเป็นความจริง เพราะว่าโอกาสที่ได้เป็นวิทยากรกับดร.จงกล ศุภเวช ที่ต้อง อบรมครูฝรั่งเศสทั่วประเภท ทุกครั้งที่นั่งคุยกัน มันเหมือนกับการระบายทุกอย่างที่มันมากมาย แล้วมันเป็นภาพรวม ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นภาพรวมทั้งหมด ตอนเขียนใหม่ๆ คนก็จะบอกว่า เรากำลังพูดถึงโรงเรียนเบญจมราชาลัยหรือเปล่า แต่ก็ได้พบว่าอาจารย์บางคนที่เพิ่งจะได้รู้จักใหม่ ๆ บางโรงเรียนก็ไม่รู้จักเขาเลย เอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน แล้วก็มาบอกว่าโดนใจมากเลย เรื่องที่พี่เขียนมาเป็นเรื่องของโรงเรียนหนูทั้งนั้นเลย มีเพื่อนที่สนิทมาก แต่วันนี้เธอติดธุระมาไม่ได้ เขาอ่านเสร็จเขาบอกว่านี่โรงเรียนชั้นทั้งนั้นเลยเธอ เราก็เลยมองว่านี่คือภาพของวงการศึกษาที่ทุกคนเป็นและควรที่จะต้องแก้ไข

บก.จำเนียร : อยากให้อาจารย์ได้ช่วยเรียนเชิญเพื่อนอาจารย์สักคนเป็นตัวแทนพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับตรงนี้ว่า ทำไมปัญหาของโรงเรียนนั้นกับปัญหาของโรงเรียนนี้มันคล้ายกันเหลือเกิน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ