วัยหวาน วันวานยังหวานอยู่ : รื่นรมย์ในโรงพิมพ์

วัยหวาน วันวานยังหวานอยู่

  แท่นพิมพ์ยังทำงานอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยอยู่บริเวณชั้นล่างบนของโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์...วันไหนถ้างานไม่มากพอถึงห้าหกโมงเย็นแท่นพิมพ์จะหยุดทำงานและเงียบสนิท แต่ถ้าวันไหนมีงานเร่งด่วนจำนวนมาก เสียงแท่นพิมพ์จะดังถึงดึกดื่นค่อนคืน โดยมี “เฮียธง” หัวหน้าแผนกจัดพิมพ์คอยดูแลกระบวนการพิมพ์ทั้งหมด ดังนั้นวันคืนในบริเวณนี้จึงอบอวลด้วยกลิ่นสี กลิ่นหมึก กลิ่นน้ำมัน และกลิ่นกระดาษ ต่างจากบนชั้นสามของโรงพิมพ์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิตยสารต่างๆ ของค่ายประพันธ์สาส์น โดยมีกองบรรณาธิการทำหน้าที่ป้อนงานมายังแท่นพิมพ์ตามกระบวนการพิมพ์หนังสืออีกทอดหนึ่ง

 

วัยหวาน

น้ำมนต์ อยู่สกุล-ทำข่าวกีฬาสมัยหนุ่มๆ เดินประกอบกับผู้ท้าชิง “ไอ้แสบ” แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

 

             บนชั้นสามของโรงพิมพ์ ห้องใหญ่ทางขวามือสุดห้องสุดท้ายนั่นแหละคือสำนักงาน “นิตยสารวัยหวาน” ซึ่งถือเป็นนิตยสารวัยรุ่นที่ในอดีตโด่งดังระดับตำนานอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย  แม้ว่าทุกวันนี้ “นิตยสารวัยหวาน” จะเหลือเพียงความทรงจำ แต่ถึงกระนั้นวันวานก็ยังหวานอยู่

             และถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งสำหรับวงการนิตยสารแนววัยรุ่นเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเรื่องราวแง่มุมที่น่าสนใจ และยังไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างละเอียดแต่อย่างใดมาก่อน  โดยนิตยสารฉบับนี้เป็นแบรนด์ที่วัยรุ่นไทยยุคนั้นให้การต้อนรับอย่างมากมาย นอกจากนี้ “นิตยสารวัยหวาน” ยังเป็นเวทีที่วงดนตรีสตริงวัยรุ่นจำนวนมากอยากจะขึ้นปกสักครั้งอีกด้วย  

           บรรยากาศของห้องทำงาน “นิตยสารวัยหวาน” บนชั้นสามของโรงพิมพ์นั้น ในแต่ละวันนอกจากจะมีคณะทำงานในกองบรรณาธิการ ยังคึกคักไปด้วยนักร้องนักดนตรีวัยรุ่นที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นในขณะนั้นแวะเวียนกันมาแทบทุกวัน เพื่อมาให้นักข่าววัยหวานสัมภาษณ์ พร้อมถ่ายแบบขึ้นปกเผยแพร่ใน “นิตยสารวัยหวาน” นั่นเอง   สตูดิโอถ่ายภาพจะอยู่บริเวณชั้นสองของโรงพิมพ์ ดังนั้นถ้าวันไหนมีวงสตริงมาถ่ายแบบจะเดินขึ้นลงระหว่างชั้นสองกับชั้นสามอย่างขวักไขว่เลยทีเดียว

            ถ้าจะบอกว่าวงสตริงวัยรุ่นไทยที่โด่งดังในยุคนั้นล้วนแล้วแต่ขึ้นปก “นิตยสารวัยหวาน” มาแล้วทั้งสิ้นก็ย่อมได้...ไม่ว่าจะเป็นฟรุ๊ตตี้, คีรีบูน, บรั่นดี, เรนโบว์, ฟอร์เอเวอร์, ซิกเซ็นซ์, อินทนิล และอีกมากมายหลายวง รวมทั้ง “แอ๊ด คาราบาว” ก็ยังเคยขึ้นปกวัยหวานมาแล้ว  และไม่เพียงแต่จะขึ้นปกทั้งวงเท่านั้น ยังขึ้นปกแบบศิลปินเดี่ยวศิลปินคู่ หรือไม่บางปกก็มีดาราวัยรุ่นดังๆ ในสมัยนั้นมาปรากฏบนปก “นิตยสารวัยหวาน” ด้วย

 

วัยหวาน

 

            ลองหลับตาแล้วคิดและนึกภาพดู....หากสามารถดึงเอาวันเวลาของ “นิตยสารวัยหวาน” เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วมาไว้ในปัจจุบันนี้ สำนักงานของนิตยสารจะไม่ได้มีเพียงศิลปินวงดนตรีวัยรุ่นไทยเท่านั้นที่เดินเข้า-ออก แต่จะมีวงดนตรีวัยรุ่นชื่อดังทั้งของเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนที่เดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตในเมืองไทยที่มาถ่ายแบบขึ้นปกพร้อมให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร รวมทั้งจะต้องมีแฟนคลับวัยรุ่นมากรี๊ดกันจนอลหม่าน   ขณะเดียวกัน ชื่อ “วัยหวาน” ก็ยังมีทั้งสื่อที่เป็นหนังสือ และสื่อออนไลน์หลายรูปแบบในยุคดิจิทัลอย่างแน่นอน

 

วัยหวาน

“น้ำมนต์ อยู่สกุล” ในปัจจุบัน

 

             จุดเริ่มต้นของ “นิตยสารวัยหวาน” ผู้ที่ทำให้นิตยสารเล่มนี้แจ้งเกิดในบรรณพิภพ และเป็นต้นคิดครั้งแรกก็คือ “น้ำมนต์ อยู่สกุล” นั่นเอง   เส้นทางในวงการหนังสือของน้ำมนต์ถือว่าโชกโชนและมากประสบการณ์ เพราะผ่านงานมามากมายสารพัดรูปแบบ ทั้งเป็นนักข่าว บรรณาธิการ เป็นฟรีแลนซ์เขียนสกู๊ปให้นิตยสารต่างๆ หลายแห่ง ทำพ็อกเก็ตบุ๊คและนิตยสารหลากหลายแนว บางเล่มล้มลุกคลุกคลาน บางเล่มประสบผลสำเร็จ

             “ก่อนที่จะมาทำนิตยสารวัยหวานนั้น...เขียนสกู๊ปในนิตยสารแนววัยรุ่นเล่มหนึ่งให้คุณไพบูลย์แห่งค่ายจินดาสาส์น ชื่อนิตยสาร ‘แรกรุ่น’ โดยค่ายนี้มีนิตยสารหลายหัวหลายแนว  พี่ราช เลอสรวงก็ทำอยู่ที่นี่เหมือนกัน...อีกคนที่รู้จักก็คือ ‘พี่ ตุ๊-อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา’...อยู่ไปอยู่มาจนกระทั่งวันหนึ่งก็คิดอยากจะออกนิตยสารเป็นของตัวเองสักเล่ม”

 

วัยหวาน

“พี่ตุ๊-อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ยุคทำวัยหวาน

 

              จากนั้น พี่ ตุ๊-อดุลย์พันธ์ฯ จึงพาน้ำมนต์ อยู่สกุล มารู้จักกับ “เฮียชิว” หรือ “สุพล เตชะธาดา” แห่งประพันธ์สาส์น โดยแนวเนื้อหาสาระของนิตยสารที่น้ำมนต์คิดไว้ในหัวแล้วนั้น เป็นนิตยสารแนวแฟชั่นและบันเทิงวัยรุ่น ซึ่งหลังการพบปะพูดคุยกับเฮียชิว ทุกอย่างก็ลงตัว 

              แต่ที่น้ำมนต์ติดขัดก็คือการตั้งชื่อหัวนิตยสาร เพราะไม่ง่ายที่จะตั้งชื่อให้โดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้โดนใจวัยรุ่นยุคนั้น

              ในที่สุดน้ำมนต์ อยู่สกุล จึงไปพบกับรุ่นพี่ที่นับถือและรู้จักกันคนหนึ่งเพื่อให้ช่วยตั้งชื่อหัวนิตยสารให้ 

              โดยคนคนนั้นก็คือ  “สันติ เศวตวิมล” หรือ “แม่ช้อย นางรำ” นั่นเอง! 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ