ในยุคดิจิตัลครองโลกเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้แต่วงการหนังสือเอง ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง จนทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากหนังสือออนไลน์หรือ “E-Book” หรือการอ่านจากบนเว็บไซต์ต่าง ๆ จนทำให้การอ่านหนังสือเล่ม ลดน้อยลงจนเกิดคำถามขึ้นว่า กระดาษกำลังใกล้จะตายจริงหรือ?
เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาทางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 ได้จัดการเสวนาหัวข้อ "กระดาษตายออนไลน์มา" ภาค 2 โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสืออย่างนายนิรันศักดิ์ บุญจันทร์นักเขียนและบรรณาธิการเว็บไซต์ the paperless นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และนายวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นายปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดีมาให้ข้อมูลในงานเสวนาครั้งนี้ โดยทุกท่านต่างได้เสนอมุมมองและข้อเท็จจริงว่าโลกของเราก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตัลที่ทำให้วัฒนธรรมการอ่านเปลี่ยนไปมาก จนทำให้การอ่านหนังสือเล่ม เริ่มลดน้อยลงจนน่าเป็นห่วง ว่าหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ จะตายไปจากสังคมหรือไม่เพียงแต่ออนไลน์กำลังเข้ามาจริงและก็ต้องเรียนรู้ปรับตัวทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ
นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ นักเขียนและบรรณาธิการเว็บไซต์ thepaperless.co ได้ให้ความเห็นไว้ว่า สิ่งที่จะทำให้การอ่านหนังสือเล่มลดน้อยลงอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องต้นทุนที่แพงขึ้นมาก และค่าใช้จ่ายในการผลิต รวมถึงการขนส่งและฝากขาย ก็ทำให้กำไรจากการขายหนังสือลดน้อยลงจนถึงคำว่า “เข้าเนื้อ” กันเลยทีเดียววิธีที่จะทำให้วงการหนังสืออยู่รอดต่อไปได้ คือจะต้องปรับตัว ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการเปิดพื้นที่ออนไลน์สำหรับนักเขียนหน้าใหม่อีกด้วย
เทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ตนคิดว่า กระดาษจะไม่ตายแน่นอน แต่กระแสออนไลน์กำลังเข้ามามีอิทธิพลมากเช่นกัน โดยทั่วโลกได้อยู่ในจุดยืนเดียวกันคือ กำลังต่อสู้กับเทคโนโลยี ซึ่งประโยชน์ของสถานการณ์นี้คือ จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง มีเพียงสิ่งที่บรรจุเนื้องานเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ส่วนเรื่องกฎหมายคุ้มครองก็ยังเหมือนเดิม ไม่ต่างจากกฎหมายคุ้มครองหนังสือเล่ม
วศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ความเห็นไว้ว่า คนทำหนังสือจะต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไปเรื่อย ๆ จึงจะอยู่รอด ส่วนผลกระทบจากวัฒนธรรมการอ่านทางออนไลน์นั้น ตนคิดว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ คือ ร้านกระดาษ ที่ต้องเสียรายได้จากการลดจำนวนลงของการพิมพ์หนังสือเล่มนั่นเอง
ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ตนคิดว่ากระดาษ หรือหนังสือเล่มจะตายไปแค่บางส่วน ในส่วนของนิยายนั้น มีโอกาสที่กระดาษจะตายคือ 50/50 เพราะมีการเผยแพร่นิยายและอ่านนิยายทางออนไลน์เป็นจำนวนมากขึ้น และดูจะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ในส่วนของข่าวและแมกกาซีนก็เช่นกัน แต่ส่วนที่จะไม่มีวันหายไปคือ ตำราทางวิชาการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันนั้น ๆ หากบังคับให้เด็กอ่านและเรียนรู้จากหนังสือมากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือก็จะไม่หายไป
โดยทั้งสี่ท่านได้สรุปในตอนท้ายว่า หนังสือจะไม่ตาย แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยน และต้องรู้จักวิธีนำเสนอแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะวิธีการออกแบบปก ต้องทันสมัยและดึงดูดสายตา และควรมีการจัดอีเวนท์เพื่อดึงคนที่มีความชอบเดียวกันมาพบปะกัน เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการหนังสือประเภทนั้น ๆ อยู่เสมอ
บทความโดย ชฎาพรรณ บุญสิงห์