เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแอฟริกาที่นิยมสร้างสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างขึ้นจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นอย่างดิน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ BC Architects นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบห้องสมุดสำหรับเด็ก ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Muyinga ทางตอนเหนือของประเทศบุรุนดิ และด้วยความที่ตัวอาคารห้องสมุดหลังนี้ตั้งอยู่ในชนบทอันห่างไกล ทางผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบอาคารหลังนี้ให้สะท้อนถึงความเป็นท้องถิ่น โดยผ่านการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นอย่างผนังดินอัด เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้าง
ผังอาคารถูกวางอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งภายในถูกจัดวางอย่างเป็นสัดส่วน มีทั้งส่วนระเบียงทางเดินด้านนอก ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งส่วนกันแดดและกันฝนที่จะเข้าสู่ภายในตัวอาคารด้วยในตัว ภายในตัวอาคารมีทั้งส่วนที่นั่งอ่านหนังสือและชั้นวางหนังสือ รวมทั้งยังมีชั้นลอยสำหรับให้เด็กๆ ได้ฝึกการปีนป่ายเล่นกับตาข่ายที่ขึงไว้ระหว่างเพดาน นอกจากนี้ในการออกแบบอาคารยังคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด เช่น การระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติผ่านช่องเปิดบริเวณผนัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร และผนังดินอัดยังเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
เมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ ห้องสมุดแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของผู้คนในละแวกนี้ตลอดจนละแวกข้างเคียง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต่างกระตือรือร้นที่อยากจะมาแสวงหาความรู้ อาคารหลังนี้จึงคึกครื้นและเต็มไปด้วยกิจกรรมอยู่เสมอ ทำให้ตัวสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสนองการใช้งานทางกายภาพ เป็นแหล่งรวมกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งให้ความรู้กับชุมชนในคราเดียวกัน
Read more: http://www.creativemove.com/architecture