รางวัลชมนาดครั้งแรกเริ่มต้นจากการริเริ่มปรึกษาหารือกันระหว่าง ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา, คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์, นายอาทร เตชะธาดา และนายศักดิ์ชัย จิราธิวัฒน์ ณ เดือนธันวาคม ปลายปี 2549 ในการจัดงาน ครั้งแรก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจ ในการเริ่มต้นโครงการฯ
โดยผู้ได้รับรางวัลชมนาดประเดิมเป็นรายแรกได้แก่ คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง จากผลงานนวนิยายเรื่อง “รอยวสันต์” ในปี 2551 หลังจากนั้นในปี 2552 จึงได้มีการกำหนดรูปแบบในการเปิดรับต้นฉบับของรางวัลชมนาดที่เป็นงานเขียนในแบบเชิงอรรถคดี (Non-Fiction) ที่นำเสนอข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรงของปัจเจกชน หรือเรียบเรียงจากข้อเท็จจริงจากการวิจัยทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ จากงานเอกสาร หรือสัมภาษณ์บุคคลเชิงมุขปาฐะ และต้องเป็นแนวการเขียนที่แปลกใหม่ ท้าทาย สร้างสรรค์โดยสตรีไทย ซึ่งในปี 2553 ผู้ได้รับรางวัลชมนาดชนะเลิศ ครั้งที่ 2 ได้แก่ คุณธนัดดา สว่างเดือน จากผลงานประพันธ์เรื่อง “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” รองรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข จากผลงานเรื่อง “เด็กหญิงของเรา” และรองรางวัลชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ กาล-กัลยา จากผลงานเรื่อง “แสงอรุณแห่งครอบครัว” รางวัลชมนาดครั้งที่ 3 ประกาศผลขึ้นในปี 2556 ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศร่วมกัน คือ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข เจ้าของผลงาน พฤกษามาตา และ คุณสิริญรำไพ ประพันธุ์ทวี เจ้าของผลงาน ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน ผู้ได้รับรางวัลชมนาดชนะเลิศ ครั้งที่ 4 ได้แก่ พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร จากผลงานประพันธ์เรื่อง เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน และ ผู้ได้รับรางวัลชมนาดชนะเลิศ ครั้งที่ 5 ได้แก่ คุณธนัดดา สว่างเดือน อีกครั้ง จากผลงานประพันธ์เรื่อง ขังหญิง ครั้งที่ 6 รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่คุณจันทรา รัศมีทอง จากผลงานประพันธ์เรื่อง "ความฝันของฉันทนา"
สำหรับการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 7 นี้ ก็ยังคงรูปแบบการเปิดรับต้นฉบับในงานเขียนแบบ Non-Fiction เหมือนครั้งที่ผ่านมา และได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ มาจนถึงได้ผลงานที่จะประกาศผลรางวัลชนะเลิศชมนาด ครั้งที่ 7 ในเดือนกันยายน 2561