อยากเขียนนิยายแต่คิดไม่ออก : ทำอย่างไรดี

อยากเขียนนิยายแต่คิดไม่ออก

 

                เคยใช่ไหม เมื่อเราอยากเขียนนิยายดีๆสักเรื่อง แต่กลับหาไอเดียเริ่มต้นไม่เจอ คิดพล็อตไม่ออกซะอย่างนั้น สิ่งนี้คือปัญหาระดับชาติที่นักเขียนทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมือเก๋าระดับอาชีพก็ตาม ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการหาไอเดียเพื่อที่จะช่วยให้เราคิดพล็อตเจ๋งๆได้สักเรื่อง

                กฎข้อแรกที่นักเขียนมืออาชีพทุกคนจะแนะนำคือ ให้เราออกไปพบสิ่งใหม่ๆรอบตัว อย่างเช่นเดินทางไปยังที่ไม่เคยไป บางคนก็เลือกหาสถานที่บรรยากาศดีๆอย่างเช่นร้านกาแฟ(รู้หรือไม่ กลิ่นกาแฟช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานได้ดีขึ้น) นั่งมองดูผู้คนที่เดินผ่านไป เพื่อสังเกตสิ่งใหม่ๆรอบตัวที่เราไม่เคยพบมาก่อน

                การกระทำเช่นนี้เพื่อช่วยให้เราหลีกพ้นไปจากการคิดวนเวียนซ้ำๆ การสังเกตสิ่งแวดล้อมใหม่ๆจะช่วยเราได้อย่างดี บางทีเราอาจจะเห็นเรื่องราวที่น่าสนใจจนสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มเติม หรือไม่ก็บุคลิกที่น่าสนใจของคนที่ผ่านไปมา การจุดประกายความคิดเป็นสิ่งสำคัญมากในการเริ่มต้นไอเดียใหม่ๆ การออกไปค้นหาแรงบันดาลใจจึงเป็นคำตอบที่ดีทีเดียว

                ข้อสอง Mix and Match ในข้อนี้ใช้ได้ดีสำหรับคนที่มีข้อมูลอยู่ในมือมากๆ แต่เลือกไม่ถูกใจสักอย่าง ข้อแนะนำข้อนี้ช่วยท่านได้ การจับคู่ประหลาดๆบางครั้งก็อาจทำให้เราได้พบบางอย่างที่คาดไม่ถึง อันที่จริงแล้ว มีตัวอย่างดีๆมากมายที่อยากบอกผู้อ่าน แต่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน จึงขอยกตัวอย่างด้วยหนังเกรดบีจะเข้าใจง่ายกว่า เช่น การจับคู่ของ พายุ+ฉลาม ออกมาเป็น Sharknado หนังฉลามระทึกขวัญที่สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาแก่ผู้ชมด้วยพล็อตที่แปลก(ประหลาด)ใหม่ เล่าเรื่องถึงปลาฉลามที่ถูกพายุหอบขึ้นไปบนฟ้าแล้วออกอาละวาดไล่กัดคน หลายๆคนที่ดูเรื่องนี้แล้วบอกกันเป็นเสียงเดียวว่าช่างเป็นหนังที่สติแตกสุดๆ ไม่สมเหตุสมผลสักอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็หนังเรื่องนี้ก็สร้างมาถึงสามภาคติดๆกัน และก็สามารถเรียกความสนใจ(?)ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

                สาเหตุที่ยกตัวอย่างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของการจับคู่ที่สามารถทลายกำแพงของความเป็นไปได้ทางความคิดได้อย่างดี หากจับคู่ดีๆเราก็อาจจะได้ไอเดียที่สร้างสรรค์(หรืออาจจะบ้าบอก็เป็นได้)ที่เราคาดไม่ถึง

                ข้อสาม ค้นหาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราชื่นชอบ ยกตัวอย่างเช่นเราหาไอเดียจากนิยาย, ภาพยนตร์ ที่เราชื่นชอบ แล้วหยิบบางส่วนจากสิ่งนั้นมาเป็นไอเดียเริ่มต้นสำหรับเรา

                ในการอธิบายข้อนี้ ขอยกตัวอย่างจากนิยายเรื่อง The Song of Ice and Fire (หรือที่รู้จักกันดีในละครซีรี่ย์ Game of Throne) ของ George R.R. Martin ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Lord of the rings โดยตั้งคำถามต่ออรากอนว่า หลังจากที่เขาปกครองแผ่นดินแล้ว เขาจะสามารถบริหารแผ่นดินได้อย่างไร ในเมื่อเขาเป็นเพียงนักรบเท่านั้น คำตอบของ G.R.R. Martin จึงออกมาในรูปแบบของกษัตริย์โรเบิร์ตที่ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน

                จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าถ้าผู้เขียนไม่เฉลย บางครั้งเราก็ไม่อาจค้นหาได้เลยว่าแรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นจากที่ใด เพราะเมื่อเราได้ติดตามทั้งสองเรื่องนี้แล้วจะพบทันทีว่าวรรณกรรมสองเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือละม้ายคล้ายคลึงกันแต่อย่างใด

                เทคนิคข้อนี้หากใช้ไม่เป็นก็จะกลายเป็นว่าเราลอกผลงานผู้อื่นมาโดยไม่ตั้งใจ กลเม็ดเคล็ดลับที่ควรใช้คือมองหาจุดเล็กๆที่เราสนใจและนำมาต่อยอด หรือสามารถนำเอาเทคนิคจากข้อที่สองมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆที่น่าสนใจ เทคนิคข้อนี้เหมาะสำหรับคนที่ช่างสังเกตและช่างสงสัย บางครั้งอาจจะเริ่มด้วย “ถ้าหากว่า...” นิยายที่ดีหลายเรื่องมักจะมีจุดให้ผู้อ่านชวนสงสัย และถ้าจุดนั้นสร้างความประทับใจให้กับเรา เราก็ไม่ควรมองข้าม จงนำมาคิดทบทวนและต่อยอดเพิ่มเติมให้กับมัน เพียงเท่านี้เราก็จะได้ไอเดียเริ่มต้นสำหรับนิยายของเราแล้ว

                เทคนิคสามข้อที่กล่าวมา หวังว่าจะช่วยให้นักเขียนหลายท่านทลายกำแพงทางความคิดไม่ให้อุดตัน และก่อเกิดเป็นนิยายชั้นดีที่ผู้อ่านประทับใจ

 

บทความโดย โชติรวี

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ