คำสารภาพของ นิดา บนถนนสายนักแปลยอดนิยม : นักแปลรางวัลสุรินทราชา คนล่าสุด เผยเคล็ดลับ หลักการแปลที่จะทำให้คนอ่านติดหนึบชนิดหลงเสน่ห์

คำสารภาพของ นิดา บนถนนสายนักแปลยอดนิยม

เสียงสรวลเสเฮฮาดังอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างการสนทนาพูดคุยอย่างสนุกสนานกับ ปราศรัย รัชไชยบุญ เจ้าของนามปากกา "นิดา" นักแปลอาวุโสดีเด่นรางวัลสุรินทราชา ปี 2550 และ รางวัลนราธิป ปี 2552 ท่ามกลางบรรยากาศลมพัดเย็นสบายของ 'บ้านลั่นทมขาว' บ้านพักตากอากาศริมชายหาดทะเลหัวหิน

บนถนนสายนักแปลชื่อของ "นิดา" ยังคงค้างฟ้าไม่จางหายไปจากใจของนักอ่าน นับตั้งแต่ผลงานแปลเรื่องแรกของเธอคือ คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของ 'วิกตอเรีย โฮลท์' (Victoria Holt) ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารเมื่อปี 2515 และรวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2518 จนกลายเป็นนักแปลยอดนิยมที่มีผลงานหลากหลายประเภทลงตีพิมพ์ในนิตยสารและรวมเล่มออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวรักและชีวิต จิตวิทยา สะท้อนสังคม ลึกลับสืบสวน เรื่องผี และอิงประวัติศาสตร์ จากผลงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น วิกตอเรีย โฮลท์, บาร์บารา คาร์ทแลนด์, แฮโรลด์ ร็อบบินส์, เจมส์ แฮดลีย์-เชส, แดเนียล สตีล, วี.ซี. แอนดรูส์ เป็นต้น

เธอมีผลงานแปลทั้งนวนิยายคลาสสิกและสมัยใหม่จำนวนมากกว่า 100 เล่ม อาทิเช่น รักของอะลิซาเบธที่ 1, เจน เกรย์ ราชินีผู้ไร้มงกุฎ, ตามหัวใจไปสุดหล้า, เส้นทางสายกำยาน, บัลลังก์มยุรา, มนุษย์น้ำ, มยุรารำแพน, บาปสีขาว, พรางบาป, พิศวาสที่วาดหวัง, พิษสวาทอสูร, ก็แค่ลอง, มรดกมัจจุราช, มฤตยูแคระ, รอยทรายเสน่หา, รักซ้อนซ่อนรักเร้น, รักเดียวของเจนจิรา, สองฝั่งฟ้า, อุทยานเงา, ดาวหลงฟ้า, คุณหญิงสีวิกา, คุ้มผาคำ, ประกาศิตสวรรค์, ปราสาทแสงจันทร์, แมรี่ สจ๊วร์ต ราชินีสองแผ่นดิน, แคทเธอรีน เด เมดิซี กฤตยาราชินี, ใต้เงาบาป, โองการนรก, เสียงเพรียกจากเกลียวคลื่น และอื่นๆ

ยิ่งทุกวันนี้กระแสวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศกำลังโหมกระหน่ำเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง จะเห็นว่ามีนักแปลหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นนักแปลมายาวนานกว่า 40 ปี เธอมองวรรณกรรมแปลและนักแปลรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะนิยายวัยรุ่นเกาหลีหรือญี่ปุ่นทุกวันนี้ว่า...

"ลองอ่านดูบ้างเหมือนกัน พบว่าในวิญญาณของความเป็นคนแปลหนังสือจะรู้ว่าเธอไม่ได้แปลกันหรอก นี่เป็นความคิดส่วนตัว คิดว่าเธอไม่ได้แปลกันมาเป็นพารากราฟหรอก แต่เธอใส่คำพูดของตัวเองลงไปเพื่อความทันสมัยในการอ่านของพวกเด็กๆ ว่าเด็กชอบอ่านยังไง สรรพนามการเรียกขาน การด่าทออะไรอย่างนี้ เกาหลีคงไม่ด่ากันอย่างนี้หรอก คิดว่านักแปลรุ่นหลังๆ มีบางคนที่แปลดี แต่ว่าไม่ได้ปรากฏเป็นเล่มหรือว่านามปากกาไม่ได้มีความต่อเนื่อง คือแปลดีแล้วหายไปเยอะอย่างใน 'ดิฉัน' หรือ 'ลลนา' แต่นักแปลที่แปลเก่งมากในรุ่นเดียวกันคือ 'มนันยา' คือ แปลแนวเดียวกันได้เลย แต่ว่านักแปลใหม่ๆ ไม่เห็นมีใครทำเป็นอาชีพมากนัก เพราะการแปลหนังสือเบสท์เซลเลอร์บางทีมันไม่เข้ากับคนอ่านที่เป็นไทยมากๆ มันมีทั้งปัญหาเรื่องค่าลิขสิทธิ์เยอะและนักอ่านไทยก็อ่านน้อย"

พร้อมทั้งเล่าย้อนถึงบรรยากาศการแปลในยุคก่อนว่า "รื่นรมย์มากเลย (เน้นเสียง) ตอนแรกๆ ต้องบอกว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เป็นคนอ่านหนังสือเล่นเป็นอาชีพตั้งแต่เด็กๆ นิยายรุ่นนั้นจะมีของ 'ดอกไม้สด' 'ยาขอบ' มีอะไรต่อมิอะไร ฝังตัวฝังใจอยู่ในนั่นแหละ พออ่านจนแตกฉานก็เริ่มอ่านภาษาอังกฤษ พอดีตอนเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนราชินี (บน) จะมีห้องสมุดของโรงเรียนซึ่งมีหนังสือคลาสสิกอย่างของ 'ชาร์ลส์ ดิกเกนส์' และของใครต่อใคร เป็นภาษาอังกฤษ และจะเป็นหนังสือปกทอง ตัวหนังสือทองเล่มเล็กๆ ต้องแอบอ่านต้องขโมยอ่าน เพราะว่าครูยังไม่ให้อ่าน ปรากฏว่าเป็นคนที่ท่านอาจารย์รับสั่งเรียกหาตัวบ่อยมากที่สุด เนื่องจากอะไรคิดเอาเอง ต้องไปเฝ้าต้องหมอบคลานอยู่ใต้โต๊ะเพราะจริงๆ โรงเรียนราชินีเป็นระบบศักดินามาก ตามองเห็นหนังสือก็อยากอ่านๆ ท่านก็กริ้วไปเอ็ดไป (หัวเราะ)

ตอนหลังมาถามลูกว่าชื่อโรคของแม่นี้ชื่อว่าอะไร เขาบอกว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคอ่านหนังสือไม่ออกหรอกนะ มันเป็นโรคที่อ่านแล้วไม่เข้าไปในหัว อ่านแล้วมันเตลิดเปิดเปิง ฝรั่งเขาเรียกว่า lost in classroom พวกอยู่ในห้องเรียนแล้วเตลิดเปิดเปิงแฟนตาซีมาก (หัวเราะ) พวกทำห้องเรียนหาย มัวฝันมัวโรแมนติกอะไรไม่รู้นะ พออายุสัก 14 เริ่มอ่านเรื่อง 'เจน แอร์' (Jane Eyre) เป็นเรื่องแรกเพราะว่าโรงเรียนราชินีสอนให้อ่านหนังสือเยอะมาก พวกวรรณกรรมอย่างคำกลอนก็เขียนอ่านกันเยอะมาก อ่านของไทยจนหมดเกลี้ยงทั้งของ 'อ.อรรถจินดา' 'ป.อินทรปาลิต' โปรดมาก เป็นคนอ่านหนังสือไทยเยอะ จากนั้นเริ่มหันมาอ่านหนังสือฝรั่ง วิชามันแตกฉาน เขาเรียกร้อนวิชา"

เมื่อเริ่มอ่านวรรณกรรมคลาสสิกทั้งของ 'ชาร์ล็อตต์ บรอนเต' และล่วงเลยไปถึง 'ชาร์ลส์ ดิกเกนส์' ยิ่งทำให้กลายเป็นคนร้อนวิชายิ่งขึ้น แต่อาการร้อนวิชานี้เองได้ส่งผลต่อชีวิตของเธอ "พออ่านหนักๆ กลายเป็นคนร้อนวิชา สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะเป็นคนอ่อนการศึกษา (หัวเราะ) ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ไม่ปิดบัง แต่ว่าเริ่มเรียนภาษาอังกฤษและเรียนฝรั่งเศส ไปทำงานก็ย่อมไปทำไม่ได้ เมืองไทยก็ไปเป็นเสมียนสิ พนักงานข้าราชการอะไรก็อด ต้องทำบริษัทฝรั่ง บริษัทแรกในชีวิตทำงานตอนอายุสัก 20 คือบริษัทก่อสร้างของคนดัตช์ นายที่เป็นดัตช์เป็นคนดีมากเพราะชีวิตของเขาเป็นคนขาดเสียงเพลงไม่ได้ หน้าที่เลขาฯคือเปิดเพลงให้นายฟังทุกเช้า พิมพ์ดีดไป ฟังเพลงไป แต่นายจะฟังเพลงคลาสสิกทั้งหมด เรียกว่านายได้ปูพื้นฐานความรู้เรื่องดนตรีคลาสสิกไว้เยอะ

การเป็นเลขาฯ ที่ดี ก็ต้องเรียนรู้ด้านเพลงคลาสสิกว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ต้องมีหนังสือเองคือ sci-copedia of classical music เล่มนั้นเล่มเดียว จะรู้รอบ เช้ามาเปิดบีโทเฟ่นหรือไชคอฟสกี้อะไรไป ทำงานไป ฟังเพลงไป สมัยโน้นชีวิตมีความสุขมากเลย ตื่นเช้าไปทำงาน เที่ยงไปกินข้าวกับเพื่อนที่ทำงานฝรั่งด้วยกันตามโฮเต็ลต่างๆ ส้มตงส้มตำอะไรไม่มี มันไม่มีขาย (หัวเราะ) ต้องกินข้าวโฮเต็ล พออยู่กับบริษัทนี้มาสักพักหนึ่งก็ย้ายไปทำสถานทูตออสเตรเลียนาน 23 ปี ตำแหน่งนั้นไม่ได้เลื่อนยังเป็นเสมียนตามเดิม คือสถานทูตมีอย่างหนึ่งคือทุกคนคือเสมียน ทำงานตั้งแต่หัวจรดเท้า "

แม้จะไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือตามระบบแต่เธอได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการทำงานของตัวเอง เธอเล่าว่า "พอจบจากทำงานกับนายชาวดัตช์บุญพาวาสนาช่วยให้ได้ทำงานกับคนฝรั่งเศส ไปเป็นเลขาฯนายฝรั่งเศสอยู่ตั้ง 5 ปี ความรู้ทางภาษาฝรั่งเศสก็กระเตื้องขึ้น เพราะว่าบริษัทตอนนั้นจะพูดไปมีคนไทยคนเดียวเป็นเลขาฯ นาย นอกนั้นเป็นชาวลาว ญวน เขมร พม่า เรียบเลย อยู่ทางถนนนเรศแทบจะไม่มีคนไทยเลย สมุห์บัญชีเป็นเขมร เพื่อนเลขาฯเป็นญวนเป็นลาว สมัยโน้นคนประเทศเหล่านี้จะมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสดีมาก แต่เราเป็นคนมีความรู้ภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นนายต้องอาศัยเราเพราะว่าวงการค้าจะใช้ภาษาฝรั่งเศสน้อย แต่ใช้ภาษาอังกฤษเยอะ เลยเป็นตัวชูโรง ในเวลาเดียวกันเพื่อนรักๆ กันก็เป็นญวนเป็นเขมร ตอนนั้นไม่เกลียดกันเลย

พอจบจากนั้นก็เข้าทำงานที่สถานทูตออสเตรเลียและไม่ออกอีกเลยเป็นเวลา 23 ปี การทำงานที่สถานทูตความรู้ที่ต้องมีมากที่สุดคือความรู้เรื่องเมืองไทย เวลาท่านทูตถามต้องได้ทันที เสียกรุงเมื่อไหร่ น้ำท่วมเมื่อไหร่ ตัวเลข 543 ต้องลบอยู่ในใจทันทีเพราะจะต้องบอกเป็น ค.ศ.ให้นาย ความรู้เรื่องเมืองไทยเรื่องประวัติศาสตร์ไทยต้องแม่น เพราะถ้าไม่แม่นก็ตอบเขาไม่ได้ จะว่าเก่งก็เก่ง"

ช่วงนี้เองกลายเป็นที่มาของการแปลอย่างไม่คาดคิด โดยเธอเล่าว่า "พอตอนกลางวันจะมีเพื่อนประมาณ 12 คน ซึ่งทำงานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งสายการบินหรือบริษัทย่านนี้ จะเป็นเพื่อนสนิทกัน 12 คน ชอบกินข้าวกลางวันด้วยกันทุกวัน สมัยนั้นไม่ค่อยมีหนังสืออ่านเล่น ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยมีอ่าน แต่เราอยู่ในสถานทูตมีหนังสืออ่านเล่นเยอะ เพื่อนซึ่งทำงานกับฝรั่งก็ไม่อ่านหนังสือไทย ส่วนมากเขามาจากโรงเรียนฝรั่ง ทำงานกับฝรั่งทั้งนั้น แต่เขาก็ไม่รู้เกี่ยวกับหนังสือไทยเท่าไร ทุกคนก็รวมหัวกันอ่านหนังสือฝรั่ง มีเล่มหนึ่งก็ผลัดกันอ่าน พอกลางวันก็โต้วาทีกันเรื่องที่อ่านอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ในกลุ่มนั้นก็มีบางคนที่ไม่อยากอ่านภาษาอังกฤษ เลยเป็นที่มาของการแปล

พอเพื่อนถามว่ามันถึงไหนแล้ว 'ฉันขี้เกียจเล่า พิมพ์เลยดีกว่า' เพราะอาชีพเสมียนเครื่องพิมพ์อยู่ในมือ ทำงานไปแปลหนังสือไป ให้เพื่อนเป็นแผ่นๆ วันละสองสามแผ่น เพื่อนก็ตามอ่าน เพื่อนบอกเอาอีกๆ (หัวเราะ) มันก็เยอะขึ้นๆ ทีนี้เราทำงานที่อย่างนั้นมันมีแฟ้มมีเครื่องเก็บเอกสารมันมากขึ้นทุกทีจนรวมเล่มได้ จบแค่นี้ก็เอาไปรวมเล่ม เรื่องแรกคือ 'คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์' ได้ลงตีพิมพ์ในสตรีสารโดยใช้นามปากกาว่า 'นิดา' ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวคนโต ตอนนั้นส่งเรื่องไปที่คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ยาว 10 บท และส่งไปอีก 80 ตอนจบ ตอนนั้นได้ค่าต้นฉบับ 8,000 บาท ดีใจเหมือนใจขาด นึกว่าต้องเอาไปจ้างเขาลง (หัวเราะ) พอได้เงินไปซื้อเพชรเลย (โอ้โห) พอเสร็จเรื่องแรกก็มีงานแปลออกมาเรื่อยๆ ยังไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้"

วิธีการทำงานแปลหรือเลือกหนังสือแปลนั้น เธอบอกว่าเป็นคนเลือกเองกับมือโดยไปร้านหนังสือและซื้อหนังสือมาอ่านแล้วเล่มไหนชอบก็เก็บแยกเอาไว้ต่างหาก เล่มไหนไม่ชอบ อ่านแล้วก็ทิ้งไป "บางเล่มก็อ่านไม่จบ แต่ว่ามีเยอะเพราะเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว อ่านแป๊บเดียวรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ถ้าเกิดเล่มไหนสนุกก็แปลเล่มนั้น เป็นผีไปมั่ง เป็นสวีทฮาร์ทไปมั่ง แต่จริงๆ ชอบเรื่องอิงประวัติศาสตร์เพราะด้วยเหตุว่าตั้งต้นจาก 'คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์' ดังนั้นเลยนึกว่าจะทำให้เป็นการแปลที่มีสาระ นอกเหนือไปจากเรื่องที่ค่อนข้างจะบันเทิงเริงรมย์ แต่เรื่องการเมืองไม่ทำเพราะไม่รู้ เรื่องวิทยาศาสตร์ก็ไม่อยากทำ แต่ว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ 'มนุษย์น้ำ' แปลแล้วก็พอใจผลงานของตัวเอง แต่ยาก แต่การแปลเรื่องประวัติศาสตร์มันเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพราะมันไม่ใช่ว่าจับหนังสือแล้วพิมพ์ตั๊บๆ ไปได้ ก่อนแปลต้องค้นก่อน ต้องมีตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มมาเสียก่อน

นักแปลที่ดีคือต้องมีความรู้รอบตัว ต้องมีความรู้นอกไปจากหนังสือ คืออยู่ในหนังสือไม่ได้ ยกตัวอย่างถ้าไม่รู้เรื่องเทวดาของแถวๆ กรีก-โรมัน เขาจะยกมาพูดอยู่เรื่อย จะไม่รู้ได้ไง ถ้าแปลเป็นตัวต่อตัวพารากราฟต่อพารากราฟไม่พอ ถ้าอะไรน่าจะใส่ฟุตโน้ตได้ก็ควรใส่ โดยเฉพาะนักเขียนหนังสือฝรั่งที่ดีๆ ระดับคลาสดีๆ เขาจะพูดถึงวรรณกรรม พูดถึงภาพเขียน พูดถึงเพลงคลาสสิก พูดถึงเทวดาทั้งหลาย เหมือนนักเขียนสมัยก่อนของเราพูดถึง 'ขุนช้าง-ขุนแผน' พูดถึง 'พระลอ' ไม่รู้จักก็ไม่ได้ มันบังคับให้เราต้องหาความรู้"

ไม่เพียงแต่แปลอย่างเดียว เธอยังเขียนนวนิยายเองโดยดัดแปลงมาจากเรื่องของฝรั่งด้วย "ทดลองเขียนอยู่ 3 เล่ม ทำด้วยความยากลำบากมาก ทั้งสามเล่มนี้เป็นวรรณกรรมแต่ว่าซีเรียสเครียดเคร่งมาก ภาษาที่ใช้ไม่เข้ากับคนร่วมสมัยซึ่งทำให้มันเป็นไทยโดยใช้ตัวละคร การที่จะให้ข้อมูลความเป็นไทยกับความเป็นอังกฤษมันยากอยู่ ยกตัวอย่างเช่น 'เจน แอร์' ซึ่งเป็นนวนิยายที่เป็นต้นแบบของนวนิยายทั้งหลายในโลกปัจจุบันนี้ แต่ว่าอาชีพของเจนแอร์คือครูสอนภาษาอังกฤษตามบ้านซึ่งคนไทยไม่มี เมื่อคนไทยไม่มีแล้วจะทำอย่างไร ต้องหาเรื่องว่าเด็กคนนี้ไปโรงเรียนไม่ได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าได้ไปอ่านเจนแอร์ฉบับภาษาไทยดู ความยากมันอยู่ตรงนี้ มันต้องหาสิ่งแวดล้อมให้ดูเป็นไปได้ ไม่ให้ดูเป็นเหมือนละครช่อง 3 กับช่อง 7 ทุกวันนี้ที่ดูเป็นไปไม่ได้ๆ (เสียงสูง) แต่ทำเอาๆ (หัวเราะ) คนเขียนหนังสือทำไม่ได้หรอก วิญญาณคนเขียนหนังสือต้องหาความเป็นไปได้มากที่สุด"

หลักการแปลที่จะทำให้คนอ่านติดหนึบชนิดหลงเสน่ห์นั้น นักแปลรางวัลสุรินทราชาแนะเคล็ดลับว่า... "คนแปลต้องแปลให้คนอ่านติดเสน่ห์เราเสียก่อน พอต้องมนต์เสน่ห์ตรึงใจแล้วก็จะไม่จับผิดเรา (ฮา) เสน่ห์การแปลคือการใช้สำนวน ภาษาไทยสำคัญที่สุดในการแปล ถ้าเขียนภาษาไทยไม่ไพเราะสละสลวย ลื่นไหล รื่นรมย์แล้วละก็...แปลยังไงก็ไม่สนุก ต้องเก่งทั้งสองภาษา ถ้าแปลออกมาเป็นคำต่อคำมันไม่ได้เป็นการทำงานวรรณศิลป์ แต่เป็นแค่การแปลเฉยๆ สำหรับนักแปลและน้องๆ ในรุ่นต่อไปขอวิงวอนให้อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วจะบอกอย่างหนึ่งว่าในวัยรุ่นเวลาอ่านอะไรแล้วมันจะจำตราตรึงเข้าไปในสมอง มันจะเป็นลิ้นชักดึงเอาออกมาใช้การได้ ถ้าไปเริ่มอ่านเมื่อโตหรือแก่กล้าวิชาการแล้วความแฟนตาซี-สวีทฮาร์ทมันก็หมด สมมติว่าเวลานี้คุณจะอ่าน 'คู่กรรม' ความสนุกไม่มี แต่ลองอ่านตอนเด็กโอ้โห..มันจะจำและความจำอันนั้นมันเป็น 'บิวตี้' เป็นสุนทรียะที่ฝังอยู่ในใจ"

เมื่อถามถึงชีวิตและความสุขกับวัย 80 เธอบอกว่า "จริงๆ ชีวิตเป็นชีวิตของหญิงที่ไม่ได้เป็นแบบอย่างของหญิงใดในโลก เป็นหญิงเกียจคร้าน จะไม่ทำไม่แตะอะไรเลยทั้งนั้น เกิดมาไม่ทำงานบ้าน ไม่ซักเสื้อ ไม่รีดผ้า ไม่ถูบ้าน แล้วก็ไม่ทำจนบัดนี้ เป็นแม่ก็ไม่เลี้ยงลูก ไม่ทำงานบ้านหนักๆ เข้า สามีเขาคงดูๆ อยู่ ทางออกคือต้องทำเป็นว่าคร่ำเคร่งกับการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือดีกว่า ทำเป็นเคร่งเครียด อย่างนี้ก็เป็นสุข (หัวเราะ)"

ปัจจุบันเธอยังคงทำงานแปลอยู่ 3 เรื่องให้กับนิตยสารสกุลไทย หญิงไทย และขวัญเรือน หลังจากนี้เธอบอกว่าอยากเกษียณตัวเองเพราะแปลมาเยอะมากกว่า 100 เรื่องแล้ว แต่เธอจะอดใจไหวหรือเปล่านั้น แฟนๆ นักอ่านต้องรอลุ้นกันต่อไป

แม้ว่าในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเธอออกตัวว่าไม่สามารถเป็นแบบอย่างของหญิงใดในโลกได้ แต่บนถนนนักแปลแล้วเธอคือต้นแบบที่นักแปลรุ่นหลังควรยึดเอาเป็นต้นแบบอย่างยิ่ง 0

หมายเหตุ : การเดินทางไปเยือน 'บ้านลั่นทมขาว' ริมชายหาดทะเลหัวหินครั้งนี้ เป็นการเดินทางร่วมกับคาราวาน 'เที่ยวไปบนเส้นทางสายนักเขียน' เส้นทางจากกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ นำโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ