ค่ายวรรณกรรมออนไลน์ 'นิวนอร์มอล'เวทีนักวิจารณ์ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 18 พ.ค. 63

ค่ายวรรณกรรมออนไลน์ 'นิวนอร์มอล'เวทีนักวิจารณ์

          ก้าวสู่ปีที่ 6 โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์" จัดโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เยาวชนเพิ่มพูนประสบการณ์การอ่านหนังสือควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะการคิดการเขียนเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์

          โครงการนี้เปิดให้นักเรียนและนักศึกษาชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 4-6 และระดับอุดมศึกษา เขียนบทวิจารณ์หนังสือ 1 เล่ม โดยเลือกจากหนังสือที่ได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่ง ประกอบด้วย รางวัลการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างปี 2545-2562, รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์), รางวัลพานแว่นฟ้า และรางวัลชมนาด โดย ผู้เข้าประกวดอาจเลือกหนังสือประเภทสารคดีแนวต่างๆ กวีนิพนธ์ และนวนิยายคลาสสิค

          คณะกรรมการจะคัดเหลือบทวิจารณ์ 40 บท ที่จะได้รับเงินรางวัลคนละ 20,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 800,000 บาท และจะได้เข้าค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม ในวันที่ 9-10 ต.ค.2563

          ปีนี้ปรับสู่ New Normal ในรูปแบบค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรมออนไลน์ครั้งแรก โดยจะให้เด็กๆ อบรมผ่านโปรแกรมซูม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับวิทยากรจากที่บ้าน และมีกิจกรรมสันทนาการออนไลน์เพื่อละลายพฤติกรรมเด็กๆ ให้เด็กๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันทางออนไลน์
 


          นายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เผยว่า ปีที่ 6 ของโครงการยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้เยาวชนได้บูรณาการทักษะการอ่าน การคิด และการเขียน โดยผ่านการใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวยด้วยความภาคภูมิใจในภาษาประจำชาติ เพื่อให้เอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมทางภาษาไทยได้ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสแห่งโลกา ภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมทั้งปวง โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจารณ์ ให้แยบคายยิ่งขึ้น พัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม พัฒนาศิลปะการเขียนภาษาไทยให้สละสลวยยิ่งขึ้น สร้างเสริมวัฒนธรรมรักการอ่าน สร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม และให้เยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยมากขึ้น โดยปีนี้ธนาคารกรุงเทพยังคงมุ่งเน้นสนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้และสร้างสรรค์วรรณกรรม พร้อมทั้งให้ปรับตัวสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งรวมถึงการอบรมค่ายวรรณกรรมออนไลน์ด้วย

          ด้าน "แว้ด" น.ส.ภัทร์ศยา แก้วยัง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี ผู้ผ่านการคัดเลือก โครงการปีที่ 5 เล่าว่า ส่งบทวิจารณ์นวนิยายเรื่องตลิ่งสูง ซุงหนัก ของนิคม รายยวา เป็นนวนิยาย รางวัลซีไรต์ปี 2531 เกี่ยวกับเรื่องราวของคนผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต และพบว่าทุกคนมีการเกิดและความตายอย่างละหนึ่งหนเท่ากัน แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้นเป็นชีวิต เราต้องหาเอาเอง
 


          จากบทวิจารณ์ที่ได้รับรางวัล ทำให้มีโอกาสเข้าค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม เป็นการเรียนรู้นอกชั้นเรียน ได้พบกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีการเสนอมุมมองการวิจารณ์แบบใหม่ มีรูปแบบทฤษฎีใหม่ๆ ให้เรามาปรับใช้มากขึ้น

          "การปรับรูปแบบมาเป็นค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรมออนไลน์ คิดว่าเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้คนไม่ต้องรวมตัวกัน ปิดช่องทางการแพร่ระบาดได้" น.ส.ภัทร์ศยากล่าว

          สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่สนใจส่งบทวิจารณ์เข้าประกวดลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ http://praphansarn.com/scholarships หากส่งบทวิจารณ์ทางไปรษณีย์พร้อมทั้งถ่ายเอกสารหนังสือที่ใช้เขียนงานวิจารณ์มาด้วยทั้งเล่ม แนบมายังที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัดเลขที่ 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170

          กำหนดลงทะเบียนและส่งเอกสารทั้งหมด ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค.2563 จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตัดสินบทวิจารณ์ที่ได้รับเลือก 40 บท วันที่ 1-31 ส.ค.2563 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 40 คน ทางเว็บไซต์ www.praphansarn.com ในเดือนก.ย.2563

        

  "ชวนมาร่วมค่ายวรรณกรรมออนไลน์ครั้งแรกกัน"

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ