ชิมลาง shortlist 9 นวนิยาย ชิงรางวัล ชมนาด ครั้งที่ 11 : ตอนที่ 1 ลึกซึ้งกับ 2 เรื่องแนวรักโรแมนติก

ชิมลาง shortlist 9 นวนิยาย ชิงรางวัล ชมนาด ครั้งที่ 11

         รางวัลที่เสมือนเป็นการรันตีผลงานชั้นเยี่ยมของนักเขียนหญิง อย่าง “ชมนาด” เดินทางเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว สำหรับปีนี้ยิ่งทวีความเข้มข้นด้วยแนวเรื่องอันหลากหลาย ครบรส อีกทั้งยังมีกลวิธีการเขียนที่แตกต่างกันให้ชวนติดตามอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่ผ่านคัดสรรแล้วทั้ง 9 เรื่อง

        ซึ่งก่อนที่จะทราบผลรางวัลชนะเลิศ “นวนิยายรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11" ในเดือนตุลาคม ศกนี้ จะขอพาทุกท่านไปอุ่นเครื่องกับเรื่องย่อ และประสบการณ์ชีวิตของ"นักเขียนหญิง" ทั้ง 9 เรื่อง ตามที่เคยสัญญากันไว้ โดยจะแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ด้วยกัน คือแนวรักโรแมนติก แนวแฟนตาซีสืบสวนสอบสวน และแนวดราม่าสู้ชีวิต


ลึกซึ้งกับ 2 เรื่องแนว "รักโรแมนติก"

      ขอเริ่มจากแนว  ‘ความรักโรแมนติก’ ซึ่งผ่านเข้ารอบมา 2 เรื่องด้วยกัน แต่ก็น่าจับตามองไม่แพ้กันเลยทีเดียว คือเรื่อง เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์ และคมบุหลัน 
 

เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์ : การเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ 

      หลายคนเห็นชื่อเรื่อง เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์ แล้วอาจคิดว่าต้องเป็นเรื่องราวของแฟนตาซีแน่ แต่เมื่ออ่านดู จะพบว่า นวนิยายเรื่องนี้ตั้งชื่อเรื่องจากมุมมองของตัวละครที่ชื่อ มิกกี้  ซึ่งเป็นลูกชายของมีย่า (ตัวละครเอกของเรื่อง) มิกกี้ มักจะมีคำถามเกี่ยวกับยักษ์มาถามมีย่าผู้เป็นแม่เสมอ แล้วมีย่าก็จะให้มุมมองของตัวเองที่มีต่อคำคำนี้กับลูกชายของเธอ เช่น ยักษ์เปรียบเหมือนคนที่ขี้หงุดหงิด ขี้โมโห เสียงดัง เกรี้ยวกราด และยักษ์จะมาอยู่ในตัวเราได้ในเวลาที่เราอารมณ์ไม่ดี  

      ดังนั้นในเวลาที่มีย่าอารมณ์ไม่ดี  ทำเสียงดุลูก  มิกกี้ก็จะบอกว่ามียักษ์อยู่ในตัวแม่ของเขา  จนกระทั่งถึงวันที่มีย่าป่วยด้วยโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ซึ่งเกิดจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าทำงานผิดปกติ โดยสร้างโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) มากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โตขึ้น นั่นก็เป็นข้อสังเกตของมิกกี้ที่มองว่าแม่ของเขาได้กลายเป็นยักษ์ไปแล้ว


      สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนบอกว่ามาจากการตั้งข้อสังเกตของตัวเอง ที่มีต่อการให้นิยามความหมายของคำว่า “ยักษ์”  ซึ่งแต่ละคนอาจมีมุมมองต่อคำคำนี้แตกต่างกันไป บางคนอาจมองว่ายักษ์น่ากลัว โหดร้าย ในขณะที่บางคนกลับมองว่ายักษ์ใจดีก็มี อย่างเช่นยักษ์ในตะเกียงเรื่องอะลาดิน ก็เป็นยักษ์ตัวใหญ่แต่ใจดี นอกจากนี้เรายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เวลาที่คนเราเจอกันครั้งแรก สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตา หรือได้ยินด้วยหู เช่น รูป รส กลิ่น เสียง ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองเห็นจากรูปลักษณ์ภายนอก เราประทับใจคนคนหนึ่งเพราะรูปร่างหน้าตา แววตา รอยยิ้ม น้ำเสียง ท่าทาง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เราตกหลุมรัก แล้วเราก็บอกว่าเราชอบเขา เรารักเขามาก 

      พร้อมกันนั้น มีข้อสงสัยตามมาก็คือ ถ้าวันหนึ่งเราได้มีโอกาสกลับมาเจอเขาคนนั้นอีกครั้ง แต่รูปร่างหน้าตาของเขาเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เขาก็ยังเป็นคนเดิม มีหัวใจดวงเดิม เราจะยังรักเขาอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า ซึ่งข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกนำมาเขียนเป็นโครงเรื่องของเรื่องนี้ โดยผู้เขียนอยากถ่ายทอดให้เห็นมุมมองความคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นตัวเดินเรื่อง  เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเธอเลือก ที่จะจัดการกับชีวิตอย่างไร  

      การเลือกฉากที่เป็นต่างประเทศ เป็นความท้าทายของผู้เขียนเอง เพื่อต้องการนำเสนอให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ความสวยงามของธรรมชาติ สีสันและความหมายของดอกไม้ และความงดงามของสถานที่ต่างๆ ที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่าน โดยพยายามเชื่อมโยงฉากเข้ากับฤดูกาล  รวมถึงเสื้อผ้าของตัวละคร ตลอดจนถึงบุคลิกของตัวละคร เช่น ตัวมีย่าที่ชอบวาดรูปดอกไม้สีน้ำเงิน โทนสีหรือฉากของเรื่องก็มักจะเป็นทุ่งดอกไม้สีฟ้า-สีน้ำเงิน ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกอ่อนหวาน อ่อนโยนเหมือนกับบุคลิกของมีย่า ตัวละครเอกของเรื่อง 

       นอกจากนี้ผู้เขียนยังต้องการบอกเล่าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนต่างชาติ ซึ่งในเรื่องจะนำเสนอวัฒนธรรมการทำอาหารของคนเกาหลี และวัฒนธรรมการกินอยู่ และการใช้ชีวิตของคนในอังกฤษ เช่น การดื่มชา การทำเบเกอร์รี การดื่มไวน์ เป็นต้น ซึ่งการเขียนโดยใช้ฉากของต่างประเทศนั้น ยังทำให้ผู้เขียนต้องเรียนรู้และค้นหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเพื่อพยายามสื่อความหมายของฉากที่เขียนออกมาให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพเหล่านั้นตามไปด้วย

       ประเด็นที่อยากสะท้อนถึงในสังคมปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่มักให้ความหมายและชื่นชมคนที่ภายนอกมากกว่าเรื่องของจิตใจ เวลาตัดสินคนจึงมองจากรูปลักษณ์ภายนอกก่อนเสมอ คนที่มีโอกาสคือคนที่ได้เปรียบในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ทั้งๆ ที่บางครั้งคนที่ดูภายนอกว่าน่าเกลียดน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วเป็นคนดีก็มีมากมายในสังคม 

       นอกจากนี้เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะในจิตใจของคนเรา บางคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงของคนที่เรารักไม่ได้  เช่น มิกซ์ ที่เคยหลงรักมีย่า และมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเธอจนมีลูกด้วยกันถึงสองคน ในสายตาของมิกซ์ มีย่าเป็นผู้หญิงที่สูงส่ง เธอสวยและน่ารักมาก  มิกซ์บอกรักมีย่าตลอดเวลา จนกระทั่งเธอป่วยและรูปร่างหน้าตาของเธอก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มิกซ์ยอมรับไม่ได้ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะทิ้งครอบครัว แล้วออกจากบ้านไป เพราะทนรับการเปลี่ยนแปลงของคนที่เขารักไม่ได้ ในขณะที่มีย่าเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ยอมรับให้ได้กับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากผู้หญิงที่เคยสวยงาม น่ารัก เป็นที่ยอมรับ มีหน้าที่การงานที่ดี กลายเป็นคนที่ร่างกายใหญ่โตผิดปกติ เธอต้องต่อสู้กับอาการของโรคร้าย และความเจ็บปวดจากสายตา รวมทั้งการถูกปฏิเสธจากลูกของเธอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บอกให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้นกับเราได้เสมอ สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวปรับใจและค้นหาวิธีการ เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตต่อไปให้ได้ ค้นให้พบสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา แล้วก้าวเดินต่อไปอย่างไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา


คมบุหลัน : ผู้หญิง การเมือง และความรัก 

       อีกเรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ คมบุหลัน ซึ่งแนวคิดหรือแรงบันดาลในการแต่งเรื่องนี้ เริ่มจากการที่ต้องการจะนำเอาความรู้เกี่ยวกับ รัฐศาสตร์ ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันก็จะได้รับความสนุกเพลิดเพลินไปด้วย อีกประการหนึ่งคือ ต้องการเห็นผู้หญิงอยู่ในฐานะผู้นำประเทศ หรือผู้นำองค์กรให้มากกว่านี้ เพราะโดยปกติตำแหน่งเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นของผู้ชาย

        การนำเหตุการณ์ทางการเมือง มาเชื่อมโยงกับความรักโรแมนติก แน่นอนว่าในชีวิตของคนทุก ๆ คนย่อมต้องมีแง่มุมของชีวิตที่มีหลายมิติ แม้แต่ผู้นำทางการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ เมื่อถอดหัวโขนออกหมดแล้ว ก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างคนทั่วไป มีคนที่รักและมีอารมณ์อ่อนไหว นิยายเรื่องนี้จึงไม่ได้ตั้งใจจะสะท้อนเพียงการเมือง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตตัวเอก แต่อยากจะพูดถึงความรักที่เติมเต็มและโอบอุ้ม ไม่ว่าจะเป็นความรักจากพ่อแม่ เพื่อนร่วมงาน ความรักอย่างหนุ่มสาว และความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ ไปจนถึงร่วมโลก

       ปัญหาหรือวิกฤตบางอย่างที่ปรากฏในเรื่องอาจจะมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์จริง ในขณะที่การแก้ปัญหาบางอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน อาจจะไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง แต่กลับยิ่งทำให้เลวร้ายมากขึ้น ผู้เขียนจึงอยากจะสะท้อนวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไปจากมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่ง   

 

ตอนที่ 2 ประพันธ์สาส์นจะพาเปิดประตูสู่โลกจินตนาการกับ 4 เรื่องแนวแฟนตาซี เหนือจริงได้ทาง

https://praphansarn.com/home/detail_project/74 

 ฝากติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียนทั้ง 9 ท่านผ่านทาง Praphansarn.com 
 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ