18 ตุลาคม ค.ศ. 1851 หนังสือ Moby-Dick ออกวางจำหน่ายครั้งแรก : นวนิยายแนวผจญภัยโดยเฮอร์แมน เมลวิลล์

18 ตุลาคม ค.ศ. 1851 หนังสือ Moby-Dick ออกวางจำหน่ายครั้งแรก

 

       โมบี้ดิก (Moby-Dick) คือนวนิยายของ เฮอร์มัน เมลวิลล์ ในปี ค.ศ. 1851 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางผจญภัยของกะลาสีชื่อ อิชมาเอล ในเรือล่าวาฬ Pequod และกัปตันเรือชื่อ อาฮับ ไม่นานอิชมาเอลก็ทราบว่า อาฮับกำลังออกติดตามหาวาฬตัวหนึ่งชื่อ โมบิดิก ซึ่งเป็นวาฬสีขาวขนาดมหึมาที่ดุร้ายมาก ไม่ค่อยมีเรือล่าวาฬลำใดรู้จักโมบิดิก ยิ่งที่เคยได้เจอตัวมันยิ่งน้อยนัก เมื่ออาฮับเจอมันคราวก่อน วาฬยักษ์ทำลายเรือของอาฮับและยังกัดขาเขาขาด อาฮับจึงคิดจะตามแก้แค้น

 

      ในเรื่อง โมบี้ดิก เมลวิลล์ได้ใช้กลวิธีทางภาษา สัญลักษณ์ และการเปรียบเทียบต่างๆ ในการนำเสนอโครงเรื่องอันซับซ้อน ผ่านทางตัวละครหลัก โดยสื่อถึงเรื่องของชนชั้นและฐานะทางสังคม ความดี ความชั่ว และยังสื่อมุมมองต่อพระเจ้ากับศาสนาคริสต์ ผ่านความเชื่อส่วนตัวของอิชมาเอล กับ เควเคว็ก พลฉมวกคู่หูซึ่งเป็นชาวเกาะนอกศาสนา รวมถึงบุคลิกเกรี้ยวกราดเหนือธรรมชาติของกัปตันอาฮับ เมลวิลล์สะท้อนเรื่องราวผ่านวิธีการเล่าของผู้เล่าเรื่อง การบรรยายสภาพชีวิตของกะลาสีบนเรือล่าวาฬ ค่อยๆ ถักทอเรื่องราวไปพร้อมกับการใช้ภาษาแบบเชกสเปียร์ และคิงเจมส์ไบเบิ้ล ซึ่งล้วนเป็น ภาษาอังกฤษปลายสมัยราชีนีอลิซาเบธที่ 1 (Elisabethan English) และเป็นภาษามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่องานวรรณคดีของทั้งฝั่งอังกฤษ และอเมริกัน นอกจากนี้เมลวิลล์ยังใช้เทคนิคทางวรรณกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็น บทกวี บทเพลง การเล่าเรื่องผ่านมุมมองเหมือนละครเวที และใช้วิธีการรำพึงกับตัวเองของตัวละครเพื่อบอกเล่าความนึกคิด

 

     นักวิจารณ์เห็นว่างานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุคจินตนิยมในสหรัฐอเมริกา โมบี้ดิก ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ริชาร์ด เบนท์ลีย์ ในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1851 โดยแบ่งพิมพ์ออกเป็น 3 เล่มชุด ใช้ชื่อเรื่องว่า The Whale ต่อมาจึงพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกันโดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์และพี่น้อง ในนครนิวยอร์ก ใช้ชื่อเรื่องว่า Moby-Dick; or, The Whale เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1851 ประโยคแรกในบทที่หนึ่งคือ —"Call me Ishmael."— ("เรียกข้าพเจ้าว่า อิชมาเอล") ถือเป็นหนึ่งในประโยคเปิดเรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดางานวรรณกรรมทั้งปวง

 

     อย่างไรก็ดีเนื่องจาก โมบี้ดิก มีเนื้อหาแฝงคำวิจารณ์ทางศาสนาไว้มากมาย เช่น การที่แต่งให้อิชมาเอลเป็นคนไม่เชื่อศาสนา และมีความสัมพันธ์เชิงรักร่วมเพศกับ เควเคว็ก เพื่อนผิวสีที่นับถือจารีตของชนเผ่าป่าเถื่อน เมื่อหนังสือออกตีพิมพ์คราวแรก จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมากมาย แม้ว่าทางสำนักพิมพ์ในอังกฤษจะเซ็นเซ่อร์ข้อความที่แสดงทัศนะหมิ่นศาสนาคริสต์ออกไปมากแล้วก็ตาม โมบี้ดิก กลายเป็นหนังสือที่ขายไม่ได้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ยุติอาชีพทางการประพันธ์ของเมลวิลล์ นิยายเล่มนี้ถูกผู้อ่านลืมเลือนไปจน ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดังมาค้นพบเข้าในช่วงทศวรรษที่ 1920s และให้คำนิยมว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญ นับแต่นั้นมา โมบี้ดิก ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเอกของอเมริกา ควบคู่ไปกับบทกวีของ วอล์ท วิทแมน กวีเอกชาวอเมริกันผู้มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับเมลวิลล์ นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง ศ.แฮโรลด์ บลูม ให้ความเห็นว่า โมบี้ดิก เป็น "มหากาพย์ร้อยแก้ว" (epic prose) ประจำชาติอเมริกา และเป็นหนังสือนิยายที่ดีที่สุดจากปลายปากกาของนักเขียนอเมริกันตราบจนปัจจุบัน

 

สำหรับในเวอร์ชั่นภาษาไทย 

     - แปลในชื่อ โมบี ดิ๊ก โดย บุญเนื่อง บุณยเนตร (พ.ศ. 2509)

     - แปลในชื่อ โมบี้ ดิ๊ค โดย สายธาร (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ. 2518)

     - แปลในชื่อ โมบี ดิ้ก วาฬมหาภัย โดย คีรีบูน

     - แปลในชื่อโมบี้-ดิ๊ก โดยกลุ่มวรรณกรรมไม่จำกัดได้ร่วมกับ Readery ร้านหนังสือออนไลน์ จัดโครงการระดมทุนเพื่อ-สนับสนุนการแปล Moby-Dick ฉบับภาษาไทย โดยมีคุณขวัญดวง แซ่เตีย เป็นผู้แปล (จัดพิมพ์ พ.ศ. 2558)

    - แปลในชื่อ โมบี้ ดิ๊ค โดย ขวัญดวง แซ่เตีย ( สำนักพิมพ์ทับหนังสือ พ.ศ. 2560)

     - แปลในชื่อ โมบี้ ดิ๊ค โดย สายธาร (ปรับปรุงต้นฉบับ พิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ. 2561)

 

(หากผิดพลาดทางข้อมูลต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ