กรรมกร แรงงานผู้ทำงานหนักในวันนั้นกับกฎหมายด้านแรงงานในวันนี้ : บทวิจารณ์โดย อภิชญา พึ่งแพง

กรรมกร แรงงานผู้ทำงานหนักในวันนั้นกับกฎหมายด้านแรงงานในวันนี้

ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม : “กรรมกร” แรงงานผู้ทำงานหนักในวันนั้นกับกฎหมายด้านแรงงานในวันนี้

 

     โลกแห่งการทำงานเปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนไปด้วยพลังของฟันเฟืองแต่ละชิ้น ซึ่งก็มีทั้งฟันเฟืองที่ชื่อว่านายจ้าง ฟันเฟืองที่ชื่อว่าลูกจ้าง ทุกชิ้นส่วนจะต้องประกอบเข้ากัน และจะต้องไม่มีชิ้นส่วนใดที่ขาดหายไป เพราะหากขาดชิ้นส่วนไหนไป การทำงานของเครื่องจักรก็จะหยุดชะงัก และไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ดังนั้น  จึงอาจกล่าวได้ว่า ในโลกแห่งการทำงานนั้น นายจ้างและลูกจ้างต่างมีความสัมพันธ์ในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัยกัน นายจ้างจะช่วยดูแล มอบสวัสดิการ และค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อให้กับลูกจ้าง ในขณะที่ลูกจ้างก็จะทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำงานให้กับบริษัทของนายจ้างเช่นกัน ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง นายจ้างมักคิดถึงผลกำไรส่วนตนเป็นสำคัญ การที่ลูกจ้างจะหางานที่มีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ไม่เอาอัดเอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงเป็นไปได้ยาก ในบางครั้ง เมื่อเราไม่สามารถหางานที่สมน้ำสมเนื้อได้ เราจึงต้องยอมทำงานที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ ยอมทำงานที่ไม่มีสวัสดิการดีเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งยอมทำงานที่โดนกดค่าแรง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ หนึ่งในงานที่ไม่สมน้ำสมเนื้อมากที่สุดก็คือ “งานกรรมกร” งานใช้แรงงานที่มีความเสี่ยงอันตราย สวัสดิการที่ไม่สามารถครอบคลุมได้อย่างเพียงพอ และค่าตอบแทนอันน้อยนิด

 

      “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ.2534 คุณอาจินต์ได้ลงไปทำงานที่เหมืองแร่ตามคำสั่งของบิดา จึงทำให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวบ้าน และได้รับประสบการณ์การทำงานในเหมืองแร่มาอย่างเต็มเปี่ยม จึงอาจกล่าวได้ว่าผลงานเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ได้ถ่ายทอดแง่มุมบางอย่างจากประสบการณ์ของคุณอาจินต์เอาไว้ ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นชุดนี้ได้พูดถึงชายคนหนึ่งที่เดินทางมาพร้อมกับภรรยาเพื่อมาขอสมัครงานที่เหมืองแร่ แต่ชายคนนั้นเคยเป็นหนึ่งในผู้นำของการประท้วง ณ เหมืองแร่แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ จึงทำให้มีการประกาศไม่ให้เหมืองที่อื่นรับชายคนนี้เข้าทำงาน แต่นายฝรั่งเจ้าของเหมืองแห่งนี้ก็รับชายคนนั้นเข้าทำงานหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะมองว่าชายคนนี้ได้เปลี่ยนไปจากตอนที่ทำการประท้วง

 

       เรื่องสั้น “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ไม่มีโครงเรื่องที่ซับซ้อน สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งยังมีความแปลกใหม่ในแวดวงวรรณกรรมสมัยนั้น เพราะเป็นเรื่องสั้นที่จบในตัว ไม่ได้มีตอนที่เกี่ยวเนื่องกัน เรื่องสั้นข้างต้นมีแนวคิดในเรื่องของมนุษยธรรมที่ค่อนข้างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวของสามีภรรยาคู่นี้ ตัวฝ่ายชายที่ตกงานหลังจากทำการประท้วงที่เหมืองแร่แห่งหนึ่งทางภาคเหนือได้มีลูกกับฝ่ายหญิง และได้มีการจดทะเบียนสมรสกัน เพื่อที่จะทำงาน หาเงินมาเลี้ยงดูลูกและภรรยา ชายหญิงคู่นี้จึงเดินทางมาสมัครงานกรรมกรยังเหมืองแร่แห่งนี้ นายฝรั่งที่ได้สอบถามเรื่องราวความเป็นมาก็พบว่าชายคนนี้ได้มีการจดทะเบียนสมรสกับภรรยา ทั้งยังมีลูกที่รอลืมตาดูโลกช่างแตกต่างกับชายโสดคนที่ทำการประท้วงในครั้งนั้น นายฝรั่งจึงได้หยิบยื่นโอกาสในการทำงานให้กับฝ่ายชาย และให้ที่พักกับฝ่ายหญิง แม้จะเป็นการขัดกับประกาศของเหมืองทางเหนือ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมีมนุษยธรรม ความมีน้ำใจที่พร้อมจะหยิบยื่นโอกาสให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่กำลังเดือดร้อน    

 

     แม้โอกาสที่นายฝรั่งมอบให้ชายคนนั้นจะเปี่ยมไปด้วยความมีมนุษยธรรม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า “กรรมกร” ซึ่งเป็นแรงงานของที่นี่กลับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากลำบาก สิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของการทำงานมีความแตกต่างจากอาชีพอื่น ๆ จนเข้าขั้นที่ดูเหมือนมีความกดขี่แรงงานอยู่

 

     การทำงานในเหมืองแร่มีรูปแบบการทำงานเป็นกะ แม้จะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนแรงงานมาทำ แต่ด้วยเนื้องานที่จำเป็นต้องใช้แรงงานค่อนข้างหนัก จึงสร้างภาระทางด้านร่างกายเป็นอย่างมาก การทำงานเหมืองแร่จึงควรมีวันหยุดพัก เพื่อให้แรงงานกรรมกรได้พักผ่อนร่างกายจากความเหนื่อยล้า แต่วันหยุดที่พูดถึงก็ไม่ปรากฏในเรื่องสั้นนี้ ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อไปนี้ “วันอาทิตย์ในเหมืองแร่ไม่ใช่วันอาทิตย์ของข้าราชการ พนักงานห้างร้านในเมือง มันไม่ใช่วันหยุด แต่มันเป็นวันเปลี่ยนกะ คนที่เคยอยู่กะกลางคืนดึกอดนอนมา ๗ วัน ก็จะได้กระโดดมากะเช้า ส่วนคนที่อยู่กะเช้าก็ไปผลัดเปลี่ยน ฝ่ายคนที่อยู่กะบ่ายจนถึงห้าทุ่มก็จงเตรียมตัวที่จะถูกทดไปเป็นกะดึกที่อดนอนในอาทิตย์ต่อไป . . .” (อาจินต์, น.1)
 

     จะเห็นได้ว่ากรรมกรที่ทำงานในเหมืองแร่มีการเปลี่ยนกะการทำงานทุกหนึ่งสัปดาห์ ทำให้มีการผลัดเปลี่ยนแรงงานของแต่ละกะ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าข้อความข้างต้นไม่ปรากฏข้อมูลวันหยุดพักผ่อนของแรงงาน จึงอาจตีความได้ว่ากรรมกรในเหมืองแร่แห่งนี้ต้องทำงานทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดพักผ่อนเลย อีกทั้งจำนวนชั่วโมงของการทำงานในแต่ละวันก็มากเกินไป การที่นายจ้างให้กรรมกรทำงานหนักเช่นนี้จึงค่อนข้างเข้าข่ายเอาเปรียบและกดขี่ลูกจ้างอยู่มาก ในอดีตอาจไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง จึงทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบโดยที่ลูกจ้างอาจไม่รู้ตัว หรืออาจไม่มีสิทธิเลือก หากเป็นในปัจจุบัน ลักษณะการทำงานเช่นนี้ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่มีเนื้อหาระบุเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวันเอาไว้ว่าไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องวันหยุดของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องมีการตกลงหรือแจ้งกับลูกจ้างล่วงหน้าอีกด้วย เมื่อมีข้อกฎหมายในการคุ้มครองเช่นนี้ จึงทำให้แรงงานกรรมกรในสมัยนี้ได้รับความเป็นธรรมในการทำงานมากขึ้น กล่าวคือ มีวันหยุดพักผ่อน และมีชั่วโมงการทำงานตรงกับข้อกฎหมายพื้นฐาน จึงทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานในสมัยนี้ดีกว่าแรงงานกรรมกรในสมัยก่อนที่ไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย   
 

     กรรมกรในเหมืองแร่ นอกจากจะต้องทำงานขุดหาแร่ ก็ยังต้องคอยดูแลความเรียบร้อยของสภาพแวดล้อมโดยรอบของที่ทำงานอีกด้วย การทำงานในเหมืองแร่ทำให้ต้องอาศัยห่างจากชุมชน ห่างไกลจากความเจริญ เมื่อเกิดอุบัติเหตุในเหมืองจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจนต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกจึงทำได้ยาก ลำพังแค่นายจ้างคนเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้งหมด กรรมกรทุกคนจึงต้องช่วยเหลือกัน ดังความต่อไปนี้


     แต่มันมีวันอาทิตย์ชนิดพิเศษ เพราะเหตุว่าฝนฟ้าพายุไม่เคยเชื่อปฏิทิน . . . ในกรณีนี้ถ้าข้าพเจ้าไปถึงบริเวณงานเสียแล้วก็จะต้องเปียกซ่กร่วมกับคนงานกองซ่อมถนนที่กำลังต่อสู้กับสายน้ำที่พุ่งแรงราวหอกดาบจากร่องภูเขาลงมาแทงถนนดินของเราให้ขาดกลาง หรือหากว่าไปถึงบริเวณเรือขุดแล้วก็จะต้องช่วยเขาลุยโคลน แบกสายลวด สายสมอ เปลี่ยนหลุม


     และหากว่าอาทิตย์ไหนฝนมันเกิดขยันขึ้นมาเป็นพิเศษ มันก็จะเนรมิตให้ลำธารอันเคยเกียจคร้านอ่อนแอกลายเป็นท่อยักษ์มหึมา พ่นน้ำป่าออกมาอย่างบ้าคลั่ง มันจะทำลายทำนบขังน้ำที่ท้ายเรือขุด . . . ทุกคนช่วยกันเหมือนจะรบทัพจับศึก แม้แต่ชาวบ้านก็ตื่นเต้นเผ่นออกจากชายคามาดูและช่วยโดยไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง . . . (อาจินต์, น.1-2)
 

     จากข้อความข้างต้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความลำบากและปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีภัยพิบัติ โดยข้อความข้างต้นปรากฏภัยทางธรรมชาติที่สำคัญอย่างพายุฝน ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมโดยรอบของสถานที่ทำงานได้ โดยอาจก่อให้เกิดน้ำหลาก ถนนทรุด สร้างความลำบากในการสัญจรไปมา หากพายุฝนมีความรุนแรงมากจนทำให้ทำนบกั้นน้ำพัง ก็จะต้องขอแรงจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ มาช่วยตัดต้นไม้ ขนทรายไปรักษาทำนบเอาไว้ แม้ข้อความดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสามัคคีของกรรมกรและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่กลับไม่ปรากฏการตอบแทนน้ำใจของชาวบ้าน หรือการมอบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลให้กับกรรมกรเลย จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กรรมกรเหมืองแร่ในเรื่องสั้นดังกล่าว ได้รับสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบาลบ้างหรือไม่ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีเนื้อหาที่พูดถึงเกี่ยวกับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของลูกจ้างเอาไว้ด้วยเช่นกัน อาทิ นายจ้างต้องจัดให้มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล การจัดห้องพยาบาล ตลอดจนการนำลูกจ้างส่งโรงพยาบาล แต่ในเรื่องสั้นนี้ยังไม่ปรากฏฉากที่ลูกจ้างกรรมกรเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บ จึงอาจกล่าวได้ยากว่าในสมัยก่อนไม่มีการมอบสวัสดิการด้านการรักษาให้แก่ลูกจ้าง
 

     ฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนเพื่อให้เครื่องจักรสามารถดำเนินต่อไปได้นั้นไม่สามารถทำงานโดยปราศจากวันหยุดพักได้ และหากไม่มีการดูแลรักษา เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานเอาไว้ ไม่ช้า ฟันเฟืองชิ้นนั้นก็อาจพังลงได้ เช่นเดียวกันกับการทำงานที่นายจ้างไม่ควรเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างให้ทำงานที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ หากฟันเฟืองพัง ก็ยังหาอะไหล่มาเปลี่ยนแทนได้ แต่ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องสูญเสียไปเพราะการทำงานหนักนั้นไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ในสมัยก่อนอาจยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง จึงทำให้เกิดการทำงานที่ไม่เป็นธรรมต่อตัวลูกจ้างขึ้นมากมาย ซึ่งการทำงานที่มากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย และอาจรวมไปถึงสภาพจิตใจของลูกจ้างในระยะยาว
 

     ในเรื่องสั้น “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ได้แสดงให้เห็นสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานกรรมกรที่มีความยากลำบาก ต้องทำงานหนักตลอดสัปดาห์ ทั้งยังเต็มไปด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน หรืออาจเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นายฝรั่งซึ่งเป็นนายจ้างของเหมืองไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและสิทธิที่แรงงานกรรมกรในเหมืองควรได้รับ จึงก่อให้เกิดการทำงานที่ไม่สมน้ำสมเนื้อขึ้น แต่ในปัจจุบัน ลูกจ้างทุกคนถูกคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทำให้การทำงานมีความสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น เพราะลูกจ้างได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ทำให้มีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากมีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างก็สามารถฟ้องร้องกันได้ ทำให้การเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างลดลงด้วยอิทธิพลของข้อกฎหมาย ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรมจึงทำให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพการทำงานของกรรมกรในเหมืองแร่ในสมัยก่อนที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทำให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพการทำงานที่เกิดขึ้น และเกิดความตระหนักต่อเรื่องสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรได้รับมากขึ้น  

 

"กรรมกร" แรงงานผู้ทำงานหนักในวันนั้นกับกฎหมายด้านแรงงานในวันนี้
บทวิจารณ์โดย อภิชญา พึ่งแพง

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ