พิธีมอบรางวัลวรรณกรรมนักเขียนสตรีไทย “ชมนาดเกียรติยศ” จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เพื่อมอบรางวัลอันทรงคุณค่าเชิดชูนักเขียนหญิงให้แด่ อัญชลี วิวัธนชัย หรือเจ้าของนามปากกา “อัญชัน” นักเขียนซีไรต์ ปี 2533 โดยจัดขึ้นในงานฉลองครบรอบ 60 ปี “ประพันธ์สาส์น-PRAPHANSARN 60th Anniversary" ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50
เวทีมอบรางวัลชมนาดเกียรติยศ คึกคักอบอุ่นไปด้วยกัลยาณมิตรในแวดวงวรรณกรรม มาร่วมงานนี้เพื่อแสดงความยินดีกับนักเขียนหญิง อัญชลี วิวัธนชัย โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นได้รับเกียรติจาก ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบ “รางวัลชมนาด” เพื่อมุ่งสนับสนุนให้ “สตรี” ผลิตวรรณกรรมที่มีคุณค่า โดยมี ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักเขียนหญิงที่รับรางวัล ด้านเจ้าภาพ อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กล่าวถึงรางวัลชมนาด จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 10 แล้ว เพื่อยกระดับนักเขียนสตรีของไทยสู่ระดับสากล โดยนักเขียนรางวัลเกียรติยศ อัญชลี มีผลงานภาษาอังกฤษ 2 เล่ม ที่ได้มีการเปิดตัวแนะนำบนเวทีวันนี้ด้วย
จากนั้น ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ขึ้นกล่าวบทกวีและอ่านคำประกาศรางวัลชมนาดเกียรติยศ มอบแด่นักเขียนหญิงที่เคยคว้าซีไรต์ จากรวมเรื่องสั้น “อัญมณีแห่งชีวิต” วรรณกรรมสะท้อนมิติอันหลากหลายแห่งความไม่พอดีของชีวิตมนุษย์ พลังของสตรีนักประพันธ์ไม่หยุดยั้ง เรื่องสั้นชุด ผู้แลเห็นลม ในปี 2539 อันแสดงถึงฝีมือวรรณศิลป์อันไม่มีวันสิ้นสุด ผ่านจินตนาการต่อความเป็นมนุษย์อันสุดลึก
เปิดเวที ดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากองงานต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความผูกพันกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่มีมายาวนาน จากนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวรรณกรรมร้อยกรอง และกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ กล่าวถึง “บทบาทเด่นของสตรีในวรรณคดีไทย” ต่อจากนั้นเริ่มเวทีเสวนารางวัลชมนาด เรื่อง "ทำไมต้องนักเขียนหญิง" โดย ผศ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งปรเะเทศไทย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 1 ธนัดดา สว่างเดือน นักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 5 ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง นักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 10 งานเชิดชูศักยภาพผู้หญิงในแวดวงวรรณกรรมครั้งนี้ มีสตรีนักเขียนขึ้นเวทีร่วมแสดงความคิดเห็นมากมาย ไฮไลต์อีกช่วงแนะนำผลงานใหม่ของ อัญชลี วิวัธนชัย กับ THE SHELTERING SKIES และ ONCE UPON A DREAM ซึ่งใช้นามปากกา Anchalee Viva โดยมี รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยถึงแนวคิดของหนังสือ ทั้ง 2 เล่ม
รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าวถึงผลงานเล่มแรก THE SHELTERING SKIES เป็นนวนิยายยุคใหม่แนวโลกอนาคต หรือ dystopia เนื้อเรื่องของครอบครัวพ่อแม่ลูกที่อาศัยในโลกยุคที่ต้องแบ่งอากาศกันหายใจ แต่อากาศมีสำหรับ 2 คน เท่านั้น สิ่งที่มนุษยชาติต้องฝ่าฟันเพื่อมีชีวิตรอด คือความงดงามจากปลายปากกาของนักเขียนหญิง “อัญชัน” ซึ่งได้เขียนถึงความเป็นปิตาธิปไตยสังคมชายเป็นใหญ่ ความกล้าหาญเขียนในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันของชาย และหญิง และเป็นงานเขียนคุณภาพที่มีเสน่ห์มากของนักเขียนหญิงคนนี้ ส่วนอีกเล่ม ONCE UPON A DREAM เจ้าของผลงาน อัญชลี กล่าวแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงเต็มไปด้วยความซับซ้อน ตัวละครหลักในเรื่องเป็นเด็ก ผูกเรื่องให้คนอ่านตีความเขาอาจจะป่วยเป็นโรคจิตเภท
เวทีในวันมอบรางวัลชมนาดเกียรติยศ คึกคักไปด้วยนักเขียนหญิงทุกรุ่นวัย นักเขียนรุ่นใหม่ ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง ขึ้นเวทีช่วงสุดท้าย แนะนำนิยายชนะรางวัลชมนาด ปีล่าสุด เรื่อง The Lost Fairy หลง เงา รัก ดำเนินรายการโดย นันทพร ไวศยะสุวรรณ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรม เรื่องของหญิงสาวอาชีพนางแบบคลั่งผอม จนป่วยโรคบูลีเมีย ผูกปมให้นางเอกคิดสร้างความงามที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ได้งานในอุตสากกรรมแฟชั่น ความเป็นนวนิยายสร้างตัวละครหญิงมีความเหงาในใจใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ สำนักพิมพ์ระดับคุณภาพเดินหน้าสร้างสีสันให้กับโลกนักอ่านอย่างต่อเนื่อง