‘ชัญวลี ศรีสุโข’ แพทย์หญิงผู้หลงใหลในงานเขียน : ‘วรรณกรรม’ ไม่ได้กำหนดหรือจำกัดแค่คนประกอบอาชีพ ‘นักเขียน’ เพียงอย่างเดียวที่จะเขียนออกมาได้ อาชีพอื่นก็สามารถทำได้ไม่แพ้กัน

‘ชัญวลี ศรีสุโข’ แพทย์หญิงผู้หลงใหลในงานเขียน

 

‘ชัญวลี ศรีสุโข’ แพทย์หญิงผู้หลงใหลในงานเขียน
‘วรรณกรรม’ ไม่ได้กำหนดหรือจำกัดแค่คนประกอบอาชีพ ‘นักเขียน’ เพียงอย่างเดียวที่จะเขียนออกมาได้ อาชีพอื่นก็สามารถทำได้ไม่แพ้กัน อย่างแพทย์หญิงในนัดพบนักเขียนของเราฉบับนี้

‘ชัญวลี ศรีสุโข’ คือผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งสูติ – นรีแพทย์ ระดับนายแพทย์เชี่ยวชาญ อยู่ที่โรงพยาบาลพิจิตร อาชีพการงานของเธอบอกไว้แบบนั้น แต่ลึก ๆ แล้วใครเลยจะรู้ว่า เธอมีหน้าที่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือนักศึกษาแพทย์ วิทยากรรายการวิทยุและโทรทัศน์ คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารต่าง ๆ รวมไปถึงการเป็นนักเขียน ซึ่งถือเป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่เธอชอบและทุ่มเทให้กับมันเป็นอย่างมาก รางวัลทางวรรณกรรมที่ผ่านมา คงเป็นตัวการันตีในความทุ่มเทของเธอได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ถึง 3 ครั้ง เรื่องสั้นการเมืองรางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า 3 ครั้ง รางวัลช่อปาริชาติ 2 ครั้ง และล่าสุดกับรางวัลชมนาด ระดับดีเด่น ครั้งที่ 3 ปี 2556 กับเรื่อง พฤกษามาตา เธอทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อม ๆ กับงานแพทย์อันหนักหน่วงเหล่านั้นได้อย่างไร

all : จบสายแพทยศาสตร์บัณฑิตมา แล้วเข้าสู่วงการวรรณกรรมได้อย่างไร
ชัญวลี : คงจะเป็นเพราะความชอบด้วย คือตัวเองเชื่อว่าเรื่องงานเขียนเป็นเรื่องของพันธุกรรม เชื่อว่าพ่อแม่ถ่ายทอดมาให้ส่วนหนึ่ง พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย น่าจะมีอิทธิพลพอสมควร เพราะไปดูประวัติของนักเขียนหลายคนก็มีบรรยากาศการรักการอ่านภายในบ้าน พ่อแม่เป็นนักเขียน หรือปู่ย่าตายายเป็นนักกลอน เราก็มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เรื่องของการเขียนได้เป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่จะเขียนได้ดีหรือไม่ก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมไป

ที่บ้านตาเป็นครูใหญ่ แม่เป็นลูกคนโต แม่จะรับทุกอย่างจากตาไว้หมด ตาเป็นช่างฟ้อน แม่ก็เป็นช่างฟ้อน ที่บ้านน้า ๆ จะเขียนกลอนไว้ตามยุ้งข้าว โดยใช้ชอล์กเขียนและลงชื่อคนแต่งไว้ แม่ก็รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาเหมือนกัน แม่เลยเป็นนักกลอนตั้งแต่นั้น ที่นี่แม่ไม่ได้เป็นแค่นักกลอนในยุ้งข้าวเพียงอย่างเดียว แม่ไปสังกัดชมรมนักกลอนเชียงใหม่ด้วย ซึ่งตอนแรกเขียนแค่ในท้องถิ่น ต่อมาก็เริ่มเขียนออกมาที่กรุงเทพฯ บ้าง โดยสมัยก่อนการเขียนกลอนมาที่กรุงเทพฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจมาก ฉะนั้นเวลากลอนหรือเรื่องสั้นของแม่ได้ตีพิมพ์ แม่ก็จะอ่านให้ลูก ๆ ฟัง พอเราฟังแล้วก็จะรู้สึกว่าการเป็นนักเขียนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก อย่างแม่พูดถึงอาจารย์เปลื้อง ณ นคร แม่ก็จะพูดด้วยความศรัทธา เราก็รับความศรัทธาตรงนี้มาเต็ม ๆ ทั้งที่เราไม่รู้จัก นี่ก็เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเราอยากเป็นนักเขียน และต่อมาแม่ก็ไปจัดรายการวิทยุ เป็นรายการกลอนชื่อ ‘วลีทิพย์’ เราก็เขียนกลอนส่งเข้ารายการไป เพราะมีการประกวดเกิดขึ้น ตอนนั้นยังเป็นเด็กหญิงอยู่ แต่ก็ได้อันดับ 4 กลับมา

 

 

ต่อมาแม่เสียชีวิตตอนเราอายุ14 ปี แต่ความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียนก็ยังมีอยู่ในใจ แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนสักที พอเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ ก็ไปเข้าชมรมวรรณศิลป์ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนอีก เพราะเป็นแพทย์ไม่ค่อยมีเวลาขีด ๆ เขียน ๆ เท่าที่ควร รวมถึงพอไปอยู่โรงพยาบาลศิริราช ไปเรียนสูติ – นรีแพทย์จบมา ก็ยังไม่มีโอกาสได้เขียนอีก และพอจบแพทย์มาปุ๊บก็มาใช้ทุนที่จังหวัดพิจิตร ก็เริ่มเขียนหนังสือบ้าง แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร เลยเขียนกลอนส่งไปนิตยสารการแพทย์ และเขาลงกลอนให้เราตัวใหญ่มาก เป็นหน้าหนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ มองแล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจ เขียนไปเขียนมาหลายปีเข้า อาจารย์ก็เขียนจดหมายมาถึง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเลยว่า “ชัญวลี ผมแสดงความเสียใจด้วย กลอนของชัญวลีดี ผมตีพิมพ์ให้ทุกครั้ง แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์บอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เลยขอให้หยุด” เราโทรหาอาจารย์เลยว่า แล้วเรื่องอะไรที่จะลงได้ เขาบอกว่า ‘เรื่องสั้น’ เราไม่เคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน เลยไปหาหนังสือของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เรื่อง ‘ศิลปะการประพันธ์’ มาอ่านดู อ่านแล้วก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปลง ซึ่งต่อมาก็ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดรางวัล ‘สุภาว์ เทวกุลฯ’ โดยในตอนแรก ๆ ก็ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร เลยเขียนเรื่อง ตาของหมอ ส่งไป ก็ได้รับรางวัลกลับมา และเริ่มที่จะเขียนผลงานส่งไปลงที่อื่นบ้าง

all : แสดงว่า ‘ครอบครัว’ น่าจะเป็นแรงผลักดันอยู่ไม่น้อยให้เข้ามาในวงการนี้
ชัญวลี : มันอยู่ในกระแสเลือดมากกว่า แรงหนึ่งคือศรัทธาจากสิ่งที่แม่เล่า และอีกอย่างหนึ่งคือความยากไร้ในวัยเด็ก เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ 9 ขวบ แม่เสียชีวิตตอนเราอายุ 14 ปี เราก็อยู่กับตายายตั้งแต่นั้นมา ความยากไร้ในวัยเด็กเลยถือเป็นแรงผลักดันให้เข้ามาในวงการนี้ เพราะในวัยเด็ก เราไม่รู้สึกหรอกว่ามันยากลำบากที่ จะต้องเดินไปขอทุนเขา เนื่องจากตัวเองในตอนนั้นสอบติดแพทย์ แต่ไม่มีเงินเรียน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเดินไปแถวถนนท่าแพทั้งเส้น ไปดูว่าบ้านไหนรวยจะเข้าไปขอทุน ก็มีอยู่บ้านหนึ่งที่เราจะขอพบเจ้าของบ้าน แต่รปภ.ไม่ให้เข้า เราเลยกราบแทบเท้าจะขอเจอเจ้าของบ้าน เพราะความรู้สึกในตอนนั้นเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

แต่พอหันมามองตอนนี้ มีหลายเรื่องที่ตัวเองนำมาเขียนถึง เช่น อยากเป็นแพทย์ ที่บ้านเป็นครูหมด ไม่รู้จะเป็นแพทย์อย่างไร เลยเดินไปถามคนอื่น เนื่องจากสมัยก่อนคิดไว้แล้วว่า ตัวเองจะเป็นครู เพราะครูจบแค่เพียงมศ.3 เรียนอีก 2 ปี ก็ได้เป็นครูแล้ว หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่ทีนี้ปรากฏว่า มีทีมญี่ปุ่นมาทำวิจัยที่โรงเรียน เป็นโรงเรียนบ้านนอกที่เรียนอยู่ และเขาเป็นหมอทั้งหมด อาชีพหมอก็หรูดีนะในความรู้สึกของตัวเอง สั่งให้นักเรียนแก้ผ้าได้ด้วย ซึ่งทีมญี่ปุ่นเขาเข้ามาตรวจร่างกายเด็กวัยรุ่น โดยให้เด็กนักเรียนแก้ผ้าเพื่อตรวจสุขภาพและวัดสัดส่วน เราเลยคิดอยากที่จะเรียนหมอนับแต่นั้นมา ก็เลยเดินไปถามครูที่สอนว่า จะเรียนหมอต้องทำอย่างไร อ่านหนังสืออย่างไร อ่านหนังสือเยอะหรือไม่ ทำอย่างไรถึงจะไม่หลับ คุณครูบอกให้เอาเท้าแช่น้ำไว้ เพราะมันเย็น อย่างไรก็ไม่หลับทั้งคืน แล้วถ้าง่วงต่อจากนั้นจะทำอย่างไร ครูก็บอกว่า ให้ลุกขึ้นไปเอาน้ำเย็นมาตบก็จะไม่หลับ ซึ่งเรื่องยากไร้ในตอนวัยเยาว์นั้นมันมีพลังมากที่เราจะเขียนออกมา โดยจะเห็นว่าคนเขียนหนังสือใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะมีพลังเยอะกว่าคนอื่น เห็นได้จากคนเขียนใหม่ ๆ จะได้รับรางวัลค่อนข้างเยอะ เราเองก็เหมือนกันที่เขาขอเพียงต้นฉบับเดียว แต่เขียนกลับไป 10 ต้นฉบับเลย นี่คือพลังของคนที่เขียนหนังสือใหม่ ๆ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ยิ่งยากไร้ ยิ่งก่อให้เกิดความมุมานะ จนเขียนออกมาได้ทั้งหมด

all : จากข้อมูล ดูเป็นคนที่มีหลายบทบาทมาก ไม่ว่าจะเป็นรักษาคนไข้ สอนหนังสือ และเป็นวิทยากรในแต่ละที่ ซึ่งจากบทบาทอันหลากหลายเหล่านี้ มีส่วนช่วยในเรื่องของการเขียนมากน้อยเพียงใด
ชัญวลี : แพทย์เป็นอาชีพที่เขียนเรื่องอะไรก็ไม่จบ เนื่องจากมีข้อมูลอยู่เยอะมาก และถือเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีในการเขียน เพราะคนไข้จะมาเล่าให้ฟังทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเล่า เล่าเรื่องแปลก ๆ ที่หมอไม่เคยรู้มาก่อน เล่าเรื่องความรักของตัวเอง เล่าเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ แต่มาเล่าให้หมอฟัง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพ เพราะเขาเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจเรา ดังนั้นสิ่งที่เล่านี้เองจึงเป็นขุมทรัพย์อย่างดีที่ทำให้เขียนหนังสืออย่างไรก็ไม่มีวันจบ เพราะข้อมูลเยอะมาก (เน้นเสียง) แต่บางทีเมื่อเยอะมาก ก็อาจจะทำให้งานเขียนในบางทีดูแล้วซ้ำ เพราะคนอื่นอาจเขียนไปแล้วก็ได้ แต่สถานที่ที่เรียกว่า ‘โรงพยาบาล’ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน เห็นคนไข้หลายต่อหลายคน ก็เขียนได้สะท้อนสะท้านใจแล้ว เพราะการเจอคนแก่ คนเจ็บ คนตาย บางทีก็เป็นสิ่งที่ตราตรึงหรือซาบซึ้งใจอย่างรุนแรงให้เราเขียนเล่าออกมา เพื่อให้คนรับรู้ถึงความเป็นไปของโลกใบนี้ว่ามันเป็นอย่างไร

all : จัดสรรการทำงานเขียนกับการทำงานประจำอย่างไรให้ลงตัว
ชัญวลี : ด้วยความเป็นแพทย์ แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ค่อยมีเวลา ตอนเริ่มเขียนใหม่ ๆ ตัวเองก็ทำงานโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และโรงพยาบาลรัฐบาลอีก 3 แห่ง แล้วเรามักจะถูกตามอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากคนคลอดต้องมาคลอดกลางคืน ถูกตามตี 1 ตี 2 ก็มี เลยจัดการชีวิตของตัวเองใหม่ทันที ด้วยการปิดคลินิกในวันอาทิตย์ โรงพยาบาลเอกชนก็เลือกทำ ตอนนั้นกลายเป็นว่า มีเวลาเขียนหนังสือมากขึ้น ทุกวันอาทิตย์ก็จะเขียนหนังสือ ส่วนวันธรรมดา อย่างมีเวลาเพียงแค่ 10 นาทีก็จะพิมพ์และบันทึกเก็บไว้ เราจะคำนวณได้เองว่า ครึ่งชั่วโมง เราจะเขียนได้ 1 หน้า หลังจากนั้นก็เขียนงานออกมาได้ค่อนข้างมากทีเดียว อย่างอยู่เวรไม่ได้หลับ เพราะต้องเซ็ตผ่าตัดตอนตีหนึ่ง ห้าทุ่มเรามาถึงก็พิมพ์งานฆ่าเวลา ตีหนึ่งเขาโทรมาว่า ห้องผ่าตัดพร้อมแล้ว เราก็ลงไปห้องผ่าตัด ตอนพิมพ์ไปก็ร้องไห้ไป พอห้องพยาบาลโทรมาบอกว่า ห้องผ่าตัดพร้อมแล้ว เราก็บอกว่า กำลังจะลงไป พร้อมเสียงสะอื้น พยาบาลลือกันใหญ่ว่า เคยมีอีหนูเข้ามาในบ้านของเรา ตอนนี้น่าจะกำลังตีกับสามีและร้องไห้อยู่แน่ ๆ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เราพิมพ์และอินกับเนื้อเรื่องไปด้วย เพราะเวลาเขียนหนังสือ จะร้องไห้ไปกับเรื่องเศร้า และหัวเราะไปกับความตลกที่ตัวเองเขียนออกมา และพอลูกโตจนเรียนจบ ก็มีเวลาในการเขียนมากขึ้น

 

 

โปรดติดตามอ่านต่อได้ในall Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 5 กันยายน 2556
ขอบคุณที่มา http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ