กรุ่นกลิ่นออนไลน์ในงานวรรณกรรม รางวัลชมนาด ครั้งที่ 13 กับ 8 เล่มตัวตึง : รู้ผล 11 กันยายน 2567

กรุ่นกลิ่นออนไลน์ในงานวรรณกรรม รางวัลชมนาด ครั้งที่ 13 กับ 8 เล่มตัวตึง

    เป็นวาระสำคัญของปีที่ต้องปักหมุดไว้บนหน้าปฏิทิน เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อว่าหนังสือเล่มใดจะคว้าชัยจากการประกวด ‘รางวัลชมนาด’ รางวัลหนังสืออันทรงเกียรติสำหรับนักเขียนสตรี ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 สนับสนุนนักเขียนสตรีให้ก้าวสู่การเป็นนักเขียนระดับสากล ส่งต่อคุณค่าความงามของวรรณกรรมไปสู่บทละครภาพยนตร์ต่อไป

     สำหรับ ปี 2567 ผลงานที่เข้ารอบตัดสิน 8 เล่ม จากทั้งหมด 28 เล่ม ได้แก่ เตี่ยของเมฆ, ใกล้หมึกเปื้อนโลหิต, มงกุฎหนามกุหลาบ, แดงฉาน, ต้นไม้ของแวมไพร์, Heaven ฝากไว้ที่ปลายฟ้า, ลำนำจ้าวสังเวียน และ Suicide อัตวินิบาตกรรมก่อนใบไม้ร่วง โดยจะประกาศผลรางวัลผู้ชนะเลิศในวันพุธที่ 11 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม

 

 

‘วรรณกรรรมของคนรุ่นใหม่’ กำลังมา 

    นรีภพ จิระโพธิรัตน์ หนึ่งในกรรมการรอบคัดเลือกและเป็นกรรมการรอบตัดสินด้วย เผยถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ว่ามีด้วยกัน 28 ผลงาน ซึ่งแต่ละผลงานมีความแตกต่างกัน ความโดดเด่นปีนี้ มองว่าเป็นเรื่องของจินตนาการทางความคิดของผู้เขียน และการสร้างตัวละครที่มีหลายรูปแบบ บางเรื่องก็เล่นกับตัวละครมากกว่าโครงเรื่องหรือตัวเรื่อง

   ด้านเนื้อหาในภาพรวมค่อนข้างมีความเข้มข้น บางเรื่องลงรายละเอียดในสิ่งที่เห็นได้จากสังคมรอบตัว แต่กลวิธีการเขียนยังไม่ลงลึกพอ ขณะเดียวกันจะสะท้อนความโศกเศร้าทางอารมณ์ ที่เปราะบางไม่มั่นคง การสร้างตัวละครทั้ง 28 เรื่องจะมีบาดแผลที่แตกต่างและหนักเบาต่างกัน แต่ที่คล้ายกันคือ เป็นการสะกิดเตือนให้มองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน

   บางเรื่องเนื้อหากล่าวถึงวิถีชีวิต ธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมความเชื่อ พฤติกรรมของคน มีความลึกลับด้วย บ้างสะท้อนความในของจิตใจมนุษย์ที่เป็นความรู้สึกในครอบครัว บ้างเล่นกับมิติความรู้สึกของตัวละคร แต่อารมณ์ยังไม่โดน

    ในแง่ของการนำเสนอ นรีภพบอกว่า มีทั้งความมีขนบและการใช้เรื่องเก่าเรื่องใหม่ผสมผสานกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคล้ายจงใจนำเสนอความคิดโดยไม่ใช้ตัวละคร เมื่ออ่านแล้วจะทราบว่าเป็นความคิดของผู้เขียน จะไม่เชื่อตัวละคร ซึ่งจะเห็นรูปแบบนี้พอสมควรใน 28 เรื่อง

   กลุ่มที่สองจะใช้ความสมจริงเป็นลักษณะเล่าเรื่อง ส่วนกลุ่มที่สาม เป็นการใช้จินตนาการกับการผสมผสาน จะเห็นความสมัยใหม่เข้ามาในโครงเรื่อง ในวิธีการดำเนินเรื่อง รวมทั้งการใช้ภาษาด้วย

    “ต้องยอมรับว่าตอนนี้รุ่นใหม่กำลังมา เราเรียกว่า ‘วรรณกรรรมไทยในลักษณะของคนรุ่นใหม่’ จะมีลีลาภาษาความน่าสนใจอีกแบบ ทำให้เราต้องตามอ่านว่าแล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร การจินตนาการก็น่าสนใจ”

   ทางด้านการใช้ภาษา มีทั้งภาษาที่ผู้อ่านต้องพยายามทำความเข้าใจ ภาษาที่มีพลัง แต่บางเรื่องก็ใช้ภาษาประดิดประดอย จงใจเกินไปจนขาดอรรถรส ไม่เป็นธรรมชาติ แม้ในบทสนทนาก็ดูไม่สมจริง ซึ่งน่าเสียดาย เพราะพล็อตเรื่องดี

   สำหรับการคัดเลือกรอบ 8 เล่มนั้น มองในความหนักแน่นของเนื้อหามีความยากไม่ต่างกัน จะมีบางเล่ม
ที่โดดขึ้นมาเลย ฉะนั้นจะพิจารณาที่ความโดนใจของเรื่อง โดยดูวรรณศิลป์ที่สื่อกระทบใจผู้อ่าน เพราะอารมณ์ของเรื่องจะทำให้เรื่องนั้นสนุก ตรึงใจผู้อ่านจนวางไม่ลง

   “เทียบกับผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีที่แล้ว แม้เนื้อหาและวิธีการนำเสนอของปีนี้จะเบากว่า แต่เมื่อพูดถึงเรื่องจินตนาการ มองว่าล้ำสมัยกว่า” นรีภพบอก

 

 

แนวแฟนตาซีก็มี แนวรักษ์โลกก็มา

    ทางด้าน รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร หนึ่งในกรรมการรอบตัดสิน กล่าวว่า รางวัลชมนาดเป็นรางวัลที่มีลักษณะเด่นต่างจากรางวัลอื่น เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักเขียนหญิง ซึ่งยังไม่มีรางวัลที่ไหนมีแบบนี้

   ข้อโดดเด่นของรางวัลชมนาด 1.เน้นสนับสนุนให้ผู้หญิงหันมาเขียนหนังสือ 2.สนับสนุนให้มีการประกวดต้นฉบับ ทำให้คนที่ไม่เคยเขียนหนังสือมีกำลังใจที่จะเขียน 3.เมื่อผ่านการคัดสรรได้รางวัลแล้ว ซึ่งบางครั้งถึงไม่ได้รับรางวัลแต่มีความโดดเด่นก็นำมาตีพิมพ์เป็นเล่มให้ และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยเพื่อสนับสนุนการไปสู่สากล

    ด้วยความพิถีพิถันในการคัดสรรต้นฉบับ มีคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกคัดสรรเลือกผลงานเหลือ 8 เล่ม และจะมีกรรมการตัดสินอีกชุดรับไม้ต่อ โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนเพื่อให้มีความเป็นกลางและโปร่งใสในการตัดสินอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ส่งผลงานที่เป็นคนดังรางวัลระดับชาติ และคนที่แจ้งเกิดจากเวทีนี้ ที่ไม่ได้อยู่ในสายนักเขียนมาก่อน

    ในฐานะกรรมการตัดสิน รศ.ดร.ตรีศิลป์บอกว่าผลงานที่ผ่านเข้ารอบ 8 เล่ม มีความหลากหลายในเนื้อหา ทั้งเรื่องราวของชีวิตครอบครัว การต่อสู้ชีวิต เป็นโรแมนติกชีวิตครอบครัว และมีงานที่มีความโดดเด่น อาจจะนำเรื่องราวของปัญหาในสังคมไทยขณะนี้ที่มีความเครียด มีการแข่งขันสูง มีเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องอัตวินิบาตกรรมก็มี แล้วใช้จิตวิทยามาวิเคราะห์

    แต่ที่น่าสนใจคือ เป็นคนรุ่นใหม่มากๆ ที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีที่หันมาเขียน แต่แฟนตาซีที่หยิบมาเขียนเป็นแฟนตาซีที่มีแง่คิด เข้าใจเอาหลักปรัชญา หลักพุทธธรรมมาประยุกต์เข้ากับเรื่องแฟนตาซี

    อีกข้อเด่นคือ มีงานที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ธรรมชาติที่เข้ากับคติวิถีชีวิตพื้นถิ่นและทำให้เป็นลักษณะของการเล่าเรื่องแบบวรรณกรรมเยาวชน เป็นการใช้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องเล่าท้องถิ่น ขนบที่เกี่ยวกับธรรมชาติในท้องถิ่นเอามาเล่าในลักษณะที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน

    สำหรับตนเองมองว่า 2 ข้อนี้คือ การใช้แนวแฟนตาซีในการนำเสนอแนวคิด กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีความโดดเด่นมาก ซึ่งค่อนข้างต่างจากปีที่ผ่านๆ มา

    กรุ่นกลิ่นโลกออนไลน์ในงานวรรณกรรม

    ณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ‘ปะการัง’ หนึ่งในคณะกรรมการรอบคัดเลือก กล่าวในภาพรวมของงานที่ส่งเข้าประกวด 28 เรื่องว่า มีหลากหลายตั้งแต่แนวสืบสวน โรแมนติก ไซไฟ แนววาย ลึกลับ จินตนาการ ฯลฯ แก่นเรื่องส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาครอบครัว ความไม่เข้าใจกัน ความแตกต่างระหว่างรุ่น เกี่ยวกับความเชื่อของครอบครัวชาวจีนก็มี เรื่องเพศสภาพ การบูลลี่ หรือปัญหาของสังคมสมัยใหม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมทั้งมีการเขียนแบบเรื่องย้อนยุคจีน มีเทพนิยายปรัมปราสอดแทรกอยู่ในวิธีการเขียน

   สำหรับแนวการเขียนมีทั้งแนวขนบที่เราคุ้นเคย มีความละเมียดละไม และแบบแนวสมัยใหม่ที่เขียนตามสื่อออนไลน์กล่าวคือ จะมีการเดินเรื่องเร็ว กระชับ ใช้บทสนทนาเป็นหลักเหมือนสคริปต์หนัง ไม่เน้นการบรรยายรายละเอียด ประเด็นนี้ชวนให้คิดต่อว่า หรือนี่จะเป็นเทรนด์การเขียนนิยายในอนาคตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งถนัดการเขียนออนไลน์ ถ้าใช่ เราต้องพิจารณาปรับแนวทางการประกวดหรือการตัดสินหรือไม่ อย่างไร

    ถ้าให้ประเมิน ณรงค์ฤทธิ์บอกว่า ในจำนวน 28 เรื่องมีหลายเรื่องที่ดี ดีมาก พอใช้ คละกันไป แต่ขอเน้นในส่วนที่เป็นปัญหาเพื่อให้เกิดการปรับปรุงในปีต่อๆ ไป

    เจ้าของนามปากกา ‘ปะการัง’ บอกว่า เห็นถึงความตั้งใจในการเขียน ในการสร้างโครงเรื่องให้แปลก แต่บางเรื่องยังทำได้ไม่ถึง โครงเรื่องหลวม เหมือนจะดีแต่ยังไม่ดี บางเรื่องเขียนครึ่งๆ กลางๆ ควรจะจบแต่ไม่จบ ยื้อออกไป ทำให้พลังในการนำเสนอหายไป ประเด็นของเรื่องแกว่งไปมา ไม่มั่นคง สิ่งเหล่านี้น่าเสียดาย

   รวมถึงการตั้งชื่อเรื่องกับเนื้อเรื่องบางครั้งไม่สอดคล้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งทำให้ผู้อ่านคาดหวังไปทางหนึ่ง แต่เนื้อเรื่องไปอีกทางหนึ่ง ทำให้เสียคะแนนได้ รวมถึงการใช้ภาษาพูดในการเขียนหรือบางครั้งเป็นคำที่ยังดิบ ไม่มีความงามทางวรรณศิลป์ จึงอยากฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับนักเขียนที่อยากส่งงานในครั้งต่อๆ ไป

   ในส่วนของ 8 เรื่องที่เข้ารอบ มีหลากหลายแนว มีจุดเด่นจุดด้อยมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ทุกเรื่องทุกแนวมีสิทธิที่จะได้รางวัล แต่ใครจะได้อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการตัดสิน ที่สำคัญขอย้ำว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่ส่งเสริมให้เกียรติสตรี ผมคิดว่าน่าจะเป็นเวทีเดียวที่มีในประเทศไทยขณะนี้ ฉะนั้นผมคิดว่างานเขียนควรสะท้อนระบบความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของความเป็นผู้หญิงไว้ด้วย

   สำหรับผู้ชนะเลิศรางวัลชมนาดจะได้รางวัลและเงินสด 100,000 บาท พร้อมค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.praphansarn.com

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ