หลง เงา รัก คว้านวนิยายยอดเยี่ยม รางวัลชมนาด ครั้งที่ 10 : กรรมการชี้ ดิสโทเปีย มาแรง สะท้อนภาวะสับสน ผ่านงานวรรณกรรม

หลง เงา รัก คว้านวนิยายยอดเยี่ยม รางวัลชมนาด ครั้งที่ 10

“หลง เงา รัก” คว้านวนิยายยอดเยี่ยม “รางวัลชมนาด” ครั้งที่ 10

กรรมการชี้ “ดิสโทเปีย” มาแรง สะท้อนภาวะสับสน ผ่านงานวรรณกรรม
 

        จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว สำหรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล

 

 

       โดยในปีนี้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวรรณกรรม คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือกต้นฉบับรางวัลชมนาด ประเภทนวนิยาย พร้อมด้วยคณะกรรมการ ได้แก่ ดร.พรธาดา สุวัธนวนิช, คุณตรีคิด อินทขันตี, คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์ , คุณจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ คัดเลือกผลงานต้นฉบับ ผ่านเข้ารอบตัดสิน จำนวน 8 เรื่อง จากผลงานทั้งหมด 26 เรื่อง เพื่อเข้าชิงรางวัลชมนาดครั้งที่ 10 ได้แก่ กาลครั้งหนึ่งที่โคชนะ, หลงเงารัก, ปริศนาบรรณกร, โศกนาฎกรรมนอกเล่ม...นิยาย, ดานิกามาลีรินทร์, ผงปรุงรส...ชีวิต, ปล่อย และ รอยเท้าบนกลีบดอกไม้

 

 

       ด้าน คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานกรรมการรอบคัดเลือก กล่าวถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดในปีนี้ว่า นวนิยายส่วนใหญ่จะเป็นแนวดิสโทเปีย มีความสับสนวุ่นวายในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงโรคระบาด บางเรื่องมีพล็อตแยกแตกลูก

        “ความโดดเด่นของปีนี้คือชีวิตตัวละคร ที่เขียนได้อย่างมีสีสันน่าติดตาม บางเรื่องเป็นโลกของจินตนาการที่เป็นดิสโทเปีย ที่เราไม่สามารถคาดหวังว่าจะเป็นไปได้ หรือไม่ผู้อ่านต้องหาคำตอบเอง บางเรื่องเป็นวรรณกรรมเยาวชน กล่าวถึงเด็กที่มาจากดาวอังคาร แต่แม้จะมาจากอีกโลก เราก็มองเห็นมิตรภาพ ความรักในครอบครัว บางเรื่องเป็นเรื่องของท้องถิ่น เรื่องที่ต้องต่อสู้กับจิตใจภายในของมนุษย์ เรื่องที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โรคระบาด รวมทั้งแนวสืบสวนก็มี”

        คุณนรีภพ บอกต่อว่า ในปีนี้มีเรื่องแนวดาร์ก ๆ ด้วย อ่านแล้วสะเทือนใจ ความเป็นนวนิยายทำได้ดี นักเขียนมีชั้นเชิง และกลวิธีในการนำเสนอ อย่างเรื่อง ดานิกามาลีรินทร์” แก่นเรื่องนำเสนอพฤติกรรมของ 2 ตัวละครเป็นการสลับร่างกัน นำพาไปสู่การเห็นจิตใจของมนุษย์

       "การนำเสนอมีการซ่อนปมซ่อนเรื่อง การจบของนวนิยายแบบขนบอาจจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่นี่ไม่ใช่ ผู้เขียนให้คนอ่านไปขบคิดต่อ และตัวละครฉูดฉาดมีสีสันมาก เน้นความบรรเจิด มีจินตนาการกับตัวละครมากขึ้น การพรรณาโวหารน้อยลง ใช้ตัวละครเป็นตัวดำเนินเรื่อง มีความกระชับ และความทันสมัยของเรื่องมีมากขึ้น นิยายรักที่โป๊เปลือยก็มี แนววายก็มี มีความทับซ้อนมากขึ้น น่าติดตามมากขึ้น”

 

 

        สอดคล้องกับ รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร  คณะกรรมการรอบตัดสิน ที่ได้ให้ข้อสังเกตว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ เป็นงานแนวดิสโทเปียเป็นจำนวนมาก วิพากษ์ปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าเราไม่แก้ไขจะนำไปสู่อนาคตที่เราไม่อยากให้เป็น

        ขณะเดียวกันเนื้อหาก็มีบริบทที่หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดความผูกพันกับชีวิตชนบท และมีแนวเรื่องที่หลากหลายกว่าเดิม มีเรื่องที่ใช้ข้อมูลทางสารคดี การป้องกันอุบัติเหตุ มานำเสนอด้วยวิธีการแบบนวนิยาย ทำให้อ่านสนุก เข้าใจสังคมและวิธีการแก้ปัญหา

        “ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ บริบทร่วมสมัย และเป็นสังคมที่ไม่เหมือนเดิม เช่น วิถีชีวิตของผู้หญิงที่อาจจะไม่ได้เป็นผู้หญิงในอุดมคติ ไม่ได้เป็นกุลสตรีที่อยู่ในขนบ เพราะปัญหาครอบครัว มีชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้ใช้ชีวิตที่มีเสรีภาพทางเพศ แต่ภาพเหล่านี้นำเสนอโดยใช้ฉากต่างประเทศ ใช้สำนวนคล้ายแปลมา แต่ในที่สุดสะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้ก็อยากจะมีชีวิตที่อบอุ่น สร้างครอบครัวที่ประกอบไปด้วยความรักด้วยเช่นกัน”

 

 

        สำหรับผลงานชนะเลิศ "รางวัลชมนาด" ในปีนี้ ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก” ซึ่งคณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์  โดยมี 1. อาจารย์เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์  ประธานกรรมการรอบตัดสิน 2. คุณสกุล บุญยทัต 3. รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร 4. รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์  และคุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์

       โดยอาจารย์สกุล บุณยทัต หนึ่งในคณะกรรมการรอบตัดสิน ได้ให้ทัศนะในเชิงนักวิจารณ์ว่า เป็นงานที่เกลี้ยงที่สุด ถือว่าคนเขียนมีองค์ความรู้ในบริบทต่าง ๆ ดี แม้จะเป็นเรื่องที่เปิดเปลือย โดยผู้เขียนเลือกใช้ฉากในต่างประเทศ แต่ก็มีแก่นความคิดของตัวละคร ที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด่นที่สุด

 

 

       ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรื่อง “ปล่อย”  ซึ่งอาจารย์สกุล มองว่า เป็นเรื่องที่มีอุดมคติของผู้หญิง ในภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก และในที่สุดก็เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้เป็นอุดมการณ์    

       ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 2 คือรอยเท้าบนกลีบดอกไม้” เป็นเรื่องของผู้หญิงที่ผิดหวังจากความรัก ที่รักฝ่ายชายมากเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ถูกทิ้ง ทำให้เกิดบาดแผลในการสร้างชีวิตครอบครัว และต้องพบกับความผิดหวังจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

       ทั้งนี้ อาจารย์สกุล สรุปว่า โดยรวมนวนิยายทั้งสามเรื่อง สื่อความหมายได้ดี  แม้จะเห็นว่าบางเรื่องมีเนื้อหาที่เปรี้ยวจี๊ด และมีฉากอีโรติก แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียด ทว่า กลับเป็นท่วงทำนองที่สอดคล้องกับสภาวะเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผล ที่สำคัญคือกรรมการจำเป็นต้องเปิดกว้าง เพราะงานวรรณกรรมเป็นงานเสรี และเป็นการทดลองความจริง

 

จากทัศนะของกรรมการ มาที่ความเห็นของ 3 นักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 10

        เริ่มจาก ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง เจ้าของผลงานชนะเลิศรางวัลชมนาด ปี 2564 ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก”  เธอหยิบประเด็นของอาการบูลิเมียกับอาชีพนางแบบ ในช่วงขาลง และต้องพยายามเอาชนะความอยากอาหารของตัวเอง ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกผิดที่ต้องคอยปฏิเสธอาหารของคนรักที่เป็นเชฟ รวมทั้งการนอกใจของตัวเองด้วย

       นอกจากนี้ ชนินทร์ธรณ์ บอกอีกว่า ชอบการจัดประกวดรางวัลชมนาด เพราะนอกจากเป็นรางวัลที่เปิดเวทีให้กับนักเขียนผู้หญิงแล้ว ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดยังได้รับความรู้ ได้คำวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการนำไปปรับปรุงงานเขียนของตัวเองอีกด้วย

 

 

       ด้านรองชนะเลิศอันดับ 1 กชกร ชิณะวงศ์ เล่าถึงตัวเอกของนวนิยายเรื่อง “ปล่อย”  ว่าต้องพบกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งน้องสาวและพ่อแม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่เพื่อที่จะก้าวผ่านห้วงเวลานั้นไปให้ได้

       กชกร บอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการฟังเพลง “ปล่อย” ของ หนุ่ม วงกะลา ซึ่งห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ผู้คนเครียดมาก รู้สึกว่าการใช้ชีวิตยากลำบาก ถ้าได้ปล่อยออกไปบ้างน่าจะดี และคิดว่าถ้าเราจะ “ปล่อย” อะไรสักอย่าง มันน่าจะเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับคน ๆ หนึ่ง  แต่เมื่อถึงเวลา ที่จะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ต้องปล่อยเพื่อที่จะก้าวต่อไป

      “สังคมไทยไม่ว่าอดีตหรือเดี๋ยวนี้ จะมีความเหลื่อมล้ำในมิติหญิงชาย แต่รางวัลชมนาดเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพทางความคิดเห็นผ่านผลงานเขียน ซึ่งเรามีอิสระในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานของเราโดยไม่มีใครมาตีกรอบ สามารถครีเอทไอเดียต่าง ๆ รวมถึงตัวละครได้ เป็นมุมที่สร้างสรรค์ในมิติของผู้หญิง”


       ทางด้าน นภัทร สังสนา เจ้าของผลงานรองชนะเลิศอันดับ 2 รอยเท้าบนกลีบดอกไม้” เล่าถึงตัวเอกที่ยึดติดกับรักแรก แต่ก็ต้องผิดหวัง และเป็นตราบาปในใจตัวเองที่ได้มอบความบริสุทธิ์ให้เขาไป และทำให้ไม่มีความสุขกับความรักที่เข้ามา ต้องล้มเหลวกับความรักทุกครั้ง จนผูกใจเจ็บกับคนรักคนแรกที่ทำให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกผิด

       นภัทร บอกเล่าถึงแรงบันดาลในการเขียนเรื่องนี้ว่า มาจากประสบการณ์จากการทำงานกับเด็กและเยาวชน พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ คือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องค่านิยมการชิงสุกก่อนห่าม บางกรณีเกิดจากความคึกคะนอง และอยากลอง จึงตั้งใจหยิบปมปัญหานี้มานำเสนอ อย่างน้อยเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนได้ฉุกคิด และสื่อให้เห็นว่าคนที่อันตรายและน่ากลัวที่สุดบ่อยครั้งคือคนไว้ใจที่อยู่ใกล้ตัว ฉะนั้นต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิต

      “สิ่งที่ตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับจากเรื่องนี้คือ การสร้างความตระหนักให้ผู้หญิงได้กลับมาฉุกคิดในเรื่องการรักนวลสงวนตัวอีกครั้ง เพราะคิดว่าถ้าเราสามารถรักษาสิ่งสำคัญที่สุดของผู้หญิงไว้จนถึงวันเข้าพิธีแต่งงาน เราจะรู้สึกมีคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเอง”

 


       สำหรับรางวัลชมนาด ครั้งที่ 10 ประกาศผลในวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท โล่เกียรติคุณ และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอับดับ 2 จะได้รับโล่ผู้เข้ารอบ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ

 



 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ