เส้นทางนักเขียนบท ณัฐิยา : เจ้าของบทละครดังอย่าลืมฉัน

เส้นทางนักเขียนบท ณัฐิยา

นาทีนี้ละครเรื่องที่ฮิตสุดๆ ชนิดที่แฟนละครต้องเกาะติดสถานการณ์ทุกฉาก ทุกตอนแบบห้ามพลาด ไม่มีเรื่องไหนที่อินไปกว่า “อย่าลืมฉัน” อย่างแน่นอน ทั้งความหล่อของพี่ติ๊ก พี่ก้อง ที่สาวๆฟินกันทั้งประเทศ นักแสดงหญิงก็ไม่น้อยหน้า ทั้งแอน ทองประสม และศรีริต้า ที่แสดงได้อย่างงดงามและลงตัว แต่สิ่งที่สำคัญและทำให้เราต้องติดตามละครเรื่องนี้กันแบบฉากต่อฉาก ก็คือบทละครเรื่องนี้ ที่เข้มข้น และรายละเอียดทุกอย่างมีเหตุมีผล เชื่อมโยงกันได้อย่างน่าติดตามจริงๆค่ะ วันนี้ GFC จับมือกับ mac-in-touch.com พาไปพูดคุยกับสาวเก่ง พี่นัท “ณัฐิยา ศิรกรวิไล” เจ้าของบทโทรทัศน์เรื่องนี้ รวมทั้งละครดังอย่างสวรรค์เบี่ยง, สูตรเน่หา , สามหนุ่มเนื้อทอง , นางสาวไม่จำกัดนามสกุล และอื่นๆอีกมากมาย พี่นัทจะมาบอกเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ให้เราฟังกันค่ะ

ก่อนอื่น อยากให้พี่นัทช่วยแนะนำตัวสักนิดนะคะ
ชื่อณัฐิยา ศิรกรวิไล ค่ะ เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ค่ะ

พี่นัทอยู่ในวงการเชียนบทมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
พี่เริ่มเขียนบทละครยาวครั้งแรกตั้งแต่ปี 39 ค่ะ ตอนนี้ก็ 18 ปีแล้วค่ะ ก่อนที่จะเขียนบทละครยาวก็เคยได้ทำบทละครซิทคอม บทหนังบ้างนิดหน่อย เขียนคอลัมน์ในแมกกาซีนบ้าง copy writer บ้าง ประมาณซัก 3-4 ปีก่อนหน้านั้นค่ะ

โอ้โห! นานมากๆเลย พี่นัทช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนบทละครให้ฟังหน่อยนะคะ
ละครเรื่องแรกที่พี่ได้เขียนบทแบบเต็มตัวก็คือเรื่อง “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” ของเอกแซคท์ค่ะ ที่มีพี่มาช่าเล่น กับพระเอก 5 คน จริงๆจุดเริ่มต้นมันมาจากการได้ช่วยเขียนบทหนังเรื่อง “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” ของ RS Film ที่กำกับโดยพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ตอนนั้นเป็นยุคที่ RS เริ่มเข้ามาทำหนังช่วงแรกๆเลย พี่ก็ได้ไปสมัครงาน ที่จริงเรารู้ตัวว่าเราอยากเป็นคนเขียนบทมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ ก็เลยหาโอกาสที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกองถ่าย ขอให้อยู่ตำแหน่งไหนก็ได้ ให้ได้อยู่ใกล้กับบทมากที่สุด

พี่ก็เลยไปสมัครทำงานในกองเลยค่ะ ตอนแรกได้เป็นตำแหน่งคอนทินิว ซึ่งเป็นคนดูแลความต่อเนื่องของบท จำได้เลยว่าวันแรกที่ได้บทมาอ่าน เราดีใจมากเลยที่ได้สัมผัสกับบท ตำแหน่งนี้หน้าที่นี้เราต้องคอยดูทุกอย่าง นอกจากเสื้อผ้า รายละเอียดทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องดูเรื่องอารมณ์ของตัวละครให้ต่อเนื่องกันด้วย อย่างเช่น บทสองซีนที่ต่อเนื่องกัน แต่อาจจะไม่ได้ถ่ายต่อกัน เราจึงต้องตีบทให้แตก ต้องเข้าใจอารมณ์ของตัวละคร ต้องจำให้ได้ด้วยว่าฉากนี้เค้าเล่นไว้ยังไง อารมณ์แบบไหน แล้วฉากต่อจากนี้ ควรจะเป็นอารมณ์แบบไหน จากตรงนี้ทำให้เราได้เห็นบางจุดที่มันขาดความต่อเนื่อง คิดว่ามันน่าจะสมจริงมากขึ้นอีกนิด ก็เลยลองเสนอพี่ปรัชญา ซึ่งพี่เค้าก็ให้โอกาสด้วยการรับฟังและลองให้เราเขียนมาให้ดูว่าอยากจะแก้ เป็นแบบไหน พี่ปรัชญาก็ชอบ ก็เลยเอาบทที่พี่เขียนเพิ่มเติมนั้นไปถ่าย แล้วก็ให้พี่ได้มีโอกาสช่วยปรับบทในบางจุด ซึ่งต้องขอบคุณพี่ปรัชญาที่มีน้ำใจกับเรามาก ใส่ชื่อในเครดิตในหน้าที่เขียนบทให้ด้วย ทำให้เราได้มีพอร์ตในการทำงานต่อๆมาค่ะ

ในยุคนั้นยอมรับเลยว่าเริ่มต้นได้ยากมาก โดยเฉพาะบทภาพยนตร์เนี่ยคนเขียนบทก็ต้องมีแนวทางชัดเจน ต้องมีประสบการณ์ งบประมาณหนังแต่ละเรื่องก็สูงมาก เราเองยังใหม่มากก็เป็นไปได้ยากที่เค้าจะเชื่อมือเรา แต่จะให้เรารอไปเรื่อยๆ หรือไปทำอย่างอื่นก็คงจะไม่ใช่ พี่ก็มาคิดทบทวนอีกทีว่าเราน่าจะทำอะไรได้ ตอนนั้นเราก็เป็นแฟนละครเอกแซคท์ สไตล์มันใช่เราเลย ถ้าเราจะทำละครเราก็คงอยากจะทำแบบนี้ ละครแต่ละเรื่องจะมีความใหม่ แล้วเราก็รู้มาว่าทีมงานละครเอกแซคท์ก็เป็นคนรุ่นใหม่ ก็เลยตัดสินใจไปสมัครที่เอกแซคท์แล้วก็ได้ทำจริงๆ

การเขียนบทเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ครั้งแรกที่ได้เขียนบทเต็มตัว พี่นัททำยังไงถึงได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่นี้คะ
พี่ยังได้เปรียบนิดนึงที่เรามีเครดิตในบทหนังเรื่องแรก ก็เลยสามารถเอาตรงนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของโพรไฟล์ได้ ทำให้ทางนั้นเข้าใจว่าเรามีความเข้าใจ เราสามารถเล่าเรื่องได้ ตอนแรกพี่ก็ได้ลองเขียนบทซิทคอมเรื่อง”หกตกไม่แตก” ซึ่งจะเป็นตอนๆ พี่เสนอพลอตเรื่องไป 3 ตอน เพื่อดูแนวทางของเรา ทางพี่ๆเค้าก็ชอบ ก็เลยได้เริ่มเขียนบทละครจริงๆ โดยยึดโครงเรื่อง และทิศทางที่พี่ๆเค้าทำมาค่ะ

ทีนี้ตอนนั้นทางเอกแซคท์เค้าจะทำละครเรื่อง “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” แล้วยังขาดคนเขียนบทเรื่องนี้ พี่ผู้กำกับก็เลยชวนมาทำ เพราะเห็นว่าเราเป็นผู้หญิง และละครเรื่องนี้มีความเป็นผู้หญิงมากๆ ก็เลยคืดว่าน่าจะเหมาะ ถือว่าเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดี ก็เลยได้ทำเป็นเรื่องแรกค่ะ เรื่องนี้ถือเป็นการเรียนรู้อย่างมหาศาลเลย พี่อิส ผู้กำกับ (อิสริยะ จารุพันธ์) รวมทั้งพี่ซูโม่เอ๋ , พี่บอย ถกลเกียรติ ก็ช่วยดูแล แนะนำหลายอย่าง เป็นการทำงานที่สนุกและมีความสุขมากๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบ learning by doing จริงๆ พอเขียนเรื่องนี้แล้วก็เลยได้เข้าไปทำงานประจำที่นั่นประมาณ 5-6 ปี แล้วก็ได้เขียนอีกหลายๆเรื่องต่อมาค่ะ แนวที่พี่เขียนก็จะเป็นแนวเด็กๆ กุ๊กกิ๊กหน่อยค่ะ

ขั้นตอนในการทำงานของนักเขียนบทโทรทัศน์ จะต้องทำหน้าที่อะไร มีส่วนร่วมกับละครยังไงบ้างคะ
ส่วนใหญ่เราจะรับงานตรงจากผู้จัดละคร โดยเค้าจะติดต่อมาว่ามีเรื่องนี้ๆ เราก็เข้าไปรับเรื่อง รับบรีฟมา เอามาลองตีความว่า ถ้าเป็นเรา เราจะเขียนเรื่องนี้ออกมายังไง ตัวละครแต่ละตัวจะมีบุคลิกแบบไหน ลักษณะประมาณไหน ในการเขียนบทเราก็ต้องระบุรายละเอียดในแต่ละฉากด้วย ส่วนการดีลกับนักแสดง จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดและผู้กำกับ เราอาจจะช่วยออกความเห็นบ้างค่ะ พอผลงานออกมาเราก็ต้องคอยติดตามดูละคร และกระแสตอบรับบ้าง ทั้งด้านดีและไม่ดี เพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อๆไปค่ะ

มาคุยถึงเรื่องที่กำลังฮิตสุดๆตอนนี้กันบ้างค่ะ สำหรับละครเรื่อง “อย่าลืมฉัน” อยากให้พี่นัทเล่าถึงขั้นตอนการทำงานให้ฟังหน่อยค่ะ
เรื่องนี้ตอนที่คุยกกับพี่ดา หทัยรัตน์ ผู้จัดละครตั้งแต่ต้น เราได้ “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” มาก่อนเลย เราก็มาคิดกันว่าจะให้ใครมาเล่นบทอื่นๆดี มาช่วยกันตีความว่า ตัวละครแต่ละตัวน่าจะเป็นประมาณไหน แล้วพี่ดากับทางผู้กำกับก็จะเป็นฝ่ายไปดูเรื่องของความเป็นไปได้ เกี่ยวกับคิว และดูเคมีของนักแสดงที่เข้ากัน ซึ่งเคมีของนักแสดงเนี่ยต้องให้คนที่เคยร่วมงานกับนักแสดงจริงๆเค้าจะดู ออกว่าใครแสดงด้วยกันแล้วจะเข้ากันค่ะ

พี่นัทรู้สึกยังไงกับทีมนักแสดงนำของเรื่องนี้คะ
คิดว่าลงตัวค่ะ โชคดีที่เราได้นักแสดงที่เหมาะกับบท เคมีตรงกัน และแสดงได้ดี อย่างติ๊ก ก็เล่นได้มีเสน่ห์ เวลาทำผิดก็จะเล่นได้ดูน่าเห็นใจมาก ถึงจะร้ายๆๆมาเกือบทั้งซีน กำลังจะเกลียดละ แต่พอเค้าหันกลับมาทิ้งหางตานิดเดียว หายเกลียดเลย สงสารเลย ส่วนบทสุริยาวดี บทนี้จะเป็นผู้หญิงแบบยุคโบราณแท้ๆเลย ไม่มีปากเสียง พอมีปัญหาอะไรก็เก็บไว้ ไม่พูด ไม่บอกใคร ยอมรับเอาไว้เองหมด โชคดีที่ได้แอนมาเล่นค่ะ เค้าทำได้ดีมาก พี่ก้องก็เป็นพี่เอื้อได้เหมาะ อบอุ่น เป็นชายในฝัน เวลาเข้าฉากกับติ๊กก็ดูเป็นพี่ชายที่สั่งสอนน้องชาย ส่วนเกนหลงก็เป็นสาวสมัยใหม่สวยเพอร์เฟคต์ เหมาะสม ลงตัวค่ะ

พี่นัทรู้สึกยังไงกับกระแสตอบรับที่แรงมากๆของเรื่อง “อย่าลืมฉัน” คะ
ไม่ได้คาดหวังเลยค่ะว่าจะกระแสดีขนาดนี้ บอกตรงๆเลยว่า จากที่ตอนนี้นักแสดงใหม่ๆที่กระแสแรงๆอยู่เยอะ เราไม่แน่ใจว่าคนดูจะถูกใจนักแสดงที่เราคัดเลือกมารึเปล่า แล้วเรื่องนี้ไม่มีนางร้าย ไม่มีซีนยอดนิยมประเภท ตบตี แย่งชิง ติดเกาะ อะไรที่มันหวือหวาเลย เป็นเรื่องที่เล่นกับอารมณ์ล้วนๆเลย เราก็ไม่มั่นใจว่าคนดูจะชอบแนวนี้มั้ย แต่ตอนแรกที่ออกอากาศไป เซอร์ไพรส์มากค่ะ ที่คนดูอินมาก ในโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเวบต่างๆจะเห็นว่ามีการวิเคราะห์กันด้วย ดีใจมากที่คนดูชอบและใส่ใจกับละครเรื่องนี้ค่ะ

เรื่องนี้มีการปรับเนื้อหาบางส่วนต่างจากนิยายต้นฉบับด้วยใช่ไหมคะ มีอะไรบ้างที่พี่นัทปรับเปลี่ยน และเพราะอะไรคะ
ใช่ค่ะ ที่ปรับอย่างเห็นได้ชัด ก็คือบทเกนหลงที่เพิ่มขึ้น และความร้ายของเขมชาติที่ชัดเจนขึ้น จริงๆพี่เอื้อก็มีบทบาทมากขึ้น แต่รอดตัวเพราะเป็นผู้ชายในฝัน (หัวเราะ) เราจะปรับเนื้อหาบางส่วนให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเกนหลงเนี่ย จะเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็นไอดอลของผู้หญิงในฝันเลย ในบทประพันธ์จะแสนดียิ่งกว่าในเวอร์ชั่นนี้อีกนะคะ ในยุคนั้นจะเรียกว่าเป็นคนแฟรงค์มาก คือพอรู้ความจริงแล้วก็ไม่ว่า ไม่โกรธ เข้าใจทุกอย่าง ขอให้เขมมีความสุขก็พอ ซึ่งอาจจะค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าจะเป็นจริงในยุคนี้ ก็เลยมีการปรับนิดหน่อย ไม่งั้นคนดูคงรู้สึกอึดอัดแย่ (หัวเราะ) แต่มีคนถามมานะคะว่าอยากให้จัดการแรงกว่านี้หน่อย แต่ก็คงจะไม่ได้ เพราะมีคาแรกเตอร์ของเกนหลงที่บังคับอยู่ จะมากไปกว่านี้คงไม่ไหว

เรามีการเพิ่มบทบาทเกนหลงเข้าไปด้วย เนื่องจากต้องการให้ตัวละครมีมิติ ให้มีการแสดงอารมณ์ออกมาบ้างค่ะ ในเชิงบทและการแสดง ตัวละครเกนหลงก็อาจจะจมหายไปเลย เราก็เติมมุมอื่นๆให้เกนหลงโดยเก็บความคูลของเค้าเอาไว้ แต่เติมไปอีกนิดว่า ที่เค้าคูล ที่เค้าดูเพอร์เฟคต์ โลกสวย เพราะเค้ายังไม่เคยเจอปัญหาที่แท้จริง เราอยากจะสื่อว่า คนเราเมื่อเจอปัญหาเข้าไปก็อาจเสียศูนย์ได้ ที่พี่ต้องเพิ่มด้านนี้ของเกนหลง เพราะเรามีการปรับเนื้อหาให้ตอนจบเอื้อกับเกนหลงแต่งงานกัน ซึ่งต่างจากในนิยายที่ทิ้งท้ายเอาไว้ ว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้เริ่มก่อตัวขึ้น แต่เราคิดว่า ในละครเรื่องนี้ คนดูจะรักสองคนนี้มาก จนไม่อยากให้จบแค่นั้น ก็เลยเพิ่มไปว่าเค้าได้แต่งงานกัน เมื่อเราจะให้ลงเอยแบบนี้ เราก็ต้องพัฒนาความสัมพันธ์ของคู่นี้ไปพร้อมๆกับการเล่าเรื่องของเขมชาติกับ สุริยาวดีด้วย ทีนี้คนที่จะแต่งงานกัน มันต้องมีจุดที่ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน ได้เห็นมุมที่อ่อนแอ หรือเวลาเหวี่ยงบ้าง แล้วการที่เราจะรู้ว่าใครอยู่ข้างเราจริงๆ ก็คือตอนที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต อย่างที่เกนหลงพูดว่า พี่เอื้อเคยเห็นจุดที่แย่ที่สุดของเกนมาแล้ว จากนี้ไปพี่เอื้อคงรับได้ทุกเรื่องแล้วล่ะ ส่วนพี่เอื้อก็ไม่ได้มีแต่เอาใจเกนหลง รักกันด้วยความเป็นจริง และฉุดเกนหลงขึ้นมาได้ในวันที่แย่ ซึ่งนั่นคือสิ่งสำคัญที่คนจะแต่งงานอยู่ด้วยกันต้องเรียนรู้กัน นี่คือเหตุผลที่ได้เพิ่มบทของเกนหลงกับเอื้อขึ้นมาค่ะ . . แล้วที่เปลี่ยนจากบทประพันธ์แบบชัดเจนเลยคือสองตอนที่จะจบนี่ล่ะ ค่ะ เพราะในบทประพันธ์วดีจะหนีอย่างเดียวเลย จะไม่มีฉากที่วดีเอาคืน แล้วก็มีเพิ่มเติมในส่วนของคู่เอื้อ – เกนหลงด้วย ก็อยากให้รอชมกันนะคะ

มาถึงคำถามคาใจที่หลายคนสงสัยกันบ้างค่ะ ข้อแรก ที่พี่เอื้อถามว่าสุริยงตั้งใจกลับไปหาเขมชาติรึเปล่า ตกลงนางตั้งใจรึเปล่าคะ
ตรงนี้ในนิยายก็ไม่ได้ระบุไว้ค่ะ เลยตั้งใจให้คนดูคิดเอาเองว่า จะเชื่อหรือจะไม่เชื่อที่สุริยงพูด แต่เท่าที่พี่ตีความนะคะ คือตอนแรกที่สมัครงานไปกับบริษัทจัดหางาน ก็ไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่พอไปรู้ว่าบริษัทที่จะต้องไปสัมภาษณ์เป็นของเขม ก็คิดว่า เอ้า ลองดู คงไม่เป็นไรมั้ง แถมได้ยินมาว่าเลขากี่คนๆก็ไม่ทนอยู่ ก็เลยอยากจะช่วย (แต่ในใจลึกๆก็น่าจะอยากเจออยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้ค่ะ )

ทำไมสุริยง ถึงไม่ยอมบอกความจริงไปล่ะคะ ปล่อยให้เขมชาติเข้าใจผิด จิกกัดรังแกตลอดเลย
เพราะแนวคิดของสุริยงคือแบบสาวไทยแท้จริงๆเลย มีอะไรก็รับไว้ เรื่องแต่งงานก็ไม่อยากพูดเพราะกลัวคนมองพ่อแม่ไม่ดี เรื่องไก่ ไข่ ก็ไม่อยากบอกเพราะไม่อยากให้ลูกเสียใจ ซึ่งเราคงคาแรกเตอร์มาจากนิยายของคุณทมยันตีเลยค่ะ

แล้วสำหรับเรื่องอื่นๆ พี่นัทมีวิธีการในการเขียนบทโดยอิงจากนิยายต้นฉบับอย่างไรบ้างคะ
พี่ค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสได้เลือกเรื่องที่จะรับมาทำค่ะ อันดับแรกเลยพี่จึงเลือกเรื่องที่ชอบ เมื่อเราชอบ เราก็จะไม่อยากที่จะเปลี่ยนมัน เราจะเก็บสิ่งที่เราชอบเอาไว้ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรื่องไหนที่พี่อ่านแล้วรู้สึกไม่อิน หรือคิดว่าถ้าเขียนไปเราคงจะปรับหลายๆจุด ก็จะไม่รับมาเขียน เพราะเราเชื่อว่าคงมีคนที่เค้าอินกับเรื่องนั้น และทำออกมาได้ดีกว่าเรา ส่วนทางเจ้าของบทประพันธ์เองก็คงไม่มีความสุขที่ถูกเปลี่ยนเนื้อหา ที่ผ่านๆมาพอเราเขียนบทเรื่องที่ชอบ เราก็เข้าใจ และเก็บหัวใจของเรื่องเอาไว้ได้ สำหรับละครยาวที่รายละเอียดเยอะมาก พี่นัทมีวิธีการคิดเรื่อง ลำดับเรื่องยังไงบ้างคะ

หลังจากอ่านนิยายแล้ว เราจะเริ่มจากเลือกเหตุการณ์สำคัญๆออกมาก่อน แล้วก็เอามาวางโครง มาลำดับว่าจะเล่าเรื่องไหนก่อน อย่างอย่าลืมฉันนี่เราเริ่มต้นที่ฉากเขมชาติเสียใจ แล้วถูกรถชนก่อนเลย แล้วกลับมาที่ปัจจุบัน ที่เปิดด้วยฉากนี้ซึ่งพี่เพิ่มเติมจากนิยายเพื่อให้เข้าใจว่า ที่เค้าร้าย มันมีที่มา เพราะเค้าเคยรักผู้หญิงคนนี้มาก ถึงขั้นเกือบตายเพราะเรื่องนี้มาแล้ว แล้วเราก็จะย้ำว่าสุริยงเนี่ยมีความสำคัญต่อเค้ามาก ด้วยหลายๆฉากหลังจากนั้น เช่นที่เขมเล่าว่าพยายามสร้างตัวเพราะมีปมจากการถูกผู้หญิงทิ้งไปแต่งงานกับ คนรวย เราต้องผูกเรื่องให้น่าติดตามและอย่าลืมรักษาบุคลิกของตัวละคร เข้าใจวิธีคิดของตัวละครอย่างแท้จริงค่ะ

การเขียนบทละครสำหรับพี่นัทมีวิธีการฝึกฝนยังไง ต้องอ่านนิยายเยอะๆหรือเรียนรู้จากไหนบ้างคะ
จริงๆนิยายพี่ก็ไม่ค่อยได้อ่านมากนะคะ ที่อ่านเยอะๆจะเป็นหนังสือเขียนบทมากกว่า พวกหนังสือที่สอนเขียนบท ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ เราก็เอามาศึกษาเอง ตรงนี้เป็นด้านหลักการที่เราต้องใช้ ผสมกับจินตนาการของเราเข้าไป และเราก็ต้องหมั่นสังเกต ทำความเข้าใจคนด้วยค่ะ พี่ค่อนข้างชอบสังคมพอสมควรค่ะ ชอบออกไปพบปะผู้คน ชอบเที่ยวมาก ไม่ชอบนั่งเก็บตัวในห้องทำงานอยา่างเดียว การที่เราได้พบเจอคน ไปเที่ยวมันก็ทำให้เราได้แหล่งข้อมูลมาทำงานด้วยค่ะ หรือบางทีเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เอางานไปทำข้างนอก ก็ทำให้คิดอะไรได้มากขึ้นด้วยค่ะ

คนที่อยากเขียนบทละคร จะต้องฝึกฝนตัวเองยังไงบ้างคะ
อันดับแรกเลยต้องชอบดูละครค่ะ จะละครไทย ฝรั่ง เกาหลีอะไรก็ได้ ต้องชอบดูและเข้าใจในการเล่าเรื่องแบบละครก่อน ว่ามันคือเรื่องยาวๆ ที่ต้องทำให้คนติดตามตลอด โดยไม่เปลี่ยนช่อง และรอดูตอนต่อไป ลีลาในการเล่าเรื่องก็สำคัญ ไม่ว่าเราจะเขียนแนวไหน ก็ต้องวางน้ำหนักให้มีหลายอารมณ์ด้วย อย่างเรื่องที่เน้นตลก ก็ต้องมีซีนอารมณ์ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ตลกอย่างเดียว

สองก็คือชอบเขียน ก่อนอื่นเลยต้องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง ทั้งในชีวิตประจำวันด้วย ‘

สามต้องมีความกระตือรือร้น ถ้าตั้งใจอยากจะทำ ก็ต้องทำเลย มีคนถามพี่เยอะว่าอยากเขียนบททำยังไง พี่ก็จะบอกว่า ต้องเขียนเลยค่ะ อย่ารอให้โอกาสมาหาเราเอง เราต้องเข้าไปหามัน อย่างพี่เองก็เข้าไปหาโอกาส ใครสนใจอยากทำงานด้านนี้ กองละครมีมากมาย เราก็ลองเข้าไปอยู่ในนั้นเพื่อหาประสบการณ์ หรือลองเขียนบทไปเสนอ บางคนกว่าจะได้เขียนบทก็ใช้เวลาหางานเป็นปี อย่าท้อค่ะ

คนที่จะเขียนบทจะต้องช่างสังเกต ต้องเข้าใจมนุษย์ เพราะตัวละครของเราเป็นคน เราต้องเข้าใจคนอย่างถ่องแท้ แล้วงานเขียนเนี่ยคนชอบมองว่าเราชิลๆ ที่จริงไม่นะคะ เราต้องศึกษาทุกอย่างรอบตัวตลอด ต้องคิดตลอด บางทีเราทำงาน 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ถ้าเราแบ่งเวลาไม่เป็นก็แย่เลย อย่างของพี่ถ้าเขียนละครโรแมนติกคอเมดี้เราก็จะสบายใจหน่อย แต่บางทีเขียนบทเรื่องที่มันหนักๆ อย่างสวรรค์เบี่ยง เราหมกมุ่นกับมันมากเราก็เครียดไปด้วยเหมือนกัน จิตใจก็ไม่ค่อยดี ต้องรู้จักปิดสวิตช์ค่ะ

พี่นัทมีไอดอลในการทำงานมั้ยคะ
ไอดอลของพี่คือ อาจารย์ศัลยาค่ะ อาจารย์อายุ 70 แล้วแต่ยังเปรี้ยวอยู่เลย ผลงานของอาจารย์ก็เปรี้ยวอยู่ อย่าง “ดอกส้มสีทอง” .

ผลงานเรื่องไหนที่พี่นัทภูมิใจที่สุดคะ
จริงๆแล้วเรื่องที่พี่คิดว่าเป็นตัวเราที่สุดแล้ว ก็คือเรื่องแรกเลยค่ะ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” เป็นเรื่องที่มีความโชคดีหลายอย่างด้วย ทั้งนักแสดงที่ดี ทุกคนลงตัวมากๆ ทุกคนใช่มากๆ เพลงก็ดี การถ่ายทำก็ดี การทำงานก็สนุก แล้วก็เป็นแนวละครที่ชอบมากด้วย ก็เลยเป็นเรื่องที่ประทับใจที่สุดค่ะ ส่วนอันดับสองก็คือเรื่อง “ชายไม่จริงหญิงแท้” ที่เป็นโรแมนติกคอเมดี้เหมือนกันค่ะ

สุดท้ายนี้อยากให้พี่นัทฝากอะไรถึงน้องๆที่อยากทำงานแบบพี่นัท หรือมีงานในฝัน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงสักหน่อยนะคะ
พี่เคยมีคำถามในใจมานานมาก ตอนปี 1 คณะพี่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ พี่ก็ได้พบท่านพุทธทาส พี่ถามท่านว่า ถ้าเรารู้จักพอตามหลักพุทธศาสนา เราจะไม่เป็นคนขี้เกียจเหรอคะ ท่านตอบว่า คนทื่คิดแบบนั้นคือคนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างแท้จริง พี่เลยปิ๊งเลย พี่ก็ไปศึกษาเพิ่มเติม จนได้ไปพบหนทางสู่ความสำเร็จคือ อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และมีข้อหนึ่งที่บอกว่า เราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานที่เราทำอยู่เสมอ แล้วพี่ก็ยึดหลักนี้มาตลอด เราอยากจะทำอะไร เราต้องศึกษาให้ดี ลงมือทำ เมื่อทำแล้วก็ยังต้องศึกษาต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ เมื่อเราเริ่มศึกษาอะไรจริงๆจังๆแล้ว เราจะเห็นหนทางที่จะไปสู่สิ่งนั้นเอง เช่นอยากเขียนบท ก็ต้องศึกษา ฝึกฝน ไปเรียน ไปหาความรู้ หาประสบการณ์ โดยเฉพาะน้องๆยุคใหม่ที่มีหน้าต่างในการเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต คอร์สเรียนต่างๆ เราก็เดินเข้าไป เราอย่ามัวนั่งถามตัวเองว่า เราจะทำอะไร จะทำยังไง หาคำตอบให้ตัวเองแล้วเดินไปข้างหน้าเลยค่ะ

เป็นยังไงบ้างคะ ไอดอลของเราในวันนี้ GFC ขอขอบพระคุณพี่นัทมากๆนะคะ นอกจากเล่าเบื้องหลังละครสนุกๆให้ฟังแล้ว ยังให้ข้อคิดดีๆไว้หลายอย่างเลย ใครที่เป็นแฟนละคร “อย่าลืมฉัน” ก็อย่าพลาดตอนอวสาน พฤหัสนี้แล้วนะคะ

 

ขอบคุณที่มา : http://pantip.com/topic/32047373

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ