รางวัลชมนาด เปิดตัวครั้งแรกในปี 2550 ในครั้งนั้นยังไม่มีการกำหนดรูปแบบของต้นฉบับ คือสามารถส่งได้ทั้งเรื่องแต่งและงานสารคดี ผลงานเรื่อง รอยวสันต์ โดย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ได้รับรางวัลเป็นเรื่องแรก และหลังจากนั้นก็ได้มีการกำหนดกติกาใหม่ในปี 2552 ว่า ต้นฉบับที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นงานเขียนประเภทสารคดี (Non-Fiction) โดยการเขียนเรื่องจริงโดยใช้วรรณศิลป์ประหนึ่งนวนิยาย และเปิดรับเฉพาะผลงานของนักเขียนสตรีเท่านั้น
จากข้อสังเกต ผลงานที่ได้รางวัลในแต่ละปี รางวัลชมนาดเน้นเรื่องจากประสบการณ์ชีวิตจริงที่น่าสนใจ อย่างปี 2552 ผู้ได้รับรางวัลคือ ธนัดดา สว่างเดือน ด้วยผลงาน “ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน” เจ้าของผลงานไม่ใช่นักเขียนอาชีพหากแต่มีชีวิตที่ต้องเผชิญกับความผันผวนชนิดที่ต้องใช้ความกล้าหาญจึงนำมาเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน เรื่องนี้จึงมีจุดเด่นชีวิตที่น่าสนใจ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการสนับสนุนผลงานของนักเขียนหญิง เพื่อสร้างและเผยแพร่ผลงานของสตรีไทยสู่ระดับชาติและสากล ด้วยความเชื่อว่า เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมุมมองของนักเขียนหญิงจะมีความต่างจากนักเขียนชาย และรางวัลนี้ก็ได้รับความสนใจจากนักเขียนหญิงแนวสารคดีจากเรื่องจริงจำนวนมาก ล่าสุดคือผลงานเรื่อง “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” รางวัลชนะเลิศชมนาด ครั้งที่ 4 โดย แพทย์หญิงสุดานี บูรณเบญจเสถียร ที่กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในสังคม จนตอนนี้ก้าวมาถึงการประกวดผลงานรางวัลชมนาดนี้มาถึงปีที่ 5 แล้ว พร้อมเงินรางวัลที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย