รางวัลชมนาด ทำไมต้องนักเขียนหญิง : ไขความจริงบนบาดแผล สะท้อนชีวิตดิ่งลึกใน"สังคมไทย"

รางวัลชมนาด ทำไมต้องนักเขียนหญิง

“ทำไมต้องนักเขียนหญิง”?

ไขความจริงบนบาดแผล สะท้อนชีวิตดิ่งลึกใน“สังคมไทย”

โดย นันทพร ไวศยะสุวรรณ์

 

      ในงานฉลองครบรอบ 60 ปี ประพันธ์สาส์น “PRAPHANSARN 60th Anniversary" ที่จัดขึ้นภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 มีการกล่าวถึง บทบาทของนักเขียนสตรีไทยบนเวทีเสวนารางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) หัวข้อเรื่อง "ทำไมต้องนักเขียนหญิง" โดยเชิญนักคิด-นักเขียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำโดย ผศ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งปรเะเทศไทย ร่วมด้วย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนรางวัลชมนาดคนแรก ธนัดดา สว่างเดือน นักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 5 ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง นักเขียนรางวัลชมนาดคนล่าสุด

 

 

      ผศ.สกุล กล่าวเปิดประเด็นว่า ทำไมผู้หญิงถึงลุกขึ้นมาเขียน แล้วคนอ่านจะได้อะไรในนวนิยายเหล่านี้

      "นวนิยายเรื่อง 'รอยวสันต์' คุณยุวดี เขียนสะท้อนภาพอาซิ้ม 4 คนลงเรือหนีความลำบากมาจากเมืองจีน สิ่งที่ต้องฝ่าฟันเหน็ดเหนื่อยที่สุดกลับไม่ใช่แค่ความยากจน เพราะทุกคนเป็นผู้หญิงเก่ง มีอาชีพมีงานของตัวเอง แต่สิ่งที่กดทับผู้หญิงไว้คือประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อของคนจีน แล้วเป็นชีวิตที่เธอเลือกไม่ได้ เตี่ยบังคับให้แต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก คนอ่านก็ตั้งคำถามผู้หญิงในครอบครัวจีน ทำได้เพียงแค่แต่งงานกับผู้ชายสักคน แล้วมีลูกไปก็จบแค่นั้นเองหรือ ทั้งที่เธอมีความสามารถมากมาย”

 

รางวัลชมนาด ทำไมต้องนักเขียนหญิง

 

       มาถึงเรื่อง 'ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน' นวนิยายของ ธนัดดา ที่เขียนจากประสบการณ์จริงของหญิงไทยที่จําเป็นต้องขายตัว อ.สกุล ยอมรับว่าอ่านครั้งแรกในฐานะกรรมการตัดสิน ก็ให้รู้สึกตื่นตะลึงกับสำนวนการเขียน ที่ชัดเจนและได้ความจริงมาก

 

      “ได้เห็นปัญหาโสเภณีในสังคมไทย อ่านแล้วฐานะผู้ชายก็ตั้งคำถามครับว่าผู้หญิงมีไว้ให้รัก และน่าเห็นใจด้วย ไม่ใช่ดูแคลน เพราะนักเขียนหญิงคนนี้ได้สอดแทรกความหวังไว้ในเรื่อง มันคือความงดงาม เช่นในเรื่อง ‘ขังหญิง’ ซึ่งเป็นภาคต่อกับเรื่องแรก และเป็นผลงานอีกเรื่องที่คว้ารางวัลชมนาด ผมเคยเป็นครูสอนผู้ต้องขังหญิง แม้คนที่คดีอุกฉกรรจ์ติดคุกหลายสิบปี เธอก็มีความหวังว่าจะออกไปมีชีวิตในโลกอิสระ และความหวังนี้มาพร้อมกับความสำนึก มีนักโทษหญิงติด 22ปี แต่เธอจะรอเรียนหนังสือกับผมอย่างตั้งใจ ซึ่งพออ่านนวนิยายของ เอรี่-ธนัดดา เรื่องนี้ผมคิดถึงความงามและความหวังนี้ทันที”

 

      และสำหรับนักเขียนหญิงรางวัลชมนาดน้องนุชคนสุดท้องของรุ่น ยุ้ย-ชนินทร์ธรณ์ เจ้าของผลงาน The Lost Fairy หลง เงา รัก อ.สกุล บอกว่า นี่คือวรรณกรรมยุคสมัยใหม่ที่นักเขียนใช้รสนิยมดูหนัง ฟังเพลง อ่านวรรณกรรมคลาสสิก มาสอดแทรกไว้ในเรื่องราวหญิงสาวผู้ทันสมัย มีอาชีพนางแบบ อ่านแล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งว่าเธอสามารถเลือกทางที่ผิดพลาดได้ แล้วพระเอกถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ชายในอุดมคติ แต่อ่านแล้วก็ได้เห็นภาพผู้ชายดีๆ โรแมนติก ควรจะเป็นคนอย่างไร

 

 

      ด้านผู้เขียน ยุ้ย ชนินทร์ธรณ์ ขยายความถึงผลงานเขียนของเธอว่า ได้ให้นางเอกดำเนินเรื่องด้วยอาชีพนางแบบ ใช้รูปลักษณ์หน้าตาทำงานจนเกิดความเครียด อดอาหารจนร่างกายย่ำแย่ มันคือเรื่องราวของผู้หญิงยุคนี้แท้จริง และถึงแม้ว่าสิ่งที่เขียนจะไม่ได้หยิบยกปัญหาเรื่องมหภาคที่ยิ่งใหญ่ แต่นวยิยายก็ได้สื่อถึงปมในใจของผู้หญิง

 

      “ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนัก แต่มันคือปัญหาของคนในยุคนี้ค่ะ เช่น ความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ตัวเอง ส่องกระจกแล้วรู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตา แค่คำทักทายธรรมดาๆ ทำไมวันนี้ดูอ้วนจังเลย หรือผอมไปไหม เชื่อว่าทุกๆ คนต้องเคยเจอคำทักทำนองนี้แล้วเราก็ไปใส่ใจมัน จนหลงลืมไปว่าเราก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่วันๆ ต้องเจออะไรๆ อีกหลายปัญหา จนเกิดเป็นความเครียดสะสมในใจเหมือนนางเอกในเรื่องนี้ กลายเป็นอาการทางจิต อดอาหารจนป่วยโรคคลั่งผอมหรือ Anorexia และคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ แล้วยิ่งอยู่ในโลกโซเชียลทุกคนต้องการความสมบูรณ์แบบ ผู้หญิงต้องต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ อีกมุมคือความรักของนางเอกก็ไม่ใช่ความรักในอุดมคติ ไม่ใช่รักเดียวใจเดียว แล้วทำไมเราจึงกล้าเขียนให้นางเอกเป็นผู้หญิงแบบนี้ ก็เพราะมันสะท้อนอีกมุมความจริงสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ชีวิตต้องกล้าเดินต่อไปค่ะ"

 

รางวัลชมนาด ทำไมต้องนักเขียนหญิง

 

     ส่วน มุมมองของรุ่นพี่ ยุวดี แนะว่าถ้าอยากเป็นนักเขียน ต้องเริ่มจับปากกาเขียน ยิ่งเขียนจะยิ่งลื่นไหล

      "เรามีเรื่องจะบอกสังคมมากมายค่ะ ถึงแม้ว่านวนิยายไทยอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมชัดเจน แต่ดิฉันก็จะเขียนเพียงให้คนอ่านได้เห็นความจริง นวนิยายนักเขียนหญิงไม่แค่พาฝัน แต่เรามองสังคมจากเรื่องใกล้ตัวได้ บ้านดิฉันเป็นร้านเบเกอรี่มา 25 ปี แล้วคนงานหญิงที่มาเป็นลูกจ้างตั้งแต่ยุคคนไทยจนถึงต่างด้าว เติบโตมากับการเลี้ยงดูของแม่หรือตายายเกือบแทบทั้งนั้น ถ้าหยิบเรื่องนี้มาเขียนแล้วมีคนอ่านผู้ชายสักครึ่ง ก็เท่ากับว่าเราส่งเสียงบอกอะไรเขาได้บ้างนะคะ หน้าที่ของนักเขียนคือเราต้องชี้ความจริงในสังคมให้เด่นชัดขึ้นมาค่ะ"

 

       การเขียนความจริงของ 3 นักเขียนหญิง เรื่องที่แรง กล้า มาจากประสบการณ์ตรงแบบเรียลสุดๆ ก็ต้องยกให้ เอรี่-ธนัดดา

       "เขียนเรื่องที่สังคมไม่เคยรู้ คือสิ่งที่เราอยากเขียน และจะเขียนต่อไปค่ะ ตอนนี้มีพล็อตในหัวไว้แล้ว ตอนทำงานบริการเราเห็นสังคมที่แตกร้าว เพราะผู้ชายผู้หญิงคิดไปคนละทาง ต่างคนต่างตั้งคำถามกันและกัน ผู้ชายก็คิดว่าทำไมหาเงินมาแล้วภรรยาเอาไปทำบุญหมด ส่วนผู้หญิงก็คิดว่าทำไมผู้ชายชอบเที่ยวไม่ซื่อสัตย์ ปัญหาเหล่านี้ดิฉันก็เก็บเป็นข้อมูล มันสะท้อนชีวิตเหมือนละครน้ำเน่าที่ใครชอบดู ก็รับรองอ่านสนุกไม่แพ้กัน รออ่านเร็ว ๆ นี้แน่นอนค่ะ แล้วใครที่อ่านงานทั้ง 2 เรื่องก็รู้ว่าเราเขียนแรง ตรง บทแรกก็ชกแบบนั้นเลย ไม่อ้อมค้อม เข้าประเด็นในเรื่องที่อยากเล่าทันที"
 

      ผศ.สกุล กล่าวทิ้งท้ายว่าเราอาจมองว่านวนิยายเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้มากนัก แต่ยืนยันว่าเปลี่ยนได้จากฝีมือนักประพันธ์สตรี เช่นขับเคลื่อนประโยคคุ้นเคย "ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง" ทำไมอาซิ้มตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง รอยวสันต์ ต้องติดหล่มนี้ทั้งที่เป็นผู้หญิงเก่ง แต่สังคมวันนี้ก้าวไปไกลแล้ว และเรื่องราวเหล่านี้ ใครจะเขียนได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่นักเขียนหญิง

 

     "สื่อวรรณกรรมคือพื้นที่ชีวิตที่มีพลัง ผมยกตัวอย่างรัฐบาลเกาหลีใช้สื่อซอร์ฟเพาเวอร์เหล่านี้ วรรณกรรม เพลง ละคร สื่อบันเทิง เปลี่ยนแปลงสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือผู้ชายเกาหลีไม่โรแมนติก ส่วนใหญ่หยาบกระด้างเย็นชาต่อครอบครัว เขาก็เปลี่ยนพระเอกละครแบบพลิกฝ่ามือกลายเป็นผู้ชายโรแมนติกให้เกียรติผู้หญิงที่สุด เปลี่ยนความคิดจนคนหลงใหลไปทั่วโลก เช่นเดียวกันนักเขียนหญิง ก็เปลี่ยนโลกได้ในภาพความเป็นหญิง ความยิ่งใหญ่ในเพศแม่ เอฟเฟคท์นี้สื่อออกมากี่ครั้งสะท้านสะเทือนโลกครับ" ผศ.สกุล กล่าวสรุปประเด็นการเสวนาอย่างชัดเจน

 

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ