ทางก้าวสู่ครูยุคใหม่ : ครูควรเลือกอ่านหนังสือประเภทใด อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของตนเองมากที่สุด

ทางก้าวสู่ครูยุคใหม่

หากถามว่า “ครูควรเลือกอ่านหนังสือประเภทใด อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของตนเองมากที่สุด” หากตอบให้ตรงกับประเด็นคำข้างต้นก็คงตอบว่า “เลือกอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่ทำหน้าที่สอน” แต่ตอบให้กว้างต่อการดำเนินชีวิต ต่อความครูมืออาชีพหรือต่อความครูคนแล้ว คงตอบว่า “ต้องอ่านหนังสือทุกประเภทโดยไม่เลือกว่าเป็นหนังสืออะไร”

 

ครูยุคใหม่

 

อย่าไปมีอคติกับหนังสือ อย่าคิดว่านายนี้ฟังแต่ชื่อก็ไม่ชอบแล้ว คนกลุ่มนี้เป็นพวกวิพากษ์ พวกนี้เป็นพวก “เชิงสังวาส” พวกนี้ไร้สาระเน้นหนักทางเพศ ต้องคิดเสมอว่าการอ่านหนังสือคือการเปิดโลกกว้าง เหมือนการท่องไปในโลกกว้างที่ย่อมพบเห็นสิ่งแปลกแตกต่างมากมาย ดังนั้นท่านคิดเสมอว่าขอให้เป็นหนังสือ มีคำ มีข้อความ มีประโยคที่สื่อเรื่องราวเป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ก็ควรอ่านทั้งนั้น แม้จะทราบว่าหนังสือนั้นเป็นหนังสือที่ใครหลายคนบอกว่าไม่ดี มีเรื่องต้องห้าม แม้แต่เรื่องลามกอนาจารก็ต้องอ่าน เรื่องเลวร้าย โหดเหี้ยมอย่างไรก็อ่านทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่า “หนอนหนังสือ” กล่าวโดยสรุปก็คือ “ครูต้องทำตัวเป็นหนอนหนังสือ” นั่นเอง

หนอนหนังสือจะต้องชอนไชไต่ไปทุกตัวอักษร เราจะเลือกอ่านหรือเลือกรับเฉพาะหนังสือที่เราชอบไม่ได้ อ่านกว้างก็จะมีความรู้กว้าง ไม่อ่านก็ไม่รู้เลย การเป็นนักอ่านจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของครู คนไทยรวมทั้งครูไทยด้วยไม่ค่อยมีนิสัยรักการอ่าน จึงทำให้มีความรู้ไม่กว้าง เพราะต้องยอมรับว่า คนที่เขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านย่อมไม่ใช่คนธรรมดา เขาย่อมมีความรู้ประสบการณ์ในเรื่องที่เขาเขียน การอ่านผลงานเขียนของเขาจึงเท่ากับการสนทนากับผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ นั่นก็คือเราได้สนทนากับนักปราชญ์คนหนึ่งนั่นเอง คนที่อ่านบ่อยก็คือคนที่สนทนากับนักปราชญ์บ่อย ๆ นั่นเอง ซึ่งก็คือการสนทนากับนักปราชญ์ก็จะทำให้มีความรู้มาก ที่บอกว่าคน(ครู)ไทยไม่ค่อยอ่านคงไม่ต้องไปอ้างหลักฐานจากงานวิจัยของใครที่ ไหนหรอก เอาแค่เราไปดูที่สถานีรถไฟหัวลำโพงบ้างที่สถานีขนส่งหมอชิตบ้าง ถ้าท่านเห็นชาวต่างชาติซึ่งแม้มีจำนวนที่ปะปนอยู่กับคนไทยนั้น แต่ส่วนใหญ่เวลาเขารอรถโดยสารเขามักจะหยิบหนังสือมาอ่านฆ่าเวลา ขณะที่คนไทยนั่งรอกันเฉย ๆ นี่ก็เป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

ลักษณะของคนที่เป็นหนอนหนังสือที่เห็นชัดประการหนึ่งที่นอกเหนือจากการ อ่านอย่างตะลุยหรืออ่านหนังเป็นประจำ สม่ำเสมอแล้วก็คือ การเป็นคนรักหนังสือซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ครูควรมี เพราะการรักหนังสือจะทำให้ครูมีหนังสือไว้อ่านมากมาย คนที่รักหนังสือจะพยายามหาหนังสือดี ๆ มีคุณค่าไว้อ่าน เมื่อไปห้างสรรพสินค้าใหญ่คนที่รักหนังสือก็มักจะต้องแวะเข้าไปมุมหรือร้าน หนังสือในนั่น ซึ่งมีหนังสือจำหน่ายมากมาย เมื่อพบหนังสือออกใหม่ก็จะซื้อมาไว้อ่านเวลาว่าง ผู้เขียนเองก็อาจจัดได้ว่าเป็นคนรักหนังสือคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะทุกครั้งที่เข้าไปในห้างสรรพสินค้า หรือเดินทางไปที่ใด สิ่งที่ต้องการเข้าไปหามากที่สุดก็คือการเข้าไปหาดูหนังสือตามร้านค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตามห้างเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีมุมหนังสือเล็ก ๆ หรือแม้กระทั่งสถานีขนส่งที่มีมุมหนังสือให้ซื้ออ่าน ผู้เขียนจะต้องเลือกเข้าไปดูให้ได้ สำหรับสมุดใหญ่ ๆ ระดับของมหาวิทยาลัยดังต่าง ๆ คงไม่ต้องพูดถึง เพราะนั่นคือขุมทรัพย์ที่ผู้เขียนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และควรเป็นสถานที่ที่เพื่อนครูควรเข้าไปแสวงหาความรู้ให้มาก

ครูควรเป็นนักสะสมหนังสือ ดังได้กล่าวแล้วว่าครูยุคใหม่ต้องเป็นนักอ่าน เป็นหนอนหนังสือ ดังนั้นครูควรเป็นนักสะสมหนังสือ คนที่จะสะสมหนังสือได้จะต้องเป็นคนรักหนังสือ ครูที่เป็นครูมืออาชีพจริง ๆ จะเป็นคนที่รักหนังสือมาก ในห้องทำงานหรือที่บ้านจะเต็มไปด้วยหนังสือ ไม่เฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับงานหน้าที่ตนเท่านั้น แต่จะมีหนังสือทุกประเภท การสะสมหนังสือก็เป็นคำตอบถึงความเป็นนักอ่าน ความเป็นหนอนหนังสือของครูได้เป็นอย่างดี เพราะครูที่ไม่ชอบอ่านจะเห็นคุณค่าของหนังสือ ไม่สะสมหนังสือ และเป็นคนมีความรู้แคบ ครูลักษณะไม่ชอบอ่านและไม่สะสมหนังสือ พอเข้าห้องเรียนก็หยิบหนังสือมาบอกความรู้นักเรียน และพูดเสียงเหมือนตะคอกวัวควายว่าให้เปิดหนังสือหน้านั้นหน้านี้ แล้วครูก็บอกเนื้อหาให้นักเรียนฟัง แล้วก็จบกันไป จึงไม่สอดคล้องกับการเป็นครูยุคใหม่

ห้องของครูยุคใหม่จะต้องมีหนังสือที่หลากหลาย เพื่อให้ครูเองได้ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งนั้นได้เสมอ และเป็นคลังความรู้ในห้องเรียนให้นักเรียนได้อาศัยด้วย นอกนั้นที่บ้านของครูแห่งยุคสมัยก็จะต้องเต็มไปด้วยหนังสือ ให้ถือว่า “รกหนังสือดีกว่าเศษขยะ” และให้ถือว่า “หนังสือคือสิ่งที่มีชีวิต” “หนังสือคือตัวแทนของนักปราชญ์” ถ้าท่านไม่คิดอย่างนั้นท่านก็จะไม่รักหนังสือ การไม่รักหนังสือก็จะทำท่านไม่อยากสะสมหนังสือ เมื่อท่านไม่สะสมหนังสือท่านก็ไม่มีเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจในทางวิชาการ ท่านก็จะเป็นครูที่สักแต่ว่าเป็นครูเหมือนเขา แต่เขียนเรื่องเพื่อสื่อสารให้คนอื่นรู้ไม่ได้ว่าท่านได้ทำอะไรเพื่อเด็ก บ้าง เพราะมีครูเป็นจำนวนมากที่เขียนความดีของตนเองไม่ได้

ทั้งนี้เพราะเป็นคนไม่ชอบอ่านหรือไม่ชอบหนังสือนั่นเองห้อง เรียนหรือแม้กระทั่งห้องที่บ้านครูจะต้องมีห้องหรือมุมใดมุมหนึ่งเพื่อจัด เป็นห้องหนังสือให้เรียบร้อย ดูดี จัดให้มีหนังสืออย่างหลากหลาย อาจจัดทำหนังสือการจัดหนังสือในห้องสมุด หรือจัดตามที่ท่านเข้าใจว่าจะสะดวกสำหรับการหยิบหา ค้นคว้า ข้อสำคัญของให้มีหนังสือ สะสมหนังสือ ตำรับตำราไว้มากมายก็แล้วกัน ถ้าห้องเรียนหรือห้องที่บ้านท่านมีหนังสือหลากหลายก็จะทำให้ดูขลัง มีเสน่ห์ เหมาะสมกับการเป็นครูแห่งยุคสมัย ถ้าไม่เป็นดังกล่าวจะดูด้อยศักดิ์แห่งความเป็นครู จืดชืด แห้งแล้ง ไม่สอดคล้องกับการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ การสะสมหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการจึงเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของครูยุคใหม่

 

ขอบคุณที่มา : https://blog.eduzones.com/Chayapa/143009
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.krusamlee.com/bak/education-articles/kruyookmai-ways/krooyukmai-art005.html
ภาพประกอบจาก www.krubank.com

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ