เลือกหนังสืออย่างไร : ให้เหมาะกับวัยของลูก

เลือกหนังสืออย่างไร

 

ความสำคัญของหนังสือสำหรับเด็ก

     หนังสือสำหรับเด็กเป็นหนังสือที่ผลิตขึ้นเพื่อให้เด็กอ่าน  ส่วนประกอบต่างๆของหนังสือ ต้องเหมาะสมกับความรู้และวัยของเด็ก กล่าวคือหนังสือสำหรับเด็ก  หมายถึง  หนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กได้อ่านและเรียนรู้จากเนื้อหาสาระที่มุ่งให้ความรู้หรือความเพลิดเพลิน  เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการอ่านและเกิดนิสัยรักการอ่าน

 

หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0-3 ขวบ


     หนังสือภาพสำหรับ "เด็กวัยทารก" นี้ ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นหนังสือภาพเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดปิดได้ ซึ่งพอเปิดดูข้างในแล้ว ก็มีภาพต่างๆ หลากหลายสี เรียงรายกันอยู่ในแต่ละหน้า เด็กจะรู้สึกสนุกกับการค้นพบ สำหรับสิ่งที่น่าสนใจนี้ ถ้าเปิดหน้าไหนแล้ว พบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่น แมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมากเป็นพิเศษ และจะส่งเสียงร้อง บื๋อ บื๋อ เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า บ๊อก บ๊อก เมื่อเห็นภาพสุนัข

 

     สำหรับหนังสือภาพที่เหมาะสมกับเด็กวันนี้ ควรเป็นหนังสือภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่างๆ หรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง มีความสวยงาม ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบของภาพที่รกรุงรัง

 

     พอขึ้นวัย 2 ขวบ เด็กแต่ละ คนจะเริ่มมีความชอบที่ต่างกัน ดังนั้นการเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน หนังสือภาพควรมาพร้อมกับความสุขของลูก เช่น เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หนังสือภาพสัตว์ และสิ่งของ

 

     นอกจากนี้ หนังสือกาพย์กลอนสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบ ก็เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้เช่นกัน เนื่องจากเด็กวันนี้จะมีประสาททางหูที่ดีมาก และสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงวัย 2-4 ขวบ เด็กที่ฟังเสียง และภาษาที่มีจังหวะ บางคนถึงกับจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม และอ่านได้ถูกต้องทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก ดังนั้นหนังสือที่มีบทกวีดีๆ จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับพ่อแม่ในการอ่านให้ลูกฟัง

 

     ก้าวระดับมาถึงวัย 3 ขวบ เด็ก จะมีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง มีจินตนาการสร้างสรรค์ แล้วมีความอยากรู้อยากเห็นมาก สามารถติดตาม และเข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ได้แล้ว รวมทั้งเด็กวัยนี้จะชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ส่วนเรื่องไหนที่ชอบมาก เด็กก็จะให้อ่านซ้ำ ไม่รู้จักเบื่อ ทั้งๆ ที่จำเรื่องได้หมดทุกตัวอักษรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็ตาม ดังนั้นหากเด็กวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กในอนาคต ซึ่งเด็กที่ที่เคยรู้สึกปีติยินดีกับหนังสือภาพตั้งแต่ 3 ขวบจะไม่ห่างหนังสือไปตลอดชีวิต

 

หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 4-5 ขวบ
 

     เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ความ สามารถทางภาษาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคน จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน การเลือกหนังสือจึงยากขึ้น ดังนั้นหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก เพราะเด็กวัย 4 ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์

 

     ดังนั้น เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน ซึ่งภาพเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อลูกได้ฟัง ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฎขึ้นให้เด็กเห็นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าจะไม่มีอะไรเลยก็ตาม แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น

 

     สำหรับเด็กวัย 5 ขวบ จะชอบ หนังสือภาพนิทาน และเรื่องเล่าที่ยาวขึ้น เด็กต้องการฟังนิทานมาก แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน บางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวกันทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าติดต่อกันหลายสัปดาห์ แสดงว่า เด็กชอบหนังสือเล่มนั้นมากเป็นพิเศษ และการค้นหาหนังสือที่ลูกชอบมากเป็นพิเศษเล่มนั้น นับว่ามีความหมายต่อเด็กมาก

 

     พอเข้าสู่วัย 6 ขวบ พ่อแม่ สามารถอ่านหนังสือนิทานเรื่องราวให้ลูกฟังเป็นตอนๆ ติดต่อกันทุกวัน เด็กจะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น ซึ่งนิทาน หรือบทประพันธ์สำหรับเด็กวัยนี้ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านให้เด็กฟัง เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก

 

     เห็นได้ว่า "หนังสือภาพ" เพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือภาพที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ "ความสุข+ความสนุก" แก่เด็ก ช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก และหนังสือภาพไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรอ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษย์สัมพันธ์ให้เด็กได้เป็ยอย่างดี

 

 

อ้างอิง :

https://www.gotoknow.org/posts/230054

ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ