“ความพยายามทั้งปวงที่จะทำให้ได้มาซึ่งการขัดเกลาทางวรรณคดี นั้น เริ่มต้นจากความสามารถในการอ่านอย่างรอบคอบ” เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (H.P. Lovecraft) นักเขียนชื่อดังกล่าวไว้ จากข้อความเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าการอ่านนั้นถูกมองว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เป็นเทคนิคที่ปรับได้ และในขณะเดียวกัน “การไม่อ่าน” (non-reading) นั้นก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่งพอๆกับการอ่าน ดังนี้ การอ่านนั้นจึงเป็นมากกว่าการรับสาร และมาพร้อมกับความชำนาญระดับหนึ่ง แต่อะไรกัน คือคุณสมบัติของการเป็น “นักอ่านที่ดี” ?
ในหนังสือรวมบทความชื่อ Lectures on Literature นักเขียนวลาดิมีร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ได้สร้างแบบฝึกหัดชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามแก่นักเรียนในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง
โดยเขาให้นักเรียนเลือกคำตอบ 4 ข้อ(จากทั้งหมด 10 ข้อ) ที่นักเรียนเห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่ทำให้คนๆหนึ่งได้ชื่อว่าเป็น นักอ่านชั้นดี:
1. นักอ่านคนดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกบุ๊กคลับ
2. นักอ่านคนดังกล่าวต้องพบว่าตัวละครหลักในเรื่องนั้นเหมือนตัวเอง
3. นักอ่านคนดังกล่าวต้องมุ่งความสนใจไปยังแง่มุมประเด็นทางสังคม-เศรษฐกิจ
4. นักอ่านคนดังกล่าวต้องชอบเรื่องที่มีการกระทำและบทสนทนามากกว่าเรื่องที่ไม่มี
5. นักอ่านคนดังกล่าวต้องเคยดูภาพยนตร์ที่ทำจากหนังสือเล่มนั้นๆ
6. นักอ่านคนดังกล่าวต้องเป็นนักเขียนวัยแรกรุ่น
7. นักอ่านคนดังกล่าวต้องเป็นคนมีจินตนาการ
8. นักอ่านคนดังกล่าวต้องมีความสามารถในการจดจำ
9. นักอ่านคนดังกล่าวต้องมีพจนานุกรมในครอบครอง
10. นักอ่านคนดังกล่าวต้องมีสัมผัสทางด้านศิลปะ (artistic sense)
นักเรียนมีแนวโน้มที่จะเลือกข้อที่เกี่ยวข้องกับการมีอารมณ์ ร่วมกับตัวละคร การกระทำในเรื่อง และการมุ่งความสนใจไปยังแง่มุมประเด็นทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประวัติศาสตร์ และแน่นอน เป็นไปตามคาด นักอ่านที่ดีนั้นคือคนที่มีจินตนาการ มีความสามารถในการจดจำ มีพจนานุกรมและสัมผัสทางด้านศิลปะในครอบครอง – สัมผัสที่ซึ่งข้าพเจ้า (นาโบคอฟ) อยากจะพัฒนาในตัวเองและคนอื่นๆหากเป็นไปได้
นอกเหนือจากนั้น นาโบคอฟยังพูดถึงจำนวนครั้งในการอ่าน เพื่อส่งเสริมให้เห็นประโยชน์ของการอ่านซ้ำ :
อนึ่ง ข้าพเจ้าใช้คำว่า “ผู้อ่าน” อย่างหลวมๆ แม้สิ่งนี้จะประหลาดไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถ “อ่าน” หนังสือได้ เราสามารถทำได้แต่เพียง “อ่านซ้ำ” เท่านั้น นักอ่านที่ดี นักอ่านผู้ยิ่งใหญ่ นักอ่านผู้กระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์นั้นคือ นักอ่านซ้ำทั้งสิ้น เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเป็นครั้งแรก กระบวนการการเคลื่อนย้ายสายตาจากซ้ายไปขวา ประโยคสู่ประโยค จากหน้าหนึ่งสู่อีกหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำงานของร่างกาย และกระบวนการการทำความเข้าใจที่ตั้งอยู่บนพื้นที่และเวลา ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้เราซาบซึ้งถึงคุณค่าของตัวงาน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามองภาพวาด เราไม่จำเป็นจะต้องเคลื่อนสายตาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ถึงแม้ชิ้นงานนั้นจะมีความลึกและแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในแบบเดียวกับ หนังสือ เวลาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ย่างกรายเข้ามาก่อกวนประสบการณ์ระหว่างชมภาพ วาด ทว่าเมื่อเราอ่านหนังสือ เราต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับมัน ในการทำความคุ้นเคยกับมัน ตัวเรานั้นไม่มีอวัยวะที่จะรับเอาภาพรวมทั้งหมดของตัวงานและค่อยๆซึมซาบราย ละเอียดเล็กน้อยๆของมันภายหลัง (เหมือนกับที่ตาของเราปฏิบัติต่อภาพวาด) แต่กับการอ่านนั้นเราต้องอ่านซ้ำ จะสองครั้ง สามครั้ง หรือกระทั่งสี่ครั้ง ถึงจะสามารถซึมซับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในหนังสือได้แบบนั้น อย่างไรก็ดี โปรดอย่าสับสนดวงตากับจิต (mind) หนังสือ ไม่ว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรก็ตาม จะเป็นเรื่องแต่งหรืองานเขียนทางวิทยาศาสตร์ (งานทั้งสองมีเส้นแบ่งบางๆที่ไม่ชัดเจน) – หนังสือนวนิยายจะดึงดูดความสนใจจากจิตเป็นที่แรก ทั้งนี้ จิต สมอง สิ่งที่อยู่เหนือสุดของกระดูกสันหลังที่เสียวซ่าน คือ หรือควรจะเป็น อวัยวะหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เรานำมาใช้กับหนังสือ หาใช่ดวงตาไม่
ที่มา : Brainpickings ภาพประกอบ : MSN