‘รางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่กำหนดเฉพาะผู้หญิงรางวัลเดียวของไทย ที่นอกจากเงินรางวัลและสัญลักษณ์ของรางวัลเป็นเข็มกลัดทองคำล้อมเพชรแท้แล้ว ยังจัดพิมพ์ต้นฉบับที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย เพราะต้องการทำตลาดในต่างประเทศอีกทางหนึ่ง’ คุณอาทร เตชะธาดา แห่ง สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เขียนจดหมายมาบอกเล่าแก่ผมเรื่อง ‘รางวัลชมนาด’ หรือ ‘Chomaanard Book Prize’
กับคุณอาทร-เรารู้จักกันมาร่วม ๓๐ ปี เพราะผมได้เข้าไปเริ่มประสบการณ์งานหนังสือที่ ‘ปาจารยสาร" ‘สำนักพิมพ์เทียนวรรณ’ ‘สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น’ โดยหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกๆ ของผมทั้ง ‘คำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจ’ และ ‘ฤดีกาล’ ก็จัดพิมพ์โดยมีเขาเป็นบรรณาธิการ เรียกว่าที่นี่เป็นสำนักแรกๆ ที่ผมได้เข้าไปเรียนรู้สู่วิชาติดตัว เขารักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมเสมอมา ระยะหลังแม้ผมได้ห่างวงการหนังสือและเมืองหลวงออกมา เราก็ติดต่อกันเสมอ ทั้งทางจดหมายลายมือ เฟซบุ๊ก และการนัดพบกันเป็นครั้งคราว ได้ยินข่าวคราวเรื่อง ‘รางวัลชมนาด’ มาหลายปีแล้ว
‘ชมนาด’ ชื่อดอกไม้สีขาวกลิ่นหอม ที่บ้างเรียก ‘ชำมะนาด’ ‘ดอกข้าวใหม่’ ‘ดอกขาวใหม่’ กลายมาเป็นชื่อรางวัลทางการประพันธ์สำหรับนักเขียนสตรี ที่หลายปีมานี้ได้ยินนามนักเขียนที่ได้รับรางวัล อาทิ ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง, ธนัดดา สว่างเดือน และล่าสุดมีหนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยกันสองเล่มคือ ‘พฤกษามาตา’ โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข และ ‘กว่าจะสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน’ โดย สิริญรำไพ (มาเรียม) ประพันธุ์ทวี หนังสือทั้งสองเล่มจัดอยู่ในประเภทงานเขียนเชิงสารคดี หรืออรรถคดี (Non-Fiction)
‘ชมนาด’ มุ่งให้สตรีใช้ศิลปะการประพันธ์บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นหลากหลาย ถือเป็นการเสริมสร้างรูปแบบใหม่ทางวรรณกรรม อย่าง พญ.ชัญวลี นอกจากเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง ยังเป็นสูติ-นรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลระดับจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่ง เรื่องจริงในการอยู่กับการทำคลอด เรื่องแม่กับลูก หรือเรื่องราวเกิดแก่เจ็บตายมากมายที่หมอได้มีโอกาสเห็น จึงเป็นเหมือนทั้งงานวิจัยเชิงสังคมวิทยาที่ถูกขับเคลื่อนด้วยลีลาทางวรรณศิลป์ อีกคนคือ สิริญรำไพ ชื่อเหมือนใหม่ แต่ดูจากประวัติแล้ว เคยทำงานเป็นนักข่าวที่ ‘ชีวิตต้องสู้’ (ไม่รู้ทันได้เจอกันตอนผมยังทำงานอยู่ที่นั่นหรือเปล่า) เธอเป็นสาวอีสานสู้ชีวิต เคยร่วมกิจกรรมกับ ‘กลุ่มวรรณกรรมร่มพอกภูดิน’ ที่ยโสธร (บางช่วงผมก็ได้ผ่านไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนี้)
ในคำประกาศของรางวัล บอกที่มาของนักเขียนสตรีคนนี้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจ... ‘ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน...เป็นผลงานบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของลูกผู้หญิงจากดินแดนอีสานคนหนึ่งที่พยายามค้นหาความหมายของชีวิตและฝึกฝนจิตวิญญาณของตนเอง ผ่านการต่อสู้และเรียนรู้ชีวิตตามขั้นตอนแห่งวัย ตามทางเดินอันระหกระเหินของการแสวงหาวิชาชีพ รวมถึงตามประสบการณ์ที่เข้ามาสู่ชีวิตของเธอโดยไม่ได้เชื้อเชิญและตั้งรับ จนในที่สุด จากเด็กหญิงชนบทภาคอีสาน ที่ราบสูงของประเทศไทย ชะตาชีวิตก็ได้นำพาให้เธอไปมีฐานะเป็น ‘สะใภ้’ ที่แม่สามีไม่ยอมรับ และคร่ำครวญต่อว่าลูกชายอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลาแห่งสงครามชีวิตฉากล่าสุดนี้ ความรักและความซื่อสัตย์ของมาร์โคผู้เป็นสามี เป็นเสมือนเส้นด้ายอันบริสุทธิ์เส้นเดียว ที่ผูกใจเธอไว้ไม่ให้สูญสิ้นศรัทธาต่อชีวิต...’
งานประพันธ์เชิงนี้ ต่างจากเรื่องที่สมมติแต่งขึ้น เพราะเคี่ยวคั้นจากชีวิตจริง เมื่อมีต้นเรื่องดีและเล่าเรื่องดี ย่อมเป็นวรรณกรรมชีวิตที่น่าติดตามอ่าน แหละนี่เป็นบางตัวอย่างของ ‘รางวัลชมนาด’ ที่เปิดโอกาสให้แก่ชีวิตและความใฝ่ฝันในศิลปะการประพันธ์ของผู้หญิงไทย
‘รางวัลชมนาดครั้งแรกเริ่มต้นจากการริเริ่มปรึกษาหารือกันระหว่าง นายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด, ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ณ เดือนธันวาคม ปี ๒๕๔๙ การจัดงานครั้งแรก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นโครงการฯ’
(บางตอนจากบทคัดย่อความเป็นมาของ ‘รางวัลชมนาด’) ‘ชมนาด’ ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ และโครงการครั้งที่ ๔ จะเริ่มตั้งแต่กลางปี ๒๕๕๖จนถึงกลางปี ๒๕๕๘ ยังรอผลงานนักเขียนสตรีทั้งใหม่และเก่า ผู้สามารถในงานเขียนเชิงนี้!
----------------------------
ขอบคุณที่มา คมชัดลึดออนไลน์ (หนังสือที่เธอถือมา : ชมนาด : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม) ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2556