เปิดโผ 9 นวนิยาย เข้ารอบคัดเลือก รางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 : กรรมการชี้ 3 แนวทางที่โดดเด่น ยกระดับนักเขียนหญิง

เปิดโผ 9 นวนิยาย เข้ารอบคัดเลือก รางวัลชมนาด ครั้งที่ 11

     ประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับโครงการประกวดวรรณกรรมยอดเยี่ยม หรือ "รางวัลชมนาด" ประเภทนวนิยาย (FICTION) ที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีไทยเข้าสู่ระดับสากล และเดินหน้าจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 แล้ว  ซึ่งในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 30  เรื่อง

โดยเรื่องที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน มีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่            

  1. ไกรสร
  2. ผู้พิทักษ์ตนสุดท้าย
  3. กุสุมาอีกครั้ง
  4. 5,929 ไมล์...ระยะฝัน
  5. The Present ของขวัญ
  6. เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์
  7. ดอกไม้ในแจกันเหล็ก
  8. ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ
  9. คมบุหลัน

 

     ด้านความเห็นของ นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกผลงานการประกวดรางวัลชมนาด กล่าวในภาพรวมว่า นวนิยายทั้ง 30 ผลงาน มีความหลากหลายและสไตล์ที่แตกต่างกันไป  แต่ในภาพโดยรวมจะมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน  

 

     ลักษณะแรก เป็นงานที่ออกมารับความต้องการของตลาด เป็นวรรณกรรมกระแสหลัก เหมือนกับที่มีมาทุกยุคสมัย แต่ต่างกันที่ความเร้าใจ ปมขัดแย้ง อุปสรรค ที่ผู้เขียนใช้ศิลปะการประพันธ์ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น กล่าวได้ว่าเฆี่ยนตีตัวละครให้เศร้า ทุกข์  โหด มากขึ้น พร้อมไปกับแนวความคิดและภาษาที่สมสมัย         

     ลักษณะที่สอง  เป็นงานที่มีเจตนามุ่งในการสร้างงานศิลปะมากกว่าเนื้อหา  เป็นวิริยภาพของผู้เขียน  ที่สามารถนำมาก่อเกิดรสนิยมใหม่ สร้างสรรค์จินตนาการใหม่ๆ

     ลักษณะที่สาม เป็นงานที่มีทั้งการสร้างงานศิลปะและเนื้อหาไปพร้อมกัน  รูปแบบการประพันธ์ที่แปลกใหม่ มีทั้งนวนิยายที่ตั้งคำถามและเล่นกับรูปแบบ รวมไปถึงการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง ตัดสลับไปมา บางเรื่องใช้ฉากต่างประเทศ ตัวละครหลายตัวก็ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ลูกครึ่งไทย บางเรื่องเป็นเรื่องในประเทศสมมุติ ซึ่งตัวละครนั้นจะเป็นคนหลายชาติหลายวัฒนธรรม เสมือนกับเป็นตัวแทนของโลกเรา มันเป็นกระจกสะท้อนออกมาให้เราได้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แม้ในประเทศไทย

           

     "สิ่งที่เด่นในปีนี้ คือ ศิลปะการประพันธ์ บางเรื่องนักเขียนไม่ได้ใช้แต่จินตนาการเท่านั้น แต่ว่าค้นคว้าหาความรู้จากหลายที่หลายทาง รวมทั้งใช้ทฤษฎีทางวรรณกรรมในการนำเสนอเรื่องเล่าของเขา ให้มีความแยบยลแยบคายอย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น ซึ่งแสดงว่านักเขียนต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องใช้ความรู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และย่อยกรองข้อมูลเหล่านั้นให้มันลดลงมาเหลือเพียงแค่ส่วนที่จะเสริมนวนิยายให้มันมีคุณภาพ มีอรรถรส"

 

      สอดคล้องกับความคิดเห็นของกรรมการรอบคัดเลือกท่านอื่นๆ ที่มองว่า นวนิยายที่ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงความสามารถในการที่จะพัฒนางานเขียนของตนเองให้ดีขึ้น และหลากหลายขึ้นของเหล่านักเขียนหญิง โดยความน่าสนใจที่เห็นได้ชัดในปีนี้ คือการนำความรู้ ประสบการณ์ หรือแม้แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเข้ามาผนวกกับความเป็นเรื่องแต่งของนวนิยายได้อย่างซับซ้อนและลงตัว

 

     ทั้งหมดคือภาพรวมของนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักเขียนสตรียุคใหม่ในโลกยุคดิจิทัลได้ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว

     สำหรับ รายชื่อกรรมการรอบคัดเลือก ผลงานการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 มีดังนี้ 

  • คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด
  • คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด
  • คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด
  • คุณตรีคิด  อินทรขันตี กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด
  • คุณพึงเนตร อติแพทย์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

 

      ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศผลจากคณะกรรมการรอบตัดสิน เพื่อเฟ้นหานวนิยายเรื่องที่เหมาะสมที่สุดกับ "รางวัลชมนาด" ครั้งที่ 11 ในเดือนตุลาคม 2565 บริษัท สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น จะขอพาไปทำความรู้จักกับนวนิยายทั้ง 9 เรื่อง จาก 9 นักเขียนสตรีไทยที่ผ่านเข้ารอบ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง และชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเชียร์เรื่องในดวงใจกันอย่างละเอียดอีกครั้ง ใน  www.praphansarn.com ที่จะนำเสนอต่อจากนี้เป็นต้นไป 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ