(2563, ตอนที่ 5)
คำพูดของ “เต๋” ตัวละครสำคัญจากแปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 แนว Romantic Coming of age ของนาดาวบางกอกร่วมมือกับแอปพลิเคชันไลน์ทีวี ออกอากาศ 5 ตอน เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ภายหลังการเผยแพร่ก็ได้รับความนิยมรวมถึงกระแสตอบรับจากผู้ชมทั้งในและนอกประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย อย่างล้นหลาม และได้รับการการันตีรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 12 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนแพลตฟอร์มออนไลน์จากบทบาทของตัวละคร “เต๋”
แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 เป็นเรื่องราวของมิตรภาพและความสัมพันธ์ของ “เพศชาย” ระหว่าง “เต๋” กับ “โอ้เอ๋ว” ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก แตกหัก และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในช่วงวัยรุ่นท่ามกลางความสับสนที่ผสมปนเปอยู่ในตัวเต๋ การก้าวผ่านความรู้สึกสับสนในตัวเอง จึงเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ซึ่งคล้ายกับเป็นการบอกเล่า อัตชีวประวัติ ขนาดย่อมของเต๋ โดยมีครอบครัวและกลุ่มเพื่อนซึ่งต่างก็เป็นตัวละครที่แสดงบทบาทเสริมให้ผู้ชมเข้าใจเต๋มากขึ้น โดยเฉพาะตัวละครโอ้เอ๋วที่แสดงความสัมพันธ์กับเต๋ในบทบาท คนรัก ขณะเดียวกันก็ถูกโอบรับด้วยสังคมของ ความเป็นจีน คือชาวจีนฮกเกี้ยน ผนวกกับกลิ่นอายของจังหวัดภูเก็ตที่ห้อมล้อมด้วยวัฒนธรรมชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) ซึ่งเป็นฉากของเรื่อง ธรรมเนียมลูกชายเชื้อสายจีนจึงมีบทบาทในการสร้างครอบครัวหรือสืบสกุลต่อไป แม้จะออกอากาศเพียง 5 ตอนซึ่งถือเป็นขนาดที่สั้นมากเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ แต่กลับสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ ซีรีส์วาย เสียทีเดียว แต่คำว่า Coming of Age เบนเข็มความสนใจไปที่เส้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านของตัวละครจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ สอดแทรกแบบฉบับละครรักโรแมนติกทั้งจากความสัมพันธ์ของตัวละคร และจากบรรยากาศของเมืองภูเก็ตไว้อย่างแนบเนียน
ช่วงวัยของ “เต๋” ที่ถูกหยิบยกมานำเสนอเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ นั่นคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันห้วงแห่งความสับสนในอัตลักษณ์ก็คอยปะทุอยู่เรื่อย ๆ และค่อย ๆ คืบคลานเข้าไปในชุดความคิดของเต๋ ภายหลังที่เต๋และโอ้เอ๋วตัดสินใจสานสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนอีกครั้ง แต่การกลับมาครั้งนี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบในอดีตเสียทีเดียว แต่เป็นการคิดไปไกลเกิน “เพื่อน” ซึ่งระหว่างนั้นเต๋ก็มีหวานใจอยู่แล้วคือตาล ซึ่งเป็นเพศหญิง ทั้งสองทำให้เต๋สับสน จนไม่สร้างความชัดเจนทางสถานะให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากคนอื่นในด้านความสัมพันธ์กับโอ้เอ๋ว ซึ่งเป็นเพศชาย สับสนว่าตนต้องรู้สึกดีกับชายหรือหญิง เต๋กับโอ้เอ๋วจึงดำเนินความสัมพันธ์สุดฮิตตลอดกาล อย่างการเป็น มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน
ห้วงแห่งความสับสนของเต๋ทำให้เขาใช้ชีวิตท่ามกลางความงุนงงกับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย บางครั้งก็ไปหาตาล บางครั้งก็มาช่วยสอนภาษาจีนให้โอ้เอ๋ว ในขณะที่เต๋กำลังสับสน โอ้เอ๋วกลับพยายามหาความชัดเจนให้ตัวเองด้วยการสนใจคนอื่นทำให้ทั้งสองเกิดอารมณ์หึงหวงซึ่งกันและกัน เนื้อเรื่องดำเนินมาถึงเหตุการณ์ที่เต๋และโอ้เอ๋วทะเลาะกัน เพราะเต๋เห็นว่าการที่โอ้เอ๋วไปอ่านหนังสือกับคนอื่น พร้อมทั้งนำเทคนิคการสอนของเต๋ไปใช้กับคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ในขณะเดียวกันโอ้เอ๋วก็เห็นว่าการที่เต๋ไปหาตาลซึ่งเป็นเวลาเดียกับการที่ต้องมาสอนภาษาจีนให้โอ้เอ๋วเป็นเรื่องไม่ควรทำเช่นกัน เขาต้องการปรับความเข้าใจกับโอ้เอ๋วจึงเดินทางไปหาบนเรือข้ามฟากซึ่งโอ้เอ๋วใช้เดินทางกลับบ้านในทุก ๆ วัน
ฉากนี้เต๋ใส่เสื้อนักเรียน สีน้ำเงิน ซึ่งถูกวางให้เป็นสีประจำตัวของเต๋แล้วสวมทับด้วยเสื้อชูชีพ สีแดง ซึ่งถูกวางให้เป็นสีประจำตัวของโอ้เอ๋วตั้งแต่ต้นเรื่อง การใช้สีนั้นแสดงให้เห็นว่าโอ้เอ๋วกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตเต๋และเป็นสิ่งที่คอย “โอบรัด” เต๋ไว้โดยที่เขาก็ยังไม่รู้ว่าความรู้สึกเหล่านั้นคืออะไร เต๋จึงตัดสินใจนำ flashcard ภาษาจีนมาติวให้โอ้เอ๋วบนเรือ ภาษาจีน จึงเข้ามามีบทบาททางสัญญะแสดงความรู้สึกที่พรั่งพรูความรู้สึกอันกระอักกระอ่วนอยู่ภายในจิตใจของทั้งสอง โอ้เอ๋วแปลเป็นภาษาไทยว่า “วางใจ ใส่ใจ” แต่ “เสียใจ” เป็นคำที่โอ้เอ๋วตอบไม่ได้ เต๋จึงสอนว่าให้จำจากรากศัพท์ซึ่งรากศัพท์ของคำว่าเสียใจคือ คนสองคนที่กระทำความรุนแรงทางใจกับอีกฝ่าย คำนี้เลยแปลว่าเสียใจ (ตอนที่ 2) เห็นได้ชัดเจนว่าคำศัพท์เหล่านั้นเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ทางคำพูดจากก้นบึ้งความรู้สึกซึ่งนำมาใช้ร่วมกับบทสนทนาของตัวละครได้อย่างแยบยล
นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือเพื่อแสดงปมบางอย่างที่ถูกกดทับซึ่งตัวละครต้องการแสดงออกแต่ไม่สามารถทำได้จึงสะท้อนผ่านการใช้สัญลักษณ์อีกมากมาย เช่น ดอกชบา ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในมิติของโลกแห่งวรรณกรรมและภาพยนตร์ไทยมายาวนาน ในวรรณคดีไทยเรื่องเงาะป่า ดอกชบาก็กลายเป็นเครื่องประดับของเงาะป่าที่เป็นตัวแทนของคนชายขอบ หรือภาพยนตร์ไอ้ฟัก (จากคำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ) ตัวละครหญิงไทยแหวกขนบอย่างสมทรง จะทัดดอกชบาอยู่เสมอ สมทรงเป็นตัวละครหญิงสติไม่ดีจึงไม่เป็นที่ยอมรับของคนหมู่มาก ทั้งสองเรื่องแสดงนัยว่า “ดอกชบาเป็นสัญญะแสดงถึงการไม่ถูกยอมรับในสังคม” เช่นเดียวกับ “ดอกชบา” ในเรื่องนี้ก็ปรากฏฉากที่เต๋และโอ้เอ๋วทัดดอกชบาสีแดงให้กันแสดงถึงสิ่งที่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างหรือให้การยอมรับ การรักร่วมเพศ (Homosexuality) เท่าที่ควรหากมองในมุมของพฤกษศาสตร์ “ดอกชบา” เป็นดอกสมบูรณ์เพศคือมีทั้งเพศผู้และเพศเมียในดอกเดียวกัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมจะยอมรับความรักที่เกิดจากเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น อย่างไรก็ตามดอกชบา ยังปรากฏในฉากที่ตาล ต้องการพิสูจน์ความรู้สึกของเต๋ว่ายังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เต๋เผลอมองยกทรงลายดอกชบาสีม่วงของตาล ตาลจึงอยากพิสูจน์ความรู้สึกของเต๋อีกครั้งด้วยการวาดรูปดอกชบาให้เต๋เลือกระบายสี ซึ่งดินสอสีที่เต๋เลือกจะระบายแสดงสัญญะทางอำนาจของเพศชาย (phallus) ของเต๋ และดอกชบา (ทั้งสีแดงของโอ้เอ๋วและสีม่วงของตาล) เสมือนช่องสัมพันธ์แห่งรักในทางเพศ ท้ายที่สุดเต๋ก็เลือกใช้สีแดงแทนการใช้สีม่วง นั่นอาจแสดงให้เห็นว่ากำแพงแห่งความรู้สึกของเต๋อาจค่อย ๆ พังทลายลงจากการเลือกดอกชบาสีแดงซึ่งแทนตัวโอ้เอ๋วนั่นเอง
“เต๋” เริ่มพิสูจน์ความรู้สึกตัวเองอีกครั้งด้วยการสูดดมกลิ่นและกินเนื้อมะพร้าวอย่างหื่นกระหาย จากเดิม “กลิ่นมะพร้าว” ไม่เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเขาเท่าไหร่นัก กระทั่งกลิ่นมะพร้าวแสดงความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของโอ้เอ๋ว ทั้งในแง่ของการใช้แชมพูและปากกาที่มีส่วนผสมของกลิ่นมะพร้าว เป็นเหตุให้เกิดฉากที่เต๋ทดลองความรู้สึกที่ถูกกดทับอยู่ภายในด้วยตนเองท่ามกลางแสงไฟมืดสลัว ทั้งสูดดมกลิ่นมะพร้าวด้วยลมหายใจถี่และเร็ว การกินเนื้อมะพร้าวอย่างดุดัน มะพร้าวจึงเป็นเหมือนการทดแทน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการแสดงออกของเต๋ในฉากข้างต้นเป็นการขับแรงเคลื่อนของอารมณ์ทางเพศ หรือ การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองโดยมีมะพร้าวเป็นเครื่องทดแทนความเป็นโอ้เอ๋ว หากพิจารณาด้วยแง่มุมของพฤกษศาสตร์ มะพร้าว ยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลังหรือสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวซึ่งประกอบไปด้วยฮอร์โมนไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย
ซีรีส์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ใช้ สัญลักษณ์ และ การทดแทน กักเก็บอารมณ์ความรู้สึกที่เต๋ต้องการแสดงออกแต่ไม่สามารถทำได้เท่านั้น แต่ บรรทัดฐานทางสังคม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กดทับความรู้สึกของเต๋ แม้ต้องการแสดงออกเพียงใดแต่ก็ไม่สามารถทำได้ดั่งใจปรารถนา ตัวแปรที่คอยควบคุมความรู้สึกของตัวละครอยู่นั้นก็มีทั้งสังคมไทยที่ไม่เปิดกว้างในประเด็นของการรักร่วมเพศ กลุ่มเพื่อนชายของเต๋ที่มักจะโอ้อวดคนรักซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่เสมอปมดังกล่าวยิ่งตอกย้ำให้เต๋ เข้าใจว่าตัวเองก็ต้องมีแฟนเป็นเพศตรงข้ามเช่นเดียวกับเพื่อน หรือสังคมของความเป็นจีนในครอบครัวของเต๋ ซึ่งคาดหวังให้ลูกชายเชื้อสายจีนสร้างครอบครัวเพื่อสืบวงศ์ตระกูล เต๋จึงเข้าใจว่าตัวเองไม่สามารถชอบเพศเดียวกันได้อย่างแน่นอน
เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เต๋และโอ้เอ๋วผิดใจกันอีกครั้งคือทั้งสอง “จูบ” กันใต้น้ำทะเลซึ่งไม่ใช่แค่การใช้ภาพที่สวยงามของซีรีส์เท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกที่สะท้อนว่าในเมื่อสังคมไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวละครเป็น พวกเขาจึงต้องหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่ต้องการ คือ ใต้น้ำทะเล เพราะไม่มีใครสามารถเห็นได้ และพวกเขาเป็นตัวเองที่สุดเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่มีใครเห็น เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป เขากลับขอให้โอ้เอ๋วลืมการกระทำดังกล่าวเพราะเขาต้องการคงสถานะของมิตรภาพแห่งความเป็นเพื่อนไว้ แต่โอ้เอ๋วกลับต้องการความชัดเจนในความสัมพันธ์ ทั้งสองจึงผิดใจกันอีกครั้ง เต๋ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของเขาและโอ้เอ๋วเกินเลยไปจากคำว่า “เพื่อน” เพราะเขาปักใจเชื่อว่าตนไม่สามารถรู้สึกดีกับเพศเดียวกันได้ ซึ่งปมในใจนี้ก็ล้วนมาจากบรรทัดฐานทางสังคมแต่เดิมที่คอยตีกรอบล้อมรอบตัวละครนี้ไว้ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเพื่อความสุขของตัวเองได้ เมื่อเขากลับบ้านเขาก็ต้องเผชิญกับความกดดันอีกครั้งเมื่อ โก๊หุ้น พี่ชายของเขาพาคนรักซึ่งเป็นผู้หญิงมาแนะนำให้ครอบครัวรู้จัก แม่ของเต๋ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนจึงพูดกับเต๋ว่า “ม๊าอนุญาตให้เต๋มีแฟนแล้ว เอาอย่างโก๊เขาสิ…” (ตอนที่ 4) นอกจากความเป็นจีนจะกดทับความรู้สึกอันแท้จริงของเต๋ไว้แล้ว “โก๊หุ้น” ยังเป็นตัวแทนของความเป็นพ่อ (Father figure) ในแง่ของ ลูกชายคนโต ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเสาหลักของบ้านแทนพ่อซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งผลการเรียน หน้าที่การงาน และการสร้างครอบครัวของพี่ชายล้วนเป็นสิ่งที่แม่คาดหวังให้เต๋เป็นอย่างนั้น
แต่ คาดหวังมากก็ผิดหวังมาก เต๋สละสิทธิ์ในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพราะต้องการให้โอ้เอ๋วซึ่งอยู่ในรายชื่อตัวสำรองอันดับ 1 ได้เข้าเรียนแทน แต่โอ้เอ๋วซึ่งกำลังผิดใจกันกับเต๋เพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เขาจึงไม่รับความหวังดีที่เต๋มอบให้ เต๋จึงเสียใจมาก ฉากนี้ยังแสดงให้ผู้ชมเห็นภาพของหนังสือคำศัพท์ภาษาจีนที่ถูกตัดออกเพื่อไปทำ flashcard ให้โอเอ๋วซึ่งพยายามสื่อว่าเต๋มอบทุกอย่างให้กับโอ้เอ๋วทั้งหมดจนตัวเองไม่เหลืออะไรเลย ทั้งยังต้องรอสอบ admission ใหม่อีกครั้งทั้งที่ตัวเองก้าวขาเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่ก็จำต้องถอยออกมาเพราะอยากให้โอ้เอ๋วมีที่เรียน ในขณะเดียวกันซีรีส์ก็ซ่อนสัญญะทางความหมายของศัพท์ภาษาจีนที่หลงเหลืออยู่และยังไม่ถูกตัดออกไป ซึ่งมีคำแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยที่ล้วนแสดงความรู้สึกเชิงลบหรือแสดงความล้มเหลวออกมา เช่น ผิดหวัง ไม่มีศักยภาพ และไม่มีความสำคัญ การสื่อสัญญะด้วยภาษาจีนไม่เพียงแต่สะท้อนความเหลวแหลกของความพยายามที่เต๋มีต่อโอ้เอ๋วตลอดระยะเวลาที่ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งช่วยสอนภาษาจีนให้โอเอ๋วเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความว่างเปล่าจากรอยคำศัพท์บางคำที่ถูกตัดไป รวมถึงสภาพของกระดาษในหนังสือเล่มนั้นที่ยับเยินเกินกว่าจะอ่านเตรียมสอบอีกครั้ง สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในหนังสือภาษาจีนจึง ว่างเปล่าและยับเยิน ไม่แพ้กับความรู้สึกของเต๋เลย
“เต๋ชอบใครก็ได้…จริงเหรอ” (ตอนที่ 5) เป็นคำถามแสดงความสับสนที่ขัดแย้งอยู่ภายในชุดความคิดของเต๋ว่าเขาสามารถรู้สึกรักกับเพศเดียวกันได้จริงหรือ พี่ชายของเขาตอบว่า “มึงชอบใครก็ได้มาตั้งนานแล้ว” (ตอนที่ 5) นอกจาก “โก๊หุ้น” จะเป็น Father figure แล้วยังเป็นผู้ที่ช่วยปลดล็อกตัวละครเต๋ให้ข้ามผ่านความสับสนนั้นมาจนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าต้องเลือกใคร ในตอนจบ (ตอนที่ 5) เต๋เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นและมีความกล้ามากพอที่จะสานความสัมพันธ์ที่เรียกว่า แฟน กับโอ้เอ๋วในที่สุด แม้เรื่องจะดำเนินมาถึงตอนจบ แต่ฉากหลังที่เขาสารภาพความในใจร่วมกันเป็นส่วนปลายของแหลมพรหมเทพซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหรือคนในท้องถิ่นลงไปท่องเที่ยวมากนัก ฉากนี้ก็ยังเป็นฉากที่หลบซ่อนจากสายตาของผู้คนในสังคมเช่นเดียวกับฉากจูบใต้ท้องทะเล และแสดงให้เห็นถึงสิ่งเดียวกันคือ เมื่อทั้งสองอยู่ในที่ที่ไม่มีใคร พวกเขาจะเป็นตัวของตัวเองและสามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้อย่างไม่ต้องสนใจว่าสังคมจะมองพวกเขาอย่างไร
การเป็นซีรีส์แนว Coming of Age ผสมกับความ Romantic จะสมบูรณ์ไม่ได้หากตัวละครขาดการเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้ผู้อื่นจนก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด แปลรักฉันด้วยใจเธอ ทำให้ผู้ชม Coming of Age ไปพร้อมกับเต๋ ที่แม้จะ ก้าวผ่านขีดจำกัดของความเป็นเพื่อนไปได้บ้างแล้ว แต่ก็ยัง ไม่สามารถก้าวผ่านบรรทัดฐานทางสังคม ได้ และแม้ดูเหมือนว่าประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะเปิดกว้างแล้วในปัจจุบัน แท้จริงก็ยังเป็นเพียงประเด็นที่ “เหมือนว่า” จะถูกยอมรับก็เท่านั้น เต๋ยังต้องอาศัยสิ่งต่าง ๆ ในการปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกกดทับอยู่ลึกถึงก้นบึ้งในจิตใจของตัวเองเพื่อสื่อสารแทนการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เต๋เลือกใช้สีแดงระบายสีดอกชบา หรือการสูดดมกลิ่นมะพร้าวอย่างหื่นกระหาย แปลรักฉันด้วยใจเธอ จึงล้อกับการ แปล หรือถอดความภาษาจีน ซึ่งเป็นสัญญะสื่อความรู้สึกของเต๋ สู่ ความรัก ได้อย่างกลมกล่อม ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการพรั่งพรูอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างกลมกลืนจนไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านั้นช่วยปลดปล่อยปมที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเต๋ ออกมาอย่างหมดจดในที่สุด
1 Thaiherb Admin. 17 กุมภาพันธ์ 2564. มะพร้าวช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศจริงหรือไม่?.
สืบค้นจาก https://www.thaiherbinfo.com/th/article/.
กุลธิดา จารุรัตนานนท์
ผู้วิจารณ์