กลอนเปล่า คืออะไร : กลอนเปล่าเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่มีปัญหาตั้งแต่ชื่อเรียกของมัน ตลอดจนนิยาม และการยอมรับในฐานะกวีนิพนธ์

กลอนเปล่า คืออะไร

คำว่า ‘กลอนเปล่า’ แปลตรงตัวมาจากคำว่า blank verse ในภาษาอังกฤษ ใช้เรียกบทกวีไร้ฉันทลักษณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หก ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการแปลวรรณคดีตะวันตกอย่างแพร่หลาย (ดั่งหลักฐานในคำนำพระราชนิพนธ์เรื่อง “เวนิสวานิช” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตามธรรมชาติของวิวัฒนาการ งานเขียนร้อยแก้วย่อมเกิดขึ้นก่อนร้อยกรอง แต่เนื่องจากลักษณะการสร้างเสพกวีนิพนธ์ในสมัยโบราณ สะดวกต่อการเผยแพร่ผ่าน ‘การฟัง’ ในบริบทต่างๆ มากกว่า ‘การอ่าน’ จากตัวบท เช่น ผ่านการขับร้องประกอบดนตรี หรือร่วมอยู่ในพิธีการและมหรสพต่างๆ ดังนั้นแบบอย่างการประพันธ์กวีนิพนธ์จึงถูกพัฒนาทางด้านการควบคุมท่วงทำนองและน้ำหนักของเสียงเป็นหลัก

ตามธรรมชาติของวิวัฒนาการ งานเขียนร้อยแก้วย่อมเกิดขึ้นก่อนร้อยกรอง แต่เนื่องจากลักษณะการสร้างเสพกวีนิพนธ์ในสมัยโบราณ สะดวกต่อการเผยแพร่ผ่าน ‘การฟัง’ ในบริบทต่างๆ มากกว่า ‘การอ่าน’ จากตัวบท เช่น ผ่านการขับร้องประกอบดนตรี หรือร่วมอยู่ในพิธีการและมหรสพต่างๆ ดังนั้นแบบอย่างการประพันธ์กวีนิพนธ์จึงถูกพัฒนาทางด้านการควบคุมท่วงทำนองและน้ำหนักของเสียงเป็นหลัก

ต่อมาเมื่อสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม หนังสือถูกผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายในวงกว้าง การอ่านแบบเงียบๆ คนเดียวในใจทำให้การซึมซับภาษาเป็นไปในลักษณะ ‘ดูตัวอักษร’ มากกว่า ‘อ่านออกเสียง’ ความสำคัญของ ‘เสียง’ ในกวีนิพนธ์จึงลดลง และถูกแทนที่ด้วยการกระพริบ ‘ภาพ’ จากถ้อยคำที่ไม่ต้องการสุนทรียภาพทางด้านสัทศาสตร์ (phonology ; การศึกษาระบบเสียงของภาษา) มากนัก นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของกลอนเปล่ายังสอดรับกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย การเรียกร้องเสรีภาพ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเพื่อหลุดพ้นจากบริบททางวรรณคดีแบบเดิม ซึ่งมีนัยของการกดขี่ทางการเมือง

หากความงามของบทกวีฉันทลักษณ์โน้มเอียงไปทางศิลปะการดนตรี ความงามของบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ก็น่าที่จะใกล้ชิดกับงานทัศนศิลป์ ด้วยการพัฒนาสุนทรียภาพทางด้านสัญศาสตร์ (semiology ; การศึกษาระบบสัญลักษณ์ของภาษา) ขึ้นมาทดแทนบทบาททางด้านเสียง กระทั่งวิวัฒนาการบางสายคลี่คลายไปเป็นงานเขียนแบบ visual poem ในปัจจุบัน ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วยจัดวางตัวอักษร เพื่อสื่อความหมายด้วยการผสมผสาน ‘การดู’ เข้ากับ ‘การอ่าน’

ซึ่งแน่นอนว่ากวีนิพนธ์ในรูปแบบเหล่านี้ ย่อมต้องการ ‘วิธีอ่าน’ ในแบบของมันเอง และย่อมแตกต่างจากประมวลรหัสในการอ่านกวีนิพนธ์ประเภทอื่นเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเรื่องความสมบูรณ์ของพัฒนาการในภาพรวม บทกวีฉันทลักษณ์ยังคงมีความเหนือกว่ากลอนเปล่าหลายเท่า เพราะส่วนใหญ่เป็นการสร้างสรรค์ในลักษณะต่อยอดจากลำต้นและรากเหง้าที่เก่าแก่ ในขณะที่การมีอิสระเสรีของกลอนเปล่าทำให้ขาดความเป็นกลุ่มก้อน ขาดความต่อเนื่อง และขาดพลังของการสื่อสารที่ไม่อาจเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

วรรณกรรมไทยปัจจุบันมีผู้ที่สร้างสรรค์บทกวีในรูปแบบกลอนเปล่าอยู่หลายท่าน แม้ผลงานที่ถือว่าเป็น ‘หลักไมล์’ จริงๆ จะมีน้อยเกินไป เมื่อนึกถึงอายุของการเขียนกลอนเปล่าในภาษาไทย ซึ่งดำเนินมาได้ยาวนานประมาณหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเทคนิคการประพันธ์ประเภทนี้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะยังมองเห็นความก้าวหน้าทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาได้พอสมควร หากแบ่งกลุ่มงานเขียนประเภทกลอนเปล่าในปัจจุบัน อาจแบ่งตามการให้ความสำคัญกับคุณลักษณะ (qualitative) ของภาษาได้ 3 ประเภท คือ กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับ ‘เสียง’ ในภาษา กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับ ‘ภาพ’ ในภาษา และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการให้ความสำคัญกับ ‘เสียง’ และ ‘ภาพ’ ในภาษา

แม้กลอนเปล่าจะเป็นงานประพันธ์ที่ปฏิเสธแบบแผนการบังคับเสียง แต่กวีส่วนหนึ่งก็ยังคงต้องการจังหวะลีลาของเสียงในการโน้มน้าวอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นจึงมักใช้รูปแบบการเขียนในลักษณะร้อยกรองอิสระ (free verse) คือไม่ได้ควบคุมท่วงทำนองการอ่านอย่างเคร่งครัดเหมือนร้อยกรอง แต่ก็ไม่ใช่ร้อยแก้วธรรมดา

ในกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยตามวิธีการเรียบเรียงถ้อยคำได้อีกหลายประเภท เช่น ประเภทที่ยังคงอาศัยเค้าโครงบางส่วนจากระบบเสียงของฉันทลักษณ์ แต่ผ่อนคลายและลื่นไหลกว่า โดยยึดเอาการปลดปล่อยอารมณ์หรือความชัดเจนของความหมายเป็นหลัก ดั่งจะเห็นได้จากบทกวีบางส่วนของ สุรชัย จันทิมาธร, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, วิโรจน์ วุฒิพงศ์ และ โรจน์ จรจรุง เป็นต้น

บางประเภทพยายามสร้างแบบจังหวะของตัวเองขึ้นมา และทำซ้ำกระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจนเห็นได้ชัด อย่าง พิทักษ์ ใจบุญ ที่ให้ความสำคัญกับท่วงทำนองหรือสำเนียงสูงต่ำของเสียง (intonation) จนจัดได้ว่าเป็นกลอนเปล่าที่ยังคงเน้นการ ‘อ่านออกเสียง’ มากกว่า ‘ดูตัวอักษร’ อย่างเดียว

“อุ้มลูกเดือนเศษไว้ในอ้อมอก / เธอบอกลาพี่ชายว่าจะไปสู่อีกรากเหง้าที่ไม่รู้จัก / เธอกำลังกลายเป็นอื่น, น้องสาว / เธออยากฟังเสียงสะอื้นของพี่ชาย, สะอื้นร่วมกับพี่ชาย / โลกหมุนเร็วเกินไป น้องสาว / การเรียนรู้ย่างก้าวไม่ทันความปรารถนา, เปราะบางเหลือเกิน / ในร่างของเธอจึ่งซ่อนความลับ / รอยยิ้มของสาวน้อย, รู้ไหม- ใบหน้าความเป็นแม่กำลังเบิกบาน” (ที่สุดเราก็จากกัน : ความทรงจำจำนวนหนึ่ง, จาก “ลูกของแม่ไม่มีสัญชาติ” หน้า 14)

หรือกลอนเปล่าของกวีรุ่นใหม่อย่าง ประเสริฐ จันคำ ก็ขับเน้นการอ่านเป็นทำนองต่อเนื่องจนดูคล้ายการท่องหรือสวดมนต์ (chant) ในขณะที่ คำ พอวา และ ปาน ปาโมกข์ อาศัยความต่อเนื่องในการอ่านสร้างลีลาของตนเองขึ้นมาเช่นกัน แต่แตกต่างกันตรงการแยกบรรทัดเพื่อเล่นจังหวะ

กลอนเปล่าที่ให้ความสำคัญกับเสียงอีกประเภทหนึ่ง อาศัยการพรั่งพรูความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ในลักษณะคล้ายการเขียนแบบกระแสสำนึก (the stream of consciousness) ทำให้ความหมายของคำแตกพร่า และเกิดน้ำหนักเสียง (accent) ที่แปลกใหม่ ดั่งตัวอย่างในบทกวีของ ธารเมฆ, นาตาลี และ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ซึ่งต้องการสร้างมโนภาพที่แปลกประหลาดจากการใช้ภาษาเช่นนั้น หรืออย่าง ณิชาปวีณ์, ชลัมพุ ณ ชเลลำ และ ศิเรมอร อุณหธูป ก็ต้องการเล่นกับอากัปกิริยาการเคลื่อนไหวของเสียงในภาษา มากกว่าการถ่ายทอดสาระความคิดใดๆ

ส่วนกลอนเปล่ากลุ่มที่ 2 ซึ่งให้ความสำคัญกับ ‘ภาพ’ ในภาษา ก็มีตั้งแต่บทกวีประเภทวรรณรูป (concrete poetry) อย่างงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ไปจนถึงการเล่นกับระบบสัญลักษณ์ที่แสดงนัยถึงปัญหาสังคมและการเมือง อย่างงานของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือการเล่นกับระบบตรรกะของภาษาและความคิด อย่างงานของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นต้น

หรือกวีรุ่นใหม่อย่าง นิพนธ์ อินทฤทธิ์ ก็พยายามที่จะค้นหาจุดยืนของตัวเองบนความยอกย้อนในระบบความหมาย (meaning) ของภาษา “จิตรกรชาวดัชท์ ยังวาดเปลวไฟด้วยแท่งสีไม่ดีพอ / เพราะขณะที่ข้าพเจ้ามีเพียง / เศษกระดาษกับดินสอธรรมดาๆ แท่งหนึ่ง / ยังสามารถขีดเขียนคำว่า ‘เปลวไฟ’ จนแผ่นกระดาษลุกไหม้” (จาก “เก้าอี้สามขา” หน้า 102) อีกประเภทหนึ่ง เป็นกลอนเปล่าที่เขียนถึงปรัชญาชีวิต หรือแง่คิดเล็กๆ โดยใช้ภาพพจน์และความเปรียบที่สั้นกระชับ แต่กินความกว้าง อย่างบทกวีของ ละไมมาด คำฉวี, แสงเดือน และ ‘อาทิเช่น’ เป็นต้น

และอีกประเภทหนึ่งนิยมสะท้อนภาพด้านมืดของมนุษย์แบบดิบๆ ตรงไปตรงมา อย่างเช่นบทกวีของ วสันต์ สิทธิเขตต์ และ อรุณวดี อรุณมาศ กลุ่มสุดท้ายมีจำนวนมากที่สุด เป็นกลอนเปล่าที่พยายามหาความลงตัวระหว่าง ‘เสียง’ และ ‘ภาพ’ ในภาษา ลีลาการเขียนส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับรายละเอียดความสนใจในแง่มุมของเนื้อหาเป็นสำคัญ

บางประเภทเน้นความเรียบง่ายอันลึกซึ้ง ทั้งลักษณะการใช้ภาษาและการสื่อความ อย่างบทกวีของ ราช รังรอง, วารี วายุ, วิทยากร เชียงกูล, ชนะ คำมงคล, เสรี ทัศนศิลป์, อนันต์ เกษตรสินสมบัติ และ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เป็นต้น บางประเภทเน้นถ่ายทอดความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ อย่างบทกวีของ สมพงษ์ ทวี, เสี้ยวจันทร์ แรมไพร, คำปัน สีเหนือ และ แก้ว ลายทอง เป็นต้น

บางประเภทเลือกใช้รูปแบบโรแมนติกพาฝัน อย่างบทกวีของ ยังดี วจีจันทร์, พิบูลศักดิ์ ละครพล และบางประเภทมุ่งบอกเล่าความรู้สึกส่วนตนต่อความเป็นไปในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกวีหญิง อย่าง วิทยารัตน์, ดวงแก้ว กัลยาณ์, เอื้อ อัญชลี, รวิวาร และ สร้อยแก้ว คำมาลา

“เมื่อลมหนาวมาถึง / มันได้พาเด็กชายเด็กหญิงมาด้วย / ฉันสะดุ้งเล็กน้อย / เมื่อมีเสียงทายทักจากประตูหลัง / พวกเขาเข้ามาเกาะแขนเกาะไหล่ / อิงแอบ แนบใจ / และยิ้มละไมให้ฉัน / ฉันก้มจูบเด็กชาย / ที่เคยหลงรักเมื่อหลายปีก่อน / ตอนนี้เขาเป็นวิศวกร มีครอบครัวที่ดี / ฉันจูบเด็กหญิงตาใส / ที่แววฟุ้งฝันเจิดจ้าในดวงหน้าบริสุทธิ์ / ตอนนี้ เธอเป็นนักเขียนสมถะ / เวลาพารอยชรามาทาบทับชีวิตเรา / แต่ความทรงจำกางแขนรอคอยวัยเยาว์เสมอ / ทุกปีที่ลมหนาวเยือน / เด็กชายเด็กหญิงจากดินแดนอันเป็น - - นิรันดร์ / จะหวนกลับมา” (ชั่วนิรันดร์, จาก “เพลงจากพราก” หน้า 57)

หรือบางประเภทก็ทดลองจัดวางจังหวะของถ้อยคำให้แตกต่างออกไป ทำให้เกิดอรรถรสที่แปลกใหม่ทั้งทางด้าน ‘ภาพ’ และ ‘เสียง’ เช่นบทกวีบางบทของ ชาคริต โภชะเรือง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นแค่ข้อสังเกตคร่าวๆ เพราะในความเป็นจริงรูปแบบการเขียนกลอนเปล่าประเภทต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่ได้มีมวลมากพอให้ศึกษาได้อย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาด้านการตลาดของหนังสือกวีนิพนธ์ ทำให้ผลงานของกวีหลายท่านไม่มีโอกาสรวบรวมเป็นที่เป็นทาง แม้บางส่วนจะหาทางออกด้วยการพิมพ์เป็นหนังสือทำมือ แต่ก็ไม่สามารถเผยแพร่ได้กว้างนัก

แต่ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย พัฒนาการของกลอนเปล่าก็ยังดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นที่สนใจติดตามอยู่ในวงแคบๆ ทว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ถ่วงดุลทางวัฒนธรรม ในขณะที่สังคมโดยรวมตกอยู่ในวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม

ในโลกยุคใหม่ การเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสในสังคมยังมีอยู่ แต่ไม่ได้กระทำอย่างชัดแจ้ง นักคิดในสกุลหลังสมัยใหม่ชี้ว่า การใช้อำนาจที่รุนแรงที่สุดแอบแฝงอยู่ในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์/ตัวตนให้กับสิ่งต่างๆ คนร่วมสมัยถูกคุกคามด้วยการสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง สูญเสียความคิดสร้างสรรค์ และกลายเป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น

หากเราไม่อาจนิยามตัวเองได้ เราก็จะถูกคนอื่นนิยาม และตกอยู่ภายใต้อำนาจของคนอื่น เพราะมนุษย์ยืนยันการดำรงอยู่ของตัวเองด้วยภาษา วรรณกรรมจึงมีความสำคัญสำหรับการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ในฐานะที่กลอนเปล่าเป็นผลผลิตของการใช้ภาษาและวิธีคิดของคนสมัยใหม่ มันจึงรองรับความแตกต่างของคนในสังคมปัจจุบันซึ่งแบ่งซอยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทกวีไฮกุของเด็กนักเรียน บทกวีสำหรับวัยรุ่นของนักเขียนในกลุ่มศิษย์สะดือ บทกวีของกลุ่มชนกลุ่มน้อย เช่น งานของ ‘พ้อเลป่า’ กวีชาวกะเหรี่ยง หรือบทกวีของ มุฮัมหมัด ส่าเหล็ม ซึ่งอ้างอิงอยู่กับวัฒนธรรมอิสลาม

ความหลากหลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามและก้าวหน้า การเสริมสร้างศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตัวตนของคนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพทางวัฒนธรรม กลอนเปล่าเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างความร่ำรวยทางภูมิปัญญาให้กับภาษาไทย แต่สำหรับสถาบันทางวรรรณกรรมหลายองค์กร กลอนเปล่าไม่มีอนาคต.

 

เขียน: 15 พฤศจิกายน 2544
พิมพ์ครั้งแรก: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ