สมบูรณ์ วรพงษ์ : อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

สมบูรณ์ วรพงษ์

"การอ่านชีวประวัติของบุคคล มันมีบางอย่างมันแทรกซึมอยู่ในนั้นนะ หนังสือพวกนี้เมื่อเราอ่านแล้วมันซึมเข้าไปในจิตใจ เป็นส่วนหนึ่ง ให้เราประพฤติปฏิบัติในทำนองคลองธรรมที่ดี" นี่เป็นคำกล่าวของ สมบูรณ์ วรพงษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นสุภาพบุรุษของวงการนักเขียน - นักหนังสือพิมพ์ไทย ผู้ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีประวัติชีวิตและการทำงานที่น่ายกย่อง และควรค่าแก่การเรียนรู้ และนี่คือบทเรียบเรียงจากการสนทนากับท่าน ณ มูลนิธิไทยรัฐ เมื่อไม่นานมานี้

เล่าถึงการทำงาน ตลอดชีวิตที่ผ่านมา..
ผมเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ประมาณ 80% ส่วนอีก 20 % คือเอาเวลาว่างไปเขียนหนังสือ ทีนี้ในการเป็นนักหนังสือพิมพ์นี่เราก็ต้องเขียนหนังสืออยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่ ผมเขียนตั้งแต่ สารคดี บทความ แล้วพอมาทำหน้าที่ในฐานะบรรณาธิการ ผมก็ต้องเขียนบทบรรณาธิการ เพราะมันเป็นหน้าที่โดยตรง

แต่ตอนนี้ภาระหน้าที่ของผมโดยตำแหน่งคือ เป็นที่ปรึกษาของบริษัทวัชรพล ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และดูแลมูลนิธิไทยรัฐ สำหรับมูลนิธิไทยรัฐนี่เราเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2512 เป็นเจตนารมย์ของ คุณกำพล วัชรพล ที่จะทำอะไรให้แก่สังคม แต่มาขาดตอนระยะหนึ่ง เนื่องจากระยะปี 2512-2516 มันมีเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่อำนวย หนังสือพิมพ์ก็อยู่ในภาวะประกาศกฎอัยการศึก เดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด ทำให้เราไม่สามารถทำงานของโรงเรียนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย งานก็ขาดตอนไป

กลับมาเริ่มจริงๆ อีกครั้ง เมื่อปี 2520 หลังจากผมลาออกจากการเป็น บก. ไทยรัฐแล้ว ผมก็รับภาระหน้าที่ไปตรวจตลาดหนังสือพิมพ์ ทำให้ได้เห็นสภาพเด็กนักเรียนในชนบทที่ยากไร้ ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ไม่มีอาหารกิน โรงเรียนไม่สมบูรณ์ ขาดแคลนทุกอย่าง โดยเฉพาะภาคอีสาน ก็กลับมาเล่าให้คุณกำพลฟัง จึงเริ่มต้นโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาในชนบท โดยใช้เงินของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากนั้นเราก็ทำมาจนครบ 101 โรง จากนั้นก็กลายมาเป็นมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกลายมาเป็นมูลนิธิไทยรัฐในปัจจุบัน

ดูเหมือนคุณสมบูรณ์ผูกพันกับงานหนังสือพิมพ์มาก
จริงๆ ก่อนจะมาทำงานหนังสือพิมพ์ ผมเป็นครูมาก่อน แล้วระหว่างที่เป็นครู ผมได้ไปอยู่ที่สหภาพพม่ามาสองปี ไปสอนภาษาไทยให้กับลูกเจ้าฟ้าต่างๆ ในรัฐฉาน ทำให้ได้ประสบการณ์หลายอย่างด้วยกัน เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็เกิดแนวคิดว่า ถ้าเราเป็นครูเราก็ทำได้แค่นั้น แต่ถ้าเราออกมาทำงานขีดเขียน มันจะเป็นการขยายความคิดออกไป เพราะผมชอบการเขียนตั้งแต่สมัยเรียนแล้วนะ ผมอ่านกวีนิพนธ์ อ่านกามนิตวาสิฏฐี อ่านผู้ชนะสิบทิศ อ่านบทความในประมวลวัน อ่านหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพ แล้วสมัยเรียน ผมก็ทำหนังสือพิมพ์ในห้อง มันสิ่งที่เราชอบ เป็นจุดเริ่มต้นนะ

ผมมาอยู่ในกรุงเทพตอนแรกๆ ก็ยังเป็นครูอยู่ ระหว่างที่ทำงานครู ผมก็ไปเรียนหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ พร้อมกับเขียนหนังสือไปด้วย เรื่องแรกคือ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี เป็นเรื่องยาวได้ลงในหนังสือพิมพ์สยามสมัย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าในสมัยนั้น ที่นั่นจะเต็มไปด้วยนักคิดนักเขียนมากมาย ทุกวันศุกร์ก็จะมีการเสวนาชมรมนักประพันธ์กันที่นั่น ผมเองเข้ามากรุงเทพก็ยังไม่รู้จะไปที่ไหน ก็เลยมาที่ชมรมนักประพันธ์ ทำให้ได้เจอนักเขียนผู้ใหญ่ เป็นแหล่งความรู้ของผมเลย

หลังจากนั้นผมก็ลาออกจากครู มาทำหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2496 ที่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ทำงานตั้งแต่ระดับล่างคือเป็นคนข่าวโรงพัก แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องไปตรวจบรู๊ฟ เพราะปกติคนที่มาทำหนังสือพิมพ์นี่จะต้องตรวจบรู๊ฟทุกคน เพื่อเรียนรู้การเขียนการสะกดคำ การเรียบเรียงต่างๆ เพราะเราเคยเขียนหนังสือมาก่อน เขาก็ให้โอกาสทำข่าวเลย ผมทำข่าวโรงพักไม่นานก็ได้ทำข่าวการเมือง อยู่พิมพ์ไทยได้สามปีผมก็ลาออก ไปอยู่บางกอกเดลิเมล์ เพราะมีนักหนังสือพิมพ์ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ เป็นต้นแบบที่ผมยึดถือมากอยู่ที่นั่น คือ คุณอิศรา อมันตกุล พอเขาออกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็เลยไปทำด้วยเลย

เริ่มงานที่นั่นก็เป็นนักข่าวการเมือง ก็พยายามเรียนรู้วิธีการซักถาม หาข่าว การตั้งคำถาม สมัยก่อนไม่มีการสัมภาษณ์แบบเอาไมค์จ่อปากแบบเดี๋ยวนี้ แต่เราต้องไปพบเป็นการส่วนตัว รู้จักกันเป็นการส่วนตัวให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ผมก็เริ่มจากงานคนข่าวกระทรวงมหาดไทย เทศบาล สาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงคลัง กระทรวงต่างประเทศ ก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะนักหนังสือพิมพ์ไม่ใช่รู้หมด แต่ต้องเรียนรู้จากแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกนิ่มนวลสุภาพ ก็ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่หลายท่าน คือ ในความเป็นนักหนังสือพิมพ์นี่ผมจะถืออย่าง คืออย่าให้เขากลัว อย่าให้เขาเกลียด แต่ให้เขารักและยำเกรงความรักคือรักในความที่เขาเชื่อถือเราได้ เช่น อะไรที่เขาบอกมาว่า อันนี้ผมบอกคุณส่วนตัวนะ ห้ามเอาไปเขียน เราก็ต้องไม่เขียน ต้องรักษาสัจจะ และทำตัวให้คนยำเกรง พูดง่ายๆ คืออย่าไปรีดไถหรือไปขออะไรเขา ผมก็อยู่อย่างนี้มา ก็ทำงานมาได้ ไม่รวยไม่จน มีคนเคารพนับถือ แต่ผมก็ไม่ได้พูดว่าตัวเองวิเศษอะไร แต่มันอาจจะเป็นนิสัยนะ

การเป็นนักข่าวที่ดีควรเป็นอย่างไร
การเป็นนักข่าวที่ดีมันเป็นจิตสำนึก มันไม่เป็นตัวสอนที่ต้องบังคับว่าคุณต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ แม้แต่จรรยาบรรณของสมาคมต่างๆ ที่เขียนเป็นบรรทัดฐาน แต่ถ้าเราไม่มีจิตสำนึกมันก็ไร้ความหมาย

นักหนังสือพิมพ์นี่จะมีสองอย่างนะ คือนักหนังสือพิมพ์จริงๆ กับนักธุรกิจหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ พูดเอาไว้ว่านักหนังสือพิมพ์จริงๆ นั้นหาได้ยาก แต่ผู้ทำงานหนังสือพิมพ์นั้นอาจหาได้ คือนักหนังสือพิมพ์ที่มาจากชีวิตจิตใจนั้นหาได้ยาก แต่ยังไงก็ตาม ผมก็คิดว่าสถาบันการศึกษาในสมัยนี้ น่าจะสามารถหล่อหลอมให้เราได้นักหนังสือพิมพ์ที่ดีมาได้

แต่ขออย่างเดียว คนที่เข้ามาอย่าหลงตัวเอง อย่านึกว่าตัวเองเป็นเอก เพราะมันจะทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว เพราะการเป็นนักข่าวก็ไม่ควรคิดแค่การเป็นนักข่าวอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาขึ้นไปเป็นหัวหน้าข่าว เป็นบรรณาธิการ ผมเองจากนักข่าวโรงพัก เข้ามาอยู่กรุงเทพคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ มาอยู่วัด แล้วก็มาทำงานเป็นครูจนมาเป็นบรรณาธิการได้ และเป็นในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวารุนแรง ก็ประคับประคองมาได้ พยายามอยู่กึ่งกลางในความถูกต้องมาตลอด

นักข่าวในอุดมคติ กับนักข่าวในความเป็นจริงนั้นจะต้องเป็นคนคนเดียวกัน ถึงจะก้าวไปได้ ผมจะแนะนำว่า นักข่าวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานนั้นอย่าได้เล็งผลเลิศจนเกินไป คนรุ่นใหม่จบปริญญาตรี ปริญญาโทมา ยังไงก็ต้องไปเริ่มงานในระดับล่างก่อนทั้งนั้น เพราะการทำงานเราไม่ได้วัดกันที่ปริญญา ปริญญานั้นทำให้รู้แค่ทฤษฎีเท่านั้น ผมเห็นที่ต่างประเทศนักข่าวเขาอายุ 50-60 เขาถึงจะไปเป็นนักข่าวประจำสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบขาว กระทรวงต่างประเทศ เพราะมันต้องให้ได้คนที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง แต่ของเรานี่เข้ามาก้าวเดียวก็จะไปเป็นนักข่าวการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจเลย ซึ่งมันไม่ได้นะ เพราะถึงจะมีความรู้ แต่ยังขาดวิจารณญาณ ความสันทัดจัดเจนยังน้อย อย่าลืมว่าคนที่เราจะต้องไปสัมภาษณ์นี่เขาย่อมจะมีความรู้มากกว่าเรา

ระหว่างที่ผมเป็นหัวหน้าข่าวอยู่ที่นี่ มีนักศึกษามาฝึกงานนี่ผมจะเรียกมาประชุมแล้วจะบอกเลยว่า คุณมาฝึกงานกับผมนี่ถ้าคุณหายไป พอวันสุดท้ายคุณมาขอใบรับรองนี่ผมจะไม่ออกให้ แล้วผมจะฟ้องอาจารย์ด้วย ผมขู่ไว้ บอกว่าน้องทั้งหลายจะต้องมาทำงาน ให้ไปตระเวนกับผู้สื่อข่าว ไปตอนเช้า พอเที่ยงกลับมา ผมจะบอกเลยว่าถ้าคุณเห็นข่าวอะไรที่คนข่าวเขาไม่เอา แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ คุณเอามาให้หมดเลย ไม่ลงไม่เป็นไร พอเที่ยงมาประชุมกันผมก็จะบอกให้เขียน แต่ผมไม่บอกนะว่าต้องเขียนยังไงเพราะเรียนทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยมาแล้ว พอเขียนมาวางบนโต๊ะผมก็จะมีปากกาแดงขีดไว้เลย ผมจะบอกว่าเวลาที่เขียนข่าวอะไรเราต้องไม่ไปซ้ำเติม เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นศาลยังไม่ได้ตัดสิน เขาเป็นเพียงผู้ต้องหา เราต้องเคารพในด้านของสิทธิความเป็นคนของเขา อย่างคำว่าลูกทรพีหรืออะไรอย่างนี้ผมจะตัดออกหมด

อีกอย่างหนึ่งคือ เข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์นี่อย่าคิดว่ามาทำงานเพื่อรับเงินเดือนนะ เพราะหนังสือพิมพ์มันเป็นงานในอุดมการณ์ เราขายความคิด ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำเราต้องรับสภาพของการทำงานด้วย อย่างหนังสือพิมพ์บางฉบับนี้จะมีนโยบายไม่เหมือนกันสไตล์การเขียนข่าวก็จะต่างกัน อย่างเวลานี้มีหนังสือพิมพ์ออกมามาก การแข่งขันมันสูง นักข่าวบางคนไม่เคยเข้ามาโรงพิมพ์เลย ส่งแต่ข่าวทางโทรศัพท์ ทางโทรสาร ซึ่งมันทำให้ผิดพลาดได้เยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นักข่าวต้องกลับเข้ามาเขียนเอง เราก็ไตร่ตรอง กรองแล้วกรองเล่าให้มันดี ดังนั้นนักข่าวรุ่นเก่านี่จะได้เปรียบกว่า เพราะว่าเขียนข่าวเป็น ทำให้ได้ก้าวไปเขียนสารคดี เขียนบทความได้

อย่างเช่นตอนที่ผมเป็นนักข่าวโรงพักอยู่ ผมก็เขียนเบื้องหลังข่าว เป็นรายได้พิเศษขึ้นมา ผมทำงานสี่ปี ผมเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งคือคดีสังหารสี่อดีตรัฐมนตรี และก็เขียนมาเรื่อยๆ มันก็ได้จากประสบการณ์ การเป็นนักข่าวต้องมีจิตใจเป็นกลาง การมองเหตุการณ์ต่างๆ ต้องเป็นไปโดยมองลึกลงไปว่ามันมีที่มาอย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรที่ซ่อนเร้น เวลาเขียนต้องไม่ใช่การลงสีสันระบายสี แต่เราต้องให้ข้อเท็จจริง เพื่อเตือนสังคมว่าสิ่งที่มันเกิดนั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร

การทำงานข่าว บางครั้งต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทำให้มีความเครียดหรือว่ากดดันบ้างไหม
ถ้าเราด้วยความสนุก สบายใจ มันก็จะไม่มีอะไรต้องเครียดหรืออึดอัดนะ ผมทำงานทุกวันนี้ผมก็ยังทำด้วยความสนุกนะครับ ถึงแม้ว่าผมจะ 75 แล้ว ปีนี้ แต่ผมก็ไม่มีความแก่ในความคิด แต่ในเรื่องของร่างกายนั้นก็แก่ไปตามวัย แต่ความคิดผมยังสดใสอยู่ ยังสนุกกับงานไปเรื่อยๆ และไม่คิดจะเลิกทำงาน

ดังนั้นขอให้นักข่าวรุ่นใหม่ไม่ว่าจะมาจากไหน ถ้าคิดจะมาทำงานด้านนี้แล้ว ขอว่าอย่าคิดว่ามาทำงานเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อจะหาความร่ำรวย เพราะงานนั้นถ้าเรามีความพอใจเราก็มีความเป็นอยู่ที่ดีได้ ผมเองทำงานมาก็ไม่รวยแต่ไม่จน เพราะผมอยู่อย่างธรรมดาสามัญ ผมไม่มีหนี้สินไม่มีอะไร เวลาผมมาทำงานลูกก็มาส่ง ถ้าเย็นลูกไม่มารับผมก็นั่งแท็กซี่กลับบ้านแปดสิบบาท งานทุกอย่างถ้าเราทำด้วยความสุข สนุกกับการทำงานเราก็จะทำมันได้ ผมทำงานในห้องนี่ก็ไม่เคยปิดประตูห้อง ใครจะเข้ามาหาผมเมื่อไรก็ได้ ผมเขียนหนังสือผมก็ไม่เคยคิดมูลค่าว่ามันต้องได้เท่าไร

พูดถึงงานเขียนของคุณสมบูรณ์ หลังๆ จะเห็นว่าเขียนสารคดีอัตถชีวประวัติบุคคลสำคัญค่อนข้างมาก
ที่ผมเขียนสารคดีอัตถชีวประวัติของบุคคลสำคัญ เพราะว่าตลอดชีวิตการทำงาน 50 ปีของผมนี่ผมสัมผัสกับชีวิตของใครต่อใครมาเยอะ แต่ผมไม่ใช่นักวิชาการ สิ่งที่ผมเขียนจึงเป็นสิ่งที่ผมรู้ สิ่งที่ผมประสบ ผมประทับใจต่อแนวความคิดของคนใดคนหนึ่ง จากโลกทัศน์ของใครต่อใคร สิ่งที่เขาเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือในเรื่องของการทำงานของเขา

ช่วงระยะ3-40 ปีมานี่ผมได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดีมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ไทยรัฐ ทางผู้ใหญ่ให้ความเมตตา เวลาผมออกไปทำงาน ได้พบผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเช่นพบ คุณหมอประเวศ วะสี ได้พูดคุย ก็ได้แนวคิดจากคุณหมอมา ทั้งด้านพุทธปรัชญา ด้านสังคม จริยาวัตรของท่าน และวัตรปฏิบัติของท่าน พูดยังไงท่านก็อยู่อย่างนั้น ส.ศิวรักษ์ เป็นอีกท่านหนึ่ง ที่ผมเห็นว่าท่านพูดยังไงท่านก็ทำอย่างนั้นความเป็นอยู่ก็อย่างนั้น ซึ่งคนอย่างนี้หายาก และผมก็ได้สนิทสนมกับคุณคำสิงห์ ศรีนอก, คุณสุวัฒน์ วรดิลก, คุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ผมยกตัวอย่างที่ใกล้ชิดนะ และยังมีอีกเยอะ ตอนนี้ทุกต้นเดือนเราจะมีการกินข้าวระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน มีนักวิชาการ มีหมอ มีนักเขียน เป็นชมรม ไปกินข้าวคุยกัน ได้สะสมวัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องให้ใครพูดสอนแต่เราก็ได้ อย่างผมอยู่กับคุณกำพลมา คุณกำพลไม่เคยสอนแม้แต่คำเดียว แต่ผมสังเกตดูจากจริยาวัตรของท่านที่ท่านปฏิบัติ ท่านดูแลพนักงานใกล้ชิด ความเป็นนักบริหารของท่านเป็นอย่างไร สิ่งที่เราได้สัมผัส ได้สังเกตตลอดมาก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ชีวประวัติบุคคลก็เหมือนโคลงของรัชกาลที่ 6 นะ "ชีวประวัติบุคคลไซร้ เตือนใจ เรานา"

คุณสมบูรณ์ชอบอ่านหนังสือประเภทใดบ้าง
ผมอ่านหนังสือเยอะ ช่วงที่จบใหม่ๆ อายุ 18-19 ผมทำงานแล้วนะ อยู่ในป่ามีเวลาเยอะ สั่งซื้อหนังสือเรื่องมหาบุรุษ ของ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นหนังสือเล่มแรกที่จุดประกายให้ผมอยากเข้ากรุงเทพ ต่อมาอ่าน จิตตานุภาพ จากนั้นมาอ่าน เข้าบัว อ่าน แคทเธอรีน มหาราชินี, ชุดมหาบุรุษ นี่มีเหตุผลมาก เพราะหลวงวิจิตรท่านได้พูดถึงความสำเร็จของมหาบุรุษในโลก ต่อมามาอ่านนวนิยายของนักเขียนสำคัญ อ่าน ละครแห่งชีวิต ของ มจ.อากาศดำเกิง นี่ยิ่งกระตุ้นให้อยากเป็นบ๊อบบี้ (ชื่อพระเอกในเรื่อง) เขาเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ตระเวนไปตามต่างประเทศ ไปรายงานข่าว ผมเองตอนนั้นอย่าว่าแต่เมืองนอกเลย กรุงเทพยังไม่ได้เห็นเลย แล้วผมอ่าน รักไม่มีพรมแดน ของ วิลาศ มณีวัต โอ๊ย อยากจะเห็นเมืองนอกมาก จนในที่สุดผมก็ได้ไปเมื่อปี 2502 ที่ไหนรู้ไหม ผมไปลาว (หัวเราะ) แล้วก็ได้ไปมาเลย์กับจอมพลถนอม แล้วก็เริ่มได้เดินทางไปยุโรป ไปอเมริกา ไปไหนต่อไหนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมไปจีนบ่อยมาก 13 ครั้ง เพราะผมมีเพื่อนที่นั่นเยอะ

แล้วผมก็มาอ่านหนังสือของ เดล คาร์เนกี สมัยที่แพร่พิทยาพิมพ์ การอ่านหนังสือมันทำให้ผมได้รู้สองสามอย่าง หนึ่งคือได้รู้ประวัติของบุคคลสำคัญ ประวัตินโปเลียน เรื่องสามทหารเสือ แต่ก็มีหนังสือหลายเรื่องที่อ่านไม่จบนะ อย่าง สงครามและสันติภาพ ของตอลสตอย อ่านไม่ไหวจริงๆ ตัวละครเยอะมาก วิมานลอยนี่ก็เพิ่งอ่านจบ อ่าน เต็ลมา ฉบับสำนวนแปลของครูมาลัย ผมชอบมากเลย อ่านแล้วมองเห็นภาพของพระอาทิตย์เที่ยงคืน ตอนนั้นยังไม่เคยเห็นสวีเดนนะ จนผมได้ไปสวีเดนก็ไปเดินทางตามรอยเต็ลมานะ แล้วก็อ่าน จนกว่าเราจะพบกันอีก ของ ศรีบูรพา ผมก็ไปออสเตรเลีย ไปตามหาเส้นทางที่ตัวพระเอกนางเอกเดินทางอีก ตามรอยตัวละคร ความรักของเยนแอร์ ของ จูเลียต และที่ผมชอบมากคือ กระท่อมน้อยของลุงทอม อ.สนิทวงศ์ แปล และก็มาอ่านบันทึกของ แอน แฟรงก์ เป็นบันทึกของเด็กอายุ 15 ที่หนีภัยสงคราม หนีเยอรมันไปอยู่ในใต้เพดาน แล้วเขียนบันทึกเอาไว้ มันเป็นบันทึกที่ทำให้เราได้เห็นจิตใจ ความคิดของเด็กอายุ 15 มันทำให้เราคิดว่าการเขียนหนังสือไม่ได้อยู่ที่การเรียนสูงหรือต่ำนะ แต่มันอยู่ที่จิตใจ สิ่งที่คิดระบายออกมา อย่างแอน แฟรงก์ มีความคับแค้นใจก็ระบายออกมา เวลานี้แปลออกมาหลายภาษา

ผมอ่านหนังสือหลายประเภท แต่สมมติผมอ่าน เสฐียรโกเศศ ผมก็จะลืมเรื่องอื่นหมด ผมก็เห็นแต่ภาพของกามนิต วาสิฏฐี อ่านฟื้นความหลัง ก็เห็นภาพของรัตนโกสินทร์ยุคกลาง ไปอ่าน ตำนานล้านนาไทย ของอาจารย์ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ แต่ที่ยากๆ เข้าไม่ถึงผมก็ทิ้งไปนะ อย่างตะเลงพ่ายนี่อ่านไม่ไหว ศัพท์เยอะ (หัวเราะ) มหาภารตะยุทธ ของ อาจารย์กรุณา กุศลาศัย ผมอ่านไม่จบ แต่เล่มของอาจารย์กรุณาที่อ่านจบและอ่านด้วยความประทับใจมากคือ ข้าพเจ้าทดลองความจริง ของ มหาตมคานธี อ.กรุณาแปลมาจากภาษาฮินดีได้สละสลวยมาก อ่านแล้วได้ทั้งประวัติของคานธี ได้ทั้งคุณธรรมของมหาบุรุษของโลก ความมีมนุษยธรรม เรียนรู้จริยาวัตรของมหาบุรุษของโลก เชื่อไหมว่าคานธีนี่ตอนที่ไปทำเรื่องต่อต้านให้เอกราชของอินเดียนะบางวันท่านเข้าไปล้างส้วมโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ และอาจารย์กรุณาก็เป็นเช่นเดียวกัน ผมนับถือท่านมากนะ

การอ่านชีวประวัติของบุคคล มันมีบางอย่างมันแทรกซึมอยู่ในนั้นนะ หนังสือพวกนี้เมื่อเราอ่านแล้วมันซึมเข้าไปในจิตใจ เป็นส่วนหนึ่ง ให้เราประพฤติปฏิบัติในทำนองคลองธรรมที่ดี

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ