นพ.วิชัย โชควิวัฒน คุณหมอนักอ่าน : คุยนอกกรอบ : นพ.วิชัย โชควิวัฒน คุณหมอนักอ่าน : เรื่อง...สินีพร มฤคพิทักษ์

นพ.วิชัย โชควิวัฒน คุณหมอนักอ่าน

หลังฟังไกด์บรรยายและนำชมศาลเจ้าสามก๊กจบเรียบร้อย เมื่อกลับขึ้นรถ นพ.วิชัย โชควิวัฒน หนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ขยายความเรื่องราวและตัวละครเรื่องสามก๊กอย่างมีอรรถรส และทราบในเวลาต่อมาว่า คุณหมอวิชัยเป็นนักอ่านตัวยง โดยตั้งเป้าว่าปีหนึ่งต้องอ่านให้ได้ 100 เล่ม !

ณ สิ้นเดือนกันยายน อ่านจบแล้ว 88 เล่ม เล่มล่าสุดคือ เอมิล (Emile) ของ ฌอง ฌาค รุสโซ ถามว่าทำไมถึงจำได้แม่นขนาดนี้ คุณหมอตอบทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาทบทวนว่า “จดไว้หมดว่าอ่านอะไรบ้าง” ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศจะต้องแวะร้านหนังสือ มีกระเป๋าสำหรับใส่หนังสืออีกต่างหาก... กิจกรรมนี้ถูกบรรจุไว้ในวิถีชีวิตนานแล้ว ดังที่อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเล่าว่า เวลาไปประเทศไหนก็ดูว่าประเทศนั้นมีอะไรน่าซื้อ เนื่องจากสมัยก่อนหนังสือภาษาอังกฤษที่วางขายในเอเชียบุ๊ค บางเล่มไม่มีขายในประเทศไทย เมื่อไปร้านหนังสือในต่างประเทศเห็นว่าเล่มไหนน่าสนใจก็เอามาอ่าน

“อย่าง PUTTING PEOPLE FIRST เป็นหนังสือที่ บิล คลินตัน เขียนตอนหาเสียงเสนอนโยบายว่าจะทำอะไรบ้าง เขียนดีมาก เขียนนโยบายปฏิรูปสุขภาพที่เรามาทำบัตรทอง ตอนที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ชวนเข้าพรรค ผมบอกไม่ไปหรอก แต่จะช่วยเรื่องนโยบายได้ ผมถ่ายเอกสารทั้งเล่มให้คณะเขา และบอกว่า การเมืองประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อการเลือกตั้ง ไม่เคยพัฒนานโยบาย การเมืองประเทศไทยจะเดินได้ต้องสร้างนโยบาย ไม่ทราบว่ามีส่วนหรือไม่ แต่เป็นครั้งแรกที่พรรคไทยรักไทยมีนโยบายที่ดึงดูดใจคน คือสามสิบบาทรักษาทุกโรค...”

คุณหมอบอกว่า เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ ม.6 (เทียบเท่า ม.4 ปัจจุบัน) พอเข้ากรุงเทพฯ ก็ไปร้านหนังสือแถววังบูรพา ซื้อและสะสมหนังสือเรื่อยๆ รวมแล้วน่าจะหมื่นเล่ม แต่ยังอ่านไม่ครบ และไม่ได้จัดเก็บอย่างเป็นระบบ (หัวเราะ) จำได้ว่าอ่านแล้วกองแถวๆ นี้ แต่ส่วนใหญ่หาไม่เจอ

“ร้านหนังสือเมืองไทยก็ไปเดินบ่อย ดูว่ามีหนังสืออะไรใหม่ ที่บ้านมีสักหมื่นเล่ม ยังอ่านไม่ครบ คิดว่าในชีวิตคนเรา ถ้าอ่านถึงห้าพันเล่มก็เก่งแล้ว” ส่วนเงินที่ใช้ซื้อหนังสือ หากให้คิดมูลค่าหลักแสนหรือล้าน? คุณหมอตอบว่า “อาจจะถึงหลักล้าน ผมซื้อเยอะมาก” (เน้นเสียง) หนังสือเรื่องเอมิล ของรุสโซ เล่มนี้ว่าด้วยการศึกษา

“คนแปลคือ คุณเตียง ศิริขันธ์ ใช้นามปากกาว่า ศิริขันธ์ แต่แปลออกมา 1 บรรพ (ทั้งหมดมี 5 บรรพ) คุณเตียงเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นยังไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี เป็นหลักสูตรประโยคครูมัธยม กลับไปเป็นครู และปี 2479 พิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา คุณเตียงมีชื่อเสียงมาก เป็นเสรีไทย แต่คนจะไม่รู้เลยว่า คุณเตียงเป็นนักการศึกษาคนสำคัญ สมัยนั้นออกหนังสือเพื่อนครูเพื่อให้คนไปสอบยกสถานะเป็นครู มีวุฒิขึ้นมา” และว่า

รุสโซเขียนหนังสือสำคัญไว้ 3 เล่ม น่าสนใจมาก เล่มที่สอง คือ สัญญาประชาคม (Social Contract) ว่าจะจัดระเบียบของประเทศอย่างไร หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เล่มที่สามเขียนก่อนตายคือ คำสารภาพ (The Confessions) มนุษย์ชอบเขียนอัตชีวประวัติ บอกว่าตัวเองเป็นคนดี คนถูก ความจริง ไม่ค่อยเขียนความจริงทั้งหมด แต่เล่มนี้พยายามบอกความจริงทั้งหมดในชีวิตส่วนตัว อีกคนที่ทำคือ ตอลสตอย บอกว่า เลิกเชื่อพระเจ้าเมื่ออายุเท่าไร อย่างไร

เวลาที่คุณหมอเล่าถึงสาระของหนังสือเล่มหนึ่ง มักจะโยงไปเล่มอื่นซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เจ้าตัวตอบรับว่าเป็นเช่นนั้น หากอ่านแล้วมีเล่มอื่นที่เกี่ยวเนื่องก็จะอ่านด้วย แต่ไม่ได้จริงจังถึงขนาดเอาเป็นเอาตาย จะอ่านเท่าที่สามารถติดตามได้ ส่วนใหญ่อ่านหนังสือภาษาไทย

ส่วนที่ว่าเอาเวลาที่ไหนมานั่งอ่าน? คำตอบคือว่างเมื่อไรอ่านเมื่อนั้น “ผมอ่านหนังสือช้า ไม่กำหนดว่าต้องอ่านวันละกี่ชั่วโมง อ่านเป็นธรรมชาติ” แต่มีวิธีบริหารเวลา ตัวอย่างเช่น ทำใบขับขี่หาย ต้องไปทำใหม่ที่กรมการขนส่ง ก็จะถือหนังสือติดมือไปด้วย

“ผมไม่ติดต่อหาอธิบดี ซึ่งเป็นเพื่อนกัน ผมอยากรู้ว่าชาวบ้านลำบากขนาดไหน ถือหนังสือติดไป 1 เล่ม ได้คิว 98 ตอนบ่ายโมง คนนั่งรอรอบๆ บ่นไปด่าไป แต่ผมสบายมาก อ่านหนังสือจบ 5 โมงครึ่ง ถึงได้ทำใบขับขี่ ไม่เดือดร้อน ชีวิตเราต้องรอเยอะ รอที่สนามบิน รอโน่นรอนี่ เราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา หาความรู้ไป เอางานไปทำ”

เรียกว่าระหว่างรอทำใบขับขี่ 4 ชั่วโมง อ่านหนังสือจบ 1 เล่ม อันนี้เป็นชีวิตของคนที่ “รอได้” แต่ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้คนเราจะรอไม่เป็นกันแล้ว เมื่อขอให้ยกตัวอย่างหนังสือที่อ่าน ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นหนังสือแปลจาก ต่างประเทศ วรรณกรรม หรือเรื่องหนักๆ หากเป็นนวนิยายก็เป็นของต่างประเทศ ไม่มีนิยายไทย อ้อ ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับวงการแพทย์ด้วย

ตัวอย่างเช่น สงครามและสันติภาพ, อันนา คาเรนินา, พี่น้องคารามาซอฟ “ล่าสุดมีคนแนะนำให้อ่านหนังสือที่เมียไอน์สไตน์เขียนถึงสามี เขียนดีมากเลย...บอกว่าเขาขมขื่น ลำบากอย่างไร สุดท้ายถูกหาว่ามีชู้ คนเขียนเขียนสนุกมาก ชีวิตฉันกับไอน์สไตน์ เล่มหนาปึกเลยนะ” (ทำมือให้ดู)

วรรณกรรมไทยก็มีพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน กับคำถามที่ว่า หนังสือที่อ่านไม่เกี่ยวกับวงการแพทย์เลย คุณหมอตอบว่า เรื่องแพทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ การอ่านหนังสือทั้งหมดทำให้เราเข้าใจมนุษย์ เอามาใช้กับการรักษาโรค ใช้ในวงการได้แล้วแต่เราสนใจ และว่า ตอนนี้กำลังเขียนเรื่องตุลาการภิวัฒน์ในสหรัฐอเมริกา เพราะรากฐานตุลาการภิวัฒน์เกิดในอเมริกา ไม่ใช่ยุโรป หรืออังกฤษ

ถ้าไม่เรียนแพทย์ จะเรียนทางรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ไหม? “ผมชอบประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กฎหมาย แต่วิชาพวกนี้เรียนเองได้ วิชาหมอเรียนเองไม่ได้ต้องให้ครูสอน เพราะใช้รักษาคน เป็นความเสี่ยงต่อชีวิตคน เราก็ไปเรียนวิชาชีพและเรียนเรื่องอื่นๆ ตลอด”

ความที่เป็นนักอ่านนี่แหละทำให้ได้ความรู้ และไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ทราบ เพราะเรามักเดินตามเส้นทางของไกด์ทัวร์

แต่คุณหมอมีที่เที่ยวเก๋กว่านั้น หากไปเซี่ยงไฮ้ เรามักไปชมหอไข่มุก ไหว้พระ ลอดอุโมงค์เลเซอร์ ฯลฯ แต่หมอวิชัยกลับขอไปชมจุดกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกที่บ้านหลังหนึ่งในปี 1921 ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ

เหตุที่ทราบเพราะอ่านจากหนังสือนำเที่ยวของเซี่ยงไฮ้ “คนส่วนใหญ่ซื้อแล้วไม่อ่าน แต่ผมอ่าน พอมาเซี่ยงไฮ้อีกครั้งก็ขอให้พาไปดู...เคยพา ธีรยุทธ บุญมี, ประสาร มฤคพิทักษ์ ไปดูเขาชอบใจมาก”

อีกแห่งคือ “ทุ่งกุรุเกษตร” ที่อินเดีย (อันนี้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กระซิบบอกมา) หากเคยอ่านเรื่อง มหาภารตะ คงจำได้ว่า พี่น้องตระกูลปาณฑพและเการพใช้ทุ่งกุรุเกษตรเป็นสมรภูมิรบ ใครจะนึกว่าสถานที่นี้มีอยู่จริง หรือจะมีสักกี่คนที่อยากทราบว่า ทุ่งดังกล่าวอยู่ส่วนใดของประเทศอินเดีย แต่หมอวิชัยอยากรู้และดั้นด้นหาจนพบ

“อยู่นอกเมืองเดลี (เมืองหลวงของอินเดีย) ห่างออกไป 70-80 กม. เป็นทุ่งที่พี่น้องปาณฑพ-เการพ รบกัน ดินที่นั่นเป็นสีแดงเขาบอกเป็นเลือดของพี่น้องที่รบกัน เพราะคนตายเป็นแสน” ตามเนื้อหาในหนังสือบอกว่า ทุ่งกุรุเกษตรเป็นที่ราบที่อยู่ใกล้ๆ กับกรุงหัสตินาปุระ จากสงครามครั้งนั้น มีทหาร เจ้าชายและกษัตริย์จากแคว้นเมืองต่างๆ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้อมูลนี้อ่านพบในมหาภารตะ ซึ่งคุณหมอบอกว่า อ่านเยอะมากหลายเวอร์ชั่น เพราะเป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่สุดของอินเดีย (อีกเล่มคือรามายนะ)

“มีโศลกถึง 1 แสนโศลก สะท้อนเรื่องราวต่างๆ มากมาย วรรณกรรมอื่นๆ ลอกมาจากมหาภารตะทั้งนั้น สะท้อนจิตวิญญาณของคนอินเดียปัจจุบัน หล่อหลอมด้วยมหาภารตะ รามายณะ และภควัตคีตา ผมอ่านหมด”

 

นพ.วิชัย โชควิวัฒน คุณหมอนักอ่าน

 

ความฝันสุดท้าย โปรเจกท์ใหญ่ที่คุณหมอวิชัย โชควัฒน บอกว่า “เป็นงานสุดท้ายในชีวิต” คือ งานส่งเสริมการแปลวรรณกรรมสำคัญๆ ของโลก จำนวน 50 เล่ม ซึ่งจัดทำในนาม มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ก่อตั้งได้หนึ่งปีแล้ว มี วิทยากร เชียงกูล เป็นประธานมูลนิธิ

เว็บไซต์ของมูลนิธิ ระบุว่า มีวัตถุประสงค์ในการผลิตหนังสือดี มีคุณภาพ เพื่อสนองการเรียนรู้ทางสังคม สร้างสังคมที่มีปัญญา โดยการแปลและผลิตหนังสือดีสู่สังคมไทย ให้เยาวชนและประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงได้ ส่วนวัตถุประสงค์เฉพาะคือ 1.ส่งเสริมการศึกษา และการอ่านวรรณกรรมโลก ในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนไทย 2.สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้หนังสือดีที่มีคุณค่าเป็นสื่อ 3.ส่งเสริมการแปลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าของโลกเป็นภาษาไทยอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานดีในระดับสากล ฯลฯ

“คนไทยไม่ค่อยได้อ่านหนังสือสำคัญๆ ของโลก ตัวอย่างเช่น ชอบพูดเรื่องความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nations) ของ อดัม สมิธ ถามว่ามีคนอ่านกี่คน น้อยมาก พวกเราถ้าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์อ่านไม่รู้เรื่อง ทำไงจะแปลแล้วให้คนทั่วไปเข้าใจงานอันนี้ ที่เป็นรากฐานทุนนิยมโลก ซึ่งมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน”

“ตอนนี้ส่งเสริมให้แปลนวนิยายเรื่องแรกของโลก คนคิดว่าเป็นคนตะวันตกเขียน ไม่ใช่ คนเขียนเป็นผู้หญิงญี่ปุ่น พันปีมาแล้ว ซึ่งไม่น่าเชื่อ เพราะผู้หญิงญี่ปุ่นถูกกีดกันเหมือนหญิงจีน แต่พ่อเอาครูมาสอนพี่ชาย ตัวเองก็เลยไปเรียน เขาเขียนนิยายเป็นพันหน้า ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเซอร์ อาเธอร์ วัลเลย์ นักปราชญ์อังกฤษ ได้รับมอบหมายเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์หอสมุดที่ลอนดอน มีหน้าที่คัดเลือกหนังสือตะวันออกเข้าห้องสมุด

“อาเธอร์ วัลเลย์ ลงทุนเรียนภาษาจีน เพื่อจะได้คัดงานวรรณกรรมจีนได้ หลังจากนั้นรู้ว่ามีญี่ปุ่นก็ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น จนในที่สุดอ่านพบและแปลเรื่อง The Tale of Genji เป็นภาษาอังกฤษ คนอังกฤษอ่านแล้วซาบซึ้ง เราก็หาทางแปลจากภาษาญี่ปุ่น แต่ภาษามันพันปีแล้ว จะหาคนไทยที่รู้ภาษาญี่ปุ่นโบราณ ต้องรอบรู้วรรณกรรมญี่ปุ่นอย่างดี

ขายไอเดียอย่างไร? “ผมก็คุยไปเรื่อยๆ ประเทศไทยมีคนรู้ภาษาญี่ปุ่นดี และแปลได้ 3 คน หนึ่งในนั้นคือ ผศ.ดร.อรรถยา สุวรรณระดา อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผมรู้เพราะเขียนหนังสือหลายเล่ม และพูดถึงเกนจิอย่างย่อ ต่อมาทราบว่าเขาอยากแปลหนังสือเล่มนี้ แต่รู้ว่าแปลแล้วไม่มีคนพิมพ์ คนซื้อ ก็เสียแรงเปล่าๆ ผมบอกเขาว่าให้แปลแล้วจะหาทุนพิมพ์เผยแพร่ อันนี้คือการสนองความฝันเขาเลยนะ”

“ผมมีทีมประมาณสิบคนช่วยกันแปลออกมา เช่น แคนเทอเบอรี่ เทล (The Canterbury Tales) เป็นหนังสือสำคัญมากของอังกฤษ ที่ทำให้ภาษาอังกฤษยืนยงมาถึงทุกวันนี้ มันเป็นรากฐาน หนังสือที่เป็นรากฐานพิมพ์แล้วจะขายไม่ได้ คนไม่นิยมอ่าน แต่ผมจะพิมพ์และหาทางส่งเสริมให้มีการอ่าน หรือให้อยู่ในวงวรรณกรรม เมื่อใครอยากอ่านเขาสามารถหาอ่านได้ในภาษาไทย นี่คือความฝันสุดท้ายในชีวิตผม ทำเป็นเล่มเลย ไม่ใช่อยู่ในอินเทอร์เน็ต...

“แต่ก่อนนี้ฝรั่งเศส เยอรมัน ไปเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินอังกฤษ และภาษาอังกฤษเกือบสาบสูญ เพราะราชสำนักพูดภาษาฝรั่งเศส แต่คนที่ฟื้นภาษาอังกฤษและทำให้คนอ่านมามีสองคน คือ ชอว์เซอร์ (Goeffrey Chaucer) และวิลเลียม เช็คสเปียร์

"สามก๊ก" ก็เป็นอีกเล่มที่อยู่ในลิสต์ โปรเจกท์ใช้เงินเยอะมาก คาดว่ากี่ปีจะแล้วเสร็จ? คำตอบคือ “ไม่รู้ ทำไปเรื่อยๆ” ผลงานเล่มแรกที่ออกมาแล้วคือ "ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์” หมอผู้ปฏิรูปการสอนในอเมริกา แต่ก่อนสอนในห้องเรียน แต่คุณหมอคนนี้เอานักศึกษาแพทย์มาสอนข้างเตียงคนไข้

“เป็นคนยิ่งใหญ่มากในวงการแพทย์ แต่คนไทยเกือบไม่มีใครรู้จัก...ระบบการเรียนแพทย์ในประเทศไทยเรียนเทคนิค ไม่ได้เรียนปรัชญา ความเป็นมนุษย์ มันถึงเกิดเรื่อง”

 

ขอบคุณที่มา : http://www.komchadluek.net

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ