ชิมลาง shortlist 9 นวนิยาย ชิงรางวัล ชมนาด ครั้งที่ 11 : ตอนที่ 3 ปลุกพลังชีวิตกับ 3 เรื่องแนวดราม่า-ประสบการณ์ชีวิต

ชิมลาง shortlist 9 นวนิยาย ชิงรางวัล ชมนาด ครั้งที่ 11

ต่อจาก ตอนที่ 2 เปิด 4 ผลงานจินตนาการ แฟนตาซี เหนือจริง


         มาถึงหมวดสุดท้ายกับแนว drama–ประสบการณ์ชีวิต มีอยู่ 3 เรื่อง 3 รส  ได้แก่  5,929 ไมล์…ระยะฝัน, The Present ของขวัญ และดอกไม้ในแจกันเหล็ก


5,929 ไมล์…ระยะฝัน : หมุดหมายให้ชีวิตเติบโต
      เป็นเรื่องราวของ “การเดินทางตามความฝัน” ของผู้หญิงคนหนึ่งในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ กรุงลอนดอน ที่แม้จะล้มลุกคลุกคลานและต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายเพียงใด แต่เธอก็ไม่ได้ท้อถอยหรือถอดใจไปเสียก่อนไม่เพียงแต่การตามหาความฝันเท่านั้น แต่ตัวละครยังต้องมีความตั้งใจ อดทน และเพียรพยายามอย่างหนัก จึงจะได้มาซึ่งความสำเร็จในที่สุด ซึ่งผลพลอยได้จากฝันที่เป็นจริงของเธอ ก็คือมิตรภาพที่แสนสวยงามและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

      เหมือนกับที่ผู้เขียนเผยว่า
      เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือทั้งการเดินทางตามความฝันการใช้ชีวิตเพียงลำพังใน    ต่างแดน การเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันยากลำบาก การประยุกต์หลักการทางวิถีพุทธ มาใช้ในการดำเนินชีวิต และเรื่องของมิตรภาพ คือเส้นทางการเติบโตขึ้นทั้งความคิดและจิตวิญญาณของตัวละคร 


      นับว่าเป็นหนึ่งเรื่องราวแนว Coming of Age ที่หล่อเลี้ยงให้พวกเราเติบโตไปพร้อม ๆ กับตัวละคร ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า สำหรับบางคนแล้วถนนสายที่นำไปสู่ความสำเร็จของพวกเขาอาจมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบที่สวยงามตลอดทั้งสาย แต่กลับปรนเปรอไปด้วยหนามแหลมของกุหลาบ หากคนเหล่านั้นอดทนต่อความเจ็บปวด ตั้งใจและมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถถึงฝั่งฝันได้เช่นกัน 
                    *    *    *    *    

The Present ของขวัญ: ปัจจุบันคือทางออก      


    เป็นเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเนื้อเรื่องสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย นั่นคือการฝ่าฟันกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หญิงสาวคนหนึ่งต้องตกงาน จากอาชีพการงานที่มั่นคงสู่อาชีพที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนถึงขั้นหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป แต่เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานหนึ่งย่อมเปิดรับเสมอ เธอพบทางออกของปัญหาจนประสบความสำเร็จในที่สุด


    แม้เรื่องราวจะลงเอยอย่าง HAPPY ENDING แต่ก็ทำให้รู้ว่าบนโลกนี้ยังมีทางออกของปัญหาไว้สำหรับคนที่ค้นคว้ามันเสมอ ดังที่ผู้เขียนเผยถึงมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงแรงบันดาลใจในการเขียน ว่าตนก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตในช่วงโควิดมาเช่นกันจึงอยากให้ทุกคนลองมองมุมกลับปรับมุมมองของตนเองเสียใหม่


      ทุกคนกลัวการสูญเสียสถานะ สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น แต่พวกเขาลืมไปว่าไม่มีใครสามารถ ควบคุมสถานการณ์ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากมันและควบคุมตัวเราได้…หากยอมเปิดใจ  ยอมรับว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้ นอกจากความคิดและการกระทำของเราเอง เราแก้ไขอดีต  ไม่ได้ กำหนดอนาคตอย่างแน่นอนไม่ได้ แต่ควบคุมปัจจุบันได้…เราทุกคนมีปัจจุบันเป็น  ของขวัญอยู่แล้ว เป็นสิ่งเดียวที่เรามีอำนาจควบคุมมันร้อยเปอร์เซ็นต์ The Present จะแปลว่าของขวัญก็ได้ หรือปัจจุบันก็ได้…เราเห็นคนตัดพ้อต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ โควิดกันเยอะมากทางสื่อโซเชียลก็รู้สึกว่าน่าจะทำอะไรเพื่อให้กำลังใจคนให้ลุกขึ้นมา เปลี่ยนแปลงตัวเอง มากกว่าคร่ำครวญในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้  


     จากแรงบันดาลใจของผู้เขียนก็แสดงให้เห็นว่าเหรียญมีสองด้านฉันใด เส้นทางของชีวิตก็มีสองด้านฉันนั้น นับว่า The Present ของขวัญจะเป็นอีกเล่มหนึ่งที่ส่งพลังบวกและสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านหลาย ๆ ท่านได้ไม่มากก็น้อย ดังที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพื่อให้กำลังใจผู้คนที่ได้อ่านเรื่องนี้เช่นเดียวกัน


ดอกไม้ในแจกันเหล็ก :  คนเปราะบาง-สังคมโหดร้าย 


    เรื่องราวกึ่ง BASED ON TRUE STORY ผสานกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ตัวละครถูกหลอกลวงโดยผู้เป็น “พ่อ” ขายเธอให้กับญาติและอ้างว่าเธอจะได้ไปเรียนหนังสือ แต่วันเวลา ล่วงเลยหลายต่อหลายปี เธอก็ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควร ซ้ำยังถูกลูกชายของญาติข่มขืน เมื่อหางานทำก็ถูกเพื่อนร่วมงานข่มขืนอีก แต่เธอต้องการให้ลูกของตนมีพ่ออย่างคนอื่นเขา จึงตกลงใช้ชีวิตกันอย่างครอบครัว แต่แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง เธอหอบผ้าผ่อนออกมาสร้างชีวิตใหม่กับลูก ให้ความรักความอบอุ่น และให้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเยาวชน นั่นคือการศึกษา จนมีชีวิตที่ดี


    แม้เรื่องย่อ ๆ จะแลดู dark และหดหู่ไปบ้าง แต่หากมองลึกลงไป เรื่องนี้กลับสะท้อนแง่มุมทางสังคมให้เห็นถึงปัญหานับไม่ถ้วน ทั้งปัญหาครอบครัว การศึกษาหรือการว่างงาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ผู้เขียนยังเสริมประเด็นปัญหาที่ว่า


    ค่านิยมที่พ่อแม่เห็นลูกเป็นสมบัติส่วนตัวจะทำกับลูกอย่างไรก็ได้ไม่เคยเปลี่ยนไป แต่กลับเปลี่ยนรูปแบบที่ดูเลวร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง ดังที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันที่พ่อหรือแม่ พาลูกชายลูกสาวไปเร่ขายบริการ


    ปัญหาต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้นในสังคม การประกอบสร้างลงในนวนิยายเรื่องนี้น่าจะกระตุกต่อมความคิด มุมมอง ทัศนคติ ของผู้อ่านที่มีต่อสังคมวงกว้างได้ดีทีเดียว 


    ชื่อเรื่อง ดอกไม้ในแจกันเหล็ก ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนสนิทของผู้เขียนอีกด้วย


    หากเป็นแจกันชนิดอื่นดอกไม้ใดที่เปราะบางอายุสั้น ไม่นานก็ร่วงโรยราตามธรรมชาติ แต่จะยิ่งร่วงโรยเร็วขึ้นเมื่ออยู่ในแจกันเหล็ก ซึ่งเนื้อสนิมจะกัดกร่อนให้ก้านไม่สามารถนำน้ำไปเลี้ยงดอกได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนดอกไม้ชนิดที่คงทนต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ดีก็จะยืนหยัดได้นาน หรือยังมีประโยชน์หากถูกย้ายแจกัน เรื่องราวของ “เธอ” ในแจกันเหล็กทั้งหลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน  


    เรื่องนี้สะท้อนปัญหาทางสังคมผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงของทั้งตัวละครในชีวิตจริงและในโลกเสมือน ผู้หญิงคนหนึ่งต้องก้าวผ่านอะไรมากมาย ทั้งปัจจัยภายในระหว่างเธอกับลูกและปัจจัยภายนอกระหว่างเธอกับสังคมรอบข้าง หรืออาจเรียกว่าเป็นนวนิยายเพื่อนหญิงพลังหญิงก็ย่อมได้ เพราะคุณจะเอาใจช่วยตัวละครนี้โดยอัตโนมัติเลยทีเดียว

 

      ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากบทคัดย่อนวนิยาย และแรงบันดาลใจของผู้เขียนทั้ง 9 เรื่อง ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก แฟน ๆ "ชมนาด" จะได้ซึมซับเรื่องราว รวมทั้งแนวคิดต่าง ๆ  ก่อนที่คณะกรรมการจะตัดสิน  โดยจะมีการประกาศและมอบรางวัลในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565  สามารถติดตามรายละเอียด และอัปเดตข่าวสารได้ทาง www.praphansarn.com        
 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ