อย่าล้มเหลวแบบ Hemingway : มนุษย์เรานั้นถูกทำลายได้ แต่พ่ายแพ้ไม่ได้

อย่าล้มเหลวแบบ Hemingway

Ernest Hemingway มีอาชีพเป็นนักเขียนชื่อดัง เขาจะเคยลงทุนในหุ้น ทองคำ และน้ำมันหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่ถ้อยคำและเรื่องราวชีวิตของเขา ช่างมีประโยชน์และให้บทเรียนกับอาชีพนักลงทุนยิ่งนัก ในฐานะนักเขียน เฮมิงเวย์ถือว่า ชีวิตและงานเขียนควรหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน นิยายและเรื่องสั้นของเขาจึงเกิดจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่นั่งจินตนาการเอาเหมือนนักเขียนประเภทอื่น

เขาได้บุกเบิกแนวเขียนสไตล์สมจริง เรียบสั้น แต่กินความหมายลึกซึ้ง จนกระทั่งกลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทองจากค่าลิขสิทธิ์ สามารถนำเงินที่เหลือกินเหลือใช้มาเสพสุขกับชีวิต กินดื่มเที่ยว ซื้อเครื่องมือสำหรับการผจญภัย ทำให้มีวัตถุดิบในการเขียนหนังสือมากมาย

หากทว่า หลังจากที่เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1954 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว เขากลับไม่สามารถผลิตผลงานดีๆ ได้อีกเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายที่เจ็บป่วยของเขา ทำให้ไม่สามารถออกไปเผชิญโลกกว้างเหมือนในวัยหนุ่ม

สุดท้าย เขาจึงได้ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองในปี 1961 เราอาจไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น แต่ส่วนหนึ่งที่น่าคิด คือ เขาผูกชีวิตตัวเองไว้กับการใช้ร่างกายในการหาประสบการณ์และวัตถุดิบสำหรับงานเขียนมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแนวไปทำอย่างอื่นได้ หลังจากที่สังขารไม่เอื้ออำนวยแล้ว

นักลงทุนที่ดีจะต้องไม่ติดในกับดักแบบ Hemingway ที่ต้องพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริง จึงจะสามารถผลิตผลงานได้ นักลงทุนที่ดีจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวเมื่อบางสิ่งไม่เป็นอย่างที่คิด ที่สำคัญ นักลงทุนจะต้องไม่ยึดติดว่าจะสร้างความร่ำรวยจากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินเท่านั้น หากยังควรเปิดใจต่อการแสวงหารายได้ในรูปแบบอื่นอีกด้วย

ในฐานะนักธุรกิจ เราอาจต้องอุทิศตัวเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาดในทุกตารางนิ้วของเราเอาไว้ แต่สำหรับนักลงทุนนั้น หากสิ่งที่เคยสร้างผลกำไรให้เรามหาศาลไม่เป็นไปอย่างที่คิด และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในระยะยาวแล้ว เราต้องรีบตัดสินใจที่จะขายกิจการทิ้ง เพื่อไปหาการลงทุนใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยได้รับบทเรียนราคาแพงจากการเข้าซื้อกิจการของโรงงานทอผ้า Berkshire Hathaway ถึงแม้เขาจะชาญฉลาดกว่าผู้บริหารรุ่นก่อน โดยการไม่ยอมลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ แต่หาทางรีดเงินสดออกมาจากธุรกิจให้มากที่สุด หากทว่า ในท้ายที่สุด การบริหารกิจการโรงทอผ้าที่เป็นขาลงเช่นนี้ ก็ต้องปิดตัวเองลง ทิ้งไว้เพียงชื่อเสียงอันโด่งดัง

ในฐานะนักลงทุน เราต้องทำตรงข้ามกับคติพจน์ที่ว่า “มนุษย์เรานั้นถูกทำลายได้ แต่พ่ายแพ้ไม่ได้” เราต้องรีบถอนตัวออกมาจากการลงทุนที่ทำให้เราเสียเปรียบ เพราะไม่งั้นเงินลงทุนของเราจะสูญหายและไม่สามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

การเป็นนักธุรกิจ ที่มีแนวคิดแบบนักลงทุนผสมผสานด้วย ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์ได้เปรียบนักธุรกิจคนอื่น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาเห็นว่าธุรกิจที่เขาเป็นผู้บริหารไม่สามารถสร้างผลกำไรในระดับที่น่าพอใจ เขาก็จะต้องหาทางออกให้ตัวเองด้วยการขายมันทิ้งไป หรือหากกระทำไม่ได้ เขาก็จะรีดเงินสดออกมาให้มากที่สุด และนำไปลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า

แน่นอนว่า เขาก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ เขายังมีความผูกพันกับโรงงานทอผ้า Berkshire Hathaway ดังนั้น เขาจึงคงชื่อของมันไว้ให้เป็นชื่อของบริษัทการลงทุนแห่งใหม่ของเขา ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ในอีกหลายสิบปีต่อมา แต่ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้น ชื่อที่ทำให้คิดถึงวันคืนเก่าๆที่รุ่งโรจน์ แม้ว่ากิจการและเครื่องจักรทั้งหลายได้อันตรธานหายไปแล้ว

หากเรามีอาชีพนักเขียนแบบ Hemingway แล้วเราไม่สามารถผลิตผลงานดีๆชิ้นใหม่ได้ เราก็ควรแสวงหาทางเลือกใหม่ๆให้ชีวิต ไม่ควรจมปลักในสิ่งเดิม โดยอาจผันตัวเองไปทำอาชีพอื่น ทั้งการเป็นพนักงานประจำในบริษัทแห่งหนึ่ง การรับจ้างทำงานแบบ Freelance การใช้สายสัมพันธ์ในวงการนักเขียน เพื่อผันตัวเองไปเป็นบรรณาธิการ การรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งนำเงินเก็บที่ได้มาลงทุนในหุ้นให้เกิดดอกออกผล

ในทำนองเดียวกัน คนที่ต้องการลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ก็ต้องใคร่ครวญทางหนีทีไล่ให้ดีว่า หากการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด หรือจังหวะตลาดในช่วงนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เราเข้าลงทุน แต่เงินสดที่เราต้องจ่ายออกไปเป็นค่ากินเที่ยวและที่พักทุกเดือนยังคงเสมอต้นเสมอปลาย เราจะมีทางเลือกในการหารายได้แบบอื่นมาชดเชยได้อย่างไร

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิม การเป็นพนักงานประจำอาจไม่ใช่ทางเลือกสำคัญอีกต่อไป ยังมีการแสวงหารายได้รูปแบบอื่นอีกมากมายที่เราสามารถเลือกสรรได้ หรือแม้กระทั่งการผสมผสานแหล่งรายได้ที่หลากหลายเข้ามาในเวลาเดียวกัน เพื่อชดเชยกับงานประจำที่สูญเสียไปก็ย่อมกระทำได้

เรามีอิสระในการออกแบบเงินในกระเป๋าของเราได้มากกว่าเดิม
สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ มนุษย์แต่ละคนมีเวลาจำกัด การฝึกฝนให้เชี่ยวชาญในทุกด้านย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าทางเลือกจะมีไม่จำกัด แต่ความสามารถของเราในการทำในสิ่งที่เลือกให้ดีกว่าค่าเฉลี่ยย่อมมีจำกัด เราจึงต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะเลือกเส้นทางใด เพราะทุกสิ่งล้วนมีต้นทุน การตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็อาจทำให้เราเจ็บตัวหรือพลาดโอกาสสำคัญได้

 

อย่าล้มเหลวแบบ Hemingway

 

หากมองชีวิตของ Hemingway ให้เป็นเหมือนบริษัท การตัดสินใจเป็นนักเขียนของเขา ก็ย่อมเป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามกลางเมืองสเปน สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว การยิงนกตกปลา การดื่มเหล้าและสังสรรค์ ถึงแม้จะฟุ่มเฟือยและเสี่ยงอันตรายไปบ้าง แต่ก็เป็นการได้มาซึ่งวัตถุดิบชั้นเลิศในการผลิตงานเขียนที่จะทำเงินเป็นกอบเป็นกำกลับคืนมาในอนาคต

การที่เฮมิงเวย์จะกระจายความเสี่ยง โดยเข้าไปทำงานเป็นพนักงานประจำ หรือเป็นนักลงทุนอิสระ ก็อาจไม่ใช่วิถีของเขา ที่สำคัญยังอาจไปรบกวนการทุ่มเทเวลาและสมาธิเพื่อผลิตผลงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น ค่าตอบแทนที่น้อยนิดจากการทำงานประจำ ก็อาจไม่คุ้มกับค่าเสียโอกาสในการผลิตหนังสือออกมาวางขายในท้องตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นทางการเป็นนักเขียนของเฮมิงเวย์มาถึงจุดสูงสุดจากการได้รับรางวัลโนเบลแล้ว เขาก็ไม่ควรจมปลักในวิถีแห่งนักเขียนอีกต่อไป แน่นอนว่า นักเขียนบางคนที่ได้รับรางวัลโนเบลเหมือนกัน อาจเลือกที่จะเขียนหนังสือต่อไป เพราะว่าต้องการผลิตผลงานที่เหนือชั้นยิ่งขึ้นอีก หรือคิดเพียงแค่ว่า ผลงานจะดีหรือเลวอย่างไรมันก็น่าจะพอขายได้ แต่สำหรับเฮมิงเวย์ ซึ่งต้องการผลิตผลงานที่ดีกว่าเดิมเสมอ ต้องการฉีกแนวตัวเองให้ต่างจากเดิม แต่เขาไม่มีพลังมากพอจะกระทำได้อีกแล้ว เขาก็ควรจะยอมแพ้แล้วไปหาอย่างอื่นทำ

คนที่ยึดอาชีพนักเขียน อาจไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการหาเงินเป็นที่สุด แต่เฮมิงเวย์ก็ยังสามารถเปลี่ยนไปทำงานแบบอื่นที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองในเวลานั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ได้เงินเสมอไป หากเป็นงานอดิเรกหรือการพักผ่อนที่ตัวเองชื่นชอบ เหมือนเป็นการให้ชีวิตได้หยุดพักบ้าง ไม่ต้องออกแสวงหาความเป็นเลิศ ไม่ต้องออกตามหาสัจธรรมที่อยู่ไกลตัวอีกต่อไป

แต่กระนั้น การเลือกที่จะฆ่าตัวตายของเฮมิงเวย์ก็ยังไม่อาจด่วนสรุปว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะทุกคนย่อมมีวิถีชีวิตในแบบของตัวเอง หากทว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว เราควรจะนำชีวิตของ Hemingway มาเป็นบทเรียนสอนใจในการลงทุนให้ดี เพราะการลงทุนไม่ควรมีอารมณ์ผูกพันมากเกินไป ไม่ควรคิดจะสร้างสิ่งสุดยอดและพร้อมจะตายไปกับสิ่งนั้น หากต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เราต้องไม่ลืมว่า หากเฮมิงเวย์ ไม่เลือกที่จะใช้ชีวิตที่กล้าหาญ โดดเดี่ยว และเคี่ยวกรำเช่นนี้ เขาก็อาจไม่มีวันไต่เต้าเข้าสู่จุดสูงสุดของชีวิต ได้รับทั้งรางวัลโนเบลและค่าลิขสิทธิ์มหาศาล ดังนั้น การเลือกที่จะฆ่าตัวตาย ก็อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นผลพวงของวิธีคิดที่ได้บ่มเพาะขึ้นมาตั้งแต่วัยเยาว์

เราไม่ควรที่จะตัดสินผู้อื่นโดยง่าย แต่ควรที่จะนำบทเรียนของผู้อื่นมาใช้ปรับปรุงชีวิตของเราให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น ในฐานะนักเขียน ผมต้องการเลียนแบบบางสิ่งที่มีค่าของ Hemingway แต่ในฐานะนักลงทุนแล้ว ผมก็ยังสามารถรีดเค้นบทเรียนจากชีวิตของ Hemingway มาใช้สอนใจได้อีกด้วย

 

cr. http://www.siamintelligence.com/life-can-destroy-but-lost

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ