โรคผิดปกติทางจิต ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม : จากนิยายเรื่อง การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รีฟินน์

โรคผิดปกติทางจิต ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม

การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์
แปลจากหนังสือ: The Adventures of Huckleberry Finn


มาร์ก ทเวนเขียนเรื่องนี้ขึ้นโดยตั้งใจให้เป็นตอนต่อของ “การผจญภัยของทอมซอว์เยอร์” แต่ขณะที่เขียนเรื่องแรกยังไม่ทันจบ เขาก็เกิดความคิดใหม่และในที่สุดก็ทำให้ “การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รีฟินน์” กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาลีลาน้ำเสียงและประเด็นที่แตกต่างจากทอม ซอว์เยอร์อย่างเด่นชัด

ท่ามกลางการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น การพลิกพลิ้วเอาตัวรอดการคดโกงหลอกลวงและอารมณ์ขันอันชาญฉลาด ฮักเกิลเบอร์รีฟินน์ กลับบรรจุไว้ด้วยประเด็นปัญหาสำคัญมากมาย ตั้งแต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเหยียดผิว ชนชั้นวรรณะ การศึกษา ศาสนา ฯลฯ สอดแทรกไว้ในตลกร้ายอันเป็นความเชี่ยวชาญพิเศษของ มาร์ค ทเวน 

เมื่อฮักเกิลเบอร์รีฟินน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ก็สร้างปรากฏการณ์อย่างยิ่งในวงการวรรณกรรมอเมริกัน นั่นคือถูกโจมตีอย่างหนัก กระทั่งถูกแบนจากห้องสมุดหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่เป็นไปตามขนบเดิมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้าน

วรรณกรรมอเมริกันเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว เล่าเรื่องด้วยสำเนียงแบบอังกฤษใช้ภาษาที่ถูกต้องเคร่งครัด ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเป็นภาษาที่ไม่ได้รับการยอมรับในโลกวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ตัวละครซึ่งเป็นเด็กชายลูกคน ขี้เมาไร้การศึกษาเป็นตัวดำเนินเรื่อง และเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านมุมมองและภาษาผิดๆ ถูกๆ แต่หลังจากฮักเกิลเบอร์รีฟินน์ได้รับการตีพิมพ์ โลกของวรรณกรรมอเมริกันก็เปลี่ยนไป ฮักเกิลเบอร์รีฟินน์กลายเป็นแบบอย่างแก่นักเขียนรุ่น ต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน และตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวรรณกรรมตามมาอีกจำนวนมากทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

และบทของเรื่องนี้ทำให้เป็นที่มาของชื่อโรคผิดปกติทางจิต ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม (Huckleberry Finn Syndrome) 
พฤติกรรมจากตัวละครจากวรรณกรรมเรื่อง ‘การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ (The Adventures of Huckleberry Finn) 

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม มีชื่อทางการแพทย์ว่า "Truancy Syndrome" มักเกิดขึ้นกับเด็กที่ดูสดใสและเฉลียวฉลาดเกินตัว แต่ถูกผู้ปกครองละเลยความใส่ใจ ซึ่งส่งผลให้เด็กเหล่านั้นกลายเป็นคนหลีกหนีปัญหาและปัดความรับผิดชอบอยู่เสมอ เพื่อเป็นกลไกการป้องกันความรู้สึกของตัวเองจากการถูกปฎิเสธโดยผู้ปกครอง 

หากไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้แม้จะเป็นคนเก่งก็ตาม และอาจมีความรู้สึกนับถือตัวเองต่ำและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.mascoops.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ