สำนักพิมพ์ห้องเรียน : ใส่ใจโลกกว้าง สรรค์สร้างเยาวชน

สำนักพิมพ์ห้องเรียน

การสอนให้เด็กได้รู้จักกับความรักนั้นเป็นเรื่องที่ดี สอนให้เขารู้จักรักพ่อแม่ รักคนรอบข้าง รักการเรียน รักศิลปะ รักดนตรี หรือแม้กระทั่งรักการอ่าน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์พร้อม ‘ธุรกิจหนังสือ’ ฉบับนี้ ได้นัดหมายกับ หวาน - ณิชา พีชวณิชย์ และ นัน - ณัฐชนัน โฆษิตาภรณ์ สองบรรณาธิการสาวของ ‘สำนักพิมพ์ห้องเรียน’ ผู้ผลิตหนังสือในดวงใจของเด็กหลาย ๆ คน ถึงเรื่องราวของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่น่ารักแห่งนี้

 

 

สำนักพิมพ์ห้องเรียน ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดย ศิวโรจน์ ด่านศมสถิต, สุภลักษณ์ พูนสินบูรณกุล และ อนุสรณ์ สงวนศิริมงคล กลุ่มเพื่อนรักสามคนที่มีความฝันอยากทำหนังสือดี ๆ จากฝีมือของคนไทยให้เด็กไทยได้อ่าน แต่เนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะทำหนังสือ พวกเขาจึงหาทุนโดยการรับจ้างทำงานด้านกราฟิกและสมุดไดอารีนานกว่าสิบปี จนกระทั่งปี 2537 หนังสือ Pop Up ABC เล่มแรกของทางสำนักพิมพ์จึงถือกำเนิดขึ้น

“เรามีความเชื่อว่า ‘ทุกหนแห่ง คือห้องเรียนของชีวิต’ ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ไปเจอผู้คนมากหน้าหลายตา เจอสัตว์นานาชนิด สถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน เราก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นได้ ซึ่งหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เหมือนเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ ไม่ใช่ห้องสีขาวรูปทรงสี่เหลี่ยม ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไร เราไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียน” หวานอธิบายถึงความเป็นมาของชื่อสำนักพิมพ์

‘ห้องเรียน’ อยากให้เด็กไทยเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา พร้อมด้วยจินตนาการ และที่สำคัญคือต้องการให้เด็ก ๆ ค้นพบความสามารถของตัวเอง ว่าชอบสิ่งไหน ถนัดอะไร ซึ่งพวกเขาสามารถค้นหาคำตอบเหล่านั้นได้จากหนังสือ ดังนั้นหนังสือแต่ละเล่มของสำนักพิมพ์ห้องเรียนจะมีความหลากหลาย และสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างไม่รู้จบ

จุดเด่นของห้องเรียนคือภาพประกอบ ทีมงานจะสร้างสรรค์ให้ภาพสามารถสื่ออารมณ์ของตัวการ์ตูน และบอกเล่าเรื่องราวของหนังสือได้ "ภาพประกอบของเราจะเป็นแบบวาดมือผสมผสานกับการวาดในคอมพิวเตอร์ค่ะ ซึ่งจะเป็นสไตล์ของห้องเรียนโดยเฉพาะ ของสำนักพิมพ์อื่นก็น่ารักนะคะ น่ารักในแบบที่เป็นตัวเขา (ยิ้ม)”

หนังสือของทางสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่กองบรรณาธิการช่วยกันทำขึ้นมา มีของนักเขียนนอกบ้างเป็นบางเล่ม “เวลาเราเลือกเราจะยึดตามวัตถุประสงค์ว่าเรื่องนั้น ๆ จะช่วยพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจได้ไหม หนังสือทุกเล่มต้องผ่านวัตถุประสงค์ข้อนี้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเราก็จะดูว่าเนื้อหามีความแตกต่างจากที่อื่นหรือเปล่า ตามมาด้วยความเหมาะสมตามวัยของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็กอายุ 0 - 3 ปี หนังสือควรจะเน้นเรื่องพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็กในการหยิบจับ การขยับตัว หรืออาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งของรอบตัวก็ได้ ถ้าเป็นเด็กที่โตมาหน่อยก็จะมีสองแนว คือแนวสารคดีให้ความรู้ กับนิทานเสริมจินตนาการแฝงแง่คิด และประการสุดท้ายก็คือเรื่องของการตลาด ด้วยความที่สำนักพิมพ์เรามีเงินทุนไม่มาก เราก็ต้องดูด้วยว่าหนังสือที่เราเลือกมานั้นเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าของเราไหม คุณพ่อคุณแม่เขาอยากซื้อให้ลูกอ่านหรือเปล่า” นันอธิบายเกณฑ์ในการเลือกต้นฉบับอย่างละเอียด

หนังสือแต่ละเล่มของทางสำนักพิมพ์ห้องเรียนนั้นผ่านการคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน มีหลายเล่มที่ได้รับรางวัลการันตี เช่น ผู้กล้าแห่งป่าสีสัน (รางวัลชมเชย หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 3 - 5 ปี รักลูกอวอร์ด), ความลับของตัvวหนู (รางวัลชมเชย หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 7 - 9 ปี รักลูกอวอร์ด), วันเกิดแสนสนุก (รางวัลดีเด่น หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0 - 3 ปี รักลูกอวอร์ด 2), ตุ๊กตาแห่งความทรงจำ (รางวัลดีเด่น หนังสือสำหรับเด็กวัย 6 - 12 ปี กระทรวงศึกษาธิการ) และ รามเกียรติ์ (รางวัลดีเด่น หนังสือสวยงามสำหรับเด็ก และ รางวัลชมเชยหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพ กระทรวงศึกษาธิการ)

 

 

“เราคาดหวังจะได้รับการตอบรับที่ดี แต่ไม่ได้มองถึงขั้นต้องได้รางวัลค่ะ เราตั้งใจกับงานมาก เพราะหนังสือเด็กมันมีความละเอียดอ่อน เราต้องใส่ใจในทุก ๆ จุด เราก็พยายามสุดความสามารถ ค้นหาข้อมูล และเก็บรายละเอียดมาให้ได้มากที่สุด แล้วเราก็สำรวจข้อดีของหนังสือประเทศไทยและต่างประเทศอยู่ตลอด เพื่อนำเอาข้อดีเหล่านั้นมาพัฒนาปรับใช้กับงานของเราค่ะ” นันเล่าให้เราฟัง ผลงานที่สร้างขึ้นด้วยความใส่ใจและละเอียดอ่อนมักได้ผลลัพธ์ดีเสมอ หนังสือหลายเล่มถูกซื้อลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นโซนเอเชีย มีสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย มีฝั่งยุโรปกับอเมริกาใต้บ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับวงการหนังสือไทย

ต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันค่อนข้างตกต่ำ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงตลาดหนังสือด้วย “เราเคยเจอปัญหาที่หนักกว่านี้มาแล้วช่วงปี 2540 แต่เราก็ผ่านมาได้ ตอนนี้เราขยันออกบูธมากขึ้น ไปตามห้างสรรพสินค้าและโรงเรียนต่าง ๆ มีจัดโปรโมชั่นกับร้านหนังสือต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยากซื้อหนังสือของเรามากขึ้น เพิ่มช่องทางในการซื้อให้มากขึ้น ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาเว็บไซต์ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้ด้วยค่ะ และในอนาคตถ้า e - book พัฒนามากกว่านี้ เราก็อาจจะทำหนังสือที่เล่นเกมได้ มีเสียง มีลูกเล่น เป็นสื่อพิเศษรูปแบบหนึ่งสำหรับเด็ก ๆ แต่แน่นอนว่าหนังสือรูปเล่มของเราก็จะยังมีอยู่ เราจะไม่ทิ้งสิ่งที่เรามีไปหาสิ่งใหม่ แต่จะพัฒนาควบคู่กันไปค่ะ”

 

การส่งต่อความรักความห่วงใยให้ลูกหลานหรือคนที่คุณรักด้วยหนังสือก็ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แล้วคุณจะพบว่าหนังสือคือของขวัญที่แสนวิเศษ

 

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ